มรดกเชิงช่างเมืองเพชร
เพชรบุรีได้รับการกล่าวขานและยอมรับว่า เป็นเมืองช่างฝีมืออันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะมีงานศิลปกรรมโบราณอันทรงคุณค่าที่ได้รับ การดูแลรักษาเป็นหลักฐานให้ได้ประจักษ์ และยังมีการถ่ายทอดภูมิปัญญาสกุลช่างเมืองเพชรจากรุ่นสู่รุ่นสืบมาจนถึงปัจจุบัน
งานช่างเมืองเพชรรุ่งเรืองมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในยุคนี้ ชาวเพชรบุรีเข้าไปมีความสัมพันธ์กับราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทั้งในฐานะพระภิกษุผู้ทรงภูมิ ทรงคุณอันเป็นที่นับถือของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนาง มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้านายในราชสำนัก และการเข้าไปรับราชการ ตัวอย่างบุคคลเหล่านี้ เช่น สมเด็จพระสังฆราชแตงโม วัดพระมหาธาตุในกรุงศรีอยุธยาที่ไปจากวัดใหญ่สุวรรณาราม พระอาจารย์แสง วัดเขาบันไดอิฐ กรมหลวงอภัยนุชิตและกรมหลวงพิพิธมนตรีในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่มีเชื้อสายพราหมณ์บ้านสมอพลือ
ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีการปฏิสังขรณ์อารามในเมืองเพชรบุรีเป็นจำนวนมาก เช่น วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดมหาธาตุ วัดเขาบันไดอิฐ วัดพระพุทธไสยาสน์ การปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้น ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนัก และได้รับพระราชทานช่างหลวงจากในกรุงมาทำงานช่างเป็นเวลานาน ในขณะเดียวกันย่อมต้องมีการเกณฑ์ช่างท้องถิ่นเข้าไปช่วยงานช่างหลวงด้วย
การมีส่วนร่วมในการทำงานย่อมทำให้ภูมิปัญญาชั้นเชิงช่างหลวงในราชสำนักได้รับการถ่ายทอดฝึกหัดสู่ช่างเมืองเพชร เกิดการเรียนรู้ แลก รับ ปรับเปลี่ยน ถ่ายทอดฝีมือสืบกันมารุ่นต่อรุ่น ช่างเมืองเพชรนิยมนำแบบอย่างศิลปกรรมชั้นครูในสมัยกรุงศรีอยุธยามาสืบสานต่อยอด โดยมีทั้งกลุ่มช่างที่ยังคงสืบสานขนบในการสร้างงานตามแบบครูเมื่อครั้งกรุงเก่า และกลุ่มช่างที่พัฒนางานต่อยอดไปเป็นงานช่างแสดงเอกลักษณ์ จนในที่สุดแล้วรูปแบบงานช่างเมืองเพชรจึงมีอัตลักษณ์เป็นรูปแบบงานศิลปกรรมที่มีกลิ่นอายอยุธยา แต่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของเมืองเพชรบุรี เป็น “สกุลช่างเพชรบุรี”
เข้าสู่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ งานช่างเมืองเพชรก็ยังคงอัตลักษณ์ “สกุลช่างเพชรบุรี” ที่สืบทอด มาจากสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี
ดังปรากฏหลักฐานรายชื่อช่างท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่ได้รับการเกณฑ์ให้มาบูรณะวัดมหาธาตุในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่น “นายสิน นายมา บ้านใหม่ นายอิน นายชู นายที บ้านดอนแจง นายนาก บ้านช่องสะแก” และได้สร้างงานในยุคนี้เหลือเป็นหลักฐานเอาไว้เป็นจำนวนมาก เช่น วัดมหาธาตุ วัดอุทัย วัดไชยสุรินทร์ วัดท่าคอย
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ อันเป็นยุคที่เริ่มรับอิทธิพลตะวันตก มีงานช่างแบบตะวันตกเกิดขึ้นในเพชรบุรีเป็นจำนวนมาก เช่น พระนครคีรี ศาลาว่าการรัฐบาล พระรามราชนิเวศน์ บ้านพักข้าราชการ ช่างเมืองเพชรจำนวนมากได้ปรับเชิงช่างตามสมัยนิยม และเกิดเป็นงานที่รับอิทธิพลตะวันตกขึ้นมาอีกแขนงหนึ่งแต่ก็มิได้ทิ้งทักษะดั้งเดิม ช่างชั้นครูในยุคนี้ ได้แก่ ขรัวอินโข่ง พระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย ขุนศรีวังยศ พระอาจารย์เป้า วัดพระทรง นายหวน ตาลวันนา นายเลิศ พ่วงพระเดช นายพิน อินฟ้าแสง นายอยู่ อินมี
เชิงช่างเมืองเพชร
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นยุคที่เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัวเนื่องจากสนธิสัญญาเบาว์ริง กลุ่มผู้สนับสนุนงานช่างเมืองเพชรเปลี่ยนจากราชสำนักและเจ้าเมือง มาเป็นพ่อค้าคหบดี และชาวบ้านผู้มีฐานะในท้องถิ่น อารามต่างๆ ได้รับการบูรณะและสร้างขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก กอปรกับค่านิยมในการสร้างเมรุชั่วคราวสำหรับปลงศพผู้มีคุณได้รับความนิยมมาก งานเมรุเป็นงานรวม ช่างฝีมือหลายแขนง ทั้งช่างโครงสร้าง ช่างไม้ ช่างเขียน ช่างแกะสลัก ช่างจำหลักลายกระดาษ ช่างเครื่องสด เมรุเหล่านี้ สร้างขึ้นมาใช้เพียงครั้งเดียวและเผาไปพร้อมกับศพ งานช่างแขนงต่าง ๆ จึงได้รับการออกแบบ ฝึกหัดและทดลองทำอยู่เสมอ ทำให้เป็นยุครุ่งเรืองของงานช่างเมืองเพชรอีกยุคหนึ่ง
ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์ไว้ว่า “ที่เมืองเพชรบุรียังใช้ธรรมเนียมเดิม อีกอย่างหนึ่งที่เผาเมรุไปด้วยกันกับศพ ด้วยเหตุนั้นที่เมืองเพชรบุรีจึงยังมีช่างมาก เพราะมีการทำเมรุเครื่องกระดาษอยู่เสมอ”
งานช่างในยุคนี้มีวัดเป็นสำนักฝึกหัดช่าง สำนักที่มีชื่อเสียงได้แก่ วัดยาง วัดพลับพลาชัย วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดพระทรง วัดลาด วัดเกาะ
ความรุ่งเรืองของงานช่างในยุคนี้เป็นรากฐานให้เกิดการสืบทอดงาน “สกุลช่างเมืองเพชร” แขนงต่างๆ สืบมาในปัจจุบัน ได้แก่ ช่างเขียน ช่างปูนปั้น ช่างไม้ ช่างแกะสลัก ช่างตอกกระดาษ ช่างลงรัก ปิดทองประดับกระจก ช่างทอง ช่างฝังลายไม้มูก และได้รับการประกาศยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เพชรบุรีเป็น “เมืองช่างแห่งสยาม”
ในบรรดางานช่างทั้งหลาย นับถือกันว่างานของช่างเขียนสำคัญที่สุด เพราะงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานปูนปั้น งานแกะสลัก งานเขียนลายรดน้ำ งานตอกกระดาษ งานฝังไม้มูก ล้วนต้องอาศัยแบบลายจากช่างเขียนทั้งสิ้น ช่างต่างๆ จึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “ช่างกลึงต้องพึ่งช่างชัก ช่างสลักต้องพึ่งช่างเขียน” การฝึกหัดงานช่างต่าง ๆ จึงต้องมีพื้นฐานด้านช่างเขียนมาก่อน ด้วยลักษณะเช่นนี้ ช่างบางคนจึงสามารถทำงานได้หลายแขนง
ตัวอย่างผลงานช่างเขียนเมืองเพชร ได้แก่ ลายบัวก้นถ้วยฝีมือพระครูญานวิจัย (ยิด สุวณฺโณ) วัดเกาะ ลายกนกฝีมือพระอาจารย์เป้า ปญฺโญ วัดพระทรง สมุดภาพตำราลายไทยของ ปญฺญาพโลภิกขุ (แนบ สุวรรณปัติย์) ซึ่งได้คัดลอกลายของครูช่างโบราณมารวมรวมไว้ในสมุดข่อย ตำราลายเหล่านี้ เป็นต้นแบบที่ช่างเขียนเสาะหามาเป็นแบบเป็นครู ในการสร้างงาน ดังปรากฏการใช้ทักษะงานเขียนในฉากมหาชาติฝีมือครูเลิศ พ่วงพระเดช และสมุดข่อยตำราดาว จากวัดขุนตรา
ในส่วนของงานช่างไม้โครงสร้างและการฉลุสลักลายมีตัวอย่าง เช่น ธรรมาสน์ทรงฝรั่งวัดท่าศาลาราม ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ และช่องลมไม้ฉลุสลักลายจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นงานช่างจากสำนัก วัดพลับพลาชัย นอกจากนี้กระดาษทองตอกลายประดับเครื่องเมรุ จากสำนักวัดลาด และกล่องใบลานฝังลายไม้มูก ต่างก็ล้วนเป็นงานช่างที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชร เช่นกัน
ประวัติช่าง: อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช
อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่จังหวัดเพชรบุรี เริ่มเรียนหนังสือไทยเมื่ออายุได้ ๕ ปี ที่วัดคงคาราม ต่อมาเมื่ออายุ ๙ ปี ได้เข้าไปศึกษาวิชาการช่างที่วัดพลับพลาชัยกับพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ เพื่อศึกษาวิชาเขียนภาพ ขณะนั้นพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์อายุได้ ๗๒ ปีแล้ว
เมื่ออาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เข้าไปศึกษาวิชาช่างกับพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ที่วัดพลับพลาชัย ได้เพียง ๓ ปี ก็มีผลงานเป็นที่ปรากฏ คือได้ช่วยพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์เขียนจั่วเมรุพระพิศาลสมณกิจ(สิน) เจ้าคณะเมืองเพชรบุรี วัดคงคาราม ผลงานในครั้งนั้นได้รับคำชมเชยจากภิกษุและฆราวาส ท่านจึงได้มีกำลังใจในการฝึกฝนงานช่างสืบต่อมา
อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ ได้อยู่ศึกษาวิชาช่างและปฏิบัติท่านถึง ๑๔ ปี จนพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์มรณภาพเมื่ออายุได้ ๘๗ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๑
อาจารย์เลิศมีความสามารถในการเขียนภาพและแกะสลัก แต่ท่านชอบทำงานเขียนภาพ ส่วนใหญ่เป็นภาพมหาชาติหรือพุทธประวัติ ผลงานส่วนใหญ่ที่เป็นภาพฉากในกรอบกระจกผู้ว่าจ้างนำไปถวายวัด บางส่วนเป็นจิตรกรรมฝาผนังตามวัด ในสมัยหลังที่นิยมภาพเขียนประดับอาคารสถานที่ ได้มีผู้มาว่าจ้างท่านให้เขียนภาพเพื่อใช้ตกแต่งอาคาร และบางภาพได้นำไปยังต่างประเทศ ในช่วงของการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑๕๐ ปี ท่านได้เข้ามาเขียนภาพผนังที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายใต้การควบคุมของพระเทวาภินิมมิต
อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เป็นช่างไทยโบราณที่มีพื้นฐานมาจากช่างเขียน และพัฒนาทักษะต่อยอดไปยังงานช่างไทยแขนงอื่นๆ เช่น ช่างเขียนลายรดน้ำ ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างประดับกระจก ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ผลงานที่ปรากฏและมีการรวบรวมไว้ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุ ๑๒ ปีช่วยพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์เขียนจั่วเมรุพระพิศาลสมณกิจ(สิน) เจ้าคณะเมืองเพชรบุรี วัดคงคาราม
พ.ศ. ๒๔๔๙ อายุ ๑๓ ปี เขียนตู้พระธรรมที่วัดใหญ่สุวรรณารามจังหวัดเพชรบุรี
พ.ศ. ๒๔๖๒ แกะสลักหน้าจั่ววัดทองนพคุณเพชรบุรี
พ.ศ. ๒๔๖๔ ออกแบบอุโบสถและศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย
พ.ศ. ๒๔๖๕ แกะสลักบานประตู และหน้าต่างอุโบสถ และสร้างธรรมาสน์ยอดนภศูลวัดพลับพลาชัย โดยหลวงมณีนฤเบศร์เป็นผู้สร้างค่าจ้างประมาณ ๘-๑๐ ชั่ง
พ.ศ. ๒๔๖๕ เขียนภาพ ๑๒ ภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ
พ.ศ. ๒๔๗๒ ทำการซ่อมแซมภาพที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เขียนอยู่ ๒ ปี รวมทั้งซ่อมแซมและเขียนใหม่ ๑๑ ห้อง
พ.ศ. ๒๔๗๕ เขียนเรื่องเวสสันดรชาดก ๑๕ ภาพที่วัดพลับพลาชัยเพชรบุรี
พ.ศ. ๒๔๗๘ แกะสลักบานหน้าต่างและหน้าจั่วศาลาวัดเขมาภิรตาราม
พ.ศ. ๒๔๘๑ ออกแบบอุโบสถวัดหนองไม้เหลืองและแกะลายจั่ว สาหร่ายรวงผึ้งมุขโถงทั้ง ๒ ด้าน
พ.ศ. ๒๔๘๗ เขียนภาพที่อุโบสถวัดเกาะหลักจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานอื่นๆ อีกที่ไม่ทราบปีที่ทำงานแน่นอน ได้แก่
ฉากพุทธประวัติที่วัดใหญ่สุวรรณารามจำนวน ๑๐ ภาพ ปัจจุบันสูญหายไป
ฉากพุทธประวัติที่วัดจันทราวาส ปัจจุบันสูญหายไป
ฉากพุทธประวัติที่วัดแก่นเหล็ก ๑๓ ภาพ
ฐานพระพุทธบาทในถ้ำวัดเขาบันไดอิฐ
ฉากมหาชาติที่วัดห้วยเสือจำนวน ๑๓ ภาพ
ธรรมาสน์ยอดนภศูลวัดหนองจอก อำเภอท่ายาง
แกะลายจั่วอุโบสถวัดบางตะบูน ๒ ตัว
ปั้นพระประธานพระอัครสาวกวัดถ้ำแกลบ
เขียนภาพสมุดพระมาลัย วัดวังไคร้
เขียนซ่อมภาพขรัวอินโข่งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนพระพุทธเจ้าทรงรับข้าวมธุปายาสและพระพุทธเจ้าลอยถาด
ท่านรับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนช่างศิลป์ กรมศิลปากร ตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี จึงได้ลาออกจากโรงเรียนเนื่องจากโรคชรา และกลับมาอยู่ที่เพชรบุรี เมื่อท่านลาออกจากราชการกลับมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ท่านได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งเขียนตำราสถาปัตยกรรมไทย เพื่อเผยแพร่ศิลปะไทย
อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ อายุ ๗๖ ปี
๑.ฉากมหาชาติกัณฑ์ทศพร
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_001.jpg)
ทศพร แปลว่า พร ๑๐ ประการ กัณฑ์นี้กล่าวถึงเทพธิดาชื่อว่าผุสดีซึ่งเป็นมเหสีของพระอินทร์ ขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ ในวันที่พระนางจะจุติจากสวรรค์ดาวดึงส์มาเกิดยังโลกมนุษย์
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพพระนางผุสดีประนมหัตถ์รับพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์แวดล้อมด้วยฉากอุทยานสวรรค์ มีต้นไม้ใหญ่น้อย และสัตว์ประกอบในภาพได้แก่ ไก่ เนื้อทราย และกระต่าย
พร ๑๐ ประการ ที่พระนางผุสดีทูลขอต่อพระอินทร์ มีดังนี้
๑. ขอให้พระนางได้ประทับในปราสาทพระเจ้าสีวีราช
๒. ขอให้มีดวงเนตรคมงาม และดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
๓. ขอให้ขนคิ้วเรียวงามขำบริสุทธิ์ดุจสร้อยคอนกยูง
๔. ขอให้มีนามว่า ผุสดี
๕. ขอให้มีพระโอรสที่ทรงเกียรติยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย และมีพระราชศรัทธาในการกุศล
๖. ขออย่าให้พระครรภ์ปรากฏนูนดังสตรีสามัญ
๗. ขออย่าให้พระถันทั้งคู่หย่อนยาน
๘. ขอให้พระเกศาดำขลับตลอดไป
๙. ขอให้มีพระฉวีวรรณผุดผ่อง
๑๐. ขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษประหารให้พ้นโทษได้ ตามพระวินิจฉัยอันรอบคอบของพระนาง
การตีความ “บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์” เป็นภาพจิตรกรรม
พระอินทร์ประทับบนแท่นศิลาอันมีชื่อว่า “บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์” พระเลิศเขียนภาพแท่นศิลานี้เป็นลายแบบหินอ่อน ซึ่งเป็นหินที่นิยมนำเข้าจากยุโรปมาตกแต่งสถาปัตยกรรมตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ส่วนพื้นท่านเลือกใช้สีเหลืองประดับลายดอกไม้ร่วง การเลือกใช้สีเหลืองนี้ตรงกับคำอธิบายความหมายของ “บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์” คือ แท่นหินมีสีดุจผ้ากัมพลเหลือง เป็นที่สถิตของพระอินทร์
๒.ฉากมหาชาติกัณฑ์หิมพานต์
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_002.jpg)
หิมพานต์ คือ ป่าหิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วยการบริจาคช้างสำคัญของพระเวสสันดร อันเป็นเหตุให้พระองค์ต้องออกไปอยู่ป่าหิมพานต์
พระนางผุสดีจุติจากสวรรค์มาประสูติเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามัทราช เมื่อเจริญวัย ๑๖ พรรษาได้รับการอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสญชัย กษัตริย์แห่งพระนครสีพี ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสพระนามว่า “พระเวสสันดร”ในวันเดียวกับที่ประสูติพระโอรส นางช้างฉัททันต์ได้ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์ ได้ชื่อว่า “ปัจจัยนาค” เป็นช้างมีคุณบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ต่อมาพระเจ้าสญชัยได้อภิเษกสมรสให้กับพระเวสสันดรกับพระนางมัทรี มีพระโอรสธิดา คือ พระชาลี พระกัณหา พระเวสสันดรทรงมีพระทัยไปในทางบริจาคทาน คราวหนึ่งพระองค์ประทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พราหมณ์ ๘ คนจากเมืองกลิงคราษฎร์ที่ประสบปัญหาฝนแล้ง เป็นเหตุให้ชาวนครสีพีไม่พอใจ ทูลขอให้พระเจ้าสญชัยเนรเทศพระเวสสันดรไปสู่ป่าหิมพานต์
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพพระเวสสันดรประทับอยู่บนช้างปัจจัยนาค ทรงหลั่งทักษิโณทกประทานช้างปัจจัยนาคแก่พราหมณ์ทั้ง ๘ จากเมืองกลิงคราษฎร์ ประกอบฉากด้วยภาพขุนนางตามเสด็จพระเวสสันดร และศาลาโรงทานข้างกำแพงพระราชวังนครสีพี
สีผิวของพราหมณ์กลิงคราษฎร์
กลิงคราษฎร์เป็นชื่อแคว้นโบราณในอินเดียใต้ตั้งอยู่ที่แนวฝั่งทะเลระหว่างแม่น้ำมหานทีกับแม่น้ำโคทาวรี โดยการรับรู้ของคนสมัยโบราณ เข้าใจว่าพวกแขกกลิงค์เป็นชาวอินเดียใต้พวกหนึ่งที่มีผิวดํา พระเลิศจึงได้วาดภาพพราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ให้ส่วนใหญ่มีผิวคล้ำต่างจากพระเวสสันดรและขุนนางชาวนครสีพี
เครื่องแต่งกายขุนนางตามเสด็จ
ยุครัชกาลที่ ๖ ที่พระเลิศเขียนภาพชุดนี้ขึ้นมาเป็นยุคที่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายข้าราชการมาเป็นการนุ่งผ้าม่วงใส่เสื้อราชประแตนกันแล้ว แต่พระเลิศยังเขียนภาพขุนนางตามเสด็จพระเวสสันดรตามแบบโบราณอยู่ คือสวมเสื้อผ้าอัตลัต และนุ่งโจงกระเบน ส่วนควาญช้างพระที่นั่งใส่เสื้อครุยสวมลอมพอกอย่างพนักงานเข้ากระบวนแห่
๓.ฉากมหาชาติกัณฑ์ทานกัณฑ์
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_003.jpg)
เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พราหมณ์ชาวกลิงคราษฎร์ ชาวนครสีพีก็พากันโกรธ กล่าวโทษพระเวสสันดรต่อพระเจ้ากรุงสญชัยให้ขับพระเวสสันดรออกจากพระนคร พระนางผุสดีไปเฝ้าทูลขอโทษต่อพระเจ้ากรุงสญชัยก็ไม่ทรงโปรดพระราชทาน ก่อนออกจากพระนครพระเวสสันดรได้ทรงบำเพ็ญสัตตสดกมหาทาน คือการทำทานครั้งใหญ่โดยให้สิ่งของ ๗ อย่าง อย่างละ ๗๐๐ ได้แก่ ช้าง ม้า รถ สตรี แม่โคนม ทาสชาย ทาสหญิง เมื่อพระราชทานแล้วพระเวสสันดรเสด็จทรงราชรถออกจากพระนครพร้อมด้วยพระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ระหว่างทางมีพราหมณ์มาทูลขอม้าทรงและราชรถ ก็ทรงบริจาคให้เป็นทาน
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพพระเวสสันดรทรงราชรถเทียมด้วยม้าเสด็จออกจากนครสีพีพร้อมด้วยพระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ระหว่างทางได้ทรงบริจาคทานแก่ราษฎร
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๒๐๙ พระคาถา พ่อเสริมแม่เลื่อนพ่อรัดศร้างไว้สำหรับ วัดขุนตรา ท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการพระเลิศผู้เขียน สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๒๐๙ พระคาถา พ่อเสริม แม่เลื่อน พ่อรัด สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา ท่านอาจารย์เซ่งผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา
โปรยทานผลมะนาว
พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ร่วมกันบริจาคทานแก่ราษฎร พระเลิศแสดงภาพการบริจาคทานในรูปแบบการทรงโปรยผลมะนาว ในพระหัตถ์ของพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ล้วนมีผลมะนาวที่หยิบขึ้นมาทรงโปรยบริจาคทาน และด้านข้างราชรถมีราษฎรเข้าไปรับทานที่อยู่ในผลมะนาว บ้างก็ชูมือขึ้นรับ บ้างก็ยกหมวก งอบ กระจาด ขึ้นรับด้วยหวังว่าลูกมะนาวจะได้ตกลงในภาชนะ ด้านขวาของภาพมีชาวจีนไว้ผมเปียอยู่กับชาวนครสีพีเข้ามารับทานผลมะนาวด้วย
การให้ทานด้วยผลมะนาวเป็นธรรมเนียมโบราณ ปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย (ข้อมูลจากจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะ) ตามคติไตรภูมิเชื่อว่ามีต้นไม้วิเศษชื่อว่าต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้นไม้ในอุตรกุรุทวีป สวรรค์ และยุคสมัยของพระศรีอาริยเมตไตรย ต้นกัลปพฤกษ์ออกผลแก้วแหวนเงินทอง ข้าวของเสื้อผ้า ข้าวปลาอาหาร ใครต้องการก็ไปสอยเอาจากต้นนี้ คนโบราณท่านให้ทานโดยการสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองขึ้นมา นำเงินยัดใส่ไปในผลมะนาว แล้วเอาไปแขวนไว้บนต้นกัลปพฤกษ์จำลองนี้ ถึงเวลาให้ทานก็จะมีคนขึ้นไปปลิดผลมะนาวทิ้งลงมา ธรรมเนียมการให้ทานด้วยผลมะนาวที่มีเงินยัดอยู่ข้างในจึงสืบมาแต่คติต้นกัลปพฤกษ์ ภายหลังแม้จะไม่ได้สร้างต้นกัลปพฤกษ์แล้วแต่ก็ยังมีธรรมเนียมการให้ทานด้วยการโปรยผลมะนาวยัดเงินอยู่ ดังที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมนี้
๔.ฉากมหาชาติกัณฑ์วนประเวสน์
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_004.jpg)
เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานม้าและราชรถแล้ว พระองค์จึงอุ้มพระชาลี พระนางมัทรีอุ้มพระกัณหาเสด็จดำเนินโดยสถลมรรคถึงเมืองเจตราช พวกเจ้าเจตราชทราบข่าวพระเวสสันดร พากันเสด็จมาเฝ้าทูลถวายพระนครให้ครอบครอง พระองค์มิได้ทรงรับ เจ้าเจตราชส่งเสด็จพระเวสสันดรไปเขาวงกต แล้วตั้งนายพรานเจตบุตรให้เป็นนายด่านรักษาประตูป่าคอยระวังไม่ให้ผู้ใดตามไปรบกวนขอทานต่อพระเวสสันดร พระเวสสันดรเสด็จต่อไปถึงอาศรมในบริเวณเขาวงกตซึ่งพระอินทร์ให้วิศวกรรมเนรมิตไว้ แล้วทรงเพศเป็นดาบส พระนางมัทรีก็ทรงเพศเป็นดาบสินี บำเพ็ญพรตอยู่ในพระอาศรมนั้น
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพพระเวสสันดรอุ้มพระชาลี พระนางมัทรีอุ้มพระกัณหาเสด็จดำเนินโดยพระบาทออกจากเมืองเจตราชไปยังเขาวงกต
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์วัณประเวส ๕๗ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการพระเลิศผู้เขียนพ่อเหร่แม่เล็ก นางอุ่มศร้างไว้สำหรับ วัดขุนตราสำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์วนประเวสน์ ๕๗ พระคาถา ท่านอาจารย์เซ่งผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน พ่อเหร่ แม่เล็ก นางอุ่ม สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา
สี่กษัตริย์เดินดง
เหตุการณ์ในเวสสันดรชาดก กัณฑ์วนประเวสน์ ตอนที่พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี พระกัณหาเสด็จดำเนินโดยพระบาทต่อจากเมืองเจตราชไปยังเขาวงกต เป็นเรื่องราวที่รับรู้แพร่หลายในหมู่ญาติโยมที่ไปฟังเทศน์มหาชาติ พระนักเทศน์นักแหล่ได้แต่งเนื้อแหล่นอกขึ้นมาสำหรับประกอบการเทศน์แหล่เวสสันดรชาดก มีชื่อว่า “แหล่สี่กษัตริย์เดินดง” เนื้อความพรรณนาการเดินเข้าป่าดงของกษัตริย์ทั้งสี่ และระหว่างทางได้ทอดพระเนตรนก ไม้ สิงสาราสัตว์ต่างๆ พระเลิศเขียนฉากมหาชาติกัณฑ์นี้ออกมาได้สอดคล้องกับเนื้อความในคัมภีร์และแหล่นอกสี่กษัตริย์เดินดง โดยเขียนฉากป่าดงมีเมืองเจตราชอยู่ไกลลิบในรูปแบบอาคารยุโรปทางด้านหลัง เขียนต้นไม้ ใบหญ้า สัตว์ป่า เช่น แพะ กระต่าย นกต่าง ๆ ประกอบภาพ
๕.ฉากมหาชาติกัณฑ์ชูชก
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_005.jpg)
ชูชกเป็นพราหมณ์บ้านทุนนวิฐขอทานหาเลี้ยงชีพ ขอเงินมาได้มากจึงนำไปฝากพ่อแม่ของนางอมิตตดาไว้ แต่พ่อแม่อมิตตดาใช้เงินที่ฝากไว้จนหมด เมื่อชูชกมาทวงเงินจึงต้องยกนางอมิตตดาให้ไปเป็นภรรยาชูชก ชูชกได้นางอมิตตดาพาไปอยู่บ้านทุนวิฐ พราหมณ์หนุ่ม ๆ เห็นนางปฏิบัติผัวดีกว่าเมียของตัว ก็เดือดใจพาลพาโลตีเมียของตน พวกนางพราหมณีเจ็บใจ พอเห็นนางอมิตตดามาสู่ท่านํ้าเพื่อจะตักน้ำไปใช้ ก็รุมกันตีด่าว่าขานจนนางอมิตตดาต้องกลับบ้าน ชูชกเห็นนางเดินร้องไห้กลับมาจึงถามเหตุ นางก็แจ้งคดีให้ฟังแล้วว่า แต่นี้ไปงานการจะไม่ทำ จงไปขอพระชาลี พระกัณหามาให้ใช้ ชูชกรับอาสาไปขอชาลีกัณหา ออกเดินทางเที่ยวถามไปทุกหนแห่ง แล้วก็เข้าสู่ดงแดนเจตบุตร
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพเหล่านางพราหมณีชาวบ้านทุนนวิฐรุมกันตีด่าว่าขานนางอมิตตดา ตอนที่นางลงมาตักน้ำที่ท่าน้ำ
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์ชูชก ๗๙ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งเป็นผู้จัดการพระเลิศผู้เขียนแม่เย็นพ่อชุ่มพ่อหย่อยศร้าง
ไว้สำหรับวัดขุนตราสำเร็จเมื่อเดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษาขอให้ถึงพระนิพพาน
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์ชูชก ๗๙ พระคาถา ท่านอาจารย์เซ่งเป็นผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน แม่เย็น พ่อชุ่ม พ่อหย่อย สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อเดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำ พระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ขอให้ถึงพระนิพพาน
หมู่นางพราหมณีรุมด่านางอมิตตดา
พระเลิศเขียนภาพตอนนี้สื่ออารมณ์ถึงความวุ่นวายของเหตุการณ์ที่เหล่านางพราหมณีชาวบ้านทุนนวิฐรุมกันตีด่าว่าขานนางอมิตตดาที่นางลงมาตักน้ำที่ท่าน้ำได้อย่างดี นางพราหมณี ๙ คน รุมนางอมิตตดาอยู่คนเดียว บางคนเข้าแย่งถอดผ้าผ่อนของนางอมิตตดา บ้างก็กันหน้ากันหลังไม่ให้นางอมิตตดาหนีไปได้ นางพราหมณีบางคนแสดงท่าทางเป็นอวัจนภาษาสื่อถึงคำด่าทอ เช่น ให้มะเหงก ชูสาก ยกหัวเข่า ชี้หน้า แลบลิ้นปลิ้นตา ถกผ้าใส่ ฉากหลังเป็นหมู่บ้านทุนนวิฐ แสดงภาพเรือนไทยฝาสำหรวดตามความนิยมของเรือนไทยเมืองเพชรบุรี มีเป็ดไก่หากินอยู่ตามพื้นดิน ริมฝั่งน้ำมีสะพานทอดลงไปเพื่อตักน้ำ ในน้ำเขียนภาพกุ้ง ปลา และมีปลาเสือพ่นน้ำรวมอยู่ด้วย
๖.ฉากมหาชาติกัณฑ์จุลพน
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_006.jpg)
ชูชกเดินทางไปเขาวงกตเข้าเขตด่านที่พรานเจตบุตรดูแลอยู่ สุนัขของพรานเจตบุตรเห็นชูชกก็รุมไล่กัด ชูชกหนีปีนขึ้นต้นไม้ พรานเจตบุตรเห็นก็ขู่ว่าจะยิงด้วยหน้าไม้ ชูชกดีแก้ตัวว่าเป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัยจะไปเชิญพระเวสสันดรกลับกรุงสีพี พรานเจตบุตรเชื่อผูกสุนัขเข้ากับโคนไม้ ต้อนรับชูชก ถามว่าอะไรอยู่ในย่าม ชูชกชี้ไปที่กลักพริกกลักงาว่าเป็นกลักพระราชสาร เจตบุตรเชิญชูชกขึ้นไปบนเรือน เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี แล้วก็พาออกไปชี้ทางที่จะไปสู่เขาวงกต และว่าจะไปพบกับพระอัจจุตฤๅษี
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพสุนัขของพรานเจตบุตรรุมไล่กัด ชูชกหนีปีนขึ้นต้นไม้ พรานเจตบุตรกำลังทำท่าขู่จะยิงชูชกด้วยหน้าไม้ ไกลออกไปเขียนภาพเหตุการณ์ต่อเนื่องที่พรานเจตบุตรชี้ทางไปเขาวงกตแก่ชูชก
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์จุลพล ๓๕ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการพระเลิศผู้เขียนพ่อโต้แม่อ่ำ
นายผวนศร้างไว้สำหรับ วัดขุนตราสำเร็จพระเมือพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์จุลพน ๓๕ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน พ่อโต้ แม่อ่ำ นายผวน สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จพระเมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา
เจตบุตรเป็นพรานป่าเลี้ยงสุนัขไว้ช่วยไล่เนื้อตามวิสัยพรานป่า พระเลิศเลือกเขียนเหตุการณ์ตอนสุนัขของพรานเจตบุตรรุมไล่กัด ชูชกหนีปีนขึ้นต้นไม้ โดยเขียนภาพสุนัขให้มีสีดำ สีแดง(น้ำตาลแดง) และลายด่าง พรานเจตบุตรยกหน้าไม้จ่อยิงชูชก และชูชกมีสีหน้าตกใจกลัว
พระเลิศใช้เทคนิคการผลักระยะใกล้ไกลในภาพโดยการใช้แนวถนน ต้นไม้ แสดงระยะไกลออกไป และมีการเขียนภาพชูชกกับพรานเจตบุตรเป็นภาพซ้อนเล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องในระยะไกล
๗.ฉากมหาชาติกัณฑ์มหาพน
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_007.jpg)
ชูชกเดินทางมาถึงอาศรมพระอัจจุตฤๅษี จึงเข้าไปถามไถ่ทุกข์สุข แล้วหลอกพระฤาษีว่าตนเป็นสหายของพระเวสสันดร จะเดินทางไปสนทนาธรรมกับพระเวสสันดร พระอัจจุตฤๅษีแล้วให้ชูชกพักอยู่หนึ่งคืน รุ่งขึ้นจึงพาไปชี้ทางให้ชูชกไปสู่เขาวงกต พระอัจจุตฤๅษีพรรณนาพรรณสัตว์ และพรรณไม้นานาชนิด ใกล้อาศรมพระเวสสันดร
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพชูชกเข้าไปกราบนมัสการพระอัจจุตฤๅษี ไกลออกไปเขียนภาพเหตุการณ์ต่อเนื่องที่พระอัจจุตฤๅษีชี้ทางไปเขาวงกตแก่ชูชก
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์มหาพล ๘๐ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการพระเลิศผู้เขียนพ่อแสง
แม่แมะนางสายนางเสริมศร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จพระเมือพุทธศักราช ๒๔๖๒ พรรษา
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์มหาพน ๘๐ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน พ่อแสง แม่แมะ นางสาย นางเสริม สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จพระเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๒ พรรษา
ลิงต้มน้ำร้อน
พระเลิศเขียนภาพอาศรมพระอัจจุตฤๅษีเป็นอาคารเครื่องก่อทรงไทย ยื่นออกมาจากโถงถ้ำข้างโขดเขา มีกำแพงแก้วก่อรอบอาศรม ระหว่างที่ชูชกสนทนากับพระอัจจุตฤๅษี มีลิงสองตัวพัดเตาต้มน้ำร้อนอยู่ข้างอาศรมพระอัจจุตฤๅษี การเขียนภาพลิงต้มน้ำร้อนเช่นนี้ ยังปรากฏในจิตรกรรมของอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เรื่องเวสสันดร กัณฑ์มหาพน ในที่อื่นด้วย เช่น จิตรกรรมเรื่องเดียวกันของท่านบนฝาผนังพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี
๘.ฉากมหาชาติกัณฑ์กุมาร
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_008.jpg)
ฉากมหาชาติกัณฑ์กุมาร วัดขุนตรา เนื้อหา ฉากมหาชาติ กัณฑ์กุมาร วัดขุนตรา พระอาจารย์เซ่ง เป็นผู้รวบรวมศรัทธา และจ้างพระเลิศ (อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช) เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ เขียนภาพพระเวสสันดรลงจากคันธกุฎี ลงไปตามตัวพระชาลี และพระกัณหา ที่หนีลงไปซ่อนตัวอยู่ในสระโบกขรณี พื้นหลังเขียนภาพทิวทัศน์และสัตว์ป่าต่าง ๆ
เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีธรรมเนียมนิยมในการฟังเทศน์มหาชาติ วัดต่างๆ มีการจัดเทศน์มหาชาติประจำทุกปี นอกจากจะมีการเทศน์มหาชาติในวัดแล้ว ตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ยังนิยมจัดเทศน์มหาชาติ หรือที่เรียกว่าเทศน์คาถาพัน และในระดับครอบครัวก็ยังมีธรรมเนียมการจัดเทศน์คาถาพันในบ้าน ในฐานะบุคคล บุญของการเป็นเจ้าภาพจัดเทศน์คาถาพันเป็นหนึ่งในสามบุญที่ถือว่าได้กุศลแรง ได้แก่ บุญบวชลูก บุญทอดกฐิน และบุญเทศน์คาถาพัน
เมื่อมีค่านิยมในการฟังเทศน์มหาชาติ จึงมีพระสงฆ์หัดเทศน์มหาชาติกันมาก โดยมีอาจารย์ผู้ฝึกหัดทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ตลอดจนมีการแต่งและคัดลอกมหาชาติสำนวนต่างๆออกไปอย่างแพร่หลาย
พบหลักฐานค่านิยมการจัดเทศน์มหาชาติในสมัยรัชกาลที่ ๒ ดังปรากฏในแผ่นไม้จารึกการสร้างอุโบสถวัดศาลาเขื่อน อ.บ้านลาด ว่า
“พุทธศักราชไทย ๒๓๕๔ พระวสา ปีวอก จัตวาศก ตามากบานขนอน ตามีศาลาเขียน นายมีบานลหานนอย นายเพชรบานปากเหมือง ชวนกันใหยมีมหาชาดวัดศาลาเขียนสามปีได้เงิน ๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ สลึง ๑ เฟื้อง สางอุโบสถสิ่นเงินทองกันนั้น แล้วยังใมยภอทายกผู้มีชืเปนอันมากชวยเปนเงิน ๒ ชั่ง ๑๓ ตำลึง แล้วเสดเปนเงินเจดชังสามส่ลิงเฟื่อง”
ส่วนในวรรณกรรมเรื่องเณรเภา ซึ่งเป็นกลอนสวด พบที่วัดโคก ระบุนามพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงในสมัยที่แต่งวรรณกรรม ได้แก่ ขรัวสาเทศน์กัณฑ์ชูชก ขรัวมาวัดโคกเทศน์กัณฑ์มหาราช
ค่านิยมในการจัดให้มีเทศน์มหาชาติ มีอิทธิพลต่อการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชาติ หรือเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ไว้ในแหล่งต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมบนแผ่นไม้คอสอง จิตรกรรมบนผืนผ้าพระบฏ จิตรกรรมฉากมหาชาติที่เขียนบนแผ่นไม้หรือแผ่นกระดาษใส่กรอบแขวน ทั้งภาพพระบฏและฉากมหาชาติล้วนใช้แขวนประกอบพิธีเทศน์มหาชาติประจำปีทั้งสิ้น
เพชรบุรีมีฉากมหาชาติเก็บรักษาไว้ตามวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และมีช่างหลายท่านได้ฝากฝีมือไว้ในฉากมหาชาติเหล่านี้ เช่น ฉากมหาชาติ วัดยาง ฝีมือครูหวน ตาลวันนา ฉากมหาชาติ วัดพระทรง ฝีมือพระอาจารย์เป้า ญาณปญฺโญ ฉากมหาชาติ วัดพลับพลาชัย วัดแก่นเหล็ก วัดห้วยเสือ วัดขุนตรา ฝีมือครูเลิศ พ่วงพระเดช
ฉากมหาชาติวัดขุนตราฉากนี้เขียนเป็นภาพเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร มีพระเวสสันดร กัณหา ชาลี อยู่ในภาพ ด้านหลังเป็นภาพทิวทัศน์ อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช วาดภาพนี้ขณะที่บวชเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒
๙.ฉากมหาชาติกัณฑ์มัทรี
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_009.jpg)
พระนางมัทรีออกไปหาผลาผลแล้วจึงรีบเสด็จกลับอาศรม แต่มาพบกับพญาราชสีห์ พญาเสือโคร่ง พญาเสือเหลือง ซึ่งเป็นเทพยดาจำแลงมานอนขวางทาง เพื่อถ่วงเวลาพระนางไว้ พระนางตกพระทัยกลัวปลงหาบผลไม้ลงแล้วกราบขอทาง เทพยดาสังเวชสงสารก็พากันหลีกทางให้หนทาง
พระนางมัทรีเสด็จถึงอาศรมไม่เห็นพระโอรสพระพระธิดา จึงทูลถามพระเวสสันดร ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง แต่กลับตรัสพ้อพระนางด้วยเรื่องหึงหวงเพื่อให้พระนางลืมเรื่องพระโอรส พระธิดา พระนางเที่ยวแสวงหาพระพระโอรส พระธิดา ตามป่าละเมาะเขาเขินจนทั่วบริเวณพระอาศรม ก็มิได้พบพระโอรส พระธิดา
พระนางมัทรีจึงเสด็จไปที่หน้าพระอาศรม ทรงพระกำสรดสิ้นแรงถึงสลบลง พระเวสสันดรทอดพระเนตรเห็นพระมัทรีถึงวิสัญญีสลบลง พระเวสสันดรแก้ไขจนพระนางมัทรีฟื้น เมื่อได้อธิบายเหตุผลแล้ว พระนางมัทรีจึงทรงอนุโมทนา
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพพระนางมัทรีออกไปหาผลาผลแล้วจึงรีบเสด็จกลับอาศรม แต่มาพบกับพญาราชสีห์ พญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นเทพยดาจำแลงมานอนขวางทาง พระนางตกพระทัยกลัวปลงหาบผลไม้ และไม้สอยลงแล้วกราบขอทาง
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์มัทรี ๙๐ พระคาถาท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการพระเลิศผู้เขียน แม่อุ่มศร้าง
ไว้สำหรับ วัดขุนตรา สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ๚๛
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์มัทรี ๙๐ พระคาถาท่านอาจารย์เซ่งผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน แม่อุ่มสร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ๚๛
พระเลิศเขียนฉากทิวทัศน์ของภาพนี้ได้งดงาม มีภาพทิวทัศน์ตามระยะใกล้ ไกล พระนางมัทรีนุ่งห่มหนังเสือตามเพศดาบสินี แต่สัตว์ทั้งสามที่เป็นเทวดาแปลงมาเขียนต่างไปจากคัมภีร์ คือ ในคัมภีร์ระบุว่าเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง แต่ในภาพเขียนของพระเลิศเป็นราชสีห์ และเสือโคร่งสองตัว ไกลออกไปเป็นภาพเสือโคร่งอีกตัวกำลังจับเนื้อทรายกิน
๑๐.ฉากมหาชาติกัณฑ์สักกบรรพ
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_010.jpg)
ท้าวสักกเทวราช(พระอินทร์)เกรงว่าจะมีผู้มาขอพระนางมัทรีไปอีก จึงทรงแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ทรงบำเพ็ญทานบริจาคให้แก่พราหมณ์ เมื่อพระอินทร์ได้รับพระราชทานพระนางมัทรีแล้วก็ถวายคืน แล้วทูลขอว่าห้ามพระราชทานนางแก่ผู้ใดอีก พร้อมทั้งถวายพระพร ๘ ประการ ให้แก่พระเวสสันดร แล้วจึงเสด็จกลับสู่สวรรค์ พร ๘ ประการนั้น ประกอบด้วย
๑. ให้ทรงได้รับอภัยโทษ
๒. ให้ทรงช่วยคนถูกฆ่าได้
๓. ให้ไพร่ฟ้าได้พึ่งพา
๔. ให้มั่นคงในมเหสี ไม่ลุ่มหลงสตรีอื่น
๕. ให้ได้สืบสันติวงศ์
๖. ให้มีสิ่งของบริจาคทานมิสิ้น
๗. ให้มีอาหารทิพย์พอเพียงทุกรุ่งเช้า
๘. ให้ได้สำเร็จพระโพธิญาณ
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพพระอินทร์เหาะลงมาจากสวรรค์ดาวดึงส์ แล้วแปลงเพศเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ทรงบำเพ็ญทานบริจาคพระนางมัทรีให้แก่พราหมณ์ โดยจับพระหัตถ์พระนางมัทรียกให้ แล้วหลั่งทักษิโณทกแก่พราหมณ์
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์สักบัท ๔๓ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งเปนผู้จัดการพระเลิศผู้เขียน แม่เอม
แม่เฮียะ พ่อลุ้ย ศร้างไว้สำหรับวัดขุนตราสำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ๚๛
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์สักกบรรพ ๔๓ พระคาถา ท่านอาจารย์เซ่งเป็นผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน แม่เอม
แม่เฮียะ พ่อลุ้ย สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ๚๛
พระเลิศเขียนฉากนี้โดยให้องค์ประกอบหลักของภาพอยู่ที่เหตุการณ์พระเวสสันดรพระราชทานพระนางมัทรีแก่พราหมณ์ โดยเขียนสีกายของพราหมณ์ด้วยสีเขียวซึ่งเป็นสีกายของพระอินทร์ เป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าพราหมณ์แปลงคือพระอินทร์ และยังเขียนภาพพระอินทร์เหาะจากฟ้าลงมาที่อาศรมพระเวสสันดรเป็นการเล่าเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันด้วย
ข้างอาศรมพระเวสสันดรมีโอ่งน้ำตั้งอยู่ เป็นโอ่งมังกร โอ่งชนิดนี้เป็นของใช้ตามบ้านเรือนร่วมสมัยกับยุคที่เขียนภาพ เดิมเป็นของนำเข้าจากเมืองจีน ต่อมาราวยุคพ.ศ. ๒๕๘๐ –พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงได้มีการผลิตโอ่งชนิดนี้ที่ราชบุรี และจันทบุรี ปัจจุบันคือโอ่งที่เรียกกันว่าโอ่งมังกร
๑๑.ฉากมหาชาติกัณฑ์มหาราช
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_011.jpg)
ชูชกพาสองกุมารเดินทางออกจากอาศรมพระเวสสันดร เวลาคํ่าชูชกก็ผูกเปลนอนบนต้นไม้ แล้วผูกมัดพระชาลี พระกัณหา ไว้โคนต้นไม้ เมื่อชูชกหลับเทพยดาก็จำแลงมาเป็นพระเวสสันดร และพระมัทรีช่วยอภิบาลบำรุงรักษาสองกุมาร
เมื่อออกจากป่าชูชกพาสองกุมารหลงมายังกรุงสีพี แล้วผ่านมาตรงหน้าพระที่นั่ง พระเจ้ากรุงสญชัย ให้พาพราหมณ์ชูชกมาเฝ้า ทราบความแล้ว ทรงไถ่พระเจ้าหลานทั้งสองด้วยพระราชทรัพย์ จากนั้นพระเจ้ากรุงสญชัย ยกทัพไปรับพระเวสสันดร โดยให้พระเจ้าหลานนำทัพไปยังเขาวงกต
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพชูชกก็ผูกเปลนอนบนต้นไม้ แล้วผูกมัดพระชาลี พระกัณหา ไว้โคนต้นไม้ เมื่อชูชกหลับเทพยดาก็จำแลงมาเป็นพระเวสสันดร และพระมัทรีช่วยอภิบาลบำรุงรักษาสองกุมาร
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์มหาราช ๖๙ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งผู้จัดการพระเลิศผู้เขียนพ่อเขียวแม่เจิม
นางคำศร้างไว้สำหรับ วัดขุนตราสำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ๚๛
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์มหาราช ๖๙ พระคาถา ท่านอาจารย์เซ่งผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน พ่อเขียว แม่เจิม
นางคำ สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ๚๛
พระเลิศเขียนฉากนี้เลือกเหตุการณ์ตอนชูชกก็ผูกเปลนอนบนต้นไม้ แล้วผูกมัดพระชาลี พระกัณหา ไว้โคนต้นไม้ เมื่อชูชกหลับเทพยดาก็จำแลงมาเป็นพระเวสสันดร และพระมัทรีช่วยอภิบาลบำรุงรักษาสองกุมาร เวลาตามเหตุการณ์เป็นช่วงกลางคืน ดังนั้นท่านจึงเลือกใช้สีของบรรยากาศและทิวทัศน์เป็นสีเทาดำ ทั้งภูเขา ท้องฟ้า ต้นไม้ และยังเขียนภาพพระจันทร์สีเหลืองแสดงสัญลักษณ์ของเวลากลางคืน ส่วนภาพพระชาลี พระกัณหา และเทพยดาจำแลง ท่านเลือกใช้สีสว่างเฉพาะที่ตัวบุคคลเพื่อให้มีความโดดเด่นตามเหตุการณ์ของเรื่อง
ในส่วนของภาพประกอบ พระเลิศเขียนภาพวัวแดงคู่หนึ่งกำลังนอนในเวลากลางคืน ส่วนกระต่ายสองคู่ออกมาเล่นแสงจันทร์ บนต้นไม้ที่ชูชกผูกเปลมีลิงสามตัว ตัวหนึ่งขึ้นไปเล่นบนตัวชูชก ตัวหนึ่งขโมยไม้เท้า และอีกตัวหนึ่งกำลังล้วงย่ามของชูชก บนต้นไม้ไกลออกไปยังมีภาพนกและชะนีด้วย
๑๒.ฉากมหาชาติกัณฑ์ฉกษัตริย์
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_012.jpg)
พระเวสสันดร ได้ยินเสียงกองทัพที่ยกเข้ามาในเขาวงกต ทรงตกพระทัยเข้าใจไปว่าข้าศึกจะมาจับพระองค์ จึงชวนพระมัทรีเสด็จขึ้นเนินเขา พระนางกราบทูลว่าเป็นทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยเสด็จมารับ สมตามที่ท้าวสักกเทวราชประทานพร เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ปนะทับพร้อมกันที่อาศรม ต่างก็ทรงโศกสลดที่พลัดพรากจากกัน จนถึงวิสัญญีภาพเป็นลมสลบไป เมื่อฝนโบกขรพรรษตกลงต้องพระวรกายจึงได้ฟื้นคืนพระสติ พระเวสสันดร และพระนางรับการทูลเชิญเสด็จกลับพระนครสีพี
พระเลิศเขียนฉากนี้เป็นภาพพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลี และพระกัณหา ประทับพร้อมกันที่อาศรม ต่างก็ทรงโศกสลดที่พลัดพรากจากกัน นอกเขตกำแพงแก้วอาศรมเป็นภาพกองทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยตั้งขบวนรับเสด็จกลับเข้านคร
ด้านล่างของภาพมีกรอบจารึกข้อความว่า
๏ กัณฑ์ฉอกระษัติย์ ๓๖ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งเป็นผู้จัดการพระเลิศผู้เขียนพ่ออิ่มแม่ก้อนพ่อสอน ศร้างไว้สำหรับวัดขุนตราสำเร็จเมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๖๒ พรรษาขอให้สำเร็จแด่พระนิพพาน เทอญ ๚๛
ถอดความเป็นคำอ่านปัจจุบัน
๏ กัณฑ์ฉกษัตริย์ ๓๖ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งเป็นผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน พ่ออิ่ม แม่ก้อน พ่อสอน สร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๖๒ พรรษา ขอให้สำเร็จแด่พระนิพพานเทอญ ๚๛
พระเลิศเขียนภาพทหารในกองทัพของพระเจ้ากรุงสญชัยให้มีเครื่องแต่งกายเป็นแบบ “ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป” ซึ่งเริ่มมีในสยามมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และมีพัฒนาการเรื่อยมา ทหารที่อยู่บนคอช้างทรงใส่เสื้อราชประแตน สวมหมวกเฮลเมท ติดเครื่องยศและเหรียญตราต่าง ๆ แต่ยังถือขอสับช้างตามหน้าที่ ส่วนทหารราบที่ยืนเรียงแถวอยู่นั้น สวมหมวกทรงหม้อตาล ถือปืน ยืนเรียงลำดับตามยศ โดยสังเกตจากเครื่องหมายประดับเสื้อ เช่น นายร้อยเอก นายสิบเอก นายสิบโท นายสิบตรี พลทหาร
๑๓. ฉากมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์
![](https://museum.socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2023/09/WKHTR_013.jpg)
ฉากมหาชาติ กัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา พระอาจารย์เซ่ง เป็นผู้จัดการ พ่อเยิ้ม แม่ปุ๋ย บริจาคทรัพย์สร้าง และจ้างพระเลิศ (อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช) เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ เขียนภาพขบวนเสด็จของพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกัณหา พระชาลี เสด็จกลับเข้ากรุงสีพี ด้วยขบวนช้างพระที่นั่ง และขบวนทหารราบ ความน่าสนใจของภาพนี้อยู่ที่ พระเลิศได้เขียนภาพเครื่องบินใส่ไว้ในฉากด้วย ถือเป็นเครื่องบินที่มาเข้าร่วมขบวนรับเสด็จพระเวสสันดรกลับเข้าพระนคร
ฉากมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา เป็นผลงานของอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ที่มีชื่อเสียงอีกภาพหนึ่ง ถือเป็นภาพที่มีความแปลกแหวกขนบ เหตุเพราะแต่เดิมเมื่อเขียนภาพมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ นายช่างจะนิยมเขียนเป็นภาพหกกษัตริย์ประดับช้างทรงพร้อมด้วยขบวนทหารม้า ทหารราบ เสด็จกลับเข้าวัง
แต่ในฉากมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรานี้ อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ตั้งใจเขียนภาพเครื่องบินลำใหญ่พร้อมนักบินบนท้องฟ้า เข้าร่วมขบวนเสด็จแสดงแสนยานุภาพของพระเจ้ากรุงสญชัย แห่งเมืองสีพี เป็นไปได้ว่าอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช อาจจะมีโอกาสได้เห็นเครื่องบินซึ่งเป็นของแปลกใหม่ของสยามในสมัยนั้น และเกิดความประทับใจจึงได้นำมาเขียนไว้ในฉากมหาชาติ กัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา
คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินในยุคแรกของสยามไว้ใน Facebook นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ว่า
“ตามประวัติการบินในประเทศไทยแล้ว เครื่องบินเครื่องแรกที่เข้ามาแสดงการบินครั้งแรกในประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ต้นสมัยรัชกาลที่ ๖ นักบินชาวเบลเยี่ยมชื่อ ฟัน เดน บอร์น (Van den Born) ได้นำเครื่องบินออร์วิลล์ ไรท์ (Orville Wright) มาบินแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน
ในพ.ศ.๒๔๕๖ ประเทศไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินเบรเกต์ (breguet) ปีกสองชั้น และเครื่องบินนิเออปอร์ต (nieuport) ปีกชั้นเดียว รวมทั้งหมด ๘ เครื่อง และในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นักบินไทยได้ทดลองบินเครื่องบินของไทยเป็นครั้งแรก ให้ประชาชนชาวไทยได้ดูการฝึกบินโฉบฉวัดเฉวียนอวดศักดาแสนยานุภาพ เสียงดังกระหึ่ม เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันมาก
ช่วงทดลองบินเครื่องบินเบรเกต์ปีก ๒ ชั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นมา น่าจะเป็นปรากฏการณ์ชวนระทึกของชาวบ้านไทยเป็นอันมาก และครูช่างจิตรกรไทยคงได้ชมภาพทดลองบินในเขตภาคกลางของไทยนี้ด้วย เครื่องบินเบรเกต์จึงไปปรากฏอยู่ในจิตรกรรม”
บรรยายภาพ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี