ทะเบียนวัตถุ: มธ. 1283/ 2535
ชื่อวัตถุ: เชี่ยนหมากพื้นเมือง (อีสาน)
อายุ: พุทธศตวรรษที่ 25
ศิลปะ: พื้นถิ่นภาคอีสาน
วัสดุ: ไม้ ทองเหลือง และเหล็ก
ขนาด: สูง 27.8 เซนติเมตร, ขอบกว้าง 25.5 เซนติเมตร, ขอบยาว 26 เซนติเมตร
สภาพ: สมบูรณ์
ลักษณะ: เชี่ยนหมากในอีสาน เรียกได้หลายอย่าง เช่น เซี่ยนหมาก เฆี่ยนหมาก และขันหมาก ตามภาษาเฉพาะแต่ละท้องถิ่น ซึ่งหมายความถึงภาชนะกล่องไม้ที่มีไว้ใส่หมากพลู ลักษณะเชี่ยนหมากทางอีสาน จะมีทั้งเชี่ยนหมากแบบกล่องตัวผู้ เชี่ยนหมากแบบกล่องตัวเมีย และเชี่ยนหมากแบบแอวขันปากพาน ซึ่งเชี่ยนหมากของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นเชี่ยนหมากแบบแอวขันปากพาน รูปทรงของเชี่ยนหมากจะประกอบไปด้วย 4 ส่วน
- ปากหรือส่วนบนสุด แบ่งช่องเป็น 3 ช่อง ช่องใหญ่ 1 ช่อง และช่องเล็ก 2 ช่อง ใช้ใส่เครื่องหมาก เช่น ตะบันหมาก ครกตำหมาก กรรไกรหนีบหมาก เต้าปูน ตลับใส่ยาเส้น
- ลำตัว หรือด้านข้างของเชี่ยนหมากเป็นจุดเด่นในการแสดงลวดลาย ซึ่งลวดลายที่ปรากฏคือ ลายประแจจีน มีลายฟันปลาเป็นขอบ 2 ชั้น
- เอว คือส่วนที่เชื่อมระหว่าง ส่วนลำตัว และ ขา ไม่มีการตกแต่งลวดลายใดๆ
- ขา มีการเจาะเป็นช่อง และสลักลายเป็นรูปกากบาท และเราขาคณิต มีลายฟันปลาเป็นขอบ 2 ชั้น
เชี่ยนหมากชิ้นนี้มีรอยทาสีแดงจากรักน้ำเกลี้ยง แต่ลบเลือนไปเกือบหมด และมีความพิเศษ คือ ใต้เชี่ยนมีการเจาะใส่ล้อที่ทำด้วยไม้กลึง 4 ล้อ สำหรับเลื่อน
หมายเหตุ
เชี่ยนหมากแบบกล่องตัวผู้ จะมีเดือยอยู่ระหว่างขาเชี่ยนทั้ง 2 ด้าน
เชี่ยนหมากแบบกล่องตัวเมีย จะทำขาแหวกขึ้นไปจรดเอวทั้ง 4 ด้าน
เชี่ยนหมากแบบแอวขันปากพาน คือ ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู
อ้างอิง
ขาม จาตุรงคกุล. เชี่ยนหมากอีสาน ความเป็นมา รูปแบบ และคุณค่าทางวัฒนธรรม ใน เอกสารการประชุมวิชาการระดับชาติ “โฮมภูมิ ครั้งที่ 3 Wisdom to the Future : ภูมิปัญญาสู่อนาคต” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15 – 16 มิถุนายน 2560.