มีข้อสังเกตว่า เมื่อมนุษย์ทำความเข้าใจวานร มีความโน้มเอียงที่จะมอง และสร้างความรู้เกี่ยวกับสังคมวานรผ่านมุมมองที่มีเพศชายเป็นศูนย์กลาง (Androcentrism) โดยอาศัยฐานความคิดเรื่องเพศของโลกตะวันตกเป็นเกณฑ์ วานรวิทยา (Primatology) จึงพัวพันอยู่กับ “อคติของเพศชาย”
แม้จะมีสปีชีส์อยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่นักไพรเมตศึกษาอาศัยความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมของลิงบาบูนในทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกาเป็นรูปแบบหลักในการอธิบายแบบแผนวิวัฒนาการของทั้งวานรและมนุษย์ และใช้สร้างสมมุติฐานที่เกี่ยวกับจุดกำเนิดของครอบครัว ความแตกต่างทางเพศและการแบ่งแยกแรงงานตามเพศ เช่น เมื่อฝูงลิงบาบูนพบผู้ล่าที่กำลังจะโจมตีอย่างเสือดาว บาบูนตัวผู้จะเดินขึ้นมาอยู่ทางด้านหน้าและด้านหลังของฝูงที่พร้อมจะปะทะกับผู้ล่า ส่วนบาบูนเพศเมียจะเดินตรงกลางโดยรวบรวมเหล่าลูกลิงเข้ามาใกล้
พฤติกรรมของลิงบาบูน โดยเฉพาะบทบาทนำของเพศชาย (Male dominance) กลายเป็นตัวแบบของวิวัฒนาการมนุษย์ และมองว่า ความสามารถในการประดิษฐ์เครื่องมือ การกินเนื้อสัตว์ การจัดระบบการล่าเป็นกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มเพศชาย ในขณะที่กลุ่มเพศหญิงเป็นเพียงกลุ่มเก็บหาอาหาร มีบทบาทเพียง การสืบพันธุ์และเลี้ยงดูลูก
การศึกษาในระยะหลัง แสดงหลักฐานเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับบทบาทที่สำคัญของเพศหญิง ในกรณีของลิงบาบูนพบว่า เส้นทางการออกหาอาหารประจำวัน มักจะถูกตัดสินโดยกลุ่มลิงบาบูนเพศเมียที่โตเต็มวัย มากกว่าลิงบาบูนตัวผู้ หรือการกำหนดทิศทางของการเคลื่อนย้ายของฝูง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของจ่าฝูง แต่อาจเกิดจากลิงบางตัวหรือความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่ม
ข้อมูลและพฤติกรรมเกี่ยวกับชิมแปนซีและโบโนโบ (Pan paniscus) ที่มีเพิ่มมากขึ้น เช่น มีดีเอ็นเอที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากกว่าวานรอื่น มีผลต่อการทำความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับวานรและพัฒนาการของมนุษย์ แม้ในกลุ่มชิมแปนซีจะไม่มีชิมแปนซีเพศผู้ตัวใดในฝูง มีอันดับต่ำกว่าชิมแปนซีเพศเมีย แต่สังคมของ ลิงโบโนโบก็มีก็มีชีวิตทางสังคมแบบเพศเมียเป็นใหญ่ (Female dominance) ความคิดเรื่อง “ผู้ชายนักล่า” (Man the Hunter) ถูกท้าทายมากขึ้น จาก “ผู้หญิงนักเก็บ” (Woman the Gatherer) ความสัมพันธ์แม่-ทารกในการเลี้ยงดู ที่ยาวนานของสังคมวานร แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของเพศหญิง มี การค้นพบว่าแม่โบโนโบ มีส่วนในการเลือกตัวเมียให้ลูกชายและนำพาลูกชายไปผสมพันธุ์กับตัวเมียที่กำลังพร้อมจะผสมพันธุ์
มีข้อเสนอใหม่ที่ท้าทายคำอธิบายแบบเดิมเพิ่มมากขึ้น เช่น วิวัฒนาการของมนุษย์และลิงใหญ่ไร้หาง ไม่ใช่การเปลี่ยนอาหารจากพืชเป็นเนื้อสัตว์ หากแต่เป็นการเปลี่ยนจากการกินผลไม้ไปเป็นพืชมีหัว ผู้หญิงนักเก็บ (Woman the Gatherer) เริ่มที่จะใช้เครื่องมือในการเก็บหาอาหารจำพวกพืชและสัตว์เล็กๆ เพื่อเลี้ยงตนเองและลูกของตนซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการย้ายถิ่นฐานจากป่าใหญ่ออกสู่ป่าทุ่งหญ้า และการใช้เครื่องมือในการล่าสัตว์ใหญ่นั้นเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นภายหลัง เริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้นเป็นเวลานานในฐานะที่เป็นส่วนขยายของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว หรือในการริเริ่มการผสมพันธุ์ ข้อมูลการศึกษาในระยะหลังชี้ให้เห็นว่า วานรเพศเมียมีลักษณะรุกในเชิงเพศสัมพันธ์และริเริ่มในการผสมพันธุ์
ต้องยอมรับว่าการศึกษาไพรเมตอย่างเป็นระบบแม้เพียงฝูงใดฝูงหนึ่งนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการติดตามอย่างยาวนาน ตัวอย่างพฤติกรรมของวานรชนิดพันธุ์ใดชนิดพันธุ์หนึ่งในกลุ่มประชากรเดียวนั้น ไม่สามารถเป็นภาพตัวแทนพฤติกรรมทั้งหมดได้และยิ่งการนำพฤติกรรมของวานรมาใช้ในการทำ ความเข้าใจและอธิบายวิวัฒนาการของมนุษย์ จำเป็นที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง