Panel 5.1: เศรษฐกิจชุมชน และความทรงจำร่วม ในมรดกวัฒนธรรมศึกษา

48
views

แนวคิดการปรับพื้นที่ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนากจากสิ่งที่เหลืออยู่ในชุมชนกับ การรื้อฟื้นความทรงจำร่วมของชาวบางมูลนาก

บทคัดย่อ                         

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การสร้างความทรงจำร่วมของชาวบางมูลนากจากสิ่งที่เหลืออยู่ในชุมชน โดยวิเคราะห์จากแนวคิดการปรับพื้นที่ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนากที่มีการเก็บรักษาสิ่งที่เหลืออยู่ในชุมชนแล้วนำมาจัดแสดง ตกแต่งสถานที่เพื่อธำรงเรื่องราวเก่าแก่ของชุมชนอันนับเป็นมรดกทางสังคมของชุมชนที่สามารถนำมาสะท้อนตัวตนและบอกเล่าเรื่องราวชุมชนจนกลายเป็นความทรงจำร่วมของคนในชุมชนบางมูลนาก

ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก คือชื่อที่ถูกตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย (องคมนตรี) เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการปรับพื้นที่ย่านการค้าเก่าอายุกว่าร้อยปีบริเวณริมแม่น้ำน่านของชุมชนบางมูลนาก ภายหลังที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไปกว่า 30 ปี ให้ฟื้นคืนกลับมาและเป็นพื้นที่ของการสร้างความทรงจำร่วมของชุมชน การปรับพื้นที่โดยรอบตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิแก้วคุ้มครอง ชุมชนบางมูลนาก และหน่วยงานต่าง ๆ ในอำเภอบางมูลนาก เริ่มต้นจากการบูรณะศาลเจ้าพ่อแก้วหลังเดิม ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานของเทพเจ้าประจำชุมชน ถัดมาคือการพัฒนาร้านค้าเก่าบริเวณโดยรอบ เพื่อสร้างบรรยากาศของตลาดที่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนและศูนย์เรียนรู้ชุมชน โดยรวบรวมสิ่งของเหลืออยู่ในชุมชนอันเป็นวัตถุสิ่งของที่บ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนบางมูลนากและสะท้อนตัวตนของชาวบางมูลนาก การปรับพื้นที่ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก จึงไม่ได้เป็นเพียงการเก็บสะสม การเก็บรักษา หรือการเผยแพร่ความรู้จากวัตถุพิพิธภัณฑ์เช่นในอดีต ทว่าบูรณาการพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สมบูรณ์และช่วยขยายพันธกิจของภาครัฐในการเป็นส่วนหนึ่งในการการพัฒนาชุมชน จนพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของจังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดพิจิตร และยังทำหน้าที่ประกอบสร้างความหมายทางสังคมที่เคยถูกลืมเลือนให้กลับขึ้นมาเป็นความทรงจำร่วมกันของคนในชุมชนบางมูลนาก

 

คำสำคัญ: ตลาดฟื้นอดีตบางมูลนาก ความทรงจำร่วม สิ่งที่เหลืออยู่

ผู้เขียน

อภิสิทธิ์ ประวัติเมือง

สังกัด: นักวิชาการอิสระ มูลนิธิแก้วคุ้มครอง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร

E-mail: apisitpravatmuang@hotmail.com

 

ปิยะกษิดิ์เดช เปลือยศรี

สังกัด:   นิสิตปริญญาเอก (สาขาวิชาพัฒนศึกษา) สังกัดภาควิชาภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

E-mail: Piyakasidet.p@chula.ac.th

 

อัจฉริยา ขำแป้น

สังกัด: นักวิชาการอิสระ มูลนิธิแก้วคุ้มครอง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร

E-mail: ajariyak@hotmail.com

พิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งขุดค้นกับชุมชนเมือง: กรณีศึกษา ประตูเมืองไทเป ทิศเหนือ ย่านเป่ยเหมิน เมืองไทเป ไต้หวัน

บทคัดย่อ

เมืองไทเป ไต้หวัน เป็นเมืองที่มีการพัฒนาของชุมชนเมือง ทั้งทางด้านวัตถุ เทคโนโลยีและการจัดการเมืองอย่างเป็นระบบ นับเป็นอีกรัฐหนึ่งของโลกที่ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีการพัฒนามากกว่า (More Developed Countries: MDCs) หรือหมายถึงประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและดัชนีการพัฒนามนุษย์ อย่างไรก็ตามก็ยังคงเป็นเมืองที่ยังคงอนุรักษ์อาคารและโบราณสถาน ซึ่งหลายแห่งนำมาใช้งานตามสภาพปัจจุบันอย่างเหมาะสม (Adaptive reuse) รวมทั้งพัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศหลายแห่ง สำหรับแหล่งโบราณคดีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเป่ยเหมิน (MRT Beimen Station) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับประตูเมืองไทเป


ทิศเหนือนี้ เป็นพื้นที่ที่พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ได้แก่ คลังสรรพาวุธ ถนนและกำแพงเมืองสมัยราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ระบบระบายน้ำและอาคารสถานีการรถไฟ สมัยภายใต้อาณานิคมญี่ปุ่น (Japanese colonial period) ซึ่งบริเวณนี้ผ่านการใช้งานมาหลายช่วงชั้นวัฒนธรรม และจากการค้นพบและขุดค้นในช่วง ค.ศ.2009 จึงมีศึกษาและพัฒนาพื้นที่ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำหลุมขุดค้น รวมไปถึงการจัดป้ายนิเทศ และนิทรรศการ ซึ่งเมื่อขึ้นมาจะพบกับพิพิธภัณฑ์การรถไฟ กำแพงเมือง และประตูเมืองไทเป โดยได้มีการเว้นระยะห่างและพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งยังเป็นพื้นที่ว่างสาธารณะ (Public space) ของสังคมไว้ใจกลางเมืองที่มีความสำคัญของไต้หวัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำลายหรือเลือกที่จะไม่เก็บไว้ และอยู่ร่วมกับย่านเศรษฐกิจของชุมชนเมืองได้อย่างเหมาะสม

คำสำคัญ: พิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งขุดค้น, ชุมชนเมือง, ไต้หวัน, การจัดการการท่องเที่ยว, มรดกทางวัฒนธรรม

ผู้เขียน

พีรศักดิ์ กลับเกตุ

สังกัด:   นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาโลกศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยอาจารย์ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทุนทางวัฒนธรรมของอาเซียนกับการจัดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์: กรณีจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

บทคัดย่อ

“ทุนทางวัฒนธรรม” (Cultural Capital) ที่แสดงความหมายถึงสัญลักษณ์ ความคิด ความนิยมชมชอบซึ่งสามารถถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในแง่ที่เป็นทรัพยากรสำหรับการกระทำทางสังคม โดยที่ทรัพยากรดังกล่าว เป็นทรัพยากรที่สามารถลงทุน สั่งสม และแปรเปลี่ยนเป็นทุนรูปแบบอื่นๆได้เฉกเช่นเดียวกับทุนทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ส่งออกในภูมิภาค มีลักษณะของทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่ทั้งแตกต่าง คล้ายคลึง และเหลื่อมทับกันในบางแง่มุม ซึ่งสะท้อนได้จากแนวทางการจัดการและดำเนินกิจกรรมด้าน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของแต่ละประเทศ บทความชินนี้จึงมุ่งแสดงให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศดังกล่าวบนฐานของทุนทางวัฒนธรรมเพื่อวิถีทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

คำสำคัญ: เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทุนทางวัฒนธรรม อาเซียน

ผู้เขียน

ศุภกิตด์ โตประเสริฐ

สังกัด: นักศึกษาปริญญาเอก Department of Social and Cultural Anthropology, University of Cologne