สงกรานต์ไทย: มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ Songkran in Thailand: The Intangible Cultural Heritage of Humanity

490
views

คำ “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่ราศีหนึ่ง สงกรานต์ จึงเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษโดยถือว่าเป็นช่วงเวลาของการเข้าสู่ปีใหม่

ถือกันว่าวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสิ้นปีเก่า ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายไปสู่ ราศีเมษ ส่วนวันที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ (วันเนา) ส่วนวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่

นอกจากประเทศไทยแล้ว ในประเทศอื่น ๆ ก็เฉลิมฉลองสงกรานต์และถือเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ปีใหม่เช่นเดียวกัน  ประเทศลาว (ปีใหม่ลาว) กัมพูชา (โจลชนัมทเมย) พม่า (ตะจาน) รัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัม ของอินเดีย (สังเกน) สิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีน (พัวสุ่ยเจี๋ย) และศรีลังกา (อะรุดตา วะรุดตะดา)

กิจกรรมที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในประเพณีเทศกาลสงกรานต์คือ การชำระล้างความสกปรกและขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป ทั้งบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนสาธารณสมบัติ ในบางถิ่น เช่นในภาคเหนือ มีการอาบน้ำสระผมในวันสิ้นปี ด้วยน้ำส้มป่อยซึ่งเชื่อว่าจะช่วยขจัดสิ่งอัปมงคล ในช่วงเวลาสงกรานต์ มีการนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดมนต์ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ คารวะหรือขออโหสิกรรมจากผู้อาวุโสและผู้มีพระคุณด้วยการมอบดอกไม้ เสื้อผ้าและนํ้าหอม รวมถึงแสดงความปรารถนาดีต่อกันด้วยการรดน้ำและอวยพร ตลอดจนงานรื่นเริงสนุกสนาน

ทางภาคเหนือหรือล้านนาของไทยเรียกวันสงกรานต์ว่า ปีใหม่เมือง มีกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน คือ

วันที่ 13 สังขารล่อง ทำความสะอาดบ้าน ชะล้างสิ่งไม่ดี

วันที่ 14 วันเนา (วันเน่า) ห้ามทำในสิ่งไม่ดี ห้ามพูดไม่ดี จัดเตรียมทำขนมไปวัด ขนทราย เตรียมของถวายพระ บ้างเรียกวันนี้ว่า วันดา (วันเตรียมการ)

วันที่ 15 วันพญาวัน ไปทำบุญที่วัดตอนเช้า สรงน้ำพระ และเริ่มรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่

วันที่ 16 วันปากปี ทำบุญส่งเคราะห์ สืบชะตา นิยมรับประทานอาหารที่ทำจากขนุน เชื่อว่าจะช่วยหนุนนำชีวิตให้ดีขึ้น

สงกรานต์ในประเทศไทย ประเพณีปีใหม่ไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ โดยยูเนสโกใน พ.ศ.2566 หลังจากที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2554

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ  (Intangible Cultural Heritage) ของ UNESCO หมายถึง การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน หรือในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งนี้ เป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความรู้สึกมีอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

โดยการขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย ประเพณีปีใหม่ไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปีพุทธศักราช 2566 นั้นถือเป็นรายการลำดับที่ 4 ต่อจาก โขน (2561) นวดไทย (2562) และ โนราของทางภาคใต้ (2564)

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประเพณีสงกรานต์-ปีใหม่เมือง ใน จ.เชียงใหม่ จากคลังภาพจิตรกรรมฝาผนัง: อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

วัดสันป่าเลียง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
วัดชัยมงคล อ.เมือง จ.เชียงใหม่
วัดบุพพาราม อ.เมือง จ.เชียงใหม่
วัดเจดีย์แม่ครัว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
วัดศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
วัดป่าไม้แดง อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
วัดดอนปิน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่