ลูซี: ระหว่างเส้นทางจากวานรสู่มนุษย์
ก่อนหน้านั้นเพียงสองปี (พ.ศ.2517) ที่บริเวณแหล่งขุดค้นฮาดาร์ (Hadar) ประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา นักบรรพชีวินวิทยา นำโดย โดนัลด์ โจฮันสัน (Donald Johanson) ได้พบซากฟอสซิลซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เป็นโครงกระดูกกว่าหนึ่งร้อยชิ้น คิดเป็นจำนวนสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ของสิ่งมีชีวิตเพศเมีย ที่มีอายุประมาณ 3.2 ล้านปี จากซากโครงกระดูกที่พบ แสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายชิมแปนซี ซึ่งอยู่ในกลุ่มลิงใหญ่ (Ape) สูงราว 3.5 ฟุต หนักราว 29 กิโลกรัม แต่มีความแตกต่างอย่างสำคัญคือ ยืนตัวตรงและเคลื่อนที่ด้วยขาและเท้าทั้งสองข้าง
โครงกระดูกชุดนี้ ระบุหมายเลขรหัสในการขุดค้นว่า AL 288-1 และต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “ลูซี (Lucy) ซึ่งมาจากชื่อเพลง “Lucy in the Sky with Diamond” ของวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ซึ่งเป็นเพลงที่นิยมเปิดฟังกันในขณะที่ขุดค้นภาคสนาม
ลูซี คือหลักฐานของรอยเชื่อมต่อของวิวัฒนาการจากวานรสู่มนุษย์ ถูกจัดให้อยู่ในสปีชีส์ที่เรียกว่า Australopithecus afarensis ซึ่งเป็น โฮมินิดส์ (hominids ในอันดับของไพรเมตซึ่งมี ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมใกล้ชิดกับมนุษย์ และอยู่ในสายวิวัฒนาการเดียวกับมนุษย์ ในกลุ่มสกุลโฮโม (Homo spp.))
ลูซีเป็นโฮมินิดที่เดินสองขา คล้ายชิมแปนซี มีสมองขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับชิมแปนซี (คือ ประมาณหนึ่งในสามของมนุษย์สมัยใหม่) แต่มีกระดูกเชิงกราน (pelvis) และกระดูกขา (leg bone) ที่มีลักษณะแบบเดียวกับมนุษย์ปัจจุบัน ลูซีจึงเดินตัวตรงด้วยขาทั้งสองข้างแบบเดียวกับพวกเรา
Lucy (Australopithecus)
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Lucy_%28Australopithecus%29
ไพรเมต (Primates) และพวกเรา
ลิง ลิงใหญ่ (Apes) และมนุษย์จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เรียกว่าไพรเมต บรรพบุรุษร่วมของเรากับลิงมีชีวิตราว 25-30 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษร่วมกับอุรังอุตัง เมื่อ 10 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษร่วมกับกอริลลา ราว 8-10 ล้านปีก่อน และมีบรรพบุรุษร่วมกับชิมแปนซีเมื่อราว 6-7 ล้านปีก่อน ก่อนที่จะมาถึงกลุ่มของลูซี (Australopithecus afarensis) และสายสกุล Homo spp. ซึ่งเป็นสายวิวัฒนาการเดียวกันกับมนุษย์ในยุคและสปีชีส์ต่าง ๆ เช่น มนุษย์ชวา (Homo erectus) มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) ที่สืบเนื่องต่อมาและค่อยๆ สูญพันธุ์ไป จนปัจจุบันเหลือเพียงสปีชีส์เดียว คือ มนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens)
แท้จริงแล้ว มนุษย์ไม่ได้มีลำดับวิวัฒนาการเป็นเส้นตรงเพียงเส้นเดียว ในช่วง 2 ล้านปีถึงราว 10,000 ปี โลกเป็นบ้านของมนุษย์หลายสปีชี่ส์ไปพร้อม ๆ กัน และเมื่อแสนปีก่อนมีมนุษย์อย่างน้อย 6 สปีชีส์ที่แตกต่างกันอาศัยอยู่ในโลก แต่ในปัจจุบันหลงเหลืออยู่แต่เพียงสปีชีส์ Homo sapiens ที่เราทุกคนเป็นหนึ่งในสมาชิกของมนุษย์กลุ่มนี้
มนุษย์คืออย่างไร? การนิยามความเป็นมนุษย์
บรรพบุรุษของ “มนุษย์” ในยุคแรกๆ อาจดูไม่แตกต่างไปจากวานรร่วมบรรพบุรุษ แต่คุณสมบัติที่สำคัญก็คือ การยืนตัวตรงและเคลื่อนไหวด้วยขาและเท้าทั้งสองข้าง ส่งผลให้พัฒนาการของแขนและมือที่เป็นอิสระ ฝ่ามือและนิ้วเพิ่มศักยภาพในการสร้างเครื่องมือและทำงานที่ประณีตขึ้น และส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง มนุษย์มีขนาดของสมองขนาดใหญ่เป็นพิเศษเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น
ในขณะที่วานรร่วมบรรพบุรุษ เช่นกลุ่มลิงยังคงเคลื่อนที่ด้วยขาทั้ง 4 ขณะที่ลำตัวขนานไปกับพื้น หรือในกลุ่มวานรใหญ่ไร้หาง เช่น ชิมแปนซีและกอริลลาที่อาศัยหลังมือทั้ง 2 ข้างรับน้ำหนักเพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ (Knuckle walking) โดยลำตัวจะทำมุมเฉียงกับพื้น ส่วนมนุษย์เดินตัวตรงบนขาทั้ง 2
แม้ ลูซี จะยืนตัวตรงแต่ก็มีขนาดของสมองใกล้เคียงกับชิมแปนซี พัฒนาการของเท้ามีมาก่อนพัฒนาการของสมองเป็นระยะเวลายาวนาน การเพิ่มขนาดของสมองที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้นน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับรูปแบบของอาหารหลักซึ่งประกอบด้วยพืชและเนื้อสัตว์ ฟันหน้าซึ่ง ทำหน้าที่กัดและทึ้ง มีการเพิ่มขนาดและมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเทียบกับฟันกราม การเปลี่ยนแปลงขนาดของฟันหน้ายังสัมพันธ์กับการเพิ่มขนาดของสันเหนือกระบอกตา ซึ่งเป็นบริเวณรับแรงกดเวลากัดอาหาร
หลังจากมีพัฒนาการของเท้า มือและสมอง “มนุษย์” ก็สามารถปรับตัวขึ้นมามีอำนาจเหนือกว่า พี่น้องร่วมบรรพบุรุษและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น มนุษย์กลายเป็นศูนย์กลางของโลก และการดำรงอยู่ของมนุษย์ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลกับระบบนิเวศทั้งหมด
ในขณะที่เราเป็นมนุษย์เพียงสปีชีส์เดียวที่หลงเหลืออยู่ในโลก แต่เรายังมีพี่น้องร่วมบรรพบุรุษอีกจำนวนมากที่ยังคงดำรงอยู่กระจัดกระจายหลายพื้นที่ และเราจะเรียนรู้อะไรจากพวกเขาได้อีกบ้างเพื่อที่จะทำความเข้าใจตนเอง
หัวกะโหลกของเรอเน เดส์การ์ต
และไม้เท้าของปรีดี พนมยงค์
เรอเน เดส์การ์ต (พ.ศ.2139-2193) และปรีดี พยมยงค์ (พ.ศ.2443 -2526) ต่างเป็นสมาชิกของมนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens sapiens) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในสกุล “Homo” ที่หลงเหลืออยู่ในโลกเพียงสปีชีส์เดียว เรอเน เดส์คาร์ต เป็นบุตรของขุนนางที่ปรึกษาสมาชิกสภาเมืองแรนนส์ ถือกันว่า เดส์การ์ตเป็นนักศาสนา นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ ชาวฝรั่งเศส ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาปรัชญาสมัยใหม่ของอารยธรรมตะวันตก แนวคิดของเขาส่งอิทธิพลต่อนักคิดรุ่นต่อมาที่เรียกกันว่า “เหตุผลนิยม” (Rationalism ) เดส์การ์ต เป็นผู้กล่าวประโยคสำคัญในทางปรัชญา “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (Cogito, ergo sum – I think therefore I am) ไว้ในผลงาน Discourse on the Method (พ.ศ.2180) ซึ่งเป็นการใคร่ครวญ สงสัยและยืนยันถึง “การมีอยู่/การดำรงอยู่” ของมนุษย์
ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุตรของชาวนาจากอยุธยา ต่อมาได้เข้ารับราชการและได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ร่วมก่อตั้ง “คณะราษฎร” และเป็นผู้ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ.2475 ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นตามหลัก 1 ใน 6 ประการของคณะราษฎร คือ “การให้ การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” และเพื่อปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยที่มองคนเท่าเทียมกัน
หลังจากเรอเน เดส์การ์ต เสียชีวิตที่กรุงสต็อกโฮล์ม ศพถูกเคลื่อนย้ายหลายครั้งและสุดท้ายได้รับการฝังที่กรุงปารีส แต่หัวกะโหลกของเขา ได้รับการเก็บรักษา ครอบครองและส่งต่อมาหลายรุ่น (ดังมีรายนามของ ผู้ครอบครองเขียนไว้ที่หัวกะโหลก) ปัจจุบันกะโหลกของเดส์การ์ต ในฐานะ “ผู้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองความมีอยู่ของมนุษย์” อยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ ( Musée de l’Homme) กรุงปารีส ส่วน ดร.ปรีดี พนมยงค์ หลังจากประสบกับปัญหาทางการเมือง ได้ลี้ภัยออกจากประเทศไทยไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและใช้ชีวิตวัยชราช่วงสุดท้ายที่ประเทศฝรั่งเศส ไม้เท้าของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ สะท้อนความพยายามของมนุษย์ที่จะพยุงให้ร่างกายตั้งฉากกับพื้น เพราะเมื่อครั้งหนึ่งในอดีต มนุษย์ได้ยืนตัวตรงแล้ว ก็ไม่อยากกลับไปเคลื่อนที่ด้วยการคลานสี่ขาอีก Homo sapiens เป็นไพรเมตประเภทเดียวที่ยืนสองขาได้อย่างสมบูรณ์ มือเป็นอิสระ สมองมีพัฒนาการ และสิ่งเหล่านี้คือวิวัฒนาการสำคัญของความเป็น “มนุษย์”