ไมค์
ซูซู

ในช่วง พ.ศ. 2536 อุรังอุตังเพศผู้อายุ 7 ปี ของ สวนสัตว์ลพบุรี ที่ชื่อ “ไมค์” ได้กลายเป็นวานรที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด หลังจากที่ “แอน” อุรังอุตังเพศเมียอีกตัวหนึ่งได้เสียชีวิตไป เนื่องจากโรคแผลติดเชื้อและทำให้ไมค์เริ่มมีอาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร ต่อมาศูนย์พิทักษ์สัตว์ป่าแห่งชาติไต้หวัน แจ้งว่ายินดีจะส่ง อุรังอุตังเพศเมียอายุ 7 ปี มาให้เป็นคู่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันและทั้งคู่จะต้องมีพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมไม่น้อยกว่าหนึ่งไร่ ตามกฎมาตรฐานขององค์กรคุ้มครองสัตว์ป่าโลก และเพื่อให้ไมค์ได้มีคู่ จึงมีโครงการระดมทุน “จัดงานแต่งงานให้ลิง” เพื่อนำมาใช้ในการจัดสร้างพื้นที่ให้เหมาะสม โครงการนี้ ได้รับ การตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานราชการ พ่อค้า และประชาชนในจังหวัดลพบุรี เพื่อจัดสร้าง “เรือนหอ” ให้กับไมค์  เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง มีการจัดเตรียมงานแต่งงานอย่างยิ่งใหญ่โดยบริษัทโฆษณาชั้นนำ สถานีโทรทัศน์ช่อง 6 ของญี่ปุ่นขอซื้อลิขสิทธิ์ในการบันทึกเทปและทำข่าว “วิวาห์วานร”

เมื่อ “ซูซู-เจ้าสาวจากไต้หวัน” มาถึงสนามบินดอนเมือง มี การต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จัดให้มีขบวนแห่รอบเมืองลพบุรี การแต่งงานจัดขึ้นในวันที่ 7 เมษายน 2539  มีทั้งพิธีแห่ขันหมาก จดทะเบียนสมรส รดน้ำสังข์ รวมถึงงานฉลองตอนกลางคืน โดยหนุ่มสาว อีก 4 คู่ สมัครเข้าร่วมในการ “แต่งงาน” ครั้งนี้พร้อมกับไมค์และซูซูด้วย หลังจากนั้นกิจกรรมชีวิตคู่ของไมค์และซูซู กลายเป็นข่าวตามสื่อและหน้าหนังสือพิมพ์สืบต่อมาอีกนานนับปี

ไมค์กับซูซูมีลูกด้วยกัน 2 ตัว คือ จ้อย และ จอย แต่ในช่วงที่ซูซูให้กำเนิดจ้อย ซูซู ไม่ยอมให้ไมค์เข้าใกล้จึงมีแนวคิดหาอุรังอุตัง ตัวใหม่ หรือ “มะลิ” ให้มาเป็นคู่ของไมค์ แต่แผนการนี้ก็ต้องล้มเลิกไป เมื่อได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวางว่าเป็นการ “หาเมียน้อย” ให้ไมค์ ที่ถือว่าขัดแย้งกับค่านิยมหลักของชาติ คือครอบครัวแบบ “ผัวเดียว เมียเดียว” แต่ท้ายที่สุด ทางสวนสัตว์ลพบุรีก็ได้ดำเนินการไปรับ “มะลิ” จากจังหวัดสงขลาให้มาอยู่กับไมค์อย่างเงียบๆ จนมีลูกเพิ่มมาอีกหนึ่งตัว คือ แบม

ไมค์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 ด้วยอาการปอดอักเสบและระบบหายใจล้มเหลว มีการจัดงานศพให้ไมค์เป็นครั้งสุดท้าย มีพิธีรดน้ำศพ สวดศพ บรรจุโลงและฝังไว้ที่สวนสัตว์ลพบุรี โดยจัดสร้างรูปปั้นไมค์ไว้เป็นอนุสรณ์ อีกหนึ่งปีต่อมา ซูซู ก็เสียชีวิตตามไปและถูกฝังร่างอย่างเรียบง่ายในบริเวณพื้นที่ของสวนสัตว์เมืองลพบุ

 ชีวิตของไมค์-ซูซู เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง กระบวนการทำให้วานรกลายเป็นมนุษย์ (Humanization of Primate) โดยสวมความคิดวัฒนธรรมแบบไทยให้กับอุรังอุตัง  แท้จริงแล้ว ระบบโครงสร้างสังคมของวานร มีความหลากหลาย แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดพันธุ์ บางชนิดพันธุ์อยู่รวมฝูงกันแบบตัวผู้หนึ่งตัว ตัวเมียหลายตัว เช่น กอริลลา บางชนิดพันธุ์อยู่ร่วมฝูงกันแบบตัวผู้หลายตัว ตัวเมียหลายตัว (เปลี่ยนคู่ใหม่กันไปเรื่อยๆ) เช่น ลิงแสม บางชนิดพันธุ์เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้วก็แยกย้ายกันไป เหลือเพียงตัวเมียที่เลี้ยงลูกเพียงลำพัง เช่น อุรังอุตัง บางชนิดพันธุ์ เช่น ชะนี เมื่อจับคู่กันแล้วตัวผู้กับตัวเมียก็อาจจะอยู่ร่วมกันเกือบตลอดชีวิตหรือช่วงเวลาหนึ่ง

ซูซู หรือ ชูศรี
ห้องปฏิบัติการมานุษยวิทยากายภาพและชาติพันธุ์วิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ยืมจัดแสดง