ระหว่างที่เจน กูดัลล์ สังเกตพฤติกรรมของชิมแปนซีในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าลำธารกอมเบ ประเทศแทนซาเนีย ช่วง พ.ศ. 2503 เธอสังเกตเห็น ชิมแปนซีตัวที่เธอตั้งชื่อให้ว่า เดวิด เกรย์เบียร์ด นั่งยอง ๆ ข้าง ๆ จอมปลวก เด็ดใบหญ้าแหย่ลงในโพรง แล้วดึงใบหญ้าที่เต็มไปด้วยปลวกออกมา ก่อนจะรูดเข้าปาก และอีกครั้งหนึ่ง เธอเห็นมันหักกิ่งไม้ เด็ดใบทิ้ง ก่อนจะใช้กิ่งไม้นั้นแหย่เข้าไปในรูจอมปลวก ข้อมูลนี้สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้กับวงการวานรศึกษา เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า มิใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถเป็นผู้สร้างและใช้เครื่องมือซึ่งถือกันว่าเป็นคุณสมบัติ สำคัญของมนุษย์ที่อยู่เหนือสัตว์ชนิดอื่น หลังจากที่เจนส่งโทรเลขเพื่อแจ้งการค้นพบนี้ให้กับ ดร.หลุยส์ ลีคกี เขาตอบกลับมาว่า

“ตอนนี้เราต้องนิยามเครื่องมือใหม่ นิยามมนุษย์ใหม่ หรือไม่ก็ยอมรับว่าชิมแปนซีคือมนุษย์”

Photo credit: Nick Riley Photography

ในการค้นพบซากฟอสซิลในทวีปแอฟริกา ที่ประมาณอายุได้ 2.4-1.5 ล้านปีก่อน และถือกันว่าน่าจะเป็น “บรรพบุรุษมนุษย์” สายหนึ่ง ในการขุดค้นครั้งนี้ ได้พบเครื่องมือหินรวมอยู่ด้วยจึงได้ตั้งชื่อสปีชีส์ว่า Homo habilis (handy man) เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า บรรพบุรุษกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับใช้หินเพื่อเป็นเครื่องมือ ซึ่งถือกันว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่แยก “มนุษย์” ออกจาก “สัตว์” ชนิดอื่น คือยืนตัวตรง เดินสองขาและความสามารถในการประดิษฐ์เครื่องมือ

 การศึกษาวานรในระยะต่อมา ให้รายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการประดิษฐ์และใช้เครื่องมือ เช่น การ “ตกปลวก” (Termite fishing) ของชิมแปนซีซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อน ชิมแปนซีเพศเมีย เลือกกิ่งไม้บางชนิดที่ใต้เปลือกมียางเหนียว หลังจากเลือกได้ขนาดพอเหมาะ ลอก เปลือกออก  สอดเข้าไปในรังหรือทางเดินใต้ดินของปลวก ทิ้งเวลาระยะหนึ่งเพื่อรอให้ปลวกไต่ แล้วจึงดึงไม้ออกมากินปลวก ชิมแปนซีวัยเด็กจะสังเกตพฤติกรรมของแม่แล้วทำตาม ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะพัฒนาทักษะนี้  นอกจากนั้น ชิมแปนซียังสามารถใช้ไม้ยาวเพื่อ ช้อนสาหร่ายเป็นอาหาร เลือกใช้เปลือกไม้รองพื้นเป็น “รองเท้า” เพื่อกันหนาม มีรายงานด้วยว่าอุรังอุตังก็สามารถประดิษฐ์ใช้เครื่องมือด้วยเช่นกัน ข้อค้นพบที่เพิ่มมากขึ้นในวานรหลายกลุ่ม ยืนยันว่า การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน มิได้เป็นศักยภาพที่ผูกขาดอยู่เฉพาะ มนุษย์เท่านั้น

รูปแบบการใช้เครื่องมือหินของลิงแสม (Use-wear patterns on wild macaque stone tools reveal their behavioral history) Photo cradit: Dr. Michael Haslam School of Archeology, Oxford University, UK
คำบรรยาย: ขวานหินจำลอง: กะเทาะหินและสร้างขึ้นในปี 2536 โดยสมศักดิ์ ประมาณกิจ พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยากายภาพและชาติพันธุ์วิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาม.ธรรมศาสตร์ ให้ยืมจัดแสดง
ที่มา: ฐานนท์ จิตเขม้น

ไม่เพียงแต่กลุ่มลิงใหญ่ไร้หาง เช่น ชิมแปนซีและอุรังตัง ที่สามารถประดิษฐ์ใช้เครื่องมือ ในกลุ่มลิงโลกใหม่ เช่น ลิงคาปูชิน ในอเมริกาใต้ ก็แสดงให้เห็นความชำนิชำนาญของการเลือกใช้ก้อนหินขนาดใหญ่ทุบผลไม้เปลือกแข็งให้แตก ใน พ.ศ. 2548 ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์และคณะ พบว่าในกลุ่มลิงโลกเก่า เช่น ลิงแสม ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติแหลมสน (เกาะเปียก น้ำใหญ่) เขตชายแดนจังหวัดระนองนั้น ใช้เครื่องมือหินอย่างชำนาญในการแกะหอยนางรมบริเวณโขดหิน พบว่าลิงบางตัวใช้มือทั้งสอง ข้างในการจับหินแล้วทุบ ลิงบางตัวใช้มือข้างขวามือเดียว และลิงบางตัวใช้มือข้างซ้ายมือเดียว โดยลิงตัวเมียใช้เครื่องมือหินทุบหอยนางรม ได้ “ไว” กว่าลิงตัวผู้ และยังพบว่าระหว่างการหาอาหารนั้น ลิงนำ “เครื่องมือหิน” ติดตัวไปด้วยในช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนั้น ลิงแสมบางกลุ่มยังใช้ก้อนหินช่วยทุบผลไม้เปลือกแข็ง เช่น ลูกหูกวางเพื่อเป็นอาหาร และจากการขุดค้นบริเวณดังกล่าว ได้พบเครื่องมือหิน ที่มีอายุเก่าแก่ย้อนหลังกลับไปได้ถึงประมาณ 65 ปี

 การค้นพบนี้ยืนยันว่า ทั้งลิงใหญ่ไร้หาง ลิงโลกเก่า และลิงโลกใหม่ต่างมีศักยภาพในการประยุกต์ใช้วัสดุจากธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือในการหา อาหาร ดังนั้น การผลิตและใช้เครื่องมือจึงไม่ใช่เป็นคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ชนิดอื่น

ลูกปาล์มแห้งลิงแสมมักใช้หินทุบเพื่อกินเมล็ดด้านใน
ไม้รองทุบเพื่อช่วยกระเทาะลูกปาล์มหรือลูกหูกวางแห้ง