การรักษาเรือน ด้วยภูมิปัญญาเชิงช่างท้องถิ่น: พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่เก็บรวบรวมเรือนล้านนาโบราณในแถบลุ่มน้ำปิง ให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม การอยู่อาศัย และลักษณะทางสถาปัตยกรรมล้านนา ผ่านกิจกรรม นิทรรศการ การให้ความรู้ผ่านช่องทางสื่อวารสาร และสี่อออนไลน์ เรือนที่จัดแสดงเป็นเรือนที่เคยมีผู้อาศัยอยู่จริง แล้วได้รื้อย้าย และนำมาอนุรักษ์ไว้ตามรูปแบบเดิม จึงเป็นเรือนตัวอย่างในการศึกษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมล้านนาได้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่ย้ายเรือนจากที่ตั้งเดิมนำมาตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์ มีการบำรุงซ่อมแซมอย่างต่อเนื่อง ด้วยลักษณะของเรือนโบราณที่มีอายุ 80 – 120 กว่าปี การดูแลรักษาต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด จึงได้นำภูมิปัญญาเชิงช่างท้องถิ่นเข้ามาปรับใช้ทั้งการดูแลรักษา และซ่อมแซม จากประเด็นดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ได้ทำการซ่อมแซมเรือนด้วยช่างท้องถิ่น หรือ เรียกว่า “สล่า” ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านงานไม้ ขณะเดียวกันทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้เก็บรวบรวมข้อมูลเทคนิคเชิงช่างด้วย เพื่อใช้ในเผยแพร่ การถ่ายทอดความรู้ และเป็นตัวอย่าง(Case Study) สำหรับอนุรักษ์เรือนโบราณ
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า การซ่อมแซมเรือนโบราณจำเป็นต้องเสริมโครงสร้างให้แข็งแรง เลือกใช้ไม้แต่ละประเภทตามคุณลักษณะที่เหมาะสม และเทคนิคที่ใช้ในการซ่อมแซมเรือนส่วนใหญ่คือการต่อไม้ ส่วนการบำรุงรักษาเป็นวิธีการรักษาเนื้อไม้เพื่อป้องกันแมลง และปลวก เช่น การทาน้ำมันขี้โล้(น้ำมันปี๊บ) การแช่ไม้ไผ่ในน้ำให้เน่า เป็นต้น
คำสำคัญ : ภูมิปัญญาเชิงช่าง สล่าพื้นบ้าน เรือนล้านนา การอนุรักษ์เรือน
ผู้เขียน
ฐาปนีย์ เครือระยา
สังกัด: สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
การส่งเสริมสุขภาวะทางสังคมเพื่อการจัดการและอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมชุมชนที่ยั่งยืน
บทคัดย่อ
กระแสการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมและแหล่งท่องเที่ยวมีการทบทวนแนวทางอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่มุ่งรักษาตัวอาคารและสภาพแวดล้อมไปจนครอบคลุมคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยและชุมชนที่เกี่ยวข้อง การตระหนักถึงประเด็นนี้ทวีความเข้มข้นขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยมรดกทางสถาปัตยกรรมและการท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม องค์กรต่างๆ ได้มีการปรับตัวและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านเทคโนโลยีทดแทนการเดินทาง ในขณะเดียวกัน ข้อจำกัดทางการเดินทางก็ทำให้องค์กรและชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทด้านการอนุรักษ์มากขึ้นในหลายพื้นที่ บทความนี้จึงกล่าวถึงการเชื่อมโยงกรอบการอนุรักษ์เข้ากับแนวคิดปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม (Social determinant of health และ Socio-Ecological Model) ตามสมมติฐานว่า หากมีการจัดการมรดกสถาปัตยกรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาวะสำหรับทุกคนในชุมชน เช่น การนำแนวคิดด้านสุขภาวะมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผน หรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดการปฏิบัติการอนุรักษ์และพัฒนา จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมให้ชุมชนเชิงอนุรักษ์มีความยั่งยืน (sustainable) มีความสามารถในการฟื้นตัวและปรับตัว (resilience) เพื่อเผชิญกับวิกฤติการณ์อื่นที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ผู้เขียน
ทวีวรรณ เปลี่ยนม่วง
สังกัด: หลักสูตรนานาชาติการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่อยู่: ภาควิชาอนามัยชุมชน อาคารจรัส ยามะรัต(อาคาร 4) ชั้น 7 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 420/1 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
กรุงเทพ 10800
E-mail: TaweewanPM@gmail.com
ส่งเสริมสู่สร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
บทคัดย่อ
พิพิธภัณฑ์ มรดกทางวัฒนธรรม และโบราณคดี เหล่านี้คงหลีกไม่พ้นการถูกเมินเฉยเนื่องจากการตีความว่าเก่า เข้าถึงยาก และไม่น่าสนใจ แต่คุณค่าเหล่านี้หากมีการสร้างภาพสะท้อนใหม่ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าสังคมสมัยใหม่ โดยการศึกษาและแปลความในแนวใหม่ๆ นำเสนอแบบไม่กระทบและบิดเบือนคุณค่า ความแท้เดิม ก็จะกลายเป็นข้อมูลที่น่าเข้าถึงอย่างร่วมสมัย ทำให้เกิดความน่าสนใจจากคนทุกช่วงวัย ทั้งนี้คุณค่าที่ถูกเล่าและนำเสนออย่างร่วมสมัยก็จะขยายผลสู่การสร้างรายได้เชิงมูลค่าที่แสดงให้เห็นพลวัตรของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางด้านวัฒนธรรมในอนาคต
การเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของสิ่งใด หากบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลงานที่ดี และคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีจริยธรรมควบคู่กันไปจะเกิดมิติของการกล่าวถึงในทางที่ดีสร้างความน่าเชื่อถือและบรรลุปลายทางที่จะสร้างความยั่งยืนและอยู่ได้ในทุกสมัยสังคมที่เรียกว่า “การยอมรับ” อันเป็นหัวใจหลักที่เป็นภาพสะท้อนให้เกิดการต่อยอด สืบทอดไปได้ในอนาคต เพราะเมื่อมีการยอมรับในภาพจำที่ดีก็จะมีการเข้าถึงจากคนทุกกลุ่ม ตามมาด้วยเครือข่าย และพันธมิตรที่ดีในการทำงานร่วมกัน
เศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมคงมิได้เหมือนการค้าเชิงพานิชย์ที่คำนึงถึงมูลค่าการซื้อขายที่วัดความสำเร็จได้จากจำนวนตัวเลขทางการเงินที่หมุนเวียนเข้าสู่ระบบ แต่วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ โบราณคดี เป็นการนำเรื่องราวที่ดีที่เกิดขึ้นและผ่านเวลามาจนถึงยุคปัจจุบัน อันเป็นคุณค่าของกลุ่มคน หมู่บ้าน หรือชุมชนผู้เป็นเจ้าของร่วมกันในเรื่องนั้นๆ นำมาเสนออย่างสมัย โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการ สร้างความเข้าใจและจิตแห่งการถ่ายทอด ต่อยอด สืบสานเรื่องราวเหล่านั้น ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วมกันจะทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันและมีพลังของการขับเคลื่อนคุณค่าเหล่านั้น และคุณค่านำไปสู่การรังสรรค์ให้เกิดมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ที่ไม่ลดทอนคุณค่าได้ทุกยุคสมัย
การเป็นที่ยอมรับจะนำมาซึ่งการเข้าถึงมากขึ้น จากขนาดเล็กจะขยายเพิ่มจนเป็นขนาดใหญ่ นำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านอุปสรรคและปัญหา การทบทวนแผน แนวคิดการพัฒนา จึงต้องเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยการรับฟังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พันธมิตร เครือข่าย ชุมชน ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าถึง หรือแม้แต่กระแสนิยมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ตลอดเวลา จะเป็นกระบวนการปิดช่องโหว่ที่ผ่านมา สู่การบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตอนนี้ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการออกแบบวันข้างหน้า “แล้วมรดกทางวัฒนธรรม โบราณคดี พิพิธภัณฑ์ที่ถูกอคติว่าเก่า ไม่น่าสนใจ จะสร้างทัศนคติเรื่องใหม่ที่น่าสนใจอย่างไม่ต้องมีทฤษฎีทางวิชาการใดกำหนดกรอบให้คนทุกเพศ ทุกวัย ในปัจจุบัน สู่อุดมคติที่เกิดการรักษาไว้ในอนาคตอย่างยั่งยืนสืบไป”
ผู้เขียน
ชุติมา พรหมาวัฒน์
สังกัด: พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่อยู่: พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนคลองชลประทาน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
E-mail: zumotoy04@gmail.com
การพัฒนานิทรรศการวิวิธชาติพันธุ์ ของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็นพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ผ่านมุมมองการพัฒนาที่ยั่งยืน
บทคัดย่อ
บทความนี้นำเสนอแนวทางการพัฒนานิทรรศการวิวิธชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่อย่างเต็มรูปแบบผ่านแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยวิธีการวิเคราะห์เอกสาร สื่อ ข่าวที่เกี่ยวข้องร่วมกับการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม พบว่า นิทรรศการถูกจัดอยู่บนรถคาราวานสองส่วนเพื่อให้สามารถเดินทางเคลื่อนย้ายได้ สามารถขยายพื้นที่ให้สามารถจัดกิจกรรมและปรับเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟและร้านขายของฝาก พื้นที่โดยรอบรถตกแต่งลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกูลภาษา 5 ตระกูลในประเทศไทย ที่สื่อถึงการบูรณาการวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ภายในรถคาราวานแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ห้องสมุด ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และส่วนวัตถุจัดแสดง ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายที่ 1, 4, 5, 10และ 16 โดยนิทรรศการนี้ยังสามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายอื่นที่เด่นชัดได้เพิ่มเติมคือ เป้าหมายที่ 2, 3 และ 12 ด้วยการจัดแสดงการผลิต การแปรรูป ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่นำไปพัฒนาต่อยอดได้ เป้าหมายที่ 7 ด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนนิทรรศการ และเป้าหมายที่ 17 ด้วยการสร้างความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ผู้เขียน
ปิยชัย นาคอ่อน
สังกัด: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่อยู่: 239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
E-mail: Piyachai.nako@cmu.ac.th