ลอย…ลอยกระทง

193
views

ลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยไม่ได้ปรากฏชื่อ “ลอยกระทง” อย่างชัดเจน แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมีชื่อ “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายอย่างกว้างๆ ว่า การทำ บุญไหว้พระ ส่วนเอกสารและวรรณคดีสมัยกรุง ศรีอยุธยาสมัยแรกๆ ก็มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม แขวนโคม และลดชุดลอยโคมลงน้ำ ในพิธีพราหมณ์ของราชสำนักเท่านั้น และแม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่มีชื่อนี้จนถึงยุค ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีปรากฏชัดเจนในพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3 ซึ่งก็หมายความว่า คำว่า “ลอยกระทง” เพิ่งปรากฏในต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง (ลอยกระทง, 2557) ลอยกระทงจึงเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญของไทย ซึ่งมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น

 ภาคเหนือ ประเพณีลอยกระทงของภาคเหนือ จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ในหลายจังหวัด เช่น ประเพณี “ลอยกระทงสาย” ของจังหวัดตาก เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะแตกต่างจากจังหวัดอื่น เพราะมีการนำกะลามะพร้าวมาทำเป็นกระทงและลอยไปตามลำน้ำปิง อีกทั้งยังมีการแข่งเรือพายโบราณ ประกวดนางนพมาศ ประกวดขบวนแห่กระทงสาย เป็นต้น ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่มี “ประเพณียี่เป็ง” ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนาโดยมีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระธาตุจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ จังหวัดสุโขทัยมีประเพณีที่เรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ภายในงานมีการจัดพิธีบวงสรวงแม่ย่า พิธีสักการะพ่อขุนรามคำแหง อีกทั้งยังมีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรีไทย การประกวดโคมชัก งานข้าวขวัญวันเล่นไฟ เป็นต้น (ลอยกระทง, 2557)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า “ประเพณีไหลเรือไฟ” หรือลอย ล่องหรือปล่อยเฮือไฟ จัดในวันขึ้น 15 ค่ำถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสานที่ปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ในหลายจังหวัดของภาคอีสานมีการจัดงานประเพณีไหลเรือไฟอย่างยิ่งใหญ่ อาทิ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร นครพนมหนองคาย เลย มหาสารคาม และอุบลราชธานี ประเพณีไหลเรือไฟนั้นมีความเชื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที การบูชาพระรัตนตรัย  ขอขมาและระลึกถึงคุณพระแม่คงคา ก่อนออกพรรษาจะมีการทำบุญตักบาตร รำวงฉลองเรือไฟ สวดมนต์รับศีล และฟังเทศน์ พอถึงช่วงค่ำจะมีการจุดไฟเพื่อปล่อยให้เรือลอยไปตามแม่น้ำ (ลอยกระทง, 2557)

ภาคกลาง ประเพณีลอยกระทงของภาคกลาง จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 11 หรือ วันเพ็ญเดือน 12 เป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันทุกปีสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในจังหวัดกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยประชาชนจะนำกระทงไปลอยบริเวณริมน้ำเจ้าพระยา หรือบริเวณคลองต่างๆ ที่ใกล้กับที่พักอาศัย ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าอย่างยิ่งใหญ่ที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และยังมีประเพณีลอยกระทงตามพระประทีป ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อีกทั้งประเพณีลอยกระทงยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา และความอุดมสมบูรณ์บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในการมีการจัดประกวดอาหารไทย การจุดพลุ รวมถึงโคมลอย เป็นต้น (ลอยกระทง, 2557)

ภาคใต้ ประเพณีลอยกระทงของภาคใต้ มีความเชื่อที่ว่าเป็นการลอยแพเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือลอยยามมีโรคภัยไข้เจ็บ โดยการนำหยวกกล้วยมาทำเป็นแพที่บรรจุผม เล็บ ดอกไม้ ธูปเทียน เงิน ของผู้ลอย แล้วนำไปลอยบริเวณแม่น้ำ ในจังหวัดปัตตานีวันลอยกระทงตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือ วันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี มีการจัดงานนำโดยขบวนแห่รอบเมือง อีกทั้งยังมีการประกวดกระทง มีการแสดงดนตรี และมหรสพต่างๆ (ลอยกระทง, 2557)

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประเพณีลอยกระทง จากคลังภาพจิตรกรรมฝาผนัง: อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

วัดพญาวัด น่าน
วัดเจดีย์แม่ครัว เชียงใหม่
วัดชัยมงคล เชียงใหม่
วัดสันป่าเลียง เชียงใหม่
วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย
วัดเสมียนนารี กรุงเทพฯ

อ้างอิง

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2557). ลอยกระทง. ลอยกระทง, 3-18.

https://book.culture.go.th/newbook/day/loy.pdf

บทนิทรรศการโดย: ฐิดาพัชร์ เจริญพัฒนาธรณ์ นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์