ในสังคมสมัยใหม่ จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์หรือโดยเฉพาะวานร เปลี่ยนแปลงไปตามพื้นที่และเวลา ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มองความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่มีอาวุโสต่างกัน นับเป็นทัศนะที่มองเห็น “เอกภาพของมนุษย์และสัตว์”

ในชาติตะวันตก ความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนและวานรเริ่มเปลี่ยนไป หลังจากที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (พ.ศ.2352-2425) ตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ และการแสดงออกทางอารมณ์ในคนและสัตว์ ก่อนหน้านั้น นักปรัชญาสมัยใหม่ เช่น เรอเน เดส์การ์ต (พ.ศ.2139-2193) มองว่าสัตว์เป็นเพียง “เครื่องจักรที่มีเลือดเนื้อ”  ในขณะที่มนุษย์มีจิต (mind) และวิญญาณ (soul) รับรู้ความเจ็บปวด มีความกังวล แต่สัตว์ไม่มีเหตุผลและสติปัญญา สัตว์อาจจะแสดงสัญญาณให้เห็นถึงความรู้สึก แต่ก็ขาดคุณลักษณะภายในจากต้นกำเนิดที่จะทำให้สัตว์รู้สึกแบบเดียวกับมนุษย์

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  มนุษย์เชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับวานร จึงได้นำลิงวอกและชิมแปนซีมาใช้ในการทดลอง ในฐานะเป็นตัวแทนของมนุษย์ เช่น ส่งขึ้นไปในอวกาศเพื่อดูผลกระทบในทางชีวภาพ ในห้องทดลองจิตวิทยาวานรแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ได้ออกแบบการทดลองทางจิตวิทยากับลิงวอกวัยทารก เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของแม่กับทารกในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยประดิษฐ์แม่เทียม (surrogate mothers) ให้มีคุณลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น แม่ตะแกรงลวด  แม่ที่อบอุ่น แม่ที่ส่งเสียงประหลาดและทำให้กลัว การทดลองครั้งหนึ่ง ให้ข้อสรุปว่าลิงทารกเลือกที่จะกอดแม่ที่อบอุ่น แทนที่จะอยู่กับแม่ตะแกรงลวดที่มีอาหาร

งานศึกษาของนักสัตววิทยายุคหลัง แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเอื้อเฟื้อมีอยู่ในสัตว์ด้วย ชิมแปนซี ไม่เพียงช่วยเหลือซึ่งกันและกันเท่านั้น แต่ยังสามารถประเมินความต้องการของตัวอื่นได้อย่างแม่นยำ อีกด้วย ฉะนั้น “ความเมตตากรุณา อาจเก่าแก่กว่าความเป็นมนุษย์ ความเมตตาของเราเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของภาพที่ใหญ่กว่ามาก”

ปัจจุบันการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์ ว่าเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพิ่ม มากขึ้น มนุษย์ไม่ควรถือตนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เพราะมนุษย์มิใช่เป็นเพียง “องค์ประธาน” (subject) แต่มนุษย์ก็เป็นวัตถุหรือกรรม (object) ในการศึกษาด้วยเช่นกัน เมื่อมนุษย์ก็คือสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องวางที่ทางของมนุษย์ในโลกเสียใหม่ ความภาคภูมิใจ ในศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถฝึกสอนสัตว์ได้ เช่น ละครลิง หรือการฝึกลิงเพื่อเก็บ มะพร้าว และยกย่องว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้รับการท้าทายและตั้งคำถามถึงความถูกต้อง เหมาะสม เพิ่มมากขึ้น

ปกนิตยสาร “โลกอาณานิคม” ฉบับที่ 33 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2469 แสดงภาพกอริลลาที่ถูกล่าจากป่าในเขตยาอุนเด ประเทศแคเมอรูน

ความกระอักกระอ่วนใจกับการล่าและการสะสมซากสัตว์ในยุคอดีต ไม่ว่าจะในนามส่วนบุคคลหรือการนำมาจัดแสดงไว้ใน “สถาบันความรู้” เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ว่ามีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงความละอายใจของคนรุ่นปัจจุบัน ที่จะนำภาพถ่าย ภาพวาดเกี่ยวกับการล่าหรือการสะสมมาเผยแพร่หรือจัดแสดงซ้ำ

 ในเวลานี้ ราชอาณาจักรสเปนแก้ไขกฎหมายใหม่โดยถือว่าสัตว์เลี้ยง เช่น หมาและแมวนั้น เป็นสมาชิกของครอบครัว สัตว์จึงมีสิทธิพื้นฐานของสัตว์ตามระบบกฎหมายอาญา ส่วนในทางกฎหมายแพ่ง ได้ยกสถานะของสัตว์เลี้ยง ว่ามิใช่เป็นเพียง “สิ่งของหรือทรัพย์สิน” ที่จะฟ้องร้องแย่งชิง หาก ต้องถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารมณ์และความรู้สึกด้วย

ขณะเดียวกัน ศาลในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐอเมริกา มีคำพิพากษาให้เดวิด สเลเตอร์ ช่างภาพ ชาวอังกฤษ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพเซลฟี่ที่ลิงหงอนดำบนเกาะซูลาเวซี ประเทศอินโดนีเซีย ชื่อ “นารุโตะ” เป็นผู้ถ่าย ด้วยเหตุผลที่ว่า ลิงไม่สามารถมีสิทธิบางอย่างเหมือนมนุษย์ได้ ตามกฎหมาย และลิขสิทธิ์เป็นสิทธิ์ในทางกฎหมายที่ผู้ทรงสิทธิ์จะต้องมีสภาพเป็นบุคคลเท่านั้น

การจัดตำแหน่งแห่งที่ เกี่ยวกับสถานะของวานรและมนุษย์ยังไม่เป็นที่ยุติ แต่ก็อาจจะคลี่คลายไปในอนาคตอันใกล้ ถ้าเราในฐานะมนุษย์เชื่อว่า วานรไม่ได้มีสถานะเป็นทั้งสัตว์เดรัจฉานหรือเทพเจ้า แต่วานรนั้นแท้จริงแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของพวกเรากันเอง