เจ้าชายน้อย และ ฃุนน้อย

หนังสือ “เจ้าชายน้อย” ( Le Petit Prince ) ยกย่องกันว่าเป็นผลงาน “ชิ้นสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษของฝรั่งเศส” ประพันธ์โดย อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry พ.ศ. 2443-2487 ) แปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า  380 ภาษา ใน 62 ประเทศ ในฉบับแปลภาษาไทยนั้นพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 โดย อำพรรณ โอตระกูล และแปลในสำนวนอื่นๆ อีกไม่ต่ำกว่า 8 สำนวน

หนังสือ “ฃุนน้อย” แปลขึ้นใหม่เป็นภาษาท้องถิ่นสุโขทัยและถ่ายถอดคำแปลด้วยอักษร “ลายสือไท สมัยสุโขทัย”  โดย เคียง ชำนิ จากต้นฉบับ “เจ้าชายน้อย” ของ อริยา ไพฑูรย์ และ“ท้าวน้อย” ฉบับภาษาลาวของ สีสะเหลียว สะแหวงสึกสา และเทียบเคียงกับต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “สนทนาข้ามพื้นที่และวัฒนธรรม” (ฝรั่งเศส-ไทยภาคกลาง-ท้องถิ่นสุโขทัย) “ข้ามเวลา”  ( 77 ปีของการตีพิมพ์ครั้งแรก-ภาษาถิ่นร่วมสมัย-ลายสือไท สมัยสุโขทัย) โดยอาศัยรูปแบบอักษร “รามจารึก” (Ram Charuak)  ซึ่งประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นโดยพันโทเชาวน์ วัตถพาณิชย์

ภาพจำหลักบนหินชนวน วัดศรีชุม

เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นต่างๆ

“เจ้าชายน้อย” แปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง นอกจากจะแปลในกลุ่มภาษาที่มีคนใช้มากที่สุด เช่น จีน (มีทั้งฉบับแปลของใต้หวันและฮ่องกง) ฮินดีและสเปน (ยังมีฉบับแปลของภาษาบาสก์และคาตาลันที่พยายามจะแยกเป็นรัฐอิสระจากสเปน) ฉบับแปลในภาษาของชนชาติและท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาเคิร์ด ปกาเกอะญอ ทิเบต ภาษาซงคา (ภูฎาน) ภาษายาวี ภาษาอัมฮาริค (ภาษาประจำชาติของเอธิโอเปีย) ภาษาตูอาเร็ก (กลุ่มชนร่อนเร่ในทะเลทรายซาฮารา) ภาษาอาราเนส (ภาษาถิ่นในหุบเขาอารานแห่งคาทาโลเนีย ที่มีผู้พูดอยู่เพียงสองพันคน) ภาษาที่ตายไปแล้ว เช่น ภาษาอียิปต์โบราณ หรือในภาษาที่คิดขึ้นมาใหม่ เช่น ภาษาออเรเบช (ในภาพยนตร์สตาร์ วอร์)

“เจ้าชายน้อย” แม้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและมิตรภาพซึ่งเป็นสิ่งสากลของมนุษยชาติ แต่ในการแปลข้ามภาษาและวัฒนธรรม ผู้แปลก็ต้องเผชิญกับปัญหาข้อจำกัดในภาษาปลายทาง เช่นในภาษาโทบา ทางตอนเหนือของอาร์เจนติน่า เนื่องจากไม่ได้ปกครองในระบบ “กษัตริย์” จึงไม่มีความคิดเรื่อง “เจ้าชาย” หรือในภาษาอมาสิกห์ แถบโมร็อคโค ก็ไม่มีคำศัพท์ที่สื่อความหมายของคำ “เสียงสะท้อน” “ความน่าเบื่อหน่าย” และ “ความไร้สาระ”

ความตอนหนึ่งของเรื่อง ในฉบับภาษาเขมร แปลว่า “ต้องมองสิ่งใดด้วยจิต จึงจะแจ่มแจ้ง” ในขณะที่ฉบับแปลภาษาไทยใช้คำว่า “หัวใจ” แทน ส่วนภาษาลาว ผู้แปลเลือกใช้ เหง็น หรือ อีเห็น แทน “สุนัขจิ้งจอก” ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชอบกินไก่ “ฃุนน้อย” ในฉบับแปลภาษาถิ่นสุโขทัย เลือกใช้สรรพนาม มึง-กู อย่างที่ใช้กันโดยทั่วไป ส่วนต้นเบาบับ ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่นของแอฟริกา ในฉบับภาษาสุโขทัย ใช้คำว่า “ต้นง้าวยักษ์” (ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่นของสุโขทัย) แทนต้นเบาบับในภาษาฝรั่งเศส หรือ ต้นไทร อย่างที่ใช้กันในภาษาไทยสำนวนอื่น

ฃุนน้อย เจ้าชายน้อยภาษาถิ่นสุโขทัย

ภาษาถิ่นสุโขทัยมีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ดังปรากฎในบทเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายชุมพลหนีขึ้นไปหาตายายซึ่งเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ตอนหนึ่งว่า

ครั้นจะร่ำไปนักก็ชักช้า ด้วยผีพารีบรัดไม่ขัดขวาง
ครั้งสายัญหยุดหย่อนลงนอนค้าง ในกลางทางเภทภัยไม่แผ้วพาน
สามวันครั้นถึงเมืองสุโขทัย  เสียงชาวเหนือเกื๋อไก๋ไปทุกบ้าน
แลเห็นเรือนเจ้าพระญาฝากระดาน ผีกุมารบอกพลายชุมพลพลัน
เรือนที่แฃวนกรงนกหกเจ็ดหลัง ลับแลตั้งปิดประตูดูขึงขัน
เรือนคุณตาคุณยายพ่อพลายนั้น ไปหากันสิพ่ออย่ารอรั้ง…

คำว่า “ชาวเหนือ” ในที่นี้ หมายถึงเมืองในแว่นแคว้นสุโขทัย คำว่า “เกื๋อไก๋” นั้นเป็นสำเนียงที่คนสุโขทัยในปัจจุบันก็ยังคงใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่นใช้ในท้ายประโยคคำถาม งั้นก๊าย , งั้นเก๊ย, งั้นไก๊ ซึ่งจะใช้แตกแยกย่อยไปในแต่ละท้องถิ่น ดังมีคำพูดว่า “บ้านสวนก๊าย บ้านไกรเก๊ย” ซึ่งหมายถึง คนในท้องที่อำเภอบ้านสวนจะพูดคำลงท้ายว่า ก๊าย คนในแถบอำเภอบ้านไกรจะพูดเก๊ย

ภาษาถิ่นสุโขทัย มีคำพิเศษที่ออกเสียงต่างออกไปอีก เช่นคำว่า ตรงนั้น จะออกเสียงเป็น อี๊ต๋ำนั่น ตรงโน้น จะออกเสียงเป็น อี๊ต่ำโน้น ใช้คำว่า เหล่า ต่อท้ายประโยคบอกเล่าเพื่อขอร้อง เช่น มึงอย๋าทำอย๋างงั้นฮิเหล่า , มึงไม่บอกกูอ้ะเหล่า คำว่า “ไอ่หนู” ใช้เป็นทั้งสรรพนามแทนตนเองของเด็กผู้ชาย หรือคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกเด็กผู้ชาย ในด้านการออกเสียงจะต่างไปจากภาษาไทยกลาง เช่น หก ออกเป็น ห๋ก สิบ ออกเป็น สิ๋บ เหงื่อ ออกเป็น เหื่อ เสื่อ ออกเป็น เสือ และเสือ ออกเป็น เสื่อ

ฃุนน้อย กับลายสือไท

นอกจากหนังสือ “ฃุนน้อย” จะใช้คำศัพท์ และสำเนียงท้องถิ่นสุโขทัยแล้วยังถ่ายถอดฉบับแปลผ่านอักษรสมัยสุโขทัย โดยอาศัยรูปแบบอักษร “รามจารึก”ซึ่งประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นโดยพันโทเชาวน์ วัตถพาณิชย์ (โดยรูปแบบอักษรนี้ไม่มีพยัญชนะ ๕ ตัว คือ ฌ ฑ ฒ ฬ และ ฮ เนื่องจากผู้พัฒนาใช้จารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ เป็นแหล่งอ้างอิง)

ภาษาสุโขทัยที่ใช้กันในอาณาจักรสุโขทัยเมื่อราว ๗๐๐ ปีก่อนนั้น ปรากฏหลักฐานอยู่ในจารึกหลักต่างๆ ที่เขียนขึ้นร่วมสมัย และที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) หรือจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒  (จารึกวัดศรีชุม) และจารึกที่จำหลักบนหินชนวนที่ค้นพบในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย (ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่ารูปตัวอักษรน่าจะอยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๑๙๓๕) ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งก็คือ นำสระมาเรียงอยู่ในระดับบรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ แบบเดียวกับตัวหนังสือของชาติตะวันตก และไม่มีตัวพยัญชนะซ้อนกันเหมือนตัวหนังสือของเขมร มอญ พม่าและไทใหญ่

เช่นในจารึกที่จำหลักบนหินชนวน ที่มุมบนด้านขวา ๔ บรรทัดนี้ เขียนว่า

กุกกูรชาดก พระโพธิสั-
ตว์เป็นหมา เทศนาธรร
มแก่ท่านพระญา อัน
เป็นคำรบยี่สิบสอง

ภาพพระโพธิสัตว์ของวัดศรีชุมภาพนี้ ชวนให้นึกถึง สุนัขจิ้งจอก ผู้เฉลียวฉลาดที่เผยความลับอันสำคัญยิ่งให้กับเจ้าชายน้อย และความลับอันงดงามนี้ก็ได้ครองใจผู้อ่านข้ามยุค ข้ามสมัยและข้ามวัฒนธรรม

จารึกและภาพเล่าเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเรื่องนี้คือ  กุกกุรชาดก กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ครั้งเสวยชาติเป็นพญาสุนัข และใช้สติปัญญาช่วยเหลือสุนัขจำนวนมากที่ถูกพระราชาสั่งฆ่า เนื่องจากเข้าใจผิดว่าสุนัขจากนอกพระราชฐานมาลอบกัดกินหนังหุ้มราชรถ

เจ้าชายน้อยกับสุนัขจิ้งจอก: การแปลข้ามภาษาและวัฒนธรรม

ฉากที่มักกล่าวถึงกันมากที่สุดในหนังสือเจ้าชายน้อย ก็คือฉากสนทนาระหว่างเจ้าชายน้อยกับสุนัขจิ้งจอก ความสำคัญของฉากนี้ก็คือ ความลับแห่งชีวิตที่ผู้คนละเลยไป และผู้เผยความลับอันยิ่งใหญ่แต่เรียบง่ายให้กับเจ้าชายน้อยก็คือสุนัขจิ้งจอก กล่าวกันว่า เรื่องราวของเจ้าชายน้อยกับสัตว์ทรงปัญญานี้ น่าจะมาจากประสบการณ์ของ     อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรี เอง เมื่อครั้งประจำการอยู่ที่แหลมจูบี แอฟริกา เขามีสัตว์เลี้ยงเป็นสุนัขป่า (Fennex fox)  ตัวหนึ่ง

หลายวัฒนธรรม เช่นนิทานอีสป ของกรีก  ในยุคกลางของยุโรป หรืออินเดียโบราณมักยกย่องสุนัขจิ้งจอกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เฉลียวฉลาด และน่าสนใจว่า ความลับที่สุนัขจิ้งจอกกล่าวกับเจ้าชายน้อยนั้น ก็ไม่ต่างกับความคิดของ โสเครตีส ในงานเขียน Symposium ของเพลโต “จงจำไว้ว่าท่านจะเห็นความงามนั้นได้ด้วยดวงตาของจิต”

บทสนทนาว่าด้วยความลับของสุนัขจิ้งจอกที่มอบให้กับเจ้าชายน้อย ที่ถ่ายทอดออกเป็นภาษาต่างๆ

Adieu, dit le renard. Voici mon secret.
Il est très simple : on ne voir bien qu’avec le cœur.
L’essentiel est invisible pour les yeux.
L’essentiel est invisible pour les yeux, répéta le petit prince, a fin de se souvenir.

(Le Petit Prince)

“ลาก่อนนะ”

ลาก่อนสุนัขป่าตอบ

“นี้คือความลับของฉันมันแสนจะธรรมดา
เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น
สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา”

“สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา”

เจ้าชายน้อยพูดตามเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำ

(สำนวน : อำพรรณ โอตระกูล)

“ไปก่อนเด้อ”

“ไปดีท้อน (ไปดีเถอะ), เหงนตอบ :

“นี้เด้อ ความลับของข้อยง่ายดายที่สุด
มีแต่หัวใจเท่านั้นที่เฮ็ดให้พวกเฮาเห็นกันได้ดี
สิ่งเล็กเซิ่งตาพวกเราเบิ่งบ่เห็นดอก”

“สิ่งเล็ก เซิ่งตาพวกเฮาเบิ่งบ่เห็น”,ท้าวน้อยจ่มซ้ำ เพื่อให้จื่อ.

(สำนวน ภาษาลาว)

– ไปก่อนนะ เจ้าชายน้อยกล่าว

– ไปเถิด หมาจิ้งจอกตอบ นี่ ความลับนี้ของฉันน่ะ มัน”กระจ่าง” มาก ดวงตานั้นไม่ว่าเมื่อไรก็ไม่มีทางมองเห็นสิ่งสำคัญได้หรอก ต่อเมื่อรู้สึกด้วยหัวใจเท่านั้นล่ะ จึงจะมองเห็นได้ถูกต้อง

(สำนวนภาษาพม่า)

ต่อมา เขาก็กลับไปตามหาสุนัขจิ้งจอก แล้วกล่าวว่า

– ลาก่อนนะ ลาลุอวสาน

สุนัขจิ้งจอกตอบ

– ลาก่อน ลาลุอวสานเช่นกัน ตอนนี้ฉันจะบอก
ความลับข้อหนึ่งแก่เธอ เรื่องนี้เป็นเรื่องสามัญมาก คือต้องมองสิ่งใดด้วยจิต จึงจะแจ่มแจ้ง
สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นด้วยตาได้เลย

สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นด้วยตาได้เลย เจ้าชายน้อยทวนคำพูดเพื่อให้จดจำได้

(สำนวนภาษาเขมร)

เมือก่อนเน้อ

ไปดีเต๊อะ หมาป่าว่า

“อันนี้เป็นความลับของข้า เรื่องง่ายๆ ตี้เฮาจะหันฮื้อแจ่มแจ้งก็โตยแก่นใจของเฮาเต้าอั้น สิ่งดีตี้สุ้ด ตึ้งบ่หันโตยแก่นต๋า”

“สิ่งดีตี้สุ้ด ตึ้งบ่หันโตยแก่นต๋า”
เจ้าหน้อย อู้ตวยฮื้อได้กึ้ด

(สำนวนภาษาคำเมือง-ล้านนา)

ประวัติ ผู้แต่งและวาดภาพประกอบ

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) เกิดในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เขาหลงใหลเกี่ยวกับเครื่องบินและการบินนับตั้งแต่วัยเด็ก แซ็งแต็กซูว์เปรีเข้ารับราชการทหารเป็นนักบิน ก่อนที่จะเปลี่ยนอาชีพหลายครั้ง นักบัญชี พนักงานขายรถบรรทุก นักข่าวสงคราม แต่อาชีพนักบินเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบมากกว่าอาชีพอื่น เขาทำงานเป็นนักบินในยุคแรกของการบุกเบิกการขนส่งทางอากาศและประสบอุบัติเหตุทางการบินหลายครั้ง

เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ แซ็งแต็กซูว์เปรี ขับเครื่องบินออกลาดตระเวณทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสและสูญหายไป และอีก ๖๐ ปีต่อมาทางการฝรั่งเศสได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้ค้นพบซากเครื่องบินซึ่งเป็นลำเดียวกับที่สูญหายไป อยู่บริเวณเกาะชายฝั่งทางตอนใต้ของเมืองมาร์แซย์

ประวัติผู้แปล

เคียง ชำนิ บัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีความสนใจเกี่ยวกับภาษา ดนตรี (ปี่พาทย์) และวัฒนธรรมท้องถิ่น ปัจจุบันเป็นครูผู้สอนโรงเรียนไกรในวิทยาคมรัชมังคลาภิเษก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ได้รับรางวัล “วัฒนคุณาธร” ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ดีเด่นด้านวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม  (พ.ศ.๒๕๕๕) , “ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น” กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (พ.ศ. ๒๕๖๒) และ “ครูขวัญศิษย์” มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (พ.ศ. ๒๕๖๔)

Le Petit Prince

Antoine de Saint-Exupéry

ฃุนน้อย: ฉบับลายสือไท ภาษาถิ่นสุโขทัย

แปล: เคียง ชำนิ

บรรณาธิการ: สุดแดน  วิสุทธิลักษณ์

ต้นฉบับแปลเทียบเคียง

  • เจ้าชายน้อย : อริยา ไพฑูรย์
  • ท้าวน้อย : สีสะเหลียว สะแหวงสึกสา
  • Le Petit Prince : Antoine de Saint-Exupéry

แบบอักษรลายสือไทย: พันโทเชาวน์  วัตถพาณิชย์

ปก/รูปเล่ม: วัจนา ลือวัฒนานนท์

คณะบรรณาธิการ

  • อุรฉัตร  อุมาร์
  • เหมือนพิมพ์  สุวรรณกาศ
  • เดชาภิวัชร์  นพมิตร

จัดพิมพ์: พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอบคุณ

การจัดพิมพ์หนังสือ “ฃุนน้อย” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิฌอง-มาร์ค โพรบสท์เพื่อเจ้าชายน้อย (Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) และมูลนิธิแบร์นาร์ด (Fondation Bernard) เมืองโลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ ได้มอบต้นฉบับภาพประกอบเพื่อการจัดพิมพ์

La traduction du « Petit Prince » en dialecte de Sukhothaï et sa publication en ancien alphabet thaï de l’époque Sukhothaï ont été subventionnées par l’université Thammasat, la Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince, qui a fourni des images originales pour cette publication, ainsi que la Fondation Bernard basées toutes les deux à Lausanne en Suisse.

  • พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้ง Food For Fighters
  • สรวิศ ลิ้มโอภาส พูลสวัสดิ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานการกุศลและการพัฒนา
  • อานันท์ นาคคง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สำหรับการจัดทำหนังสือเสียง “ฃุนน้อย”
  • รองศาสตราจารย์ เรณู วิชาศิลป์
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรณินทร์ มีเพียรคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รองศาสตราจารย์ ดร. สิริจิตต์ เดชอมรชัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • รองศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ภาพลายเส้นและอักษรจากลวดลายและจารึกบนหินชนวน โดย จำรัส เกียรติก้อง ประพัฒน์ โยธาประเสริฐ มะลิ โคกสันเทียะและ เทิม มีเต็ม  ใน ประชุมศิลาจารึก ภาค ๕ คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๑๕