ในขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับ วานรใหญ่ไร้หาง ( Great Apes) เช่น ชิมแปนซี โบโนโบ กอริลลา และอุรังอุตัง ได้รับความสนใจในวงกว้าง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความ “ใกล้ชิด” กับมนุษย์ นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งสนใจศึกษาและทำความเข้าใจวานร กลุ่ม “เอปเล็ก” (lesser Apes) โดยเฉพาะกลุ่ม “ชะนี”        ด้วยเชื่อว่าจะช่วยไขความกระจ่างในเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ แม้ว่าจะมีสายวิวัฒนาการแยกกันเมื่อประมาณ 16 ล้านปีก่อน

พ.ศ. 2480 คณะสำรวจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ( Asiatic Primate Expedition of Harvard University) ใช้เวลา 2 เดือนในการสำรวจและศึกษาชะนีบริเวณดอยอินทนนท์ และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภารกิจหลักของการสำรวจ คือ การสังเกตพฤติกรรมของชะนีอย่างใกล้ชิด ศึกษาทางกายวิภาคอย่างละเอียด และเก็บรวบรวมตัวอย่างสัตว์และพืช คณะสำรวจชุดนี้ได้เก็บตัวอย่างซากชะนีไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงชะนีที่ยังมีชีวิตเพื่อนำกลับไปศึกษาต่อ (ปัจจุบันซากชะนีทั้งหมดได้รับการเก็บรักษา ไว้ที่พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเปรียบเทียบ (Museum of Comparative    Zoology) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด การศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาชะนีในสภาพธรรมชาติครั้งแรกๆ ของโลก

กลุ่มนักวิชาการที่เข้ามาศึกษาในครั้งนั้น ประกอบด้วยหัวหน้าคณะสำรวจ คือ คูลลิดจ์ ( Harold J. Coolidge) ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดร.ชูลท์ (Adolph H. Schultz)  วอชเบิร์น (Sherwood L. Washburn) และ ดร. คาร์เพนเตอร์ (Clarence Ray Carpenter) ซึ่งต่อมาได้เสนอผลงานศึกษาสำคัญ ที่ทำให้เข้าใจชีวิต พฤติกรรม และกายวิภาคของชะนี ในฐานะเป็นวานรกลุ่มเอปเล็กของเอเชีย

เครื่องบันทึกเสียงร้องชะนี
Photo credit: Carpenter, C.R. 1939.

ในขณะที่ลิง และวานรใหญ่ไร้หางอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ มีพื้นที่หากินกว้างขวาง มีการลำดับชั้นสูงต่ำทางสังคม แต่ชะนีอยู่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก (พ่อ แม่ ลูก) หากินในพื้นที่อันเป็นอาณาเขต (territory)  หรือ “รั้วบ้าน” ของตัวเอง แต่พื้นที่หากิน (home range) จะขยายออกไปมากกว่าเขตบ้าน ชะนีจะปกป้องเฉพาะเขตบ้าน แต่จะไม่ปกป้องเขตพื้นที่หากิน ชะนีกินผลไม้เป็นหลักและการนอนบนต้นไม้โดยไม่สร้างรัง

ชะนี เป็นวานรที่มีการส่งเสียงร้องโดดเด่นกว่าวานรอื่น ๆ การศึกษาของ ดร.คาร์เพนเตอร์ ดร.โจและเอลซี มาร์แชล ( Joe and Elsie Marshall) ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. วรเรณ บรอคเคลเมน (Warren Y. Brockelman) รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ชี้ให้เห็นว่า การร้องของชะนีมีความพิเศษและซับซ้อนมาก ทำหน้าที่เพื่อสื่อสารแตกต่างกัน ประกาศอาณาเขต ร้องหาคู่ กระชับความสัมพันธ์ของคู่ ร้องตามพ่อแม่ ร้องเรียกลูก หรือร้องเตือนภัย ชะนีมีรูปแบบของเสียงร้องแตกต่างกันอันเป็นผลมาจากพันธุกรรม เสียงร้องของชะนีช่วยให้สามารถแยกชนิดพันธุ์ของชะนี และทำให้ นักวิจัยสามารถจำแนกชนิดและประเมินประชากรในแต่ละพื้นที่ได้ เช่น เสียงร้องเดี่ยวของชะนีตัวผู้ (male solos) เพื่อหาคู่ เสียงร้องเดี่ยวของชะนีตัวเมีย (female great call) หรือการร้องคู่ (vocal duet) โดยตัวเมียร้องขึ้นก่อนเป็นจังหวะ ก่อนที่ตัวผู้จะร้องปิดท้าย เพื่อแสดงความสัมพันธ์และประกาศอาณาเขตของครอบครัว นอกจากนั้นยังพบการเพรียกร้องของชะนีม่ายที่ร้องทั้งเสียงเริ่มต้นและปิดท้ายเพื่อเลียนเสียงการร้องคู่

แผ่นเสียงบันทึกเสียงร้องของชะนี
ช่วงปี พ.ศ. 2508 ถึง 2519
ภาพโซโนแกรม (Sonogram) บันทึกเสียงร้องของชะนีกลุ่มต่างๆ จากการศึกษาของ ดร.โจ ที. มาร์แชล

ปัจจุบัน แทบไม่พบชะนีในสภาพธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์และดอยเชียงดาวแล้ว แต่บริเวณ มอสิงโต ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังคงเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยที่เข้มข้น และมีข้อค้นพบสำคัญเกี่ยวกับชะนีเป็นจำนวนมาก เช่น การละทิ้งครอบครัวไปจับคู่เพื่อตั้งครอบครัวใหม่ การผสมข้ามสายพันธุ์ของชะมีมือขาวและชะนีมงกุฎ หรือพบว่าชะนีส่งเสียงด้วยวิธีการที่แตกต่างกันเมื่อพบสัตว์ต่างชนิดที่มาคุกคามคือ งูขนาดใหญ่ เหยี่ยว หรือ สัตว์ตระกูลเสือ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา ลิงเวอเวต (Vervets) ที่ส่งสัญญาณเสียงที่แตกต่างกันได้ 3 แบบ เพื่อบอกการปรากฏตัวของศัตรูว่าเป็น งู เสือ หรือนกอินทรี

วานรสามารถสื่อสารด้วยเสียงได้ โดยใช้ระบบการเรียก (call system) โดยเปล่งเสียงที่มีคุณภาพต่างกันได้หลายเสียง แต่ละเสียงสัมพันธ์กับความหมายที่เฉพาะเจาะจงเพียงหนึ่งความหมาย เช่นบอกแหล่งอาหาร ศัตรู หรือกำหนดบริเวณถิ่นอาศัย (territory) การสื่อสารด้วยเสียง จึงเป็นสัญญาณเสียงที่เปล่งออกมาโดยสัมพันธ์ในระดับหนึ่งกับการแสดงอารมณ์

คำบรรยาย: ภาษามือ
Designed by freepik.com