ออกพรรษา: วิถีชีวิต ประเพณี

109
views

วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถือเป็นการสิ้นสุดการจำพรรษาของพระสงฆ์เป็นเวลา 3 เดือน และวันออกพรรษามีอีกหนึ่งชื่อเรียกคือ “วันปวารณา” หมายถึง การอนุญาต โดยพระสงฆ์จะได้รับอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนถึงข้อบกพร่องซึ่งกันและกัน เพื่อให้รับรู้และปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง

วิถีชีวิตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษามีหลากหลายประเพณีในแต่ละพื้นที่ อาทิ รับบัว ตักบาตรเทโว  แข่งเรือ และทอดกฐิน เป็นต้น

รับบัว เป็นประเพณีโยนบัวลงไปเพื่อบูชาพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่อยู่บนเรือ โดยคนในท้องถิ่นจะมีการโยนดอกบัวเข้าไปในเรือขณะที่เรือกำลังแล่นไปตามลำน้ำ ประเพณีนี้มีชื่อเสียงมากจังหวัดสมุทรปราการ เพราะเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากประเพณีเก่าแก่ของชาวบางพลี ประเพณีดังกล่าวจะทำในวันขึ้น 13-14 ค่ำ เดือน 11

ตักบาตรเทโว คือประเพณีการทำบุญตักบาตรในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 “เทโว” ย่อมาจาก “เทโวโรหณะ” หมายถึง การเสด็จลงมาจากเทวโลก โดยที่มาของคำดังกล่าวมาจากการระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในโลกสวรรค์ลงมายังโลกมนุษย์ ทำให้การตักบาตรเทโวมีลักษณที่โดดเด่น มีการอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้า ซึ่งอาจจะให้คนอุ้มเดินหรือตั้งไว้บนแคร่ และมีพระสงฆ์เดินเรียงแถวตามหลัง ส่วนผู้ที่มาใส่บาตรจะยืนเรียงรายอยู่สองข้างทาง เปรียบเสมือนการลงมายังโลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้า โดยของที่ผู้คนนิยมนำมาใส่บาตรส่วนใหญ่เป็นข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยน เพราะตามตำนานกล่าวไว้ว่า มีผู้คนมารับเสด็จพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก คนที่อยู่ไกลที่ไม่สามารถใส่บาตรได้จึงนำข้าวสาลีมาปั้นเป็นก้อนแล้วโยนใส่ลงบาตรของพระพุทธเจ้า

แข่งเรือ ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในวันออกพรรษา ซึ่งวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ คือ การส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความมีวินัยภายในชุมชน กิจกรรมแข่งเรือในวันออกพรรษามีชื่อเสียงมากในจังหวัดน่าน โดยชาวบ้านในพื้นที่จะมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมแข่งเรือ

ทอดกฐิน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง และจัดในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยที่มาของกิจกรรมทอดกฐินมาจากภิกษุจำนวน 30 รูป เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังออกพรรษา ช่วงนั้นเป็นช่วงหน้าฝนทำให้การเดินทางมีความยากลำบาก ส่งผลให้จีวรเปื้อนโคลน พระพุทธเจ้าเห็นถึงความยากลำบากจึงอนุญาตให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือนสามารถรับผ้า เพื่อสับเปลี่ยนแทนจีวรผืนเดิมที่ใช้ในการเดินทางมาเข้าเฝ้า ทำให้หลังวันออกพรรษาฆราวาสมักจะนำจีวรมาถวายแก่พระสงฆ์ จึงเป็นที่มาของการทอดกฐิน

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วิถีชีวิต ประเพณีออกพรรษา จากคลังภาพจิตรกรรมฝาผนัง: อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

ภาพรับบัว วัดบางพลีใหญ่กลาง สมุทรปราการ
ภาพตักบาตรเทโว วัดจักษาภัทราราม อุทัยธานี
ภาพตักบาตรเทโว วัดป่าเลไลย์ มหาสารคาม
ภาพแข่งเรือ วัดเขียนเขต ปทุมธานี
ภาพแข่งเรือ วัดพญาวัด น่าน
ภาพแข่งเรือ วัดมิ่งเมือง น่าน
ภาพทอดกฐิน วัดดอนปิน เชียงใหม่
ภาพทอดกฐิน วัดหนองแวง ขอนแก่น

อ้างอิง

อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย. (2564). เป็นคนไทยทั้งที (พิมพ์ครั้งที่ 1). คอมแพคท์พรินท์.

กรมประชาสัมพันธ์ PRD. (28 ตุลาคม 2566). จังหวัดน่าน จัดงานประเพณีแข่งเรือวันออกพรรษา ตานก๋วยสลากวัดบุญยืน พระอารามหลวง อำเภอเวียงสา ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี พ.ศ. 2566. https://nan.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/227663

บทนิทรรศการโดย ศศิธร อินทคีรี นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์