กระบุง

1093
views

ทะเบียนวัตถุ: มธ. 1299/ 2535 

ชื่อวัตถุ: กระบุง 

อายุ: พุทธศตวรรษที่ 25 

ศิลปะ: ล้านนา 

วัสดุ: ไม้, รัก, ชาด 

ขนาด:  สูง 20.8 เซนติเมตร, กว้าง 30 เซนติเมตร 

สภาพ: ชำรุด รักกะเทาะ 

ลักษณะ: กระบุง ภาษาเหนือ เรียก เปี้ยด เพียด หรือ บุง  เป็นภาชนะใช้ใส่เมล็ดพืช ข้าวเปลือก ข้าวสาร และสิ่งของต่างๆ สานด้วยตอก ปากกลม ก้นสอบเข้าหากันเป็นสี่เหลี่ยม มีขอบและมักเสริมตามมุมและก้นด้วยหวายมีหูสำหรับสอดเชือกเพื่อคล้องกับคาน หาบเป็นคู่ๆ กระบุงเป็นภาชนะที่นิยมใช้กันทั่วไป อาจใช้หาบเป็นคู่หรือแบกบนบ่า กระบุงมีหลายขนาด หลายรูปทรง และฝีมือการสานจะต่างกันบ้างตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น

ลักษณะลวดลายของกระบุงชิ้นนี้ สานด้วยตอก (ไม้ไผ่) ก้นสอบเป็นสี่เหลี่ยม มี 4 ขา เพื่อรับน้ำหนักของสิ่งของ มีหู 2 ข้างเสริมมาจากตัวกระบุงไว้ช่วยในเรื่องของการหิ้ว ยก หรือ หาบคู่ ด้านในกระบุงเคลือบยางรักสีดำเพื่อความมันวาวและเห็นลวดลายในการสาน ส่วนด้านนอกลงรักทาชาด ทั้ง 4 ด้านของกระบุงใช้ชาดเขียนลายดอกไม้ในเรือนกระจก นอกเรือนกระจกใช้ยางรักตีกรอบเป็นเส้นสีดำ ใกล้ขอบกระบุงมีการขีดเส้นสีดำจากยางรักรอบภาชนะ ส่วนก้นกระบุกทารักและใช้ชาดทาเป็นรูปกากบาท

บริเวณขอบกระบุงด้านนอกชำรุด รักกะเทาะจึงเห็นลายสานของกระบุง

การลงรักส่วนหนึ่งช่วยอุดรอยรั่วซึม และเพื่อเป็นกาวในการทาชาด ภาพรวมของกระบุงชิ้นนี้ น่าจะเป็นงานฝีมือแบบชาวบ้าน

หมายเหตุ

ชาด ในพจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านของ วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ได้ให้ความหมายว่า วัสดุสีแดงสดเป็นก้อนหรือผง ใช้ผสมกับน้ำมันสําหรับประทับตราหรือทาสิ่งต่างๆ ช่างไทยนิยมใช้ทาสิ่งของหรือใช้เป็นสีพื้นประตูหน้าต่างโบสถ์ วิหาร หรือใช้ระบายเป็นสีพื้นหลังในงานจิตรกรรม ใช้ผสมกับยางรักเพื่อเคลือบหรือทาเครื่องเขิน ชาด ภาคเหนือและอีสานเรียก หางหรือน้ำหาง

อ้างอิง

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2558.

พิเชฐ สายพันธ์. วัฒนธรรม “รัก” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, 2558.