๓๐ ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

คน สิ่งของและการสะสม : Persons-Possessions-Collection

2715
views

        โดยรูปศัพท์ คำ พิพิธภัณฑ์ หมายถึง “สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ” (พิพิธ-ต่างๆ กัน , ภัณฑ์- สิ่งของ เครื่องใช้) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ

       ในความเข้าใจโดยทั่วไป พิพิธภัณฑ์ จึงมักคาดหวังกันว่า จะเป็นสถานที่สะสม รวบรวมสิ่งของต่าง ๆ นานาชนิด ของหายาก ของแปลกประหลาด โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและสิ่งของล้ำค่า และเป็นสถานที่ในการจัดแสดงสิ่งของดังกล่าวนั้น

       พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดตั้งขึ้นและเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ ๖๐ พรรษา โดยทรงพระกรุณาพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์ และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตั้งแสดงที่อาคารวิจัยและบริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ และต่อมาพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ เมื่อวันพุธที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓

       ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการรวบรวมโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งในส่วนของคณะฯ เองร่วมกับส่วนที่ได้รับบริจาคเพิ่มเติมภายหลัง นำมาจัดแสดง ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถาบันเพื่อการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ตามความเชี่ยวชาญของคณะ และใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอน ฝึกปฏิบัติ และการค้นคว้าวิจัย

       ลักษณะเด่นประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ฯ คือ ความหลากหลายของวัตถุจำนวนกว่า ๖,๐๐๐ รายการ ประกอบด้วยซากฟอสซิลอายุนับล้านปี เครื่องมือเครื่องใช้ของสังคมยุคโบราณเมื่อหลายพันปี สิ่งของหายาก ของประหลาด สิ่งประดิษฐ์ สิ่งของสะสมจากทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงของใช้พื้นบ้านและวัตถุทางชาติพันธุ์ของชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

       ปี พ.ศ.๒๕๕๔ หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ปิดปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพใหม่ มุ่งหมายให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้มากขึ้น โดยสร้างทางลาดยาวตัดข้ามพื้นที่โล่งเพื่อเชื่อมโยงการใช้งานภายในอาคารให้ต่อเนื่องถึงกัน และเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงวัตถุของพิพิธภัณฑ์ฯ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ชีวิตของวัตถุที่เชื่อมโยงไปสู่โลกนอกพิพิธภัณฑ์

       พิพิธภัณฑ์ฯ มีพันธกิจในการจัดแสดงวัตถุเพื่อการศึกษาค้นคว้า เอื้อให้เกิดความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ผ่านการชมวัตถุทางวัฒนธรรมและมุ่งไปสู่การความเข้าใจมนุษยชาติและกลุ่มบุคคล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อโลก

       พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอนและการศึกษาในทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสถาบันความรู้ที่เปิดให้เป็นทางเลือกของการเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อเนื่อง นับจากวัยเด็กถึงหลังเกษียณอายุ และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมชนรอบข้างและสังคมไทย

รู้จักสิ่งของ เข้าใจผู้คน : Perceiving things – Perceiving us.

       นิทรรศการ “รู้จักสิ่งของ เข้าใจคน” มุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งของ ในมิติต่าง ๆ ผ่านการเยี่ยมชมวัตถุทางวัฒนธรรม โดยนำเสนอให้เห็นถึงความหมายและความสำคัญในบางลักษณะ ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ “ทำความรู้จัก” กับ“สิ่งของ” ที่จัดแสดง ผ่านประสบการณ์และความทรงจำของตนเอง โดยใช้พื้นที่ของอาคารพิพิธภัณฑ์ “ทั้งหมด” เป็นพื้นที่ของการจัดแสดง

๑ : “พิพิธภัณฑ์กับพระราชา” บทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย พิพิธภัณฑ์ของไทยมีความเกี่ยวพันกับกษัตริย์อย่างใกล้ชิด ในยุคแรก “พิพิธภัณฑ์” จัดแสดงสิ่งของสะสมที่ “แปลกประหลาด หายาก” “เก่าแก่โบราณ” ต่อมาพิพิธภัณฑ์ตั้งตนเป็นสถาบันความรู้-จงใจนำเสนอความหมายบางชุดให้กับผู้ชมและอาจซ่อนเร้น หลบเลี่ยงความหมายบางอย่างไว้ ปัจจุบัน ผู้ชมมีบทบาทมากขึ้นที่จะประกอบสร้างความหมายจากสิ่งของจัดแสดงด้วยตนเอง

๒ : “ของสะสม” พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง สนใจและให้ความสำคัญกับ “สิ่งของสะสม” ที่แตกต่างกัน การจัดแสดง “สิ่งของสะสม” นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงความหมายและความสำคัญของ “สิ่งของสะสม” เองแล้ว หากลองพินิจพิจารณาถึง “สิ่งของสะสม” นั้นอาจนำไปสู่ความเข้าใจ “ผู้สะสม” และสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง “การสะสม” อีกด้วย

๓ : “คนกับของ” มนุษย์เข้าใจ “สิ่งของ” จากประสบการณ์และความทรงจำของตนเอง – ภาพถ่ายและนิทรรศการตามทางลาดที่เชื่อมโยงไปสู่ “คลังสิ่งของ” บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ฯ สะท้อนให้เห็นถึงความหมายและความสัมพันธ์อันไม่รู้จบของปัจเจกบุคคลมีต่อสิ่งของบางชิ้น

  : “ความทรงจำของพิพิธภัณฑ์” ถ้าภาระหน้าที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์คือ สถานที่เก็บรักษาสิ่งของต่าง ๆ ในอดีตไว้เพื่อการศึกษา พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งย่อมมีอดีตของตนเองที่ต้องเก็บรักษาไว้ด้วยเช่นกัน

“คราบน้ำท่วมในปี พ.ศ.๒๕๕๔” ที่ “จัดแสดง” อยู่บริเวณผนังด้านนอกพิพิธภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของอดีตและความทรงจำของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ที่มีต่อสังคมไทย

ขอเชื้อเชิญให้เข้ามาในโลกของ “สิ่งของ” เพื่อทำความเข้าใจ “ผู้คน”

 


นิทรรศการ : พิพิธภัณฑ์กับพระราชา


 

๑ :  พิพิธภัณฑ์กับพระราชา

       บทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย พิพิธภัณฑ์ของไทยมีความเกี่ยวพันกับกษัตริย์อย่างใกล้ชิด ในยุคแรก “พิพิธภัณฑ์” จัดแสดงสิ่งของสะสมที่ “แปลกประหลาด หายาก” “เก่าแก่โบราณ” ต่อมาพิพิธภัณฑ์ตั้งตนเป็นสถาบันความรู้-จงใจนำเสนอความหมายบางชุดให้กับผู้ชมและอาจซ่อนเร้น หลบเลี่ยงความหมายบางอย่างไว้ ปัจจุบัน ผู้ชมมีบทบาทมากขึ้นที่จะประกอบสร้างความหมายจากสิ่งของจัดแสดงด้วยตนเอง

กล่าวกันว่าจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ของไทยเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดให้ย้ายสิ่งของต่างๆ เช่น

“ เครื่องประดับทุกชนิด หลายชนิดเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้นว่า นอแรดรูปร่างแปลกประหลาดและงาช้าง ประติมากรรมหลายชิ้นจากทวีปยุโรป แจกัน กระเบื้องถ้วยจากประเทศจีน เครื่องทรงสมัยโบราณของพระมหากษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว งาช้างและไม้จำหลักอย่างงดงาม เครื่องทองและเงินพร้อมด้วยเครื่องเพชรนิลจินดาเป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปหลายองค์…” ซึ่งเคยตั้งแสดงไว้ที่พระที่นั่งราชฤดี ให้นำไปไว้ที่พระที่นั่ง “ประพาสพิพิธภัณฑ์”

พ.ศ. ๒๔๐๕ ครั้งที่ทูตปรัสเซียได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๔ บันทึกไว้ว่า

“…จากท้องพระโรง ทูตและคณะได้รับเชิญให้ไปยังพระที่นั่งในบริเวณพระบรมมหาราชวังซึ่งสร้างตามแบบยุโรป ทางปีกด้านข้างตึกมีป้าย Royal Museum และมีข้อความว่า Protect  this museum และ Respect this ordinance….ทรงนำไปยังห้องกว้าง ตกแต่งสวยงาม…พื้นห้องปูพรมสีแดง ฝาผนังและเพดานประดับไม้ บนโต๊ะและตู้รอบ ๆ มีหุ่นจำลองภาพท้องฟ้าและดาวนพเคราะห์ พร้อมทั้งเครื่องมือฟิสิกค์ ดาราศาสตร์และลูกโลกตั้งอยู่…”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น ได้มีการ “ตั้งมิวเซียม” ครั้งสำคัญที่หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๑ พรรษา (เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๑๗) ซึ่งกล่าวกันว่ามีคนเข้าชมมากถึง “เจ็ดแปดหมื่นคน” จากนั้นได้มีการจัดงาน “มิวเซียม” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษาครบ ๒๕ พรรษา ซึ่งเป็นเวลาที่พระองค์เริ่มต้นรับสิทธิขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

“…โรงมิวเซียมยาว ๒๑ ห้อง…สรรพสิ่งที่ควรไม่ได้เหน ก็ได้เหนในคราวนี้, ของดีอย่างวิเสศ, บางคนพูดว่าได้ยินแต่เครื่องต้น, พึ่งได้เห็นคราวนี้, ของอย่างดีไม่รู้จักไม่อาจจะทักมีอยู่ถมไป, บางท่านก็พูดว่าสมบัติของหลวงนี้, มากมายอย่างนี้ทีเดียวเหลือที่จะพรรณา,…”

“…ข้าพเจ้าได้เที่ยวชมของที่จัดสรรไว้นั้น ได้เห็นของประหลาดงามดีต่าง ๆ ห้องที่หนึ่งจัดเป็นโต๊ะตู้วางเรียงลำดับ มีเขากวางประหลาดสองเขา เป็นของประหลาดหายากติดอยู่บนศรีษะ…มีเขาโคแลนอต่างๆ วางบนหลังตู้…ต่อไปมีโต๊ะตั้งพระแสงปืนแฝดแลปืนต่าง ๆ ล้วนอย่างวิเศษมีทั้งเก่าใหม่…ขวดแก้วแช่รูปสัตว์ต่าง ๆ มีหนังช้างเผือกเอกขาวผ่องบริสุทธิ์งามยิ่งนัก…ทองก้อนใหญ่มาแต่เมืองนครราชสีมา…แร่ดีบุกเมืองนครศรีธรรมราช นิลเมืองจันทบุรี ศิลาหยกอย่างดี เครื่องราชอิสริยยศเจ้าพม่า…”

มุ่งสู่ความ “สิวิไล”

       ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ และ รัชกาลที่ ๕ ยังนิยมส่งสิ่งของไปร่วมแสดงยังต่างประเทศโดยเฉพาะในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนานาชาตินับสิบครั้ง ทั้งที่ประเทศอังกฤษ (พ.ศ.๒๔๐๔, ๒๔๒๖) ประเทศฝรั่งเศสในงาน ศิลปหัตถกรรมนานาชาติ (พ.ศ.๒๔๒๑) งานแสดงฉลองร้อยปีประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (พ.ศ.๒๔๑๙) หรือในงาน World Columbia Exposition ที่เมืองชิคาโก (พ.ศ.๒๔๓๖) หรืองานแสดงสินค้าโลก เมืองเซนต์หลุยส์ (พ.ศ.๒๔๔๗)

       สิ่งของที่ส่งไปจัดแสดงนั้นประกอบด้วย เครื่องใช้ในการเกษตร ผลิตผลทางการเกษตร งานช่างฝีมือ แร่ธาตุ สิ่งทอและยานพาหนะ เช่น ข้าวบางพลี พริกไทย ปลาแห้งปลาเค็ม เครื่องถมปัด ผ้ายกทอง เครื่องประดับมุก เครื่องดนตรี ลูกกวาดเม็ดแตงโม ผลไม้ดอง ผิวส้มแช่อิ่มและเครื่องเล่นการพนันต่าง ๆ โดยบรรดาสิ่งของที่ส่งไปร่วมแสดง (พ.ศ.๒๔๓๖ ที่เมืองชิคาโก) ได้รับเหรียญรางวัลจากผู้จัดงานมาเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งร้อยเหรียญรางวัล

เหตุผลสำคัญที่ “ส่งเครื่องพิพิธภัณฑ์” ไปร่วมแสดงเพื่อ

“เมื่อผู้แทนราชาธิปตัย ในนานาประเทศได้ไปประชุมกัน แลได้เห็นสรรพพัสดุซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ แลสรรพวิทยาการต่าง ๆ การช่างทุกสิ่งทุกอย่างแห่งกันแลกันแล้ว จะได้เป็นทางจะคิดเกื้อกูล ทนุบำรุงการทำมาค้าขายของราษฎรในประเทศนั้นๆให้มีความเจริญยิ่งขึ้น….(และ) สรรพพัสดุฝีมือช่างต่าง ๆ ของหญิงชาวสยาม ที่ได้กระทำโดยความอุสาหประณีตบรรจงประกวดกัน ให้เปนที่รฤกไว้ในทวีปอเมริกาเหนือสืบต่อไป…”

พิพิธภัณฑ์ของสยามนับตั้งแต่ยุคเริ่มแรก จึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศความก้าวหน้าและเป็นการเฉลิมฉลองเกียรติยศของกษัตริย์และความมั่งคั่งแห่งชาติไปพร้อม ๆ กัน

 


๒ : “สถาบันความรู้แห่งใหม่ของชาติ”

มูเซียมหลวงวังหน้า

       แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้ย้าย “มิวเซียม” จากหอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่รู้จักกันว่า มูเซียมหลวงที่วังหน้า ( The Royal Museum at Wang Na), โรงปะเซียม หรือ โรงกระเซียม และเปิดทำการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๓๖ มาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๗ นี้เอง ที่ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลและหมู่พระวิมานทั้งหมดเพื่อจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๙ ซึ่งตรงกับเดือนพระราชสมภพของพระองค์ (เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา ๓๓ พรรษา)

“…ศิลปวัดถุ โบราณวัดถุก็ดี ย่อมเปนส่วนหนึ่งของตำนานและพงษาวดารของชาติ เปนสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นวิญญาณและอุปนิสสัยของประชาชนแห่งชาตินั้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเปนของควรบำรุงรักษาไว้เปนอย่างดี…ย่อมจะช่วยให้พิพิธภัณฑ์นี้มีของที่มีค่า ควรดูควรชมมากขึ้นเปนลำดับ เปนทางบำรุงปัญญาความรู้ของมหาชน และจะได้เปนสง่าแก่พระนครและเปนสาธารณประโยชน์…เปนหนทางประกาศเกียรติยศและอารยธรรมของประเทศสยาม…”

(พระราชดำรัส ในการเปิดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนครของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗)

       ปี พ.ศ.๒๔๗๗ มีการประกาศตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการสถาปนาสถาบันความรู้ของสังคมไทยขึ้นใหม่ภายหลังการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งชาติ

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

       ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ว่า “ในสมัยที่ประเทศเราดำเนินการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยที่จะประสาทความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เปิดโอกาสให้พลเมืองใช้เสรีภาพทางการศึกษาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น”

       ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๘ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือน ตลาดและพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังหน้าให้เป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อผลิต “พลเมืองใหม่” ของชาติ โดยในปีแรกมีผู้สมัครเข้าเรียนถึง ๗,๐๙๔ คน

       นับแต่นั้นมา พื้นที่เดิมที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้กลายมาเป็นพื้นที่ตั้งของสถาบันความรู้สองแบบ ที่ต่างมุ่งไปสู่การกล่อมเกลาสมาชิกใหม่แห่งรัฐสยาม-ไทย

 


 

๓ : พิพิธภัณฑ์ในรัชกาลที่ ๙

“ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า”

       พ.ศ.๒๕๐๐ เกิดเหตุการณ์คนร้ายลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะที่จังหวัดอยุธยา กรมศิลปากรได้ขุดค้นต่อและนำเอาศิลปโบราณวัตถุที่หลงเหลืออีกจำนวนหนึ่งออกมา นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานในส่วนภูมิภาคที่สมบูรณ์แบบขึ้นเป็นครั้งแรก โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ (ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา ๓๔ พรรษา) จากนั้นจึงมีพิพิธภัณฑสถานในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่สุพรรณบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดทุกแห่ง

“ข้าพเจ้าได้คิดมานานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปะวัตถุของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของจังหวัดนั้นๆ ข้าพเจ้าพอใจที่กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากรที่เห็นพ้องด้วย และทำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้…”

(พระราชดำรัสในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พ.ศ.๒๕๐๔)

“แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆแผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยาและกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…ในการที่มีโบราณวัตถุสถาน และปูชนียสถานอยู่เป็นอันมาก ถ้าเรารู้จักวิธีนำมาใช้เกี่ยวกับการอบรมจิตใจของเยาวชน ก็จะเป็นประโยชน์มาก…”

(พระราชดำรัส ในคราวเสด็จประพาสจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.๒๕๐๖)

       ความสนใจเกี่ยวกับอดีตของชาติได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อโครงการขุดค้นโบราณคดีที่บ้านเชียงเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ การขุดค้นบ้านเชียงของกรมศิลปากร ได้พบเครื่องมือหินและเครื่องมือสำริดเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การลักลอบขุดและค้าโบราณวัตถุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวัตถุจากบ้านเชียงกลายเป็นที่นิยมในบรรดานักสะสมของเก่า โดยเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบ้านเชียงเป็นถึง “อู่อารยธรรมของโลก”

       ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแหล่งขุดค้นบ้านเชียงด้วยความสนพระทัย ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ต่อมา โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นได้นำมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดีในยุคแรกของไทย

บ้านเชียงกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

       พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๑๖ แผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ และนักศึกษาของแผนก ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ปรีชา กาญจนาคม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และศาสตราจารย์นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร จากคณะกายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจและขุดค้นที่บ้านธาตุ และบ้านอ้อมแก้ว โดยได้ขุดพบโครงกระดูก เครื่องมือหินขัด เครื่องประดับลูกปัดแก้วสีน้ำเงิน ภาชนะดินเผาเขียนสีแดงและเครื่องมือเครื่องใช้สำริดและเหล็ก ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในขณะนั้นที่ระบุว่า บ้านเชียงเป็นชุมชนที่พัฒนามาจาก “ยุคหินใหม่ตอนปลาย” สิ่งของที่ได้จากการขุดค้นในคราวนั้นได้เป็นคลังสิ่งของสะสมสำคัญ เพื่อการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา

ธรรมศาสตร์กับโลกข้างนอกและอนาคต

       ในขณะที่ความสนใจในอดีตของชาติเป็นไปอย่างเข้มข้น สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองในช่วง พ.ศ.๒๕๑๖ และหลังจากนั้น ทำให้ประชาชนและพลเมืองบางส่วน เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ สถาบันความรู้ ความเป็นชาติและอนาคตของชาติไปพร้อมกัน

 


 

๔ : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

จากสนามหลวงถึงทุ่งรังสิต

       นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๐ สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาเรื่องการขอแลกที่ดินทุ่งรังสิตของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่มาของการขยายมหาวิทยาลัยมายังพื้นที่ “ทุ่งหลวง” หรือ “ทุ่งรังสิต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

       ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๙ สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทำให้พื้นที่รกร้างอันเป็นที่เคยอาศัยของเนื้อสมัน สถานที่ปลูกข้าวสำคัญของประเทศ แหล่งอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ หมู่บ้านจัดสรร ได้สถาปนาความหมายของพื้นที่ขึ้นมาใหม่ เป็นพื้นที่ของสถาบันความรู้ในนาม มหาวิทยาลัย

       กลางปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ศูนย์รังสิตขึ้น โดย ดร.วินิจ และคุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค รองเลขาธิการสำนักพระราชวังและเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย (ต.ม.ธ.ก รุ่น ๗) ได้แจ้งความจำนงบริจาคโบราณวัตถุและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านจำนวนกว่า ๒,๕๐๐ รายการ เพื่อร่วมจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย

       ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติรับมอบสิ่งของและมอบหมายให้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาดำเนินการตามโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของคณะฯ โดยปรับปรุงห้อง ๒๐๗ อาคารวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดแสดง และขอพระราชทานนาม “พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีเถลิงถวัลยราชสมบัติรัชมังคลาภิเษกในพระองค์ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา

       สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ และต่อมาพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ในวันพุธที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๓

ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ นี้ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมีอายุครบ ๓๐ ปี และยังคงทำหน้าที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของและเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมมากขึ้นในการสร้างและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง