เตียบ

1021
views

ทะเบียนวัตถุ:  มธ. 1320/ 2535 

ชื่อวัตถุ: เตียบ 

อายุ: พุทธศตวรรษที่ 25 

ศิลปะ: ล้านนา 

วัสดุ: ไม้, รัก, ชาด 

ขนาด: สูงรวมฝา 59 เซนติเมตร, ลำตัวสูง 23.3 เซนติเมตร, เส้นผ่านศูนย์กลางปาก 29.7 เซนติเมตร, เส้นผ่านศูนย์กลางฐาน 31.3 เซนติเมตร

สภาพ: ชำรุดเล็กน้อย มีส่วนร้าวกะเทาะ ชาดหลุดออกไปบ้างจึงเห็นถึงรักที่ทาไว้

ลักษณะ: เตียบเป็นภาชนะประเภทตะลุ่มหรืออูบสำหรับใส่อาหาร รูปร่างคล้ายพานขนาดใหญ่ ปากคลุ่มมีฝาครอบ สานด้วยตอกหรือทำด้วยไม้

เตียบชิ้นนี้มีน้ำหนักเบาเพราะทำจากไม้ มีการทายางรักสีดำและทับด้วยชาดทั้งด้านในและด้านนอก  เตียบประกอบด้วยชิ้นส่วน 2 ชิ้น คือ ฝาและลำตัว

ฝาเตียบทำเป็นยอดสูงซ้อนกันคล้ายฉัตร มีลวดลายนูนจากรักกระแหนะบริเวณกลางฝา

ลำตัวของเตียบ คล้ายพานขนาดใหญ่ก้นลึก แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ปาก เอว และตีน โดยเอวของเตียบชิ้นนี้มีการใช้รักผสมขี้เถ้าปั้นเป็นลายซี่ลูกกรงเล็กๆ ซึ่งใช้เป็นทั้งลวดลายและตัวเชื่อมปากกับตีนของเตียบ บริเวณตีนเห็นรอยแตกชัดเจน ส่วนฐานด้านในทาเพียงรักเท่านั้น

หมายเหตุ

รักกระแหนะ หรือ รักตีลาย ในศัพทานุกรมโบราณคดี ของกรมศิลปากร ได้อธิบายว่า เป็นรักสมุกที่มีความเข้มข้นมากกว่ารักสมุกพื้น กวนหรือเคล้าให้เข้ากันจน “แค่น” คือ เหนียว และหนืดมาก ทิ้งไว้จนเกือบแข็ง เมื่อจะใช้ต้องทุบหรือตำให้เกิดความร้อนจึงจะอ่อนตัวพอเหมาะ (มีความแข็งมากกว่าดินน้ำมัน) แล้วนำมากดลงในแบบพิมพ์ลายเรียกว่า “กระแหนะลาย” ตัวลายที่ทำด้วยรักเรียกว่า “กระแหนะรัก”

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. นามานุกรมเครืองจักสาน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2553.

พิเชฐ สายพันธ์. วัฒนธรรม “รัก” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, 2558.