สุมิตร ปิติพัฒน์ (2486-2567) การส่งต่อและสืบทอด “มรดกวัฒนธรรม”

86
views

รองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ 19 พฤษภาคม 2486-11 สิงหาคม 2567

กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ พ.ศ. 2508

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2531-2534) อดีตผู้อำนวยการสถาบันไทยคคีศึกษา (พ.ศ. 2536-2542) และเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิม พระเกียรติ (พ.ศ.2530)

รองศาสตราจารย์สุมิตรจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาสังคมศาสตร์ จาก Michigan State University และสาขามานุษยวิทยา จาก Harvard University สหรัฐอเมริกา เมื่อเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระยะหนึ่ง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นคณะใน พ.ศ. 2527

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ได้ทำการสอน มีงานสำรวจ และงานวิจัยอย่างกว้างขวางในเรื่องเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมไทย โบราณคดีและกลุ่มชาติพันธุ์ไททั้งในและต่างประเทศ เช่น งานสำรวจและวิจัย เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น วิจัยเรื่องเรือนแพ จังหวัดพิษณุโลกและอุทัยธานี (พ.ศ.2513) ไปจนถึง การศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาติพันธุ์ลาวโซ่ง จังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ.2519-2530)

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์มีบทบาทสำคัญยิ่งใน การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบหมายให้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นผู้ดำเนินการกิจการของพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นลำดับ นับตั้งแต่เปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ มีความสนใจพิเศษที่สืบเนื่องมานับตั้งแต่เริ่มรับราชการ คือ งานทางโบราณคดีและงานทางชาติพันธุ์วิทยา นับตั้งแต่การจัดทำรายงานการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง (พ.ศ. 2517) รายงานการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านธาตุและบ้านอ้อมแก้ว จังหวัดอุดรธานี (พ.ศ. 2519) ศึกษาแหล่งอารยธรรมโบราณบ้านผือ (พ.ศ. 2517-2519) ศึกษาแหล่งเครื่องถ้วยสังคโลกบริเวณเทือกเขาถนนธงชัย และโครงการโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเมย จังหวัดตาก กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขุดค้นทางโบราณคดี ในยุคเริ่มต้นของงานโบราณคดีสมัยใหม่ของไทย

พ.ศ. 2536 รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยคคีศึกษา ท่านได้ขยายความสนใจไปสู่การสำรวจและศึกษาวิจัยชนชาติไทนอกประเทศ ที่กินเวลาติดต่อกันยาวนานอีกเกือบหนึ่งทศวรรษ โดยได้ออกเก็บข้อมูลภาคสนามอย่างกว้างขวางร่วมกับกลุ่มคณาจารย์และศิษย์ในประเทศจีน เวียดนาม ลาว เมียนมาและอินเดีย ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาวิจัยอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ คนไตและลาจีในภาคเหนือของเวียดนาม (2544) ศาสนาและความเชื่อไทดำ ในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (2545) ชุมชนไทในพม่าตอนเหนือ รัฐฉานตอนใต้ ภาคมัณฑเลย์ และคำตี่หลวง (2545) ความเชื่อและพิธีกรรมของคนไทอาหมในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย (2545) คนไทแดง ในแขวงหัวพัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (2546)

แม้เกษียณอายุราชการไปแล้ว รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ยังคงให้การสนับสนุนกิจการของพิพิธภัณฑ์์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อย่างต่อเนื่อง นอกจากสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือประกอบการจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ฯ เช่น  25 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (2555) วัฒนธรรมรัก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) บ้านเชียง: ปฐมบทโบราณคดีไทย (2559)  ยังได้มอบศิลปะวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะภาพถ่ายจากภาคสนามจำนวนกว่าเกือบหนึ่งหมื่นรายการให้พิพิธภัณฑ์์ฯ เพื่อการจัดแสดงและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต ผลงานทางวิชาการและศิลปวัตถุและวัตถุทางชาติพันธุ์ที่ท่านได้มอบไว้ให้กับพิพิธภัณฑ์ฯ จะยังเป็นเสมือนบ่อน้ำของความรู้ให้นักศึกษา ผู้สนใจ และสาธารณชน ได้ตักตวงและนำไปขยายผลเพื่อความงอกงามของความรู้ได้ไม่มีวันสิ้นสุด

ภาพถ่ายจากการสำรวจร่องรอยศิลปะและวัฒนธรรม ที่แหล่งโบราณคดีภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2517-2519 โดยรองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์

รองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ กับการสะสม

บริบทในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก โครงการความร่วมมือในการศึกษาโบราณคดีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และเทคโนโลยีการกำหนดอายุโบราณวัตถุแบบใหม่ทำให้การศึกษาวิจัยพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งในเวลาดังกล่าวคือวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่นักวิชาการชาวไทย และต่างชาติ รวมถึงประชาชนทั่วไปในฐานะแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สำคัญของโลก อาจารย์สุมิตรเริ่มมีความสนใจต่องานทางด้านโบราณคดีในช่วงเวลานี้เอง โดยจะเห็นผ่านการทำงานวิจัย และวัตถุสะสมที่ได้มาจากการลงภาคสนาม

กระแสงานวิชาการข้างต้นได้ส่งผลให้ระหว่างปี พ.ศ. 2515-2516 อาจารย์สุมิตรพานักศึกษาจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกภาคสนามเพื่อสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงเก็บข้อมูลทางมานุษยวิทยากับชุมชนโดยรอบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ้อมแก้ว และบ้านธาตุ จ.อุดรธานี จากการทำงานครั้งนั้นคณาจารย์หลายท่านที่ไปร่วมงานก็ได้รับมอบโบราณวัตถุบางส่วนมาจากชุมชนและวัตถุเหล่านั้นปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ใน พ.ศ. 2517-2519 อาจารย์ยังได้พานักศึกษาไปออกสำรวจแหล่งโบราณคดี ในเขตบ้านผือ จ.อุดรธานี อันเป็นวัฒนธรรมหินตั้งและเสมา แม้ว่าการทำงานครั้งนั้นจะไม่ได้มีวัตถุสะสมในเชิงกายภาพ แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า อาจารย์ได้สะสม “ความทรงจำ” ผ่านชุดภาพถ่ายการสำรวจในครั้งนั้น ซึ่งภาพถ่ายเหล่านี้เป็นทั้งบันทึกการเดินทาง บอกเล่าประวัติ การเรียนการสอนของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และหลักฐานสำคัญสำหรับนักโบราณคดีในยุคหลังเพื่อทำ ความเข้าใจสภาพและการใช้แหล่งโบราณคดีในช่วงเวลาดังกล่าว

ความสนใจต่องานโบราณคดีของอาจารย์สุมิตรยังขยายออกไปสู่วัฒนธรรมและอายุสมัยที่หลากหลาย เมื่อราวปี พ.ศ. 2527 มีการค้นพบแหล่งฝังศพบนยอดเขา ในแนวเทือกเขาถนนธงชัยจำนวนมากพร้อมเครื่องอุทิศที่เป็นวัตถุประเภทเครื่องเคลือบดินเผาอันมีแหล่งผลิตจากหลายแหล่ง เช่น จีน สุโขทัย ล้านนา และเวียดนาม เต้าปูน เครื่องรัก ลูกปัด และข้าวของอื่นๆ กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 วัตถุจากแหล่งฝังศพเหล่านี้กลายเป็นที่ต้องการของตลาดศิลปะวัตถุ และโบราณวัตถุในระดับนานาชาติ ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีส่วนผลักดันให้อาจารย์หันมาทำวิจัยเกี่ยวกับหลุมฝังศพดังกล่าว และหนังสือที่ตีพิมพ์จากงานวิจัยชิ้นนี้ก็มีคุณูปการสำคัญในฐานะที่ช่วยเก็บรักษาข้อมูลชั้นต้นก่อนที่แหล่งฝังศพจะถูกทำลายไป

บรรยากาศของภาวะหลังสงครามเย็นและการเปิดพรมแดนของประเทศที่เคยมีข้อขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคถูกถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายสนามของชุดงานวิจัยวัฒนธรรมไทในช่วงทศวรรษที่ 2530-2540 และหนังสืออันเป็นผลจากโครงการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในทศวรรษต่อมาก็นับได้ว่าเป็น “ชุด หนังสือ” ที่กลายมาเป็น “ชุดสะสม” สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาคนไทนอกดินแดนประเทศไทย

การสะสมของอาจารย์สุมิตรสะท้อนความสนใจที่หลากหลาย ทั้งความสนใจส่วนตัว และความสนใจทางวิชาการ วัตถุบางชุดแสดงความผูกพันของอาจารย์ต่อพื้นที่ที่ไปทำวิจัย เช่น การทำวิจัยในเวียดนามก็น่าจะทำให้เริ่มสะสมเพื่อการรำลึกถึงในกรณีของวัตถุสะสมทางชาติพันธุ์ประติมากรรมประดับหลุมฝังศพ และวัตถุสำริดในวัฒนธรรมดองซอน ผลงานการวิจัยของอาจารย์เองก็กลายมาเป็น “วัตถุสะสม” ของนักวิชาการในรุ่นหลัง ดังกรณีของหนังสือชุดวัฒนธรรมไท ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าอาจารย์สุมิตรได้ทิ้งร่องรอยอัตชีวประวัติของตนไว้ในการเก็บสะสมวัตถุชุดต่างๆ และในขณะเดียวกันวัตถุสะสมเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าบริบทสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของช่วงเวลาต่างๆ

คณะอาจารย์และนักศึกษาแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมขุดค้นที่บ้านเชียง ใน พ.ศ. 2516
หลุมขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงภายในวัดโพธิ์ศรีใน ปี พ.ศ. 2518

วัตถุสะสมและคลังภาพถ่าย สุมิตร ปิติพัฒน์ ความหมายและความสำคัญ

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้จัดทำ “โครงการ คลังภาพและจดหมายเหตุมานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เพื่อจัดเก็บเอกสารจดหมายเหตุและภาพถ่าย ของคณาจารย์ในคณะฯ ให้เป็นคลังความรู้สำหรับการศึกษาวิจัยของอาจารย์ นักศึกษาและผู้สนใจในอนาคต โดย“คลังวัตถุสะสมและคลังภาพของรองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์” ถือเป็นผลงานลำดับแรก

รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ มีบทบาทอย่างมากต่อคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทั้งในด้าน บริหารนับตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านของคณะฯ จากแผนกอิสระสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในคณะสังคม สงเคราะห์ศาสตร์ สู่ยุคของการสถาปนาเป็นคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 การรับตำแหน่งคณบดี (พ.ศ. 2531-2534) และเป็นผู้ร่วมบุกเบิกการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ (พ.ศ. 2530)

ในฐานะของการสอน สำรวจภาคสนามและงานวิจัย รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ให้ความสนใจเป็นพิเศษในงานที่เกี่ยวข้องกับงานโบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยา ท่านได้เดินทางร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาเพื่อการสำรวจและเก็บข้อมูลทั้งในและนอกประเทศอย่างกว้างขวาง ในด้านโบราณคดีท่านได้มีส่วนสำคัญในการสำรวจและสนับสนุนการศึกษาทางโบราณคดีในยุคเริ่มต้นของโบราณคดีสมัยใหม่ของไทย (เช่น กรณีการขุดค้น ที่บ้านอ้อมแก้ว ตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2515) หรือการสำรวจแหล่งอารยธรรมโบราณบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี (พ.ศ. 2517-2519) ในด้านชาติพันธุ์วิทยา ท่านเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยเกี่ยวกับ “ชนชาติไท” และได้เดินทางสำรวจและเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางเป็นเวลานานเกือบทศวรรษ โดยระหว่างการเดินทางดังกล่าวจึงเป็นที่มาของภาพถ่ายและวัตถุเพื่อการศึกษาวิจัยจำนวนมาก โดยท่านได้มอบวัตถุบางส่วนและภาพถ่ายส่วนใหญ่ให้กับพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยในอนาคต

ผู้ร่วมเดินทางในการศึกษาวิจัยชนชาติไทผู้หนึ่งได้สะท้อนให้เห็น “ความสำคัญ” ของการเดินทาง ภาคสนามร่วมกับรองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ และ “การใคร่ครวญ” ถึงความหมายของ “วัตถุ” และ“การมองวัตถุ” ในแง่มุมทางวิชาการไว้อย่างน่าสนใจว่า…

“…เส้นทางมานุษยวิทยาสายอาจารย์สุมิตร… เปิดให้พบกับวัตถุสิ่งของสินค้านานาชนิดอย่างน่าตื่นเต้น และท้าทายความคิด จนทำให้เห็นความพร่ามัว และเปราะบางของความเป็นของแท้ เส้นแบ่งระหว่างวัตถุชาติพันธุ์ที่เป็นของแท้กับของเทียมนั้น ไม่สามารถจะกำหนดเอาได้ง่ายๆ

ในบางกรณีเรารู้สึกว่ามันแท้ เพราะเราได้ไปประสบมาด้วยตนเอง ได้พบเห็นชีวิตผู้คน เห็นกระบวนการทำ เห็นบรรยากาศที่แวดล้อมของสิ่งนั้น ถึงแม้ตัววัตถุเองอาจจะเจือปนด้วยของที่ดูเป็นของเทียม ก็ไม่เป็นไร ในบางกรณีเราไม่ได้สนใจความเป็นของแท้ของตัววัตถุเท่ากับเรื่องราวของผู้คน ชุมชน และประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดการสร้างวัตถุตัวนั้น

อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมของวัตถุสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าตัววัตถุ ในบางกรณีความแท้ถูกกลบและกลืนหายเข้าไปในจินตนาการที่เกิดจากการสนทนาพูดคุยกันในหมู่ผู้เดินทาง หรือระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย…ทำให้ความหมายและคุณค่าพอกพูนขึ้นไปได้เรื่อยๆ การนำสินค้าชาติพันธุ์มาใช้รำลึกถึงเรื่องราวจากแดนไกล สามารถสร้างความปรารถนาทำให้คนอยากไป อยากเห็นได้ไม่สิ้นสุด…”

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล “สินค้าทางวัฒนธรรม บนเส้นทางสายมานุษยวิทยา” บทความวิชาการและความทรงจำ เนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ รองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ (2546)

A Joyous Life

Happy’s the man who travels on

 Winding roads that go beyond

Towns and fields, valleys and hills

To thatch-roofed houses on stills.

For years he’s gone to find the traces

On the Tai who dwell in different places,

In northern Vietnam, Assam, Burma,

Laos, and southern China.

Through photos and documents

     He captures their settlements,

Customs, beliefs and daily missions

Giving insights into their foundations.

 

Happy’s the man who reaches his sixty,

Going through life gracefully,

Through happiness and suffering-

In disguise a blessing.

It’s time to release from one’s burden,

 To taste the fruits in one’s garden,

To thoroughly learn the world and life,

And to light up candles inside.

May his experiences be treasures,

And oasis for other;

May his sixties be always bright

With lasting and real delight. 

นาริสา เดชสุภา

 

 

อ.สุมิตร ปิติพัฒน์ ระหว่างเส้นทางจากเมืองไล-ซาปา เวียดนาม 2543
พ่อมดชาวไต (Tay) หรือโถ (Tho) ในเวียดนามตอนเหนือ (2545)
ชาวไทอาหม เมืองสิพสาคร จัดแสดงดนตรีพื้นถิ่นต้อนรับคณะวิจัยชาวไทย (2544)
ขบวนแห่ปู่เยอย่าเยอ ในงานบุญสงกรานต์ เมืองหลวงพระบาง ลาว (2544)
ขบวนผู้หญิงไทแถง จากหมู่บ้านใกล้เคียงเดินทางไปร่วมพิธีศพ เมืองเหงะอัน เวียดนาม
กลุ่มชาติพันธุ์นุง กวางหนาน มณฑลยูนนาน (2542)
พิธีดื่มเหล้าจากไหเพื่อต้อนรับแขก ของชาวไทเมือง เวียดนาม
หมู่บ้านต้งหรือก้ำ (Tong / Kam) มณฑลกุ้ยโจว จีน (2541-2542)
วัดลูกเขย ภูพระบาท การสำรวจร่องรอยศิลปะและวัฒนธรรมที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
บ่อน้ำนางอุสา การสำรวจร่องรอยศิลปะและวัฒนธรรมที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
หอนางอุสา มีโครงสร้างเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งซ้อนกัน สูงประมาณ 8 เมตร ฐานวัดได้โดยรอบประมาณ 19 เมตร หินก้อนบนตั้งซ้อนเป็นหลังคายื่นล้ำออกมาทางทิศตะวันออก ใต้หลังคาถูกเจาะเป็นคูหาเข้าไปเป็นห้องขนาดเล็ก ด้านหน้ามีประตูและระเบียงยื่นออกมาเล็กน้อย การสำรวจร่องรอยศิลปะและวัฒนธรรมที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
หอนางอุสา มีโครงสร้างเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งซ้อนกัน สูงประมาณ 8 เมตร ฐานวัดได้โดยรอบประมาณ 19 เมตร หินก้อนบนตั้งซ้อนเป็นหลังคายื่นล้ำออกมาทางทิศตะวันออก ใต้หลังคาถูกเจาะเป็นคูหาเข้าไปเป็นห้องขนาดเล็ก ด้านหน้ามีประตูและระเบียงยื่นออกมาเล็กน้อย การสำรวจร่องรอยศิลปะและวัฒนธรรมที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
พระพุทธรูปหินแกะสลักที่มุมด้านข้างของเพิงวัดพ่อตา ภูพระบาท การสำรวจร่องรอยศิลปะและวัฒนธรรมที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี