“เครื่องเขิน” งานหัตถศิลป์ของชาวล้านนา รับอิทธิพลมาจากไทเขิน ได้บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของผู้คนในการเลือกรับปรับแต่งวัสดุพื้นถิ่น ให้เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่วิจิตรงดงาม และทรงคุณค่า

ความเป็นมา

          เครื่องเขิน คือหนึ่งในงานหัตถกรรมที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์ ในอดีตเครื่องเขินมีสถานภาพเป็นทั้งของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในพิธีกรรม ตลอดจนรูปเคารพและงานศิลปกรรม เครื่องเขินมีโครงสร้างจากไม้และที่นิยมมากที่สุดคือ โครงสร้างจากไม้ไผ่ ซึ่งช่วยให้ของใช้นั้นมีน้ำหนักเบา หลักการของเครื่องเขินคือนำเครื่องจักสานมาเคลือบด้วยยางไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีดำ ซึ่งเรียกกันว่า ยางรัก ภาชนะใช้สอยเมื่อเคลือบยางรักและตกแต่งผิวให้สวยงามด้วยวิธีการต่างๆ เสร็จแล้วจึงเรียกว่า เครื่องเขิน

          ความเป็นมาของ “เครื่องเขิน” สืบจากหลักฐานในประเทศจีนที่พบว่ามีภาชนะเครื่องรักมากว่า 4,000 ปีแล้ว โดยมีการพบหลักฐานจากชิ้นส่วนและตัวภาชนะเครื่องรักในหลุมฝังศพของบุคคลสำคัญในหลายๆแห่ง และวัฒนธรรมการใช้เครื่องรักคงได้แพร่หลายไปสู่ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีนตอนใต้ เวียดนาม และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียอาคเนย์

           เหตุที่กล่าวถึงภาชนะเครื่องรัก เนื่องจากเครื่องเขิน มีส่วนประกอบของรัก กล่าวคือ ภาชนะเครื่องเขิน ทำมาจากไม้หรือไม้จักสานแล้วทำการลงรักเพื่อเพิ่มความทนทานของภาชนะ นั่นเอง

           เครื่องเขิน ในประเทศไทย พบมากทางล้านนา หรือทางภาคเหนือของไทย ซึ่งเชื่อว่าเครื่องเขินไม่ได้เริ่มมีในสังคมล้านนาช่วงฟื้นฟูเชียงใหม่ “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ทำการกวาดตอนไทเขินจากลุ่มน้ำแม่ขึน เมืองเชียงตุง แต่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในล้านนาก่อนหน้าที่พม่าจะเข้ามายึดล้านนา ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่และช่างฝีมือไปไว้ที่เมืองพม่าหลายครั้ง โดยช่างฝีมือหรือชาวเชียงใหม่ที่ถูกกวาดต้อนได้ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วยรัก เรียกว่า “โยนเถ่”แปลว่าเครื่องยวน หรือเครื่องที่ประดิษฐ์โดยชาวยวน หรือล้านนา ปัจจุบันที่พุกามยังมีการทำโยนเถ่ ที่มีการตกแต่งลายขูดขีดแล้วถมลายเส้นด้วยสีต่างๆอยู่

          เหตุที่เรียกภาชนะที่ทำจากไม้ หรือเครื่องจักสาน แล้วทำการลงรักว่า เครื่องเขิน เพราะได้รับอิทธิพลทั้งรูปทรง ลวดลาย และกรรมวิธีการผลิต หน้าที่การใช้งาน ตลอดจนผู้ผลิตที่สืบทอดความเป็นชาวไทเขิน เป็นสำคัญ 

กว่าจะเป็น “เครื่องเขิน”

            “เครื่องเขิน” ภาชนะของใช้ที่มีโครงเป็นเครื่องจักสานหรือไม้ เคลือบทาด้วยยางรักเพื่อความคงทน กันน้ำและความชื้น ทั้งเป็นการเพิ่มความสวยงามวิจิตรแก่พื้นผิวของภาชนะ โดยส่วนใหญ่โครงของเครื่องเขินจะเป็นเครื่องไม้ไผ่สาน ทาด้วยยางรักหลายๆชั้น โดยการทารักในชั้นแรกจะเป็นการยึดโครงของภาชนะให้เกิดความมั่นคง ส่วนการทารักในชั้นต่อๆไปเป็นการตกแต่งพื้นผิวภาชนะให้เรียบ และการทารักชั้นสุดท้ายจะเป็นการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม เช่น การเขียนลวดลาย การปิดทอง หรือการขุดผิวให้เป็นร่องลึก แล้วฝังรักสีที่ต่างกันเป็นลวดลายสวยงาม หากเป็นภาชนะของใช้ทั่วไปจะมีน้ำหนักเบาจะนิยมใช้รักสีดำและตากแต่งด้วยสีแดงของชาด และกรณีภาชนะที่ใช้ในพิธี จะทำการตกแต่งเชิงศิลปะ เช่น ใช้ทองคำเปลวประดับ บางชิ้นอาจมีการปั้น กดรัก พิมพ์รักให้เป็นลวดลาย เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่ภาชนะ เครื่องเขินที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย เช่น เชี่ยนหมาก พาน ขันโอ ขันน้ำ และถาด เป็นอาทิ

          ปัจจุบันเครื่องเขินมีการนำเอาไม้มาทำโดยวิธีการเคี่ยนตามรูปแบบ โดยใช้ไม้จริง เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้มะม่วงป่า ไม้ยมหิน หรือใช้ไม้อัด โดยนำเอาไม้จริงทั้งต้นมาต้มและปอก หรือฝานด้วยใบมีดขนาดใหญ่เป็นแผ่นบาง จากนั้นนำมาตัดแบ่งตามขนาดแล้วทาด้วยกาวยางซ้อนทับสลับในแนวเดียวกันและนำเครื่องอัดและอบให้กาวแห้งสนิท

          รูปร่างรูปทรงของเครื่องเขิน มักจะเลียนแบบจากธรรมชาติ โดยเอื้อประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งรูปทรงเหล่านี้มักจะเลียนแบบจากพืชพรรณไม้ รูปทรงจากสัตว์ รูปทรงกระบอก ทรงกลม ทรงเรขาคณิต รูปรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม รวมถึงรูปทรงที่ช่างคิดสร้างสรรค์ ทั้งลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเฟื่อง ลายบัว ลานรักร้อย ลายประจำยาม ลายก้านขด ลายกระจัง ลายธรรมชาติ ตลอดจนภาพนิทานชาดก และลายสิบสองราศี

          คุณสมบัติของเครื่องเขิน คือ มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นได้บ้าง ไม่แตกหักเสียหายในทันที วัสดุที่ใช้ในการผลิตสามารถหาได้โดยทั่วไปในท้องถิ่น เทคนิคในการตกแต่งไม่ซับซ้อน และยังสนองตอบรสนิยมและการใช้สอยในชีวิตประจำวันของผู้คนในภาคเหนือ รวมถึงเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากคุณสมบัติ รูปร่าง วัสดุและเทคนิคดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในอดีตที่รู้จักเลือกสรรสิ่งของในการประดิษฐ์และตกแต่งให้มีคุณค่า และคงทนต่อการใช้งาน

ประเภทของเครื่องเขิน

          เครื่องเขิน ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในแถบทางภาคเหนือของไทยที่มีการใช้เครื่องเขินมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีรูปแบบและรูปทรงที่หลากหลาย สนองตอบการใช้สอย ค่านิยม และรสนิยมทางสังคม รูปแบบหรือประเภทของเครื่องเขินที่แพร่หลายและมีลักษณะเด่นๆ คือ

         ปุง เป็นภาชนะที่มีโครงเป็นเครื่องสานคล้ายกล่องข้าวเหนียว ก้นเป็นสีเหลี่ยม คอคอดทรงกระบอกมีฝาปิดคล้ายๆขวดโหลแก้ว ฐานของปุงจะทำด้วยไม้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีเส้นหวายคาดรัดติดกับปุง โดยยึดกับคอของภาชนะ ตัวปุงมีลักษณะอ้วนป่องทาด้วยยางรักหนาพอสมควร  ปุงจึงมีลักษณะแข็งแรงและรองรับการกระทบกระทั่งได้ดี การตกแต่งส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนลวดลายด้วยชาด เป็นลายพันธุ์พฤกษาแบบพื้นเมือง ไม่นิยมมีรูปสัตว์ ลวดลายที่ตกแต่งจะเน้นด้านข้างของภาชนะทั้งสี่ด้าน ไม่นิยมติดทองคำเปลวหรืองานประดับกระจก ปกติจะมีรูสำหรับร้อยเชือกจากฐานไม้โยงผ่านหูปลอกหวายที่คอของภาชนะ สำหรับหิ้วหรือหาบ หน้าที่การใช้งานคือเป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชและของใช้ส่วนตัว

          ขันหมาก หรือ เชี่ยนหมาก ในภาษาทางภาคกลาง ลักษณะของขันหมากพื้นเมืองของชาวล้านนาหรือทางภาคเหนือจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหรูหรากว่าพื้นถิ่นอื่นๆ ขันหมากล้านนามีโครงเป็นไม้ไผ่สานและขดเป็นทรงกระบอกกลมหรือหักเหลี่ยมโค้ง เป็นกล่องขนาดใหญ่สำหรับใส่ใบพลูข้างล่างและมีถาดเป็นฝาบิดข้างบนเพื่อรองรับตลับหมากขนาดเล็กที่ใช้ใส่เครื่องเคี้ยวอื่นๆ รวมทั้งมีดผ่าหมากและเต้าปูน ขันหมากส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีชาดและรักพิมพ์ บางชิ้นมีการเติมทองคำเปลวเพื่อความวิจิตรหรูหรายิ่งขึ้น บางชนิดจะมีการตอดเบี้ยที่ตีนขันหมาก แสดงออกถึงความร่ำรวยและมีกินมีใช้ของเจ้าของ ดังนั้นหน้าที่ของขันหมากคือเป็นภาชนะใช้สอยและเป็นหน้าเป็นตา ความภูมิใจของเจ้าของในการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน ภายในขันหมากจะมีชุดตลับเล็กๆ ซึ่งนิยมเป็นไม้กลึงสวยงาม บางชิ้นเป็นตลับขดด้วยตอกไม้ไผ่ทารักเช่นเดียวกับตัวขันหมาก แต่ในสมัยหลังนิยมใช่ตลับเงินตีดุนเป็นลวดลายแทนไม้กลึง เนื่องจากแลดูหรูหราภูมิฐานยิ่งขึ้น 

         ขันดอกและขันโตก หรือพานใส่ข้าวตอก ดอกไม้และเครื่องเช่นไหว้ของชาวล้านนา มีลักษณะคล้ายจานที่ฐานยกสูง คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจานเชิงของจีนที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา แต่ขันดอกจะมีส่วนจานและฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายอย่างชัดเจน หรือที่เรียกว่า ฐานปัทม์ ขันดอกแบบโบราณนิยมทำจากไม้สักกลึงสองหรือสามตอนแล้วนำมาสวมต่อกันเป็นรูปพานทาด้วยยางรักและตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีดำสีแดงเป็นกลีบบัวสอดไส้ ขัดดอกและขันโตกใช้สำหรับใส่ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนไปวัดหรือในพิธีกรรม บ้างที่ใช้ใส่เครื่องเซ่นไหว้ และของที่มอบให้เป็นทางการในพิธีสำคัญๆ

          ขันดอกไม้กลึง หรือ ขันซี่, ขันตีนถี่  เป็นขันดอกที่รับอิทธิพลและรูปแบบจากขันดอกของชาวไทเขิน มีลักษณะที่เด่นมาก คือ ที่เชื่อมระหว่างตัวพานไม้กลึงกับฐานไม้กลึง เดิมจะเป็นไม้กลึงทรงบัวลูกแก้ว ได้เปลี่ยนเป็นใช้ไม้ซี่กลึงขนาดเล็กๆเรียงชิดกันเป็นแถวรอบฐานทรงกลมคล้ายขันโตก ซึ่งซี่ไม้ที่เป็นขาจะมีการเหลาเป็นปล้องๆ ให้สวยงาม เมื่อเรียงกันเป็นแถวจะมีลักษณะคล้ายลูกกรงระเบียงบ้าน ขันซี่ทั่วไปจะทาสีแดงชาดเท่านั้น ไม่นิยมมีลวดลายเหมือนขันดอก ขันซี่บางชิ้นมีการกลึงลวดบัวที่มีสัดส่วนสวยงามแปลกตา ขันซี่นิยมใช้เป็นขันตั้งหรือภาชนะในพิธีสำคัญทางศาสนา

          ขันโตก เป็นภาชนะที่มีโครงสร้างและวัสดุเช่นเดียวกับขันดอก แต่มีขนาด การตกแต่ง และประโยชน์ในการใช้สอยที่ต่างกันออกไป โดยทั่วไปขันโตกจะเป็นไม้กลึง มีลูกติ่ง หรือ ลูกกรง ประมาณ 6-8 ขา เป็นขาเชื่อมระหว่างตัวโตกและฐาน ขันโตกที่ชาวบ้านโดยทั่วไปใช้เป็นโตกไม้ธรรมดา หรือทายางรักสีดำ สำหรับเป็นภาชนะรองถ้วยอาหาร ส่วนขันโตกของชนชั้นสูงและพระสงฆ์ นิยมทาชาดสีแดง มีขนาดใหญ่กว่าขันโตกของชาวบ้าน บางครั้งมีอูบข้าว หรือฝาชีปิดครอบ ในกรณีของขันโตกที่ทาชาดสีแดงมักใช้ในพิธีกรรม เช่น การจัดขันตั้ง (ขันไหว้ครู) ขันขวัญ (บายศรี) และขันใส่เครื่องไทยทานถวายพระ เป็นต้น

          ขันโอ  ภาชนะเครื่องรักที่มีพัฒนาการของรูปทรงมาจากกระบุงไม้ไผ่สาน ใช้สำหรับใส่ของหลายประเภทในพิธีกรรมและการไปทำบุญ รูปทรงของขันโอเหมือนกระบุงขนาดเล็กป้อมๆ เตี้ยๆ ทาด้วยยางรัก ด้านนอกสีดำ ด้านในสีแดง มีหูเล็กๆสี่หู สำหรับร้อยเชือกหาบ ปากขันโอมีถาดวางปิดไว้ได้ ส่วนก้นขันโอมีการปั้นยางรักให้เป็นปุ่มสี่ปุ่มเพื่อใช้ในการรองรับการถูไถได้ดี บางชิ้นมีการใช้หอยเบี้ยเสริมความเข้มแข็งของปุ่มรองก้น ขันโอนิยมผลิตเป็นคู่ เรียกกันว่า หาบไม้คานหาบ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้คานเรียวเล็กต่อปลายทั้งสองให้งอนขึ้น หรือแกะสลักเป็นลวดลายสวยงาม  ขันโอที่เป็นใบเดี่ยวจะมีขนาดเล็ก ประดับด้วยลวดลายการเขียนสีหรือปิดทอง ไม่มีหูร้อยเชือก เพราะใช้อุ้มเหมือนขันเงินหรือสลุงเงิน คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก ก๊อกโอ หรือ ซ้าข้อง ของชาวไทเขิน

 ตัวอย่าง “เครื่องเขิน”ในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

เลขทะเบียนวัตถุ มธ.1318/2535

ชื่อวัตถุ ขันหมาก
หน้าที่ใช้งาน เป็นของส่วนตัวของหญิงสาวอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ใช้ใส่เครื่องประดับ ผ้าเช็ดปาก และของใช้เล็กๆน้อยๆ
ลักษณะ ทรงกลม มี 2 ชั้น คล้ายเชี่ยนหมากพม่า ลงรักทาสีทองด้านนอกเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกไม้ ด้านในทาสีแดง
ขนาด สูง 13.5 เซนติเมตร, สูงรวมถาด 14.5 เซนติเมตร, ปากกว้าง 37.8 เซนติเมตร,
เส้นผ่าศูนย์กลางฐาน 38.2 เซนติเมตร

 

เลขทะเบียนวัตถุ มธ.1323/2535

ชื่อวัตถุ เตียบ
หน้าที่ใช้งาน ใช้สำหรับใส่เครื่องของกิน เป็นตะลุ่มปากผายออกและมีฝาครอบ
ลักษณะ ทำจากไม้ไผ่สาน ทรงกลมแบน ปากค่อมเข้ามีขาเตี้ยๆ 6 ขา ภายในมีถาดซ้อนกันอยู่ 1 ใบ  ฝาสอบสูงขึ้นซ้อนกัน 3 ชั้น พื้นทาชาด เขียนลายเส้นประดับสีดำที่ไหล่และฝา
ขนาด สูง 18.5 เซนติเมตร, สูงรวมฝา 33.4 เซนติเมตร, ปากกว้าง 29.3 เซนติเมตร

 

เลขทะเบียนวัตถุ มธ.1291/2535

ชื่อวัตถุ ขันซี่
หน้าที่ใช้งาน ใส่ข้าวตอกดอกไม้บูชาพระ หรือใส่เครื่องเซ่นไหว้
ลักษณะ ทรงกลมมีสันปากตรง ตรงกลางทำเป็นลูกมะหวดเล็กๆ ฐานสูง ลงรัก ทาชาดด้านนอก ด้านในและที่ใต้ฐานทารักอย่างเดียว
ขนาด สูง 28.1 เซนติเมตร, ปากกว้าง 33.2 เซนติเมตร, เส้นผ่าศูนย์กลางฐาน 32.2 เซนติเมตร

 


รายการอ้างอิง

วิถี พานิชพันธ์, เครื่องเขินในเอเชียอาคเนย์ (เชียงใหม่: ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), 2545.

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, นามานุกรมเครื่องจักสาน (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ), 2553.

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม. ภูมิปัญญาเชิงช่างเชียงใหม่ (เชียงใหม่: โชตนาพริ้นท์ จำกัด), 2554.

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ, เครื่องเขิน (ลำปาง: ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ), 2537.

อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพคุณพ่อเจริญ สวนแก้ว ณ เมรุวัดเวฬุราชิน บางยี่เรือ ธนบุรี, วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2510.