Primas sum: primatum nihil a me alienum puto
Earnest Albert Hooton (1887–1954)
I am a primate; nothing about primates is alien to me.
ข้าฯ คือไพรเมต ไม่มีอะไรเกี่ยวกับไพรเมตที่แปลกแยกไปจากข้าฯ
American anthropologist and primatologist
ราว 6 ล้านปีที่แล้วนี้เอง “ย่าทวดวานรนางหนึ่ง มีลูกสาวสองนาง นางหนึ่งได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชิมแปนซีและวานรอื่น ส่วนอีกนางหนึ่ง คือ บรรพบุรุษของพวกเรา”
[เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ: ยูวัล โนอาห์ แฮรารี, ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ (แปล)]
บทนำ
การศึกษาของนักสัตววิทยาและนักพฤติกรรมวิทยา ในปี ค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) ตั้งข้อสังเกตว่า หากเอาหนังของลิง 192 ชนิดพันธุ์ มาเปรียบเทียบกันกับผิวหนังของมนุษย์ จะเห็นว่ามีความแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด “มนุษย์คือลิงเปลือย” เพราะร่างกายของมนุษย์ส่วนใหญ่เปลือยเปล่า ยกเว้นแต่มีขนอยู่บางส่วน ที่หัว ใต้รักแร้และรอบอวัยวะสืบพันธุ์ และเมื่อเทียบกับขนาดของร่างกายแล้ว มนุษย์เป็นวานรที่มีขนาดของอวัยวะเพศชายใหญ่กว่าชนิดอื่น
ลักษณะและขนาดของหน้าอก หรือ เต้านมของมนุษย์เพศเมียก็ต่างออกไปและมี “หน้าที่พิเศษ” ต่างไปจากวานรอื่น ที่มีไว้เพื่อการให้นมทารกเท่านั้น
หากมนุษย์ คือวานรที่มีรูปร่างเปลือยเปล่า ถ้าเช่นนั้น พวกเราจะเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นได้บ้างจากญาติร่วมบรรพสตรีเดียวกัน เพื่อหันมาทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของตนเองบนเส้นทางวิวัฒนาการ
กะโหลกศีรษะมนุษย์ กะโหลกศีรษะของมนุษย์ปัจจุบัน (Anatomically Modern Human, AMH) เพศชาย
ที่มา: ไม่ทราบแหล่งที่มา พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รับมอบจาก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กะโหลกอุรังอุตัง กะโหลกอุรังอุตัง เพศผู้ พันธุ์บอร์เนียว (Pongo pygmaeus) ถือเป็นวานรขนาดใหญ่ไร้หางที่มีวิวัฒนาการใกล้กับมนุษย์ ในกลุ่มชนดายัค (Dayak) บนเกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย ใช้กะโหลกของอุรังอุตังในพิธีกรรมเป็นตัวแทนของศีรษะมนุษย์
ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบให้ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยากายภาพและชาติพันธุ์วิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วานรและไพรเมต (Primate)
สังคมอินเดียโบราณมองเห็นความคล้ายคลึงของกลุ่มวานรกับมนุษย์มาตั้งแต่ต้น คำว่า วานร (Vānara) ในภาษาสันสกฤต มีความหมายหลายทาง “วนะ” หรือ “วนา” หมายถึง ป่า เป็นของป่า ท่องไปในป่า ส่วนคำ “นร” หมายถึง คน ในอีกความหมายหนึ่ง คำ “วา” ใช้เป็นคำถามในความหมายว่า ใช่หรือ? วานร จึงหมายถึงคนป่า สัตว์ที่ชอบกินของป่าหรือผลไม้ หรือในอีกความหมายหนึ่ง เป็นคำถามอย่างสงสัยว่า ใช่คนหรือ?
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 คาโรลัส ลินเนียส (1707-1778) นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน ผู้คิดค้นวิธีการจัดจำแนกหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตให้เป็นระบบ โดยในอาณาจักรของสัตว์ (Animal Kingdom) มนุษย์กับวานรอยู่ในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเป็นสมาชิกของอันดับไพรเมต (Order Primates)
การจงใจเลือกใช้คำว่า “primate” (รากศัพท์ภาษา ละติน primus หมายถึง ลำดับแรก) มาใช้เรียกชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มนี้ แสดงถึงการให้ความสำคัญว่าเป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตในลำดับต้น เมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ และนักวิชาการสมัยต่อมาก็ยังเชื่อว่า มนุษย์และไพรเมตอื่นๆ เป็นผลผลิตของกระบวนการวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ามากที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งปวง
การจัดลำดับของอนุกรมวิธาน (Taxonomy) ยุคแรก จัดแบ่งไพรเมตออกเป็นสองกลุ่มหลัก คือ Prosimi (เรียกว่า พวก Prosimians มาจากรากศัพท์ pro = ก่อน และ simians = ลิง) และ Anthropoidea ที่ประกอบด้วย ลิง (Monkeys) เอป (Apes) และเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Hominins/Hominids) ต่อ มา มีความพยายามปรับเปลี่ยนลำดับ ระยะห่างและ ความใกล้ชิดของมนุษย์กับวานรกลุ่มต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่นจัด กลุ่มให้มนุษย์และวานรใหญ่ไร้หาง (Great Ape) อุรังอุตัง ชิมแปนซีและกอริลลา อยู่ในกลุ่มที่ใกล้ชิดกันที่สุด เมื่อเทียบ กับวานรชนิดอื่น ๆ เช่น ชะนี (Lesser Ape) ลิงกัง ลิงแสม หรือ ลิงแมงมุม (Monkeys) การศึกษาหน่วยพันธุกรรมหรือ DNA ในระยะต่อมาแสดงให้เห็นว่าหน่วยพันธุกรรมของ ชิมแปนซีมีความเหมือนกันกับมนุษย์ถึงร้อยละ 98.5 ชิมแปนซีจึงใกล้ชิดกับพวกเรามากกกว่ากอริลลาและกอริลลาก็ใกล้ชิดกับเรามากกว่าอุรังอุตัง
หากพิจารณาตำนานพื้นเมืองของชนเผ่าในทวีปต่าง ๆ จะพบว่าวานรและมนุษย์ไม่ได้ถูกจัดลำดับ สูง-ต่ำกว่ากันอย่างชัดเจน หากมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เคยเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน มีศักยภาพที่เปลี่ยนหรือข้ามไปมาได้
ตำนานชนพื้นเมืองแถบอเมริกากลาง พระเจ้าของชาวมายาสร้างสัตว์ขึ้นก่อน แต่ไม่ถูกใจเพราะพูด ไม่ได้และไม่สนใจบูชาพระเจ้า จึงได้สร้างมนุษย์ขึ้นจากโคลน และสร้างขึ้นใหม่จากไม้ แต่มนุษย์ที่ได้มาก็แข็งทื่อ พูดไม่ได้ ทั้งไม่เคารพผู้สร้าง พระเจ้าจึงหวังทำลายทิ้ง โดยบันดาลให้ฝนตกและน้ำท่วม มนุษย์ไม้ได้หลบหนีไปและกลายเป็น ลิงแมงมุม (Spider monkey) ซึ่งมีรูปร่างเหมือนมนุษย์แต่พูดไม่ได้ ในตำนานชนพื้นเมืองของอเมริกาใต้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่อยู่บนโลก จากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ มนุษย์สองกลุ่มกลายไปเป็นลิงสองชนิด คือ ลิงขนปุย (Woolly Monkey) และลิงแมงมุม (Spider Monkey) หรือในเรื่องเล่าของไทยเรื่องจันทโครพ สาวงามชื่อนางโมราที่สุดท้ายต้องคำสาปให้กลายเป็นชะนีและหาคู่ไม่ได้ และท้ายที่สุดต้องยอมรับค่างให้เป็นคู่ครองของตน
การศึกษา “ไพรเมต” นับเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวมนุษย์เองเป็นทั้งผู้ศึกษาและจัดอยู่ในกลุ่มของสิ่งที่ศึกษาด้วย ในวงวิชาการศึกษาจำแนก “Primates” ออกเป็นสองกลุ่ม คือ Primates และ Non-human Primates
ชิมแปนซี (Chimpanzee) “ลุงเปี๊ยก”
ชิมแปนซี เพศผู้จากสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ซึ่งเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศ (พ.ศ. 2481-2561) ลุงเปี๊ยก อาศัยอยู่ที่สวนสัตว์จนถึงวัยชราและเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ทางสวนสัตว์ดุสิตได้มอบ “ลุงเปี๊ยก” ให้กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ชิมแปนซี (Pan troglodytes) มีพัฒนาการและความใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่าลิงใหญ่ชนิดอื่น ๆ ชิมแปนซี พบได้เฉพาะในทวีปแอฟริกาภาคกลางและภาคตะวันตกอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติโดยมีจ่าฝูงเป็นตัวผู้เพียงตัวเดียว หากินบนพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ เวลาเดินสี่เท้า ตัวจะเอนไปข้างหน้าและทิ้ง น้ำหนักตัวผ่านแขนทั้งสองข้างสู่อุ้งมือที่พับงอเข้า (Knuckle-walking) ชิมแปนซีสามารถเดินตัวตรงด้วยขาทั้งสองข้าง ซึ่งในการเดินแบบนี้ ชิมแปนซีจะซูมือทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือหัวหรือเอนไปด้านหลังเพื่อช่วยในการทรงตัว ปัจจุบันชิมแปนซีมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ให้ยืมจัดแสดง
“ไพรเมต” มีความหลากหลายมากกว่า 500 สปีชีส์ มีขนาดน้ำหนักตัว 30 กรัม เช่น ลีเมอร์หนู (Madame Berthe’s mouse lemur) ไปจนถึงน้ำหนัก 250 กิโลกรัมของกอริลลา
ไพรเมตบางสปีชีส์ อาศัยอยู่บนต้นไม้ พื้นดิน บ้างนิยมอยู่เพียงลำพัง ไพรเมตอยู่เป็น “ครอบครัว” ขนาดเล็ก ไปจนถึง อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่นับร้อยตัว
ระบบโครงสร้างสังคมของไพรเมตและลักษณะของพฤติกรรม จึงมีความหลากหลายอย่างมาก บางสปีชีส์หากินกลางวันและบางสปีชีส์หากินกลางคืน จึงยากต่อการติดตามสังเกต เราจึงมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับสปีชีส์กลุ่มที่หากินในเวลากลางคืน
การศึกษา “Primates” และสร้างข้อสรุปจากการศึกษา ไพรเมตกลุ่มหนึ่ง แล้วขยายความไปอธิบายภาพรวมของไพรเมต กลุ่มอื่น ๆ ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างระมัดระวัง
เราจะเรียนรู้อะไรจาก “วานร” เพื่อเข้าใจ “มนุษย์” ได้อีกบ้าง?
ชมนิทรรศการ
การกระจายตัวตามสภาพภูมิศาสตร์ของไพรเมตที่มิใช่มนุษย์
(Non-human primates)
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับไพรเมตมีชนิดพันธุ์ค่อนข้างหลากหลาย ประกอบไปด้วย 16 วงศ์ (family) และมีมากกว่า 500 ชนิดพันธุ์ (species)
ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายในด้านรูปลักษณะ ขนาดร่างกาย พฤติกรรม ถิ่นที่อยู่ รวมถึงอาหารการกิน สัตว์ในอันดับไพรเมตที่มิใช่มนุษย์ มีถิ่นที่อยู่กระจายอยู่ใน 4 ทวีปทั่วโลก คือแอฟริกา เอเชีย ยุโรป (เฉพาะบริเวณ ช่องแคบยิบรอลต้าร์) และอเมริกาใต้
บริเวณที่มีไพรเมตที่มิใช่มนุษย์ จำนวนหลากหลายชนิดพันธุ์ ที่สุด คือบริเวณภูมิประเทศเขตร้อนชื้น มีประเทศเพียง 4 ประเทศ เท่านั้น ที่เป็นบ้านของไพรเมต มากถึง 2 ใน 3 ชนิดพันธุ์ทั่วโลก นั่นคือ บราซิล มาดากัสการ์ อินโดนีเซีย และคองโก
ปัจจุบันไพรเมตกว่าครึ่งหนึ่งของชนิดพันธุ์ทั้งหมดอยู่ในภาวะถูกคุกคาม จากหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสียแหล่งอาศัยจากการขยายพื้นที่ทางการเกษตรของมนุษย์ การล่าเพื่อขายเป็นสัตว์เลี้ยง และการล่าเพื่อเป็นอาหาร