Louis Leakey พ.ศ. 2446-2515

จุดเปลี่ยนสำคัญของวงการวานรวิทยาและไพรเมตศึกษาที่สร้าง ความสนใจให้กับสาธารณชนในวงกว้าง กล่าวได้ว่ามาจากผู้ชาย คนหนึ่ง คือ ดร.หลุยส์ ลีคกี (Louis Leakey พ.ศ. 2446-2515) นักมานุษยวิทยา นักวานรวิทยาและนักบรรพชีวินวิทยา ชื่อเสียงจากสำรวจและค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ บรรพบุรุษมนุษย์ในแอฟริกา และผู้หญิงอีกสามคน คือ เจน กูดัลล์ (Jane Goodall พ.ศ. 2477- ) ไดแอน ฟอสซี (Dian Fossey พ.ศ. 2475-2528) และบีรูที กาลดิคัส (Birute Galdikas พ.ศ. 2489- ) ที่รู้จักกันในนาม The Trimates

ดร.หลุยส์ ลีคกี และทีมงานประสบผลสำเร็จจากการขุดค้น ทางโบราณคดี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตแอฟริกาตะวันออก  ผลงาน ของเขามีส่วนเพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของ ไพรเมตและมนุษย์ ทำให้ ดร.ลีคกี กลายเป็น “ชายผู้มีอิทธิพล” ของวงการบรรพชีวินวิทยา

ดร.ลีคกี มีความเห็นว่า ข้อมูลและความรู้ที่ได้จากการศึกษา “ซาก” ไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ มีความจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับ “ชีวิต” และพฤติกรรมของไพรเมตจากถิ่นที่อยู่ด้วย จึงได้จัดหาเงินทุนสนับสนุนให้ “นักวิจัยสตรี” สามคนเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชิมแปนซี กอริลลาและอุรังอุตัง โดยเชื่อว่า เพศหญิงนั้นมีคุณลักษณะตามธรรมชาติของการ “กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู อดทน มีความเข้าอกเข้าใจในสิ่งที่พวกเธอต้องใช้เวลาในการสังเกตและใช้ชีวิตอยู่ด้วยเป็นเวลายาวนานมากกว่าเพศชาย”

ในการศึกษาของผู้หญิงทั้งสามคน นอกจากจะถือเป็นการบุกเบิกการศึกษาวานร เป็นระยะเวลายาวนานจาก ภาคสนามอย่างเข้มข้นแล้ว ผลของการสังเกต ข้อมูลและผลการศึกษาที่ได้นั้น ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อวิธีการศึกษา ความรู้และการตีความใหม่ ๆ เกี่ยวกับทั้งวานรและมนุษย์

The Trimates

Jane Goodall พ.ศ. 2477-
Dian Fossey พ.ศ. 2475-2528
Birute Galdikas พ.ศ. 2489-

หลังจากที่ เจน กูดัลล์ ได้พบกับ ดร.หลุยส์ ลีคกี ที่เคนยาและทำงานเป็น เลขานุการอยู่ 3 ปี ดร.ลีคกีได้หาทุนเพื่อให้หญิงสาวชาวอังกฤษ ที่มีอายุ เพียง 26 ปี (พ.ศ. 2503) เดินทางไปศึกษาพฤติกรรมของชิมแปนซีใน ประเทศแทนซาเนีย เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าลำธารกอมเบ ซึ่งในขณะนั้น เธอยังไม่มีวุฒิการศึกษาแม้ในระดับปริญญาตรี (ต่อมาเธอสำเร็จ หลักสูตรปริญญาเอกด้านพฤติกรรมวิทยา จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) และในเวลานั้น ยังไม่มีใครศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของชิมแปนซีในป่า มาก่อนเลย ข้อค้นพบของเจนที่ว่า ชิมแปนซีนั้นกินเนื้อสัตว์ มีการลำดับชั้นทางสังคม สามารถแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้า ท่าทาง และสามารถประดิษฐ์-ใช้เครื่องมือได้นั้น ได้หักล้างความเชื่อเดิมเกี่ยวกับความพิเศษ ของมนุษย์และสร้างความสนใจให้กับสาธารณชนทั่วโลก

ดร.หลุยส์ ลีคกี ให้ทุนสนับสนุน ไดแอน ฟอสซี เพื่อศึกษากอริลลาที่ประเทศ คองโก ใน พ.ศ. 2509 ซึ่งระยะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของสงครามกลางเมือง แต่การศึกษากอริลลาของฟอสซีนั้น ต้องสิ้นสุดลง ใน พ.ศ. 2528  เมื่อเธอ ถูกฆาตกรรมในที่พักของเธอ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับ คนท้องถิ่นที่เสียผลประโยชน์จากค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะกอริลลา

ไดแอน ฟอสซี ติดตามศึกษากลุ่มกอริลลาอย่างใกล้ชิด พยายามเลียนแบบ พฤติกรรมของกอริลลา การเการ่างกาย กินอาหาร และเลียนเสียงร้อง ทำให้ฝูงกอริิลลารับเธอเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในฝูง การศึกษาของ ฟอสซี ช่วยทำให้เข้าใจความหมายการเปล่งเสียง (vocalization) ของกอริลลา การจัดลำดับสูงต่ำในฝูง และความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่ม ฟอสซีได้ชี้ให้เห็นว่ากอริลลาเพศเมียได้รับการส่งผ่านต่อไปยังสมาชิกของฝูงอื่น ๆ ได้อย่างไร รวมถึงพฤติกรรมของลิงเพศผู้ที่ฆ่าทารกทิ้ง เพื่อการเปิดโอกาสให้การผสมพันธุ์มีรอบระยะเวลาที่เร็วขึ้น

เจน กูดัลล์ ที่มา: https://education.nationalgeographic.org/resource/jane-goodall

ฟอสซี ซึ่งได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษจากการศึกษากอริลลา และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกายภาพและพฤติกรรมของกอริลลาภูเขา เธอให้ข้อสรุปว่า กอริลลาเป็นสัตว์อ่อนโยน รักสงบ มีบุคลิกเฉพาะตน ภาคภูมิใจในตนเอง มีความเป็นสัตว์สังคมระดับสูง และมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ใกล้ชิดผูกพันกัน ในช่วงระยะเวลาสุดท้ายของชีวิต สภาพจิตใจของเธอตกต่ำลง เมื่อพบว่าสมาชิกของกอริลลาในกลุ่มที่เธอศึกษา คือ ดิจิต (Digit) ลุงแบร์ (Uncle Bert) ถูกฆ่าโดยพรานพื้นเมือง ชีวิตของไดแอน ฟอสซีได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ Gorilla in the Mist

บีรูที กาลดิคัส (Birute Galdikas) เริ่มศึกษาอุรังอุตัง ซึ่งเธอเรียกว่า “คนของป่า” (People of the Forest) ที่บอร์เนียว ใน พ.ศ. 2514 อุรังอุตังเป็นวานรที่มักอยู่ตามลำพัง ซึ่งยากต่อการติดตามศึกษา กาลดิคัส ใช้ระยะเวลานาน กว่าที่อุรังอุตังจะยอมรับให้เธอได้สังเกตพฤติกรรม อย่างใกล้ชิด งานศึกษาของกาลดิคัส ที่ใช้เวลายาวนานถึง 12 ปี เธอ ค้นพบว่า อุรังอุตังเป็นสัตว์ที่ใช้เครื่องมือด้วยเช่นกัน และอุรังอุตังเพศเมีย นั้นอุทิศตนกับการเลี้ยงดูลูกมากเพียงใด ในขณะที่เพศผู้ไม่ได้ให้ความสนใจ และแยกตัวห่างออกไป บทบาทของวานรเพศเมียในการเลี้ยงดูลูกเป็นระยะเวลายาวนาน จนกว่าจะเติบโตเต็มที่นั้น กลายเป็นประเด็นสำคัญในการสนับสนุนข้อถกเถียงเรื่องบทบาทที่สำคัญของเพศเมียในพัฒนาการทางสังคมของวานร