นิทรรศการ “ เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม”

7231
views

นิทรรศการ เจ้าชายน้อย:
หนังสือ การสะสม
และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม

77 ปีหนังสือเจ้าชายน้อย (พ.ศ.2486-2563)

“เจ้าชายน้อย” เป็นวรรณกรรมที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลก รองจากคัมภีร์ไบเบิล คือมากกกว่า 380 ภาษา ใน 62 ประเทศ

หลังการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2486 เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส จากนั้นจึงแปลเป็นภาษาโปลิช (Polish) ในปี พ.ศ. 2490 แล้วขยายเป็นภาษาอื่นๆ ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ ตามมาด้วยภาษาต่างๆ ในกลุ่มประเทศแอฟริกา เอเชียและประเทศแถบยุโรปตะวันออก

การแปลหนังสือเจ้าชายน้อยอย่างแพร่หลายนั้น (ทั้งการลักลอบแปลและขออนุญาตโดยถูกต้อง) เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเสน่ห์อันลึกลับของภาพและเนื้อหา และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากความภาคภูมิใจในภาษาของแต่ละชนชาติ การแพร่หลายของฉบับแปลเจ้าชายน้อยจึงเป็นผลมาจาก “ทุนนิยมการพิมพ์ (print-capitalism) และการลักลอบผลิต (piracy) ในนัยที่เป็นอุปมาเชิงบวก” ซึ่งเกี่ยวพันกับความเป็นชาตินิยมและสากลนิยมอย่างที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้

สำหรับภาษาไทย “เจ้าชายน้อย” แปลโดยอำพรรณ โอตระกูล ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2512 (หลังจากการพิมพ์ครั้งแรก 26 ปี) โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มหนังสือสำหรับเยาวชน

หนังสือเจ้าชายน้อย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2486
หนังสือเจ้าชายน้อย ภาษาไทย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2512

“เจ้าชายน้อย” เป็นวรรณกรรมฝรั่งเศสที่เขียนและจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรก ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และอีกสามปีต่อมา (เมษายน พ.ศ.2489) จึงได้จัดพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศฝรั่งเศสเอง ในช่วงเวลาที่ประเทศเพิ่งเป็นอิสระจากการยึดครองของเยอรมันได้ไม่นาน และในเวลานั้นผู้เขียน คือ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ (Antoine de Saint-Exupéry) ได้เสียชีวิตไปแล้ว

หนังสือ Le Petit Prince กล่าวถึงมิตรภาพ ความสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ การแสวงหา การค้นพบและความศรัทธาในการดำรงอยู่ของมนุษย์ “เจ้าชายน้อย” เป็นเสมือนดอกไม้ต้นเล็กๆ ที่ถือกำเนิดและผลิบานขึ้น ท่ามกลางซากปรักหักพังของสงครามโลกครั้งที่สอง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องราวของเจ้าชายน้อย เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ผ่านการแปลเป็นภาษาต่างๆ การจัดทำสิ่งของเพื่อการสะสม ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แอนิเมชั่น ละคร ดนตรี แฟชั่นและพิพิธภัณฑ์ นอกจากนั้นยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหน่วยงานและองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิเด็ก สุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การบินและดาราศาสตร์

นิทรรศการ “ เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” นำเสนอเกี่ยวกับผู้ประพันธ์ เนื้อหาของวรรณกรรมผ่านการแปล การจัดแสดงสิ่งของสะสม และสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ผ่านมุมมองของการเผชิญหน้าทางวัฒนธรรมและบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในโลกร่วมสมัย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องราวของเจ้าชายน้อย เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ผ่านการแปลเป็นภาษาต่างๆ การจัดทำสิ่งของเพื่อการสะสม ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แอนิเมชั่น ละคร ดนตรี แฟชั่นและพิพิธภัณฑ์

77 ปี หนังสือเจ้าชายน้อย

หนังสือ “เจ้าชายน้อย” (The Little Prince/ Le Petit Prince) มีความเป็นมาค่อนข้างประหลาด เขียนขึ้นและจัดพิมพ์ครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา (โดยสำนักพิมพ์ Reynal & Hitchcock)  ในขณะที่ผู้เขียน คือ อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ อยู่ระหว่างการลี้ภัยที่กรุงนิวยอร์ก เนื่องจากเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศฝรั่งเศสถูกกองทัพนาซีเยอรมันยึดครอง

หนังสือ “The Little Prince” ฉบับภาษาอังกฤษ ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2486 จากนั้นอีกเพียงไม่กี่วัน ทางสำนักพิมพ์ได้ออกฉบับภาษาฝรั่งเศส (Le Petit Prince) ติดตามมา ในจำนวนพิมพ์จำกัด (limited Edition)

สามปีจากนั้น หนังสือ “เจ้าชายน้อย” ภาษาฝรั่งเศสจึงได้จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเอง ภาพประกอบที่ปรากฎในฉบับภาษาฝรั่งเศสมีความแตกต่างจากฉบับที่พิมพ์ในอเมริกาอยู่หลายแห่ง เช่น รากต้นเบาบับ (Baobab) ในภาษาอังกฤษมีรายละเอียดมากกว่า รูปชุดคลุมไหล่ของเจ้าชายน้อย ก็เปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีฟ้า ดวงดาวที่นักดาราศาสตร์ตุรกีมองเห็นนั้นก็หายไป นอกจากนั้น จำนวนพระอาทิตย์ตกที่ดาวของเจ้าชายน้อยกลายเป็น 43 ครั้งแทนที่จะเป็น 44 ครั้งตามต้นฉบับการพิมพ์ครั้งแรก

กว่าที่ผู้อ่านในประเทศฝรั่งเศสจะได้จัดพิมพ์ หนังสือเจ้าชายน้อยในรูปแบบต้นฉบับเดิมทั้งเรื่องและรูปก็ต้องใช้เวลารอคอยจนกระทั่งอีก 58 ปี ต่อมา

 มีความเห็นแตกต่างกันไปว่า หนังสือ “เจ้าชายน้อย” เป็นหนังสือสำหรับเด็ก หรือเป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ที่แฝงปรัชญาชีวิตกันแน่ บ้างว่า ชวนให้นึกถึงงานวรรณกรรมเทพนิยายของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน และบ้างก็ว่ามีความละม้ายคล้ายงานปรัชญาของมองเตสกิเออร์ 

เจมส์ ดีน นักแสดงชาวอเมริกัน ผู้เสียชีวิตเมื่อมีอายุ 24 ปี ในขณะที่กำลังมีชื่อเสียงอย่างถึงที่สุด หลงใหลหนังสือเล่มนี้มาก มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันได้เขียนคำนิยมให้กับหนังสือเจ้าชายน้อย ฉบับพิมพ์ภาษาเยอรมัน ในปี พ.ศ.2492 ว่า “เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษของฝรั่งเศส”

 “เจ้าชายน้อย” จัดเป็นหนังสือที่เรียกว่า iconotext หรือหนังสือที่เป็นข้อความประกอบภาพ การอ่านเพื่อความเข้าใจตัวบทจึงไม่อาจแยกออกจากภาพได้ ภาพในเรื่องเป็นการสร้างความชัดเจนให้กับข้อความ

หนังสือเจ้าชายน้อยเป็นหนังสือขายดีที่สุดในโลกเป็นลำดับที่สี่รองจาก คัมภีร์ไบเบิล, ทุน (Capital) ของคาร์ล มาร์กซ์ และ แฮรี่ พ็อตเตอร์  โดยมีฉบับแปลทั้งในภาษาเอสเปอรันโต (Esperanto) ภาษาที่มีคนใช้มากที่สุด คือ จีน ฮินดีและสเปน ภาษาหลักอื่นๆ ภาษาท้องถิ่นต่างๆ ภาษาที่เสี่ยงต่อการสูญไป (เช่น ภาษาอาราเนส-Aranese ภาษาถิ่นในหุบเขาอารานแห่งคาทาโลเนีย ที่มีผู้พูดอยู่เพียงสองพันคน) รวมถึงภาษาที่ตายไปแล้ว เช่น ภาษาอียิปต์โบราณ หรือภาษาที่คิดขึ้นมาใหม่ อักษรเบรลล์ หรือ ภาษาออเรเบช (Aurebesh) ในภาพยนตร์สตาร์ วอร์ รวมถึงแปลเป็นรหัสมอร์ส (ภาษาฝรั่งเศส)

 หนังสือ “Le Petit Prince” เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่ฟิลิป เปอแรง นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศสนำติดตัวขึ้นไปอ่านด้วย ขณะเดินทางไปปฏิบัติการที่สถานีอวกาศระหว่างประเทศ เมื่อปีพ.ศ. 2545

French, Hebrew
Khmer
Basque
Verona [Northern Italy’s Veneto region]
Color Edition
Santomense Creole
Rajasthani
Majorcan
Turkish
Serbian
Aurebesh
Morse


“It was the most important French work of the century”

Martin Heidegger

traduttore, traditore : ผู้แปลคือคนทรยศ

แม้ภาษิตอิตาเลียนจะกล่าวไว้เช่นนั้น แต่ “เจ้าชายน้อย” ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 380 ภาษาและหลายสำนวน นอกจากภาษาจีนในแผ่นดินใหญ่แล้ว ยังมีฉบับแปลของไต้หวัน และฮ่องกง ในภาษาอาราบิก มีฉบับเลบานอน ปาเลสไตน์และตูนิเซีย นอกจากภาษาสเปนแล้ว ยังมีฉบับของแคว้นอันดาลูเชียรวมถึงภาษาบาสก์และคาตาลันที่พยายามจะแยกเป็นรัฐอิสระ จากสเปน ยังมีการแปลเป็นภาษาเคิร์ด ทิเบต ภาษาอัมฮาริคของเอธิโอเปีย ภาษาฮัสซาเนีย ที่ใช้พูดกันในเขตตอนใต้ของประเทศโมร็อกโกและบริเวณแหลมจูบีและภาษาตูอาเร็กของ กลุ่มชนที่เดินทางร่อนเร่ในพื้นที่แถบทะเลทรายซาฮารา การเดินทางข้ามภาษาและวัฒนธรรมของ “เจ้าชายน้อย” เผชิญปัญหาสำคัญอยู่บ้าง เช่น ในภาษาโทบา ที่ใช้กันทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา ไม่มีความคิดและสถานะที่เทียบ ได้เท่ากับ “เจ้าชาย” หรือในการแปลเป็นภาษาอมาสิกห์ก็ไม่มีคำที่ตรงกับ “เสียงสะท้อน” หรือ “ความไร้สาระ” อย่างไรก็ตามการแปล ทำให้ “การอ่าน” เจ้าชายน้อยเป็นไปอย่างกว้างขวาง การอ่าน ออกเสียงและการฟังเป็นขนบนิยมเก่าแก่ในหลายวัฒนธรรม การเปล่งเสียงจากตัวหนังสือคือ ช่วงเวลาศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ แม้ผู้แปลจะเป็น “คนทรยศ” แต่วอลแตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้บอกไว้ว่า La lecture agrandit l’âme การอ่านช่วยยกระดับจิตวิญญาณ (Voltaire)

ภายในนิทรรศการฯมีการจัดแสดงหนังสือเข้าชายน้อย ภาษาไทย ฉบับอักษรเบรลล์ ให้ผู้ชมนิทรรศการได้ลองสัมผัส
มีการจัดแสดง "ภาพนูน" ในหนังสือเจ้าชายน้อย ซึ่งเป็นสื่อสำหรับผู้พิการทางสายตา
หนังสือเจ้าชายน้อยในภาษาต่างๆ
เจ้าชายน้อยภาษาฮิโรกราฟิก
เจ้าชายน้อยภาษาจีน
หนังสือเจ้าชายน้อยภาษาต่างๆ
การแสดงละครเจ้าชายน้อย โดยนักศึกษา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

La lecture agrandit l'âme:
การอ่านช่วยยกระดับจิตวิญญาณ

Voltaire


120 ปี อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ ผู้เขียนหนังสือเจ้าชายน้อย

ที่มหาวิหารปงเตออง (Panthéon) แห่งเมืองปารีส ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของบุคคลสำคัญแห่งชาติฝรั่งเศส ได้เขียนคำจารึกเพื่อยกย่องเกียรติคุณของบุคคลผู้หนึ่ง ไว้ที่ผนังด้านในของวิหาร

แม้ไม่มีร่างฝังไว้ยังสถานที่แห่งนี้ ข้อความนั้นเขียนไว้ว่า

เพื่อรำลึกถึง อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์
กวี นักเขียน นักบิน
ผู้สูญหายไปขณะลาดตระเวนทางอากาศ
ในวันที่ 31 กรกฎาคม 1944

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ ผลงานเซรามิค : เฉลิมเกียรติ บุญคง ( Chaloemkiat Bunkhong) โมทนาเซรามิค อ. บ้านสวน จ.สุโขทัย

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ เกิดที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2443 พ่อของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้ 4 ขวบ ในวัยเด็ก เขาสนใจอ่านหนังสือ วาดรูปและแต่งบทละคร เขาสนใจและจินตนาการถึงจักรกลที่สามารถบินได้เหมือนกับนก และมีโอกาสขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ขวบ

หลังจากที่พลาดจากการสอบเข้าเป็นทหารเรือ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ เดินทางเข้าปารีสเพื่อเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรม ที่สถาบันศิลปะ (Ecole des Beau-Arts) ต่อมารับราชการทหารเป็นนักบินและฝึกหัดบินจนได้รับอนุญาตเป็นนักบินอาชีพ เริ่มทำงานเป็นนักบินในยุคของการบุกเบิกการขนส่งทางอากาศ มีหน้าที่ช่วยเหลือนักบินที่ประสบปัญหาระหว่างการบินในแถบประเทศทางตะวันตกของทวีปแอฟริกาเหนือ ต่อมาถูกส่งไปเป็นหัวหน้าหน่วยประจำสถานีในเขตซาฮาราตะวันตกของทวีปแอฟริกา การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางความเวิ้งว้างของทะเลทราย มีหน้าที่ส่งวิทยุติดต่อ คอยให้อาณัติสัญญาณกับนักบิน จัดถุงพัสดุไปรษณีย์และคอยออกช่วยเหลือค้นหานักบินที่ประสบอุบัติเหตุ เขาจึงทำหน้าที่เป็นทั้งแพทย์และช่างซ่อมเครื่องบิน

อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ วัยเด็ก
อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ ในช่วงรับราชการทหาร

ต่อมาย้ายไปเป็นผู้จัดการบริษัทการบินไปรษณีย์ ที่กรุงบัวโนส ไอเรส อเมริกาใต้ เพื่อบุกเบิกเส้นทางขนส่งไปรษณีย์ในเวลากลางคืนระหว่างบัวโนสไอเรสกับปุนตา-อาเรนัส (ทางตอนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้

นับตั้งแต่เริ่มทำงาน แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ ผ่านอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่เป็นนักบัญชี พนักงานขายรถบรรทุก นักข่าว ผู้สื่อข่าวสงคราม แต่อาชีพนักบินเป็นสิ่งที่เขาหลงใหลมากกว่าอย่างอื่น เขาประสบอุบัติเหตุจากการบินหลายครั้ง  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเข้าร่วมเป็นผู้สอนเกี่ยวกับเทคนิคการบิน แต่ก็พยายามวิ่งเต้นจนได้ไปบินร่วมกับหน่วยลาดตระเวน

กล่าวกันว่า แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ เขียนหนังสือ “เจ้าชายน้อย” เพื่อ “คลายเครียด” ขณะที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจเนื่องมาจากการมีเพื่อนอย่างจำกัด รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มคนฝรั่งเศสที่ลี้ภัยในสหรัฐ (บ้างกล่าวหาว่าหนังสือเจ้าชายน้อย แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นกษัตริย์นิยม)

หนังสือ “เจ้าชายน้อย” เกี่ยวพันกับประสบการณ์ในช่วงวัยต่างๆของแซ็งแต็กซูว์เปรีส์ อย่างแยกไม่ออก ทะเลทรายของแอฟริกาที่เขาคุ้นเคย อุบัติเหตุจากเครื่องบินตก หมายเลขเครื่องบิน B.612 ที่เขาเคยขับ แอ่งน้ำที่บ้านของเขาในวัยเด็กที่เมืองลียง ภูเขาไฟปาตาโกเนียในชิลี-อาเจนตินา ดงต้นเบาบับในเมืองดาคาร์ ประเทศเซเนกัล แม้เมืองนิวยอร์กจะไม่ได้รับการกล่าวถึงในหนังสือ แต่ประเทศสหรัฐและฝรั่งเศสก็ได้รับการอ้างถึงในบทที่เกี่ยวกับการมองดูพระอาทิตย์ตก

แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ ชอบวาดรูปต่างๆ ลงในจดหมาย สมุดบันทึก กระดาษปูโต๊ะตามร้านอาหาร บางทีเขาวาดรูปเจ้าชายน้อยแทนตัวเอง ครั้งหนึ่งเขาเขียนจดหมายถึงสุภาพสตรีคนหนึ่ง เริ่มต้นด้วยบทสนทนาเป็นรูปเจ้าชายน้อยถือดอกไม้ พร้อมกับคำพูดว่า “ขอโทษที่รบกวนคุณ ผมเพียงแค่อยากกล่าวคำสวัสดีเท่านั้น”

ร่างหนังสือเจ้าชายน้อย

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “ภาพของเด็กผู้ชายผู้มีใบหน้าอันอ่อนโยนบริสุทธิ์ ยิ้มเศร้าๆ มีผ้าพันคอปลิวไสวตามสายลม ยืนอยู่โดดเดี่ยว ท่ามกลางท้องฟ้าอันเวิ้งว้างกว้างไกล ชวนให้นึกถึงความรู้สึกรันทดของผู้วาดแฝงอยู่ อาจเป็นได้ว่าผู้วาดฝันหาบุตรซึ่งตนเองไม่มี หรือไม่ก็ปรารถนาที่จะให้วัยเด็กของตนเองนั้นอยู่ชั่วนิรันดร์”

31 กรกฎาคม พ.ศ.2487 เวลา 8.35 น. แซ็งแต็กซูว์เปรีส์  ขับเครื่องบินออกจากฐานปฎิบัติการที่เกาะคอร์ซิก้าเพื่อลาดตระเวนทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เมื่อเวลา 14.30 น. มีรายงานยืนยันว่าเครื่องบินได้สูญหายไป ในปีนั้นเขามีอายุได้ 44 ปี

พ.ศ.2541 ชาวประมงพบสร้อยข้อมือของแซ็งแต็กซูว์เปรีส์ ติดมากับอวนนอกชายฝั่งเมืองมาร์แซย์

พ.ศ.2547 รัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันว่าได้ค้นพบซากเครื่องบินลำเดียวกับที่แซ็งเต็กซูว์เปรีส์ออกลาดตระเวนเป็นครั้งสุดท้ายแถบบริเวณเกาะทางตอนใต้ของเมืองมาร์แซย์ ส่วนการกล่าวอ้างโดยทหารชาวเยอรมันว่าเป็นผู้ที่ยิงเครื่องบินลำดังกล่าวตก ในปี พ.ศ.2551 นั้นยังไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยัน

เหตุการณ์ในฉากสุดท้ายของเจ้าชายน้อยและผู้ประพันธ์นั้นมีความคล้ายกันอย่างน่าประหลาด

 

“เธอเข้าใจไหม มันไกลเกินไป 

เธอไม่สามารถแบกร่างที่หนักนี้ไปด้วยได้ มันหนักเกินไป”

“มันก็เหมือนเปลือกคราบเก่าๆ 

ที่เราทิ้ง ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าเลย สำหรับการทิ้งคราบเก่าๆ นี่”

 

มีแสงแวบสะท้อนสีเหลืองๆ ใกล้ข้อเท้าของเขา เขายืนนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง เขาไม่ร้องเลย แล้วค่อยๆล้มลงเหมือนต้นไม้ล้ม โดยไม่ได้ก่อเสียงแม้แต่เล็กน้อย

เลออง แวร์ท ในวัยผู้ใหญ่: เพื่อนชาวยิวที่แซ็งแต็กซูว์เปรีส์อุทิศหนังสือเจ้าชายน้อยให้
นักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชมนิทรรศการ

“วาดแกะให้ฉันตัวหนึ่ง”

 

ผู้เขียนและเจ้าชายน้อย พบกันครั้งแรกที่ทะเลทรายซาฮารา ทวีปแอฟริกา เนื่องจากเครื่องบินเกิดขัดข้อง จึงต้องนำเครื่องลงจอดที่กลางทะเลทราย

“คืนแรกฉันนอนหลับบนพื้นทราย ห่างไกลจากผู้คนนับพันไมล์ ฉันอยู่โดดเดี่ยวยิ่งกว่าคนเรือแตกรอดอยู่บนแพเคว้งคว้างกลางมหาสมุทร ดังนั้นคุณคงจะนึกออกว่าฉันตกใจเพียงใด ที่ในตอนรุ่งสางก็มีเสียงเล็กๆ ปลุกฉันขึ้น”

 ทะเลทรายซาฮาราคือสถานที่แรกบนโลก ที่เจ้าชายน้อยเดินทางมาถึง และกล่าวประโยคแรกกับชายคนหนึ่งที่นอนหลับอยู่ว่า “กรุณาวาดแกะให้ฉันตัวหนึ่ง”

“ไม่ใช่ แกะตัวนี้มันไม่สบาย วาดใหม่อีกตัวสิ”

“เธอก็คงจะเห็นนะว่ามันไม่ใช่แกะ แต่เป็นแพะ เพราะว่ามันมีเขา”

“ตัวนี้มันแก่เกินไป ฉันอยากได้แกะที่จะมีชีวิตอยู่ไปอีกนาน ๆ”

“เอ้า นี่คือกล่อง แกะที่เธอต้องการอยู่ในนี้”

“มันไม่ตัวเล็กเกินไปหรอก …โอ… มันกำลังนอนหลับด้วย”

“ช่างน่าเสียดายจริง ฉันเองก็ไม่สามารถมองเห็นแกะในกล่อง ฉันคงเหมือนกับพวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย ฉันคงแก่แล้วนั่นเอง”

กล่องแกะ
แกะ

111 ปีการค้นพบดาว B 612 : การสนทนาข้ามวัฒนธรรม

“ผมมีเหตุผลที่น่าเชื่อว่า ดาวดวงที่เจ้าชายน้อยจากมาคือ ดาวดวงที่ บี 612 ดาวดวงนี้นักดาราศาสตร์ชาวตุรกีส่องกล้องพบเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2452 เขาได้เสนอการค้นพบนี้แก่สภาดาราศาสตร์ระหว่างชาติแต่ไม่มีใครเชื่อเขา เนื่องจากการแต่งกายของเขาแปลกเกินไป พวกผู้ใหญ่ก็เป็นแบบนี้แหละ เคราะห์ดีสำหรับดาวดวงนี้ เพราะต่อมานักเผด็จการตุรกี ได้บังคับให้ประชาชนแต่งกายตามแบบยุโรป ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษถึงประหารชีวิต นักดาราศาสตร์ผู้นี้ ได้เสนอการค้นพบของเขาอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2463 โดยแต่งตัวอย่างสง่างามแบบชาวยุโรป และคราวนี้ทุกคนก็เชื่อเขา…”

(เจ้าชายน้อย บทที่ 4)

นี่เป็นเพียงตอนเดียวในหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ที่ผู้เขียนได้ระบุปี พ.ศ.และสถานที่ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์ของตุรกี จะพบว่า ปี พ.ศ.2452 คือหนึ่งปีหลังการปฏิวัติโดยกลุ่มยังเติร์ก (Young Turk) ซึ่งมีผลให้ระบอบสุลต่านต้องล่มสลายลงในเวลาต่อมา

ปี พ.ศ.2463 พรรคบอลเชวิกในรัสเซียได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง และอีกสามปีต่อมา มุสตาฟา เคมาล (อตาเติร์ก) ผู้นำทหารชาตินิยมตุรกีได้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีขึ้น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2466 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรออตโตมันเดิมสู่ระบบสาธารณรัฐ ผู้นำของรัฐมีเป้าหมายปลุกเร้าความเป็นชาติเตอรกิช-ตุรกีแทนการมีอัตลักษณ์อิสลาม ด้วยการบังคับให้เลิกใช้ตัวอักษรอาหรับ-เปอร์เซีย และให้ผู้ชายสวมหมวกแบบตะวันตก ด้วยการเลิกโพกศรีษะด้วยผ้าหรือสวมหมวก (fez) ตามแบบประเพณี

หนังสือเจ้าชายน้อย มีที่มาเกี่ยวพันกับความทรงจำส่วนตัวของผู้เขียน การเดินทางของเจ้าชายน้อยในดวงดาวต่างๆ คือการเผชิญหน้าทางความคิด การสนทนาข้ามวัฒนธรรม ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ , ผู้หญิง-ผู้ชาย ,ตะวันออก-ตะวันตก, เจ้าอาณานิคม-คนพื้นเมือง

เจ้าชายน้อยซึ่ง “อ่อนหัดเกินกว่าจะรู้จักรัก” เดินทางออกจากดวงดาวของเขา เพื่อแสวงหาคำตอบและความเข้าใจบางอย่าง ผู้คนต่างๆ ที่เขาได้พบคือ พระราชาในดวงดาวหมายเลข 325 ชายหลงตน, ชายขี้เมา, นักธุรกิจ, ชายจุดโคม และนักภูมิศาสตร์ บนดวงดาวหมายเลข 330 ที่เป็นคนแนะนำกับเจ้าชายน้อยว่า

“ไปโลกมนุษย์สิ มันมีชื่อเสียงมาก”

โลก คือดาวดวงที่ 7 ที่เจ้าชายน้อยได้เดินทางมาเยือน เป็นดาวดวงสุดท้ายของการเดินทาง ก่อนที่จะกลับไปยังดาวดวงเล็กของเขา พร้อมกับความลับที่สุนัขจิ้งจอกมอบให้ แม้โลกจะเป็นดาวธรรมดาๆ ดวงหนึ่ง ที่มีพระราชารวมทั้งสิ้น 111 องค์ (รวมถึงพระราชานิโกรด้วย) มีนักภูมิศาสตร์ มีนักธุรกิจ ชายขี้เมา ฯ โลกก็คือที่รวมของประชากรในแบบต่างๆ ที่เจ้าชายน้อยได้พบมาก่อนนั่นเอง  บนโลกใบนี้ เจ้าชายน้อยได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ มิตรภาพ ความสุขที่เรียบง่าย ความต้องการอันแท้จริง การมองเห็นด้วยหัวใจ การค้นพบความงามที่ถูกซ่อนไว้ ความรับผิดชอบในสัมพันธภาพและการรักเพื่อนมนุษย์

ทะเลทรายและทวีปแอฟริกา คือฉากสำคัญในชีวิตของแซ็งแต็กซูว์เปรีส์ อุบัติเหตุทางการบินในเดือนธันวาคมของปี พ.ศ.2478 ทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้างระหว่างรอยต่อของประเทศลิเบียและอียิปต์ เขาและผู้ร่วมทางต้องรอนแรมท่ามกลางความร้อนระอุนานหลายวันเพื่อแสวงหาน้ำประทังชีวิต และท้ายที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลือจากชนพื้นเมืองชาวเบดูอิน ที่ปรากฏตัวขึ้น แบบเดียวกับการมาถึงของเจ้าชายน้อย

การพบกันระหว่างผู้เขียนกับคนพื้นเมืองเบดูอิน สร้างสำนึกอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับมนุษย์ให้กับเขา แต่ว่าโลกที่แซ็งแต็กซูว์เปรีส์และพวกเราสังกัดนั้น มองมนุษย์คนอื่นๆ แบบเดียวอย่างที่เขารู้สึกบ้างหรือไม่ ?

 

เจ้าชายน้อย
แกะ
คนจุดโคม
นักดาราศาสตร์
ดอกกุหลาบ
ต้นเบาบับ
ชายขี้เมา
นักภูมิศาสตร์
สุนัขจิ้งจอก
ชายหลงตน
นักธุรกิจ

นักภูมิศาสตร์

 “ฉันมีดอกไม้ดอกหนึ่งด้วย”

“เราไม่จดบันทึกเรื่องดอกไม้” นักภูมิศาสตร์กล่าว

“ทำไมหล่ะ ดอกไม้เป็นสิ่งงดงามที่สุด ?”

“เพราะว่าดอกไม้เป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน หมายความว่า ถูกคุกคามให้หายไปในระยะเวลาอันใกล้”

“ไปโลกมนุษย์สิ…มันมีชื่อเสียงมาก” นักภูมิศาสตร์กล่าว

และแล้ว เจ้าชายน้อยก็จากไปพลางคำนึงถึงดอกไม้ของเขา

 
 

เจ้าชายน้อย, แซ็งแต็กซูว์เปรีส์, ซารา บาร์ทแมน และการเดินสวนทางของคนสองคน

“ฉันแค่อยากรู้ ว่าอองตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี จะเคยได้ยินชื่อซารา บาร์ตแมนไหมนะ ตอนเป็นเด็ก เขาจะเคยเดินดูบางชิ้นส่วนของร่างกายเธอ (เช่นสมองกับจิ๋ม) ที่ถูกตัดและดองไว้ในโหลในพิพิธภัณฑ์ Museé de l’Homme สักครั้งหรือเปล่า เขาจะพูดว่าอย่างไร ถ้าเธอเห็นชิ้นส่วนอย่างนั้น เขาจะช่างซักช่างถามผู้ใหญ่ เหมือนอย่างที่เจ้าชายน้อยถามนักบินและคนที่พบเจอบนดวงดาวต่างๆ ไหม ”

ผู้อ่านคนหนึ่งตั้งข้อสงสัย ภายหลังจากที่เคยชื่นชอบหนังสือเจ้าชายน้อยเมื่อวัยเด็ก และอีกหลายสิบปีต่อมาเมื่อได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของซารา บาร์ตแมน (Sara Baartman) หญิงสาวพื้นเมืองผู้หนึ่งจากทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาและชาวยุโรปรู้จักเธอในนาม “Hottentot Venus”

แท้จริงแล้ว บุคคลทั้งสองคนนี้ ไม่เคยได้พบกันขณะเมื่อมีชีวิตอยู่ (ซารา บาร์ตแมนเสียชีวิตไป ก่อนที่แซ็งแต็กซูว์เปรีส์เกิด 85 ปี) แต่เขาทั้งสองเดินสวนทางกันทั้งในทางพื้นที่และระยะเวลา ต่างเคยใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกาและฝรั่งเศสเหมือนกัน และในช่วงเวลาหนึ่งทั้งคู่เคย “อาศัย” อยู่ในกรุงปารีส

Sarah Baartman ภาพจาก www.bbc.com/news/magazine-35240987

ซารา บาร์ตแมน ชนเผ่าคอยซาน (Khoisan/Khoikhoi) เกิดในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส (ช่วงทศวรรษ 1770) ที่แอฟริกาใต้และเสียชีวิตที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ.2358 (เมื่ออายุได้ 26 ปี ?) เนื่องจากเป็นเด็กกำพร้า เธอเป็นทาสทำงานในฟาร์มที่คนดัชต์เป็นเจ้าของ ก่อนที่จะถูกแพทย์ชาวสก็อตและเจ้าของคณะละครสัตว์พาขึ้นเรือเดินทางไปสหราชอาณาจักร เมื่ออายุได้ประมาณ 20 ปี ต่อมาเธอ “ถูกขายต่อ” ให้กับเจ้าของคณะโชว์และคนฝึกสัตว์ชาวฝรั่งเศสที่มาเปิดแสดงที่กรุงปารีส เพื่อนำไปเปิดการแสดงเก็บเงินค่าเข้าชม ตัวอย่างของคน สัตว์และของแปลกๆ จากแอฟริกา เนื่องจากเธอมีสะโพกขนาดใหญ่ ตามลักษณะร่างกายตามแบบชนเผ่าของเธอ ผู้ชมในยุโรปเรียกเธอว่า “วีนัสแห่งฮ็อตเต็นต็อต”

เธอเสียชีวิตที่กรุงปารีส เนื่องจากความเจ็บป่วยในปี พ.ศ.2357 จอร์จ คูวิเยร์ (George Cuvier) นักธรรมชาติวิทยาและนักสัตววิทยาคนสำคัญของฝรั่งเศสให้ความสนใจร่างกายของเธอในฐานะ “วัตถุเพื่อการศึกษา” ว่าด้วยเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์ หลังจากที่ได้จำลองร่างกายของเธอไว้ ได้นำร่างกายของเธอมาผ่าพิสูจน์ นำสมองและอวัยวะเพศดองไว้ในโหล ต้มเนื้อส่วนที่เหลือเพื่อเลาะกระดูกเก็บไว้ จอร์จ คูวิเยร์ ได้แสดงผลการศึกษาวิจัย“ทางวิทยาศาสตร์”ต่อสถาบันทางวิชาการอันทรงเกียรติของกรุงปารีสและพิมพ์เผยแพร่ผลงานศึกษาของเขาในปี พ.ศ.2360 เรื่อง “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างของสตรีผู้มีชื่อเสียงในปารีสและลอนดอนท่านหนึ่งที่รู้จักกันในนาม วีนัสแห่งฮ็อตเต็นต็อต” ข้อสรุปบางประการจากการศึกษาของเขาชี้ให้เห็นว่าเธอมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับลิงใหญ่ (apes) มากกว่ามนุษย์

            โครงกระดูก สมอง อวัยวะเพศ รวมถึงร่างกายเปลือยที่จำลองขึ้นมาใหม่ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งมนุษยชาติ (Musée de l’Homme) กรุงปารีส นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 จึงได้ย้ายสมองและอวัยวะเพศที่ดองอยู่ในโหลออกไปจากห้องจัดแสดง แต่ยังคงจัดแสดงรูปจำลองต่อมาอีกหลายปีต่อมา

แซ็งเต็กซูว์เปรีส์ เข้ามาเรียนศิลปะที่ปารีสเมื่ออายุได้ 19 ปี (พ.ศ.2462) และใช้ชีวิตอยู่ปารีสอีกพักใหญ่เพื่อทำงานหลายอาชีพ ในเวลานั้นรูปจำลองร่างกายและสิ่งอื่นๆของเธอ ในนาม “วีนัสแห่งฮ็อตเต็นต็อต”  ยังคงจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งมนุษยชาติ ในเขตทรอกาเดโร

แต่อย่างที่นักอ่านคนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ แซ็งเต็กซูว์เปรีส์จะได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือได้ยินเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับซารา บาร์ตแมนบ้างหรือไม่?

ถ้าเขาได้เห็น เขาจะคิดกับเรื่องนี้บ้าง อย่างไร ?

ผลงานศึกษาของจอร์จ คูวิเยร์ (Georges Cuvier) เรื่อง “ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างของสตรีผู้มีชื่อเสียงในปารีสและลอนดอนท่านหนึ่งที่รู้จักกันในนาม วีนัสแห่งฮ็อตเต็นต็อต”

The first encounter : เจ้าชายน้อยกับซารา บาร์ทแมน

ผลงานเซรามิค : เฉลิมเกียรติ บุญคง ( Chaloemkiat Bunkhong) โมทนาเซรามิค อ. บ้านสวน จ.สุโขทัย

แนวคิด :

            การมองผลงานชิ้นนี้ อย่ามองในเรื่องความงามหรือความถูกต้องในทางศิลปะ กรุณามองในแง่ความคิด เพราะผู้ปั้นเป็นเพียงช่างทำเครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้านคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เรียนทางด้านศิลปะมาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

            ผู้ปั้นคิดว่า “เจ้าชายน้อย” น่าจะหนุ่มขึ้นนิดหน่อยตามยุคที่เปลี่ยนไปจากวันที่แต่ง และในโลกสมัยใหม่ที่อยู่กับความทันสมัยจึงใช้สเตนเลสเป็นแท่นรับ แทนที่จะเป็นดินเผา 

            คนผิวสีที่ยังคงอยู่ใน DNA ของรูปร่างหน้าตาของเขา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปคนผิวสียุคใหม่ ถึงรูปร่างเขาไม่เปลี่ยน แต่ความคิด ความเจริญ ความภาคภูมิใจยังคงมีอยู่ เช่นเดียวกับคนจีน ที่มั่งคั่งขึ้นในขณะที่รูปร่างหน้าตาก็ยังเป็นจีน

ในปัจจุบันคนผิวสีก็มีความภาคภูมิใจในตนเอง การใส่ทองลงไปในผลงานชิ้นนี้ เพื่อให้ดูหรูหราเหมือนกับคนผิวขาวที่ดูเจริญรุ่งเรือง คนแอฟริกันจะมีรูปร่างอย่างที่เขาเป็น เขาก็เจริญมั่งคั่งอย่างคนอื่นได้เช่นกัน ทวีปแอฟริกายังเป็นแหล่งทองคำที่สำคัญของโลก

ผลงานชิ้นนี้ให้ “เจ้าชายน้อย” หันหน้าคุยกับซารา บาร์ทแมน ซึ่งเธอก็กำลังคุยด้วย แต่อยู่ในท่าที่ทำเมิน แบบฉันฟังคุณอยู่นะ แต่ทำท่าแบบไม่สนใจ เพราะฉันก็มีความภาคภูมิใจในตัวฉันเอง อยากพูดอะไร อยากถามอะไร ก็ถามมา พูดมา ฉันจะตอบ แต่ฉันขอทำเมินๆหน่อย หยิ่งๆหน่อย

ซารา บาร์ทแมน

รูปจำลองและภาพกะโหลกศีรษะของซารา บาร์ทแมน ในพิพิธภัณฑ์แห่งมนุษยชาติ กรุงปารีส

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 แล้วที่มีความพยายามเรียกร้องจากประเทศบ้านเกิด ให้นำ “ซากที่เหลืออยู่” ของซารา บาร์ทแมนกลับไปฝังที่แอฟริกาใต้ หลังจากต่อรองกับทางการฝรั่งเศสอยู่นานหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 หลังจากที่เธอเดินทางรอนแรมออกจากถิ่นกำเนิด เธอก็ได้กลับสู่บ้านของตนเองอีกครั้งโดยใช้ระยะเวลายาวนานเกือบ 200 ปี

“ในที่นี้ เชื้อชาติ ภาษาและการแบ่งแยกไม่มีอยู่…มีแต่ชนเร่ร่อนในทะเลทรายที่ยากจนคนหนึ่งที่ได้วางมือแห่งเทวะลงบนไหล่ของเรา…เบดูอินแห่งลิเบีย เธอผู้ที่ได้ช่วยเราไว้…เธอคือ “มนุษย์”ใบหน้าของเธอในความทรงจำของฉัน คือใบหน้าของมนุษย์ทุกคน…ฉันจะรู้จักเธอในมนุษย์ทุกคน ในมโนภาพของฉัน เธอคือผู้ที่ประเสริฐ มีเมตตาจิต คือผู้ยิ่งใหญ่ที่มีอำนาจที่จะให้น้ำดื่ม…เพื่อนของฉันและศัตรูของฉันทุกคนได้ก้าวเข้ามาแล้ว ฉันก็ไม่มีศัตรูเหลืออยู่เลยแม้แต่คนเดียวในโลกนี้”

(Terre des Hommes / แผ่นดินของเรา : อ็องตวน เดอ แซ็งแต็กซูว์เปรีส์ )

พิธีฝัง “ร่าง” ของซารา บาร์ทแมน ที่บ้านเกิดประเทศแอฟริกาใต้ ปี พ.ศ. 2545

6 ตุลาคม

บนดาวที่เจ้าชายน้อยอาศัยอยู่ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ คือมีพืชที่ดีและพืชที่เลว จึงทำให้มีเมล็ดพันธุ์ที่ดี จากพืชที่ดี และเมล็ดพันธ์ุที่เลว จากพืชที่เลว แต่เมล็ดพันธ์ุนั้นไม่ปรากฏให้เห็น มันหลับใหล อยู่ภายใต้ผืนดินอันมืดมิด จนกระทั่งบางเมล็ดในหมู่มันถูกครอบงำด้วยความปรารถนาที่อยากจะตื่นขึ้น…” ( เจ้าชายน้อย บทที่ 5 )

นักสะสม

คงชลัช เครืออยู่
Kongchalatch Kreawyu

“เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือฉบับภาษาไทยตั้งแต่มัธยมศึกษา แล้วชื่นชมในการนำเสนอแบบปรัชญาที่สามารถนำมาตีความได้หลากหลายทัศนะ โดยรวมเชื่อในการมองโลกในแง่ดีของเจ้าชายน้อย และนำแนวความคิดบางอย่างจากเนื้อหามาใช้ในการดำเนินชีวิต ทั้งงานด้านวิจัยมนุษย์ และร้านอาหารที่เน้นเรื่องงานบริการ ที่ต้องพบเจอผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน การได้ไปเยือนร้านเจ้าชายน้อยที่ฝรั่งเศส คือสิ่งที่ใฝ่ฝัน และก็ได้ทำฝันนั้นให้เป็นจริง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว”

ณัฐธร วนิชชากร NUTTORN VANICHAKORN

 

จากชอบหนังสือเจ้าชายน้อย พอทำงานแล้วได้มีโอกาสเห็นเจ้าชายน้อยบนวัตถุต่างๆ แล้วก็แพ้ความน่ารัก ถ้วยกาแฟเจ้าชายน้อยคือของชิ้นแรกถ้าจำไม่ผิด… จากนั้นก็เริ่มสะสมเจ้าชายน้อยทุกรูปแบบตามกำลังทรัพย์ และยิ่งมีเวปไซต์จากทั้งของฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ฯลฯ ทำของออกมาขาย ซื้อจนไม่มีที่จะเก็บ แถมซื้อมาก็ไม่ค่อยจะกล้าใช้ เก็บใส่ตู้ อย่างหนังสือภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น มีหลายปกมาก ไป 2 ประเทศนี้บ่อย เจอเปลี่ยนปกก็ซื้ออีก แล้วลุกลามไปคนรอบข้าง เวลาไปไหนมาไหนเจอเจ้าชายน้อย ก็ต้องนึกถึงเราติดไม้ติดมือมาฝากกันอยู่บ่อยๆ หลังๆเราต้องใช้สติมากๆ เพราะของแต่ละชิ้นราคาไม่ใช่ถูก (#แต่ของมันต้องมี)

ที่ยังมีเรื่อยๆคือหนังสือเจ้าชายน้อยในเวอร์ชั่นภาษาต่างๆ ใครไปที่ใช้ภาษาแปลกๆ ก็จะหนีบหนังสือเจ้าชายน้อยมาฝากเราเสมอ

ทั้งของเหล่านี้ นอกจากไปซื้อเอง สั่งซื้อจากเวป ฝากเพื่อนซื้อ เคยมีหนหนึ่งฝากเพื่อนรุ่นพี่ซื้อโคมไฟเจ้าชายน้อยจากร้านที่ฝรั่งเศส ตอนไปรับของที่สนามบิน… พี่เค้าฝากของมากับพระ!!

 

ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน Piyalak Nakayodhin

 

            “เจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมที่ไม่ได้มีแค่เนื้อความชวนคิดให้อ่านซ้ำ ภาพประกอบจากลายเส้นของอองตวน เดอ แซง-เตกซูเปรียังน่ารัก จับใจ…แม้แต่คนไม่รู้จักเจ้าชายน้อยก็ชอบได้ แล้วกับคนที่อ่านหลายรอบจะไม่ตื่นเต้นเกินเหตุหรอกหรือ ?

เมื่อเจ้าชายน้อยปรากฏตัวให้เห็นไม่คาดฝัน ในสวนรอบจัตุรัสอาวิซินน่า (Avecinna Square) ในเมืองฮามาดาน ภูมิภาคตะวันตกของอิหร่าน เจอแผงหนังสือริมรั้วก็ได้หนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาฟาร์ซีติดมือกลับมา ตอนไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Science Hills Komatsu จังหวัดอิชิกะวะ ก็เหลือเชื่อที่โรงภาพยนตร์สามมิติทรงโดมจัดฉายหนังแอนิเมชั่น (ภาษาญี่ปุ่น) ความคมชัดระดับ 4K เรื่องเจ้าชายน้อยพอดี

ระหว่างหาโปสการ์ดจากร้านสะดวกซื้อในสถานีรถไฟสวิส ไม่ได้รูปวิวสวิส แต่ได้โปสการ์ดคำคมเจ้าชายน้อยในภาษาเยอรมันมาหลายใบ ครั้นไปพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยที่เมืองฮาโกเนะ ก็หมายมั่นนอนเรียวกังใกล้พิพิธภัณฑ์ฯ สามวันที่ฮาโกเนะจึงเวียนไปดูแสงต่างช่วงเวลาที่อาบรูปปั้นเจ้าชายน้อยหน้าพิพิธภัณฑ์ฯ (ไม่นับรอบที่เข้าร้านขายของที่ระลึก ;-))

กับอีกหนตื่นแต่เช้านั่งรถไฟจากซูริคข้ามพรมแดนไปลงสถานีรถไฟมูลูส (Mulhouse) แคว้นอัลซาส ประเทศฝรั่งเศส ต่อแท็กซี่ไปเที่ยวสวนสนุกเจ้าชายน้อย (Le Parc du Petit Prince, Ungersheim) เล่นอยู่ในนั้นทั้งวันตั้งแต่สิบโมงเช้าจนหกโมงเย็น แต่ที่บังเอิญขั้นสุดก็ตอนเข้าไปชมปองเต-อง (Panthéon) ในย่านการ์ติเยร์ลาแตงของปารีส เมื่อ 20 ปีก่อน ความที่เดินดูนานจนเมื่อย เลยทรุดนั่งกับพื้นตรงทางออกขอพักขาชั่วครู่ สายตากลับไปสะดุดถ้อยคำสลักกำแพง แปลเป็นไทยได้ว่า ‘เพื่อระลึกถึงอองตวน เดอ แซง-เตกซูเปรี นักเขียนและนักบินที่สูญหายขณะปฏิบัติภารกิจเมื่อ 31 กรกฎาคม 1944’         

“เอาเข้าจริง เราไม่ได้มีของสะสมมากนัก แต่หลายสิ่ง หลายสถานที่ หลายสถานการณ์ คิดว่าเป็นแรงดึงดูดพาให้เจอสิ่งที่เราผูกพัน อาจเหมือนที่นักบินพูดกับเจ้าชายน้อย…สิ่งที่ทำให้มันงดงาม คือสิ่งที่เรามองไม่เห็น..

คุณเป็น "แกะ" "งู" หรือ สุนัขจิ้งจอกกันแน่

อ้างอิง

จุฑารัตน์ เบญจฤทธิ์ , “เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince): ภาพสะท้อนของผู้ประพันธ์ อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 31 (2552) ฉบับที่ 1 หน้า 115-135

แฌแมน เบร-มากาเร็ต ไกตัน “อังตวน เดอ แซงเตก ซูเปรี” แปลโดย สดชื่น ชัยประสาธน์ ใน 100 ปี แซงเตก-ซูเปรี. เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ (บรรณาธิการรวบรวม) จัดทำโดย กลุ่มใบไม้ป่าร่วมกับ ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2543

นอร์แมน สโตน, ประวัติศาสตร์ตุรกี (ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล แปลจาก  Turkey A Short History) กรุงเทพ : ยิปซี กรุ๊ป, 2562

เบเนดิก แอนเดอสัน, “กิจการเดินสาร-ข้ามผ่านภาษา : ว่าด้วยภูมิ-ชีวประวัติของ “ชุมชนจินตกรรม” ใน ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการแปล) กรุงเทพ: เคล็ดไทย, 2552

วัลยา วิวัฒน์ศร, “จากแผ่นดินของเรา สู่เจ้าชายน้อย” ใน นิตยสารไรเตอร์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 20 มกราคม 2537

สายคำ ผกาย, “วิญญาณที่หยุดบิน แซงเต็กซูเปรีในนิวยอร์ก” แปลเรียบเรียงจาก “ A Grounded Soul : Saint-Exupéry in New York.” โดย Stacy Schiff จาก The New York Time Book Review. May 30,1993. นิตยสารไรเตอร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (56) มกราคม 2541

อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี, เจ้าชายน้อย (แปลโดย อำพรรณ โอตระกูล) ฉบับครบรอบ 60 ปี. กรุงเทพ : เรือนปัญญา, 2546

Antoine de Saint-Exupéry. The Little Prince. Translated by Ros and Chloe Schwertz. Macmillan Collector’s Library, 2016

Antoine de Saint-Exupéry. Le Petit Prince. Gallimard, 1994

Christophe Quillien. The Little Prince A Visual Dictionary. Cernunnos, 2016

David Bindman. “Sara Baartman” in Between worlds Voyagers to Britain 1700-1850. National Protrait Gallery, 2007 pp.89-95

Georges Cuvier, Extrait d’observations faite sur le cadavre d’une femme connue à Paris et à Londres sous le nom de Vénus Hottentotte,1817

Justin Pearce. “Hope of Saartjie’s return won’t die. in http://web.mit.edu/racescience/in_media/baartman/baartman_m&g_movement.htm

Susan Firth. “Searching for Sara Baartman” Johns Hopkins Magazine in https://pages.jh.edu/~jhumag/0609web/sara.html

อองตวน แซงแตกซูเปรี / ซารา บาร์ตแมน : การเดินทางสวนทิศของคนผิวขาวกับผิวดำ

https://snailspace.wordpress.com/2012/11/11/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B5-%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%A3/

ขอขอบคุณ

ขวารี ผลดี, คงชลัช เครืออยู่, เคียง ชำนิ, ชาว สุภาจินดานนท์, ณัฐธร วนิชชากร, นิรมล มูนจินดา, น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, ประภาศรี ดำสอาด, ปิยะลักษณ์ นาคะโยธิน, พันชนะ วัฒนเสถียร, ภารุจีร์ บุญชุ่ม, วรรณพร เรียนแจ้ง, วีรวุฒิ โอตระกูล, วัชระ สงวนสมบัติ, ศรุต บวรธีรภัค, ยรรยง อัครจินดานนท์, อนุรักษ์-เฉลิมเกียรติ บุญคง, อริยา ไพฑูรย์, อนัญญา ธรรมเกษร, อาทิตย์ วงษ์สง่า, เอกรัตน์ บุณยวัฒน์, Lattanaxay Vannasy, Benjamin Ivry, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, นิตยสารสารคดี

ความเห็นจากสื่อและผู้เข้าชมบางส่วน

การจ้องตาครั้งแรก นิทรรศการ “เจ้าชายน้อย” ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กับการนำตัวละครในดวงใจใครหลายคนมาร้อยเรียงและเล่าเรื่องในมุมมองที่ไม่เคยสัมผัส โดย Museum Mind ใน The Cloud

https://readthecloud.co/the-little-prince-books-collections-and-cross-cultural-dialogues/

77 ปีเจ้าชายน้อย หนังสือ ของสะสมและบทสนทนาใหม่ที่ชวนตั้งคำถามถึงการเหยียดหยาม โดย ศิริวรรณ สิทธิกา (เรื่อง) และ ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย (ภาพ) ใน The Momentum https://themomentum.co/77-years-of-little-prince/?fbclid=IwAR2D6JiE2g0BZp0Hug-rwoTSoEiDL8ImCSBjlGgGg7MUMcf8BD5URsfwQ0k

Still unlocking life’ mysteries ใน Bangkok Post https://www.bangkokpost.com/life/arts-and-entertainment/1981631/still-unlocking-lifes-mysteries?fbclid=IwAR28mAXqh2rJ7MOPaKWFF0nCtRBw8CPxkoIJ0LG72KmgJwLO_wD5hYTGeA8

 ชมนิทรรศการเจ้าชายน้อย เรื่องราวที่ทำให้ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้น โดย นกแก้ว ใน เพจกูหิว

https://goohiw.com/the-little-prince-collections-exhibition-thailand/?fbclid=IwAR0-yWm9Cyk1zWeCJJe4KuN-X5iE29zp9EYdRGswVxdJYtn4NjKgI5upQOE

รีวิวนิทรรศการจากเพจบางบทบางตอน

https://www.facebook.com/Bangbodbangton/posts/168164004801837