อาลักษณ์กำลังจดบันทึกตามคำบอกของเทพธอธ

กล่าวกันว่า หากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากโลกอื่น ต้องการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เราอยู่ เป็นไปได้อย่างมากที่จะจัดให้มนุษย์และชิมแปนซีอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพราะเมื่อพิจารณาในระดับรูปลักษณ์หรือ DNA มนุษย์ก็คือเอป (Ape) หรือลิงใหญ่ ประเภทหนึ่ง

ในอียิปต์โบราณ นับถือเทพธอธ (Thoth) ในร่างของ ลิงบาบูน ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรอบรู้ เป็นผู้คิดค้นภาษาและอักษรภาพ (Hieroglyph) มีความเชี่ยวชาญใน การคำนวณวันเวลาและการเคลื่อนที่ของดวงดาว ธอธจึงเป็นเทพผู้กำหนดปฏิทิน คุ้มครองอาลักษณ์ ผู้ซึ่งทำหน้าที่จดบันทึกเรื่องราวของโลกและฟาโรห์

หนุมานผู้ภักดีต่อรามและสีดา

ในอินเดีย นับถือหนุมานว่าเป็นเทพสำคัญองค์หนึ่ง คอยช่วยเหลือพระราม ซึ่งเป็นอวตาร ปางหนึ่งของพระนารายณ์เพื่อปราบทศกัณฑ์ ชาวอินเดียถือว่าหนุมานเป็นเทพแห่งปัญญา เปี่ยมพละกำลัง ความกล้าหาญและความจงรักภักดี ในหัวใจของหนุมานนั้นจึงมีเพียงพระรามและนางสีดา หนุมานยังเป็นเทพที่ชนพื้นเมืองฮินดูบางกลุ่มให้ความภักดีสูงยิ่ง และใช้อัตลักษณ์นี้ในการเรียกร้องทางการเมืองกับรัฐและต่อต้านคนต่างศาสนา

ภาพสลักบนหินชนวนเรื่อง “นฬปานชาดก” ในอุโมงค์วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย ปลายพุทธศตวรรษที่ 19

ชาดกในพุทธศาสนา กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ว่าเคยกำเนิดเป็นพญาวานรที่เฉลียวฉลาด เช่นใน นฬปานชาดก ที่ออกอุบายให้บริวารใช้ลำต้นอ้อที่ยาวเป็น “อุปกรณ์”เพื่อดูดน้ำ จากสระ ทำให้ฝูงลิงบริวารรอดพ้นภัยจากอมนุษย์ได้ หรือที่เล่าไว้ในพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จออกไปจำพรรษาในป่า เนื่องจากพระภิกษุในกรุงโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน ในครั้งนั้นมีพญาช้างและลิงคอยปรนนิบัติรับใช้

ภาพวาด “ซุนหงอคง” พุทธศตวรรษที่ 24

ในวรรณกรรมไซอิ๋ว ของจีน กล่าวถึงการเดินทางของพระถังซัมจั๋ง ที่ฝ่าอันตรายไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีป (อินเดีย) โดยมีวานรผู้มีอิทธิฤทธิ์และเฉลียวฉลาด หรือ“ซุนหงอคง” คอยปกป้องคุ้มครอง

 ในทุกวันนี้ “ท่านซุนหงอคง” (ไต้เสี่ยฮุก โจ้ว) หรือ “เทพเจ้าเห้งเจีย” ได้กลายเป็นเทพอีกองค์หนึ่งที่นิยมบูชาอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศจีนและไทย

นักปราชญ์สมัยต่อมาตีความเป็นปริศนาธรรมว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “ซุนหงอคง” เป็นสัญลักษณ์ของ จิตที่ไม่อยู่นิ่ง (ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ปรุงแต่ง)  “จิต” จึงต้องอาศัยการฝึกและการควบคุมเพื่อนำไปสู่ “ปัญญา”

ภาพสลักลิงสามตัวที่เมืองนิกโก ประเทศญี่ปุ่น (Three Wise Monkeys: See no evil, hear no evil, speak no evil)
วานร: ตัวแทนของความซัดส่ายแห่งจิต ในภาพพัฒนาการทางจิตตามศิลปะทิเบต
Photo credit: Robert Beer, The Encyclopedia of Tibetan Symbols and Motifs

 ลิง ยังเป็นตัวแทนของความ “ไม่อยู่นิ่งของจิต” (mental agitation) ปรากฏอยู่ในภาพปริศนาธรรมของพุทธศาสนาแบบวัชรยานด้วย ในการอธิบายพัฒนาการของจิต ในช่วงขณะของการฝึกฝน “สมถภาวนา (Shamatha Meditation Practice) สีของลิงที่เปลี่ยนแปลงไป (จากสีดำและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวและหายไปในที่สุด) ส่งผลต่อ “ช้าง” ซึ่งเป็นตัวแทนของจิต (mind) ให้ซัดส่ายไปตามการปรุงแต่งเมื่อกระทบกับผัสสะ (การสัมผัส รับรส ได้กลิ่น ได้ยินและการมองเห็น) อ้างกันว่าในอรรถกถาบางเรื่อง พระพุทธองค์เคยให้คำอธิบายว่า เหตุใดพระสารีบุตร ผู้ซึ่งแม้เป็น พระอรหันต์และเป็นอัครสาวกผู้เลิศในทางปัญญา จึงแสดงความดีใจอย่างไม่สำรวม เมื่อมองเห็นลำธาร ก็เนื่องจากเหตุที่ว่า พระสารีบุตรเคยมีชาติกำเนิดเป็นวานรเมื่อหลายร้อยชาติมาก่อน