ปี 2567 ได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 เป็นวันพืชมงคล หรือวันเริ่มตนแห่งฤดูกาลเพาะปลูก
วันพืชมงคล จะมีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ (เพิ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตรโกสินทร์) เป็นพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีพราหมณ์ (มีมาแต่โบราณตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา กระทั่งรัตนโกสินทร์) เป็นพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง
ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีการเสี่ยงทายเพื่อพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ ประกอบด้วย 2 พิธีเสี่ยงทาย
พิธีเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย โดยพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย ผ้านุ่ง 3 ผืนจะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาหยิบ
- ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
- ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
- ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่
พิธีเสี่ยงทายพระโคกินอาหาร 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงไว้ ซึ่งเมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์
- ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
- ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
- น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
- เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
การเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกายของพระยาแรกนา และพิธีเสี่ยงทายจากพระโค ล้วนมีความหมายที่ดีเป็นมงคลแทบทั้งสิ้น ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรในการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้เกษตรกรเฝ้าระวังสำหรับการลงมือเพาะปลูก เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อ ความผูกพันระหว่างคนกับสัตว์ รวมทั้งพืชพรรณธัญญาหารต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจนถึงทุกวันนี้
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และวิถีชีวิตการเกษตร จากคลังภาพจิตรกรรมฝาผนัง: อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย