ครอบครัวชะนีในอุทยานเขาใหญ่
จากการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยทีมนักวิจัยชะนีของมหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้มีการตั้งชื่อให้กับชะนีแต่ละตัว โดยแต่ละตัวจะได้รับการตั้งชื่อโดยนักวิจัยที่พบชะนีตัวนั้นเป็นคนแรก ชื่อชะนีจึงมีทั้งภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่นและไทย จากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบทำให้สามารถระบุได้ว่าชะนีแต่ละตัวเป็นสมาชิกของครอบครัว (group) ใด
ที่มา : ดร.จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์ “บันทึกชีวิตชะนีใน 1 วัน: 41 ปีของงานวิจัยในเขาใหญ่” นิตยสารสารคดี สิงหาคม 2557 ภาพ : กุลพัฒน์ ศรลัมพ์
พฤติกรรมทางสังคมของลิงวอกภูเขา
ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมของลิงวอกภูเขานั้น ผู้ศึกษาต้องบันทึกความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคมลิง ซึ่งลิงแต่ละตัวในฝูงจะมีชื่อประจำทุกตัว โดยในแต่ละวันจะต้องคอยเก็บบันทึกว่า ใคร ทำอะไร กับใคร อย่างไร นานแค่ไหน โดยจะต้องติดตามชีวิตของลิงตัวที่ศึกษาเป็นเวลานาน 40 นาที คอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ว่ามันทำอะไรบ้าง โดยทุกๆ 2 นาทีที่นาฬิกาเตือน เราจะจดบันทึกสิ่งที่ลิงตัวนั้นทำ เช่น อยู่บนพื้น-นั่ง-พักผ่อน หรืออยู่ระดับต่ำ-นั่ง-ร่วมสังคม หรือบนเรือนยอด-เดิน-เดินทาง หรือหากว่ามันกินอาหาร ก็ต้องบันทึกว่ากินอะไร หรือกินส่วนไหน รวมถึงการบันทึกปฏิสัมพันธ์กับลิงตัวอื่นๆ เราจะบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ โดยอาศัยรหัส รวมถึงระยะเวลาของกิจกรรมที่เกิดขึ้นด้วย เช่น การทำความสะอาดให้แก่กัน การแย่งอาหาร หรือการมีพฤติกรรมทางเพศ
ที่มา : ปิยะ สายสวัสดิกุล “ ลิงวอกภูเขา เรื่องเล่าของลิงบนยอดไม้ จากคนเดินตามพื้นดิน” นิตยสารสารคดี สิงหาคม 2560