พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ: ขวัญแรกและกำลังใจเกษตรกรไทย

222
views

ปี 2567  ได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 เป็นวันพืชมงคล หรือวันเริ่มตนแห่งฤดูกาลเพาะปลูก

วันพืชมงคล จะมีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ (เพิ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตรโกสินทร์) เป็นพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีพราหมณ์ (มีมาแต่โบราณตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา กระทั่งรัตนโกสินทร์) เป็นพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง

ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีการเสี่ยงทายเพื่อพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ประกอบด้วย 2 พิธีเสี่ยงทาย

พิธีเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย โดยพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย ผ้านุ่ง 3 ผืนจะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาหยิบ

  • ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
  • ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่

พิธีเสี่ยงทายพระโคกินอาหาร 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงไว้ ซึ่งเมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์

  • ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
  • น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
  • เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

การเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกายของพระยาแรกนา และพิธีเสี่ยงทายจากพระโค ล้วนมีความหมายที่ดีเป็นมงคลแทบทั้งสิ้น ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรในการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้เกษตรกรเฝ้าระวังสำหรับการลงมือเพาะปลูก เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อ ความผูกพันระหว่างคนกับสัตว์ รวมทั้งพืชพรรณธัญญาหารต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจนถึงทุกวันนี้

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และวิถีชีวิตการเกษตร จากคลังภาพจิตรกรรมฝาผนัง: อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

วัดไร่ขิง สามพราน จ.นครปฐม
วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี
วัดละมุด จ.นครปฐม
วัดตึก อ.ศรีประจัน สุพรรณบุรี
วัดเดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี
วัดพร้าว อ.เมือง สุพรรณบุรี
วัดลาดหอย อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี
วัดสูงเนิน อ.เมือง จันทบุรี
วัดยางงาม อ.ปากท่อ ราชบุรี
วัดใหญ่นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง ราชบุรี