มนุษย์เป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดหนึ่ง
ที่เพิ่งมีเมื่อไม่นานมานี้และน่าจะใกล้ถึงจุดจบแล้ว

Michel Foucault, 1994
ผลงานศึกษากายวิภาคสัดส่วนชายไทย เทคนิคปั้นหล่อปูนปลาสเตอร์, 2548 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พันธ์ จันทนมัฏฐะ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ยืมจัดแสดง

คำอธิบายในทางศาสนาอิสลามและคริสต์ศาสนา กล่าวไว้ว่า พระเจ้าคือผู้สร้างมนุษย์

ในคัมภีร์อัลกุรอาน ระบุว่า “พระองค์คือผู้ทรงสร้างพวกท่านจากธุลี”

ส่วนในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายา ตามพระฉายาของพระเจ้า พระองค์ได้ทรงสร้างมนุษย์” (โมเสส 1.27) ความเชื่อมั่นใน

“ความเป็นมนุษย์” หรือ “มนุษยนิยม” (Humanism) ในชาติตะวันตกนั้น เริ่มรุ่งเรืองขึ้นในสมัยการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ซึ่งเป็นรอยต่อของยุคกลางสู่ยุคสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเหตุผลและการมองเห็น เชิงประจักษ์ เลโอนาร์โด ดา วินชี (ค.ศ. 1452-1519) สนใจการศึกษากายวิภาค ของเส้นเอ็น เส้นประสาท กระดูกและกล้ามเนื้อ เพื่อเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของความคิดเข้ากับความเคลื่อนไหวของร่างกายและสนใจกระบวนการที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพ เขาสนใจ “ขนาดของมนุษย์เชิงสากล” ที่ผูกโยงศิลปะกับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน

นักปรัชญาในยุคหลัง เช่นมิเชล ฟูโกต์ (ค.ศ. 1926-1984) ชี้ให้เห็นว่า วิธีคิดแบบ “มนุษยนิยม” ที่ยกย่องมนุษย์ว่ามีความสามารถในการสร้างความรู้ ความจริงและอธิบายตนเองนั้น เริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มานี้เอง และอีกไม่นานวิธีคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในลักษณะเช่นนี้ก็จะถูกลบเลือนไป เหมือนรูปวาดใบหน้าที่เขียนไว้ที่ริมชายหาด

ปาสกาล (Blaise Pascal) นักปรัชญาฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งในศตวรรษที่ 17  ได้เริ่มให้ความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มนุษย์ไว้บ้างแล้ว เขากล่าวว่า“มนุษย์นี้ เป็นเหมือนการเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่ใหม่ เป็นสิ่งที่วุ่นวาย สิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง เขาเป็นผู้ตัดสินทุกอย่าง เป็นไส้เดือนที่โง่เขลา เป็นผู้รับความจริงไว้และที่รวมแห่ง ความไม่แน่นอน เป็นความรุ่งโรจน์และกากเดนของจักรวาล”