ภาพถ่ายและจดหมายเหตุ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา: รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ (19 พฤษภาคม 2486-11 สิงหาคม 2567)

187
views

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2531-2534) และ อดีตผู้อำนวยการสถาบันไทยคคีศึกษา (พ.ศ. 2536-2542)

รองศาสตราจารย์สุมิตรจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาสังคมศาสตร์ จาก Michigan State University และสาขามานุษยวิทยา จาก Harvard University สหรัฐอเมริกา ท่านเป็นบุคลากรที่มีบทบาทและคุณูประการอย่างสำคัญต่อคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับตั้งแต่การเข้าทำงานเป็นอาจารย์ในแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะสังคมสงเคราะห์ จนกระทั่งแผนกฯ ได้รับการสถาปนาเป็นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (พ.ศ.2527)

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบหมายให้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จัดตั้งโครงการศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีและให้เป็นผู้ดำเนินการกิจการของพิพิธภัณฑ์ซึ่งได้พัฒนามาเป็นลำดับ นับตั้งแต่เปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530

นอกจากการสอนแล้ว รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ได้ออกสำรวจและมีงานวิจัยทั้งในเรื่องเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมไทย โบราณคดีและกลุ่มชาติพันธุ์ไททั้งในและต่างประเทศ เช่น งานสำรวจและวิจัย เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น วิจัยเรื่องเรือนแพ จังหวัดพิษณุโลกและอุทัยธานี (พ.ศ.2513) สำรวจแหล่งโบราณคดีบ้านอ้อมแก้วและบ้านธาตุ ตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี (พ.ศ.2515-2516) ศึกษาแหล่งอารยธรรมโบราณบ้านผือ (พ.ศ.2517-2519) ศึกษาแหล่งเครื่องถ้วยสังคโลกบริเวณเทือกเขาถนนธงชัย และโครงการโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเมย จังหวัดตาก รวมถึง ศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาติพันธุ์ลาวโซ่ง จังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ.2519-2530) ซึ่ง ต่อมาในระหว่างที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยคคีศึกษา (พ.ศ.2536-2542) ท่านได้ขยายความสนใจไปสู่การศึกษาชนชาติไทนอกประเทศ ที่กินเวลาติดต่อกันยาวนานอีกเกือบหนึ่งทศวรรษ โดยการสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามอย่างกว้างขวางร่วมกับกลุ่มคณาจารย์และลูกศิษย์ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน เวียดนาม ลาว เมียนมาและอินเดีย โดยได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาวิจัยคนไทนอกประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ คนไตและลาจีในภาคเหนือของเวียดนาม (2544) ศาสนาและความเชื่อไทดำ ในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (2545) ชุมชนไทในพม่าตอนเหนือ รัฐฉานตอนใต้ ภาคมัณฑเลย์ และคำตี่หลวง (2545) ความเชื่อและพิธีกรรมของคนไทอาหมในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย (2545) คนไตในซือเหมา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน (2546) ไย้ ไตและเกาลาน กลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนามเหนือ (2546) คนไทแดง ในแขวงหัวพัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (2546)

จากการเดินทางสำรวจภาคสนามและเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางเป็นเวลานานหลายทศวรรษ โดยระหว่างการเดินทางดังกล่าวจึงเป็นที่มาของภาพถ่ายและวัตถุเพื่อการศึกษาวิจัยจำนวนมาก โดยท่านได้มอบวัตถุบางส่วน เอกสารส่วนตัวและภาพถ่ายทั้งหมดจำนวนกว่าเกือบหนึ่งหมื่นรายการให้พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ เพื่อการจัดแสดงและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต

 

คลังภาพสุมิตร ปิติพัฒน์

ในปี 2560 พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับมอบภาพถ่ายและเอกสารจดหมายเหตุจากรองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ จำแนกออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มภาพถ่าย (และสไลด์) และเอกสารส่วนบุคคล (บัตรประจำตัว โปสการ์ดฯ)  โดยในส่วนของภาพถ่าย (และสไลด์) นั้นมาจากการเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม (พ.ศ.2513-2544) การศึกษาวิจัยทางด้านโบราณคดี มรดกวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ไททั้งในและนอกประเทศ (ไทย เวียดนาม จีน ลาว เมียนมา อินเดีย) โดยในกลุ่มภาพถ่ายและสไลด์ที่ได้รับการประเมินและคัดเลือก (Appraisal and selection) แปลงเอกสารต้นแบบไปสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitization) รวมถึงการจัดเก็บเอกสารต้นฉบับ (Preservation) เพื่อดำเนินการให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้นั้นมีจำนวน 4,307 รายการ โดยประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. กลุ่มภาพการสำรวจข้อมูลภาคสนามเพื่อการศึกษาชนชาติไท ในประเทศเวียดนาม จีน ลาว เมียนมา อินเดียและไทย
  2. กลุ่มภาพการสำรวจร่องรอยศิลปะและวัฒนธรรมที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี (พ.ศ.2517-2519)

โดย “คลังภาพสุมิตร ปิติพัฒน์” อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเผยแพร่สำหรับการศึกษาค้นคว้าสำหรับสาธารณชนในวงกว้างต่อไป โดยในขณะนี้ผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อการศึกษาวิจัยได้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตรืเฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หากผู้สนใจประสงค์สืบค้นข้อมูลคลังภาพเพิ่มเติม ติดต่อพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ