ภาพถ่ายวัตถุสามมิติ

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้ดำเนินการเกี่ยวกับงานสแกนสามมิติวัตถุพิพิธภัณฑ์ โดยในปี 2561 ได้ดำเนินโครงการสร้างความร่วมมือเชิงบูรณการด้านเทคโนโลยีประยุกต์และงานพิพิธภัณฑ์ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยอาจารย์ ดร.ชาวี บุษยรัตน์  โดยได้ทดลองนำเทคโนโลยีการสร้างภาพสามมิติ (3D Model) มาใช้ในการบันทึกภาพวัตถุของพิพิธภัณฑ์

ต่อมาในปี 2566 ทางศาสตราจารย์ ดร. เอียน เฮนส์ (Professor Dr. Ian Haynes) คุณ อเล็กซ์ เทอร์เนอร์ (Mr. Alex Turner) นักวิจัยชำนาญการ (Research Associate) จากคณะประวัติศาสตร์ อารยะธรรมกรีกและโรมัน และโบราณคดี มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ผู้เชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะเทคนิคการสแกนภาพสามมิติ (3D scanning) มาประยุกต์ใช้ในงานด้านโบราณคดี มรดกวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ ได้ดำเนินการถ่ายภาพสามมิติของพิพิธภัณฑ์อีกจำนวนหนึ่ง ตามโครงการ “มรดกดิจิทัล: ภาพสามมิติในงานโบราณคดี มรดกวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์”

การบันทึกข้อมูลวัตถุของพิพิธภัณฑ์ ทั้ง 2 ครั้ง เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าสำหรับสาธารณชนที่สามารถเข้าถึงวัตถุได้ในวงกว้างและจะนำไปสู่การศึกษาวิจัยในระดับลึกต่อไป

งานภาพถ่ายสามมิติของพิพิธภัณฑ์ จะมีส่วนช่วยพัฒนาระบบการจัดการวัตถุ และฐานข้อมูลวัตถุ รวมถึงการบันทึกอัตลักษณ์ของวัตถุแต่ละชิ้นที่ละเอียดเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เช่นลักษณะของรูปทรง รอยแตกร้าวหรือชำรุด ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บรักษา ซ่อมแซมและความปลอดภัยของวัตถุแล้ว ยังสามารถช่วยให้การเข้าถึงวัตถุเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยสำหรับนักศึกษา นักวิจัยและสาธารณชนในวงกว้างด้วย