ในขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับ วานรใหญ่ไร้หาง ( Great Apes) เช่น ชิมแปนซี โบโนโบ กอริลลา และอุรังอุตัง ได้รับความสนใจในวงกว้าง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความ “ใกล้ชิด” กับมนุษย์ นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งสนใจศึกษาและทำความเข้าใจวานร กลุ่ม “เอปเล็ก” (lesser Apes) โดยเฉพาะกลุ่ม “ชะนี” ด้วยเชื่อว่าจะช่วยไขความกระจ่างในเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ แม้ว่าจะมีสายวิวัฒนาการแยกกันเมื่อประมาณ 16 ล้านปีก่อน
พ.ศ. 2480 คณะสำรวจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ( Asiatic Primate Expedition of Harvard University) ใช้เวลา 2 เดือนในการสำรวจและศึกษาชะนีบริเวณดอยอินทนนท์ และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภารกิจหลักของการสำรวจ คือ การสังเกตพฤติกรรมของชะนีอย่างใกล้ชิด ศึกษาทางกายวิภาคอย่างละเอียด และเก็บรวบรวมตัวอย่างสัตว์และพืช คณะสำรวจชุดนี้ได้เก็บตัวอย่างซากชะนีไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงชะนีที่ยังมีชีวิตเพื่อนำกลับไปศึกษาต่อ (ปัจจุบันซากชะนีทั้งหมดได้รับการเก็บรักษา ไว้ที่พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาเปรียบเทียบ (Museum of Comparative Zoology) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด การศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาชะนีในสภาพธรรมชาติครั้งแรกๆ ของโลก
กลุ่มนักวิชาการที่เข้ามาศึกษาในครั้งนั้น ประกอบด้วยหัวหน้าคณะสำรวจ คือ คูลลิดจ์ ( Harold J. Coolidge) ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดร.ชูลท์ (Adolph H. Schultz) วอชเบิร์น (Sherwood L. Washburn) และ ดร. คาร์เพนเตอร์ (Clarence Ray Carpenter) ซึ่งต่อมาได้เสนอผลงานศึกษาสำคัญ ที่ทำให้เข้าใจชีวิต พฤติกรรม และกายวิภาคของชะนี ในฐานะเป็นวานรกลุ่มเอปเล็กของเอเชีย
ในขณะที่ลิง และวานรใหญ่ไร้หางอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ มีพื้นที่หากินกว้างขวาง มีการลำดับชั้นสูงต่ำทางสังคม แต่ชะนีอยู่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก (พ่อ แม่ ลูก) หากินในพื้นที่อันเป็นอาณาเขต (territory) หรือ “รั้วบ้าน” ของตัวเอง แต่พื้นที่หากิน (home range) จะขยายออกไปมากกว่าเขตบ้าน ชะนีจะปกป้องเฉพาะเขตบ้าน แต่จะไม่ปกป้องเขตพื้นที่หากิน ชะนีกินผลไม้เป็นหลักและการนอนบนต้นไม้โดยไม่สร้างรัง
ชะนี เป็นวานรที่มีการส่งเสียงร้องโดดเด่นกว่าวานรอื่น ๆ การศึกษาของ ดร.คาร์เพนเตอร์ ดร.โจและเอลซี มาร์แชล ( Joe and Elsie Marshall) ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. วรเรณ บรอคเคลเมน (Warren Y. Brockelman) รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ชี้ให้เห็นว่า การร้องของชะนีมีความพิเศษและซับซ้อนมาก ทำหน้าที่เพื่อสื่อสารแตกต่างกัน ประกาศอาณาเขต ร้องหาคู่ กระชับความสัมพันธ์ของคู่ ร้องตามพ่อแม่ ร้องเรียกลูก หรือร้องเตือนภัย ชะนีมีรูปแบบของเสียงร้องแตกต่างกันอันเป็นผลมาจากพันธุกรรม เสียงร้องของชะนีช่วยให้สามารถแยกชนิดพันธุ์ของชะนี และทำให้ นักวิจัยสามารถจำแนกชนิดและประเมินประชากรในแต่ละพื้นที่ได้ เช่น เสียงร้องเดี่ยวของชะนีตัวผู้ (male solos) เพื่อหาคู่ เสียงร้องเดี่ยวของชะนีตัวเมีย (female great call) หรือการร้องคู่ (vocal duet) โดยตัวเมียร้องขึ้นก่อนเป็นจังหวะ ก่อนที่ตัวผู้จะร้องปิดท้าย เพื่อแสดงความสัมพันธ์และประกาศอาณาเขตของครอบครัว นอกจากนั้นยังพบการเพรียกร้องของชะนีม่ายที่ร้องทั้งเสียงเริ่มต้นและปิดท้ายเพื่อเลียนเสียงการร้องคู่
ปัจจุบัน แทบไม่พบชะนีในสภาพธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์และดอยเชียงดาวแล้ว แต่บริเวณ มอสิงโต ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังคงเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยที่เข้มข้น และมีข้อค้นพบสำคัญเกี่ยวกับชะนีเป็นจำนวนมาก เช่น การละทิ้งครอบครัวไปจับคู่เพื่อตั้งครอบครัวใหม่ การผสมข้ามสายพันธุ์ของชะมีมือขาวและชะนีมงกุฎ หรือพบว่าชะนีส่งเสียงด้วยวิธีการที่แตกต่างกันเมื่อพบสัตว์ต่างชนิดที่มาคุกคามคือ งูขนาดใหญ่ เหยี่ยว หรือ สัตว์ตระกูลเสือ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา ลิงเวอเวต (Vervets) ที่ส่งสัญญาณเสียงที่แตกต่างกันได้ 3 แบบ เพื่อบอกการปรากฏตัวของศัตรูว่าเป็น งู เสือ หรือนกอินทรี
วานรสามารถสื่อสารด้วยเสียงได้ โดยใช้ระบบการเรียก (call system) โดยเปล่งเสียงที่มีคุณภาพต่างกันได้หลายเสียง แต่ละเสียงสัมพันธ์กับความหมายที่เฉพาะเจาะจงเพียงหนึ่งความหมาย เช่นบอกแหล่งอาหาร ศัตรู หรือกำหนดบริเวณถิ่นอาศัย (territory) การสื่อสารด้วยเสียง จึงเป็นสัญญาณเสียงที่เปล่งออกมาโดยสัมพันธ์ในระดับหนึ่งกับการแสดงอารมณ์