Panel 4.1: สะสม สื่อสาร และสร้างความหมายวัตถุพิพิธภัณฑ์

19
views

ฟื้นชีวิตพิพิธภัณฑ์กับการแสวงหาการมีส่วนร่วมของสังคม กรณีศึกษา: พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ วัดธรรมาราม พระนครศรีอยุธยา อนุสรณ์สถานประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์พุทธศาสนาไทย-ศรีลังกา

บทคัดย่อ

พิพิธภัณฑ์ในการรับรู้ของคนทั่วไป หมายถึง สถานที่จัดเก็บและแสดงสิ่งของนานาชนิด เพื่อให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม  ช่วงเวลาศตวรรษที่ 21 สังคมไทยเกิดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่ขยายขอบเขตการรับรู้เดิมคนในสังคม  พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ วัดธรรมาราม ถูกก่อตั้งและเปิดให้บริการในวาระครบรอบ 260 ปีประดิษฐานสยามวงศ์ การส่งคณะสมณทูตจากกรุงศรีอยุธยาไปลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ.2556 โดยวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าเจ้าหน้าที่นำชม นับตั้งแต่เปิด จนเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ ในปี 2563 วัดต้องปิดพิพิธภัณฑ์ลงเนื่องจากไม่สามารถแบกรับรายจ่ายได้ 

บทความนี้ นำเสนอเรื่องการฟื้นชีวิตพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ ในปี 2564 จนปัจจุบัน เล่าถึงประสบการณ์การจัดการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งแต่เริ่มเปิดจนถึงปัจจุบัน  การยกตัวอย่างกรณีศึกษาการจัดการพิพิธภัณฑ์ของชุมชนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่น และองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญการจัดการพิพิธภัณฑ์ 

คำสำคัญ: พิพิธภัณฑ์, การจัดการพิพิธภัณฑ์, พระอุบาลี, ศรีลังกา, วัดธรรมาราม

ผู้เขียน

สมรักษ์ เจียมธีรสกุล

สังกัด: นิสิตปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จาก “ศิลปินผู้ศึกษาด้วยตนเอง” สู่พิพิธภัณฑ์ระดับโลก: กรณีศึกษาการจัดการชุดสะสมของ จ่าง แซ่ตั้ง

บทคัดย่อ

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายในการนำเสนอกระบวนการจัดการชุดสะสมผลงานและจดหมายเหตุของ จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินไทยผู้ล่วงลับที่ทิ้งผลงาน ข้อเขียน และเอกสารต่างๆ จำนวนมากไว้ในการดูแลของครอบครัว โดยศึกษาตั้งแต่ภายหลังการเสียชีวิตของ จ่าง แซ่ตั้ง ในปี 2533 จนถึงปัจจุบัน จ่าง แซ่ตั้ง เป็นศิลปินที่ศึกษาศิลปะด้วยตนเอง เกิดเมื่อปี พ.ศ.2477 จ่างมีชื่อเสียงจากการสร้างผลงานจิตรกรรมนามธรรมและบทกวีรูปธรรมโดยอาศัยความคิดจากปรัชญาและวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะปรัชญาและวัฒนธรรมจีน ภายหลังการเสียชีวิตของเขา ผลงาน ข้อเขียน และเอกสารจดหมายเหตุต่างๆ ถูกจัดการโดยครอบครัว และมีการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง ขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2540 พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่รวบรวม จัดเก็บ และจัดแสดงผลงาน ข้อเขียน และเอกสารต่างๆ ของ จ่าง แซ่ตั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ผลงานของ จ่าง แซ่ตั้ง ได้เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการและมหกรรมศิลปะในประเทศต่างๆ จนกระทั่งมีนิทรรศการและถูกจัดเก็บในชุดสะสมของพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่างศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมปงปิดู (Centre Pompidou) ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2566 บทความนี้ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นแนวทางการจัดการชุดสะสมของจ่างในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในการทำงานของพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก แต่ยังเปิดเผยให้เห็นถึงบทบาทขององค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานของจ่าง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลงานของจ่างมีที่ยืนในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยยังเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิทรรศการสำหรับศิลปินผู้สร้างศิลปะสมัยใหม่ ตลอดจนเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำงานกับพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติ

ผู้เขียน

นวภู แซ่ตั้ง

สังกัด: นักศึกษาปริญญาเอก Faculty of Creative Arts, University of Malaya และผู้อำนวยการ

พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง

ที่อยู่: 29/5 หมู่ 2 ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

E-mail: nawapooh@tangchang.art 

ภูมีรพี แซ่ตั้ง

สังกัด: นักวิชาการอิสระ และผู้จัดการ พิพิธภัณฑ์จ่าง แซ่ตั้ง

ที่อยู่: 29/5 หมู่ 2 ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

E-mail: phumraphee@tangchang.art

พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช: ร่างกายผิดปกติ, ความทรงจำ(ที่ขาดหาย) และ การกลายเป็นวัตถุ

บทคัดย่อ

พิพิธภัณฑ์การแพทย์ ศิริราช ในการดูแลของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์สงกรานต์ นิยมเสน ที่จัดแสดง “ร่างกายที่เกิดจากการตายผิดธรรมชาติ” ชิ้นส่วนและกระดูกของมนุษย์รวมวัตถุพยานในคดีต่าง ๆ ซึ่งพัฒนามาจากสะสมชิ้นส่วนจากการชำแหละร่างกายสำหรับการเรียนรู้ในสาขาวิชาแพทยศาสตร์และวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นนิติศาสตร์ ซึ่งในอดีตพิพิธภัณฑ์นี้เคยถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑ์ซีอุย” มาจากการจัดแสดงร่างกายของนักโทษประหารชื่อซีอุยผู้ถูกตรา (Stigma) ว่าเป็น “มนุษย์กินคน” ซึ่งต่อมาในปี 2562 ได้มีการรณรงค์ให้นำร่างของเขาออกจากพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสำเร็จและร่างของเขาก็ได้ถูกฌาปนกิจในปี 2563

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ศิริราชยังคงเปิดให้สาธารณชนเข้าชมและได้รับความสนใจ มีการจัดเก็บค่าเข้าชม ซึ่งเป็นรายได้ของโรงพยาบาลศิริราช แต่อย่างไรดีการมาเยี่ยมชมของผู้คนต่างด้วยความสงสัยใคร่รู้ (curiosity) เกี่ยวกับความรู้ทางการแพทย์ จนถึงกระทั่งความรู้สึกอยากดู/ชมของแปลก (exotics) ด้วยบรรยากาศบางอย่างทั้งแสง กลิ่น ความเก่าของอาคารและการวางวัตถุจัดแสดงที่สร้างความรู้สึกบางอย่างแก่ผู้เข้าชม รวมทั้งการใช้ภาษาของพิพิธภัณฑ์นี้ยังมีความน่าสนใจ ในการเลือกเขียนข้อความหรือแปะข้อความบางอย่างเพื่อแสดงข้อมูลวัตถุ และการเขียนชื่อ (naming) ของวัตถุบางชิ้น หรือการหายไปของชื่อ/ความทรงจำ และการกลายเป็นวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของร่าง/ซาก

บทความนี้จึงต้องการค้นหาชีวประวัติ,สายสาแหรกของพิพิธภัณฑ์พรรณนาสถานการณ์ปัจจุบัน/การเล่าเรื่องของพิพิธภัณฑ์นี้อย่างละเอียดจากการลงสนามจริงและการสำรวจเอกสาร เพื่อทบทวนถึงบทบาทและหน้าที่, การเป็นพื้นที่ความทรงจำ, และจริยธรรมในการจัดแสดงร่างมนุษย์และการรับผิดชอบต่อสังคม

คำสำคัญ: พิพิธภัณฑ์การแพทย์, การกลายเป็นวัตถุ, Dark tourism, หน้าที่และจริยธรรมของพิพิธภัณฑ์

ผู้เขียน

ธนพัฒน์ สืบเสาะ

สังกัด:   นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่อยู่:     40/8 ม.1 ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 16110

E-mail: rommai1230@gmail.com

ชาติพันธุ์จารึก

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งนำเสนอ เรื่องราวการสำรวจ การตีความ และการสื่อความหมายใหม่ (reinterpretation) ของเรื่องเล่าชาติพันธุ์จากจารึก ด้วยกระบวนทัศน์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเล่าเรื่องและเส้นทางการเรียนรู้ใหม่ ของพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม และนิทรรศการพิเศษเคลื่อนที่  “วิวิธชาติพันธุ์” สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย จากการวิจัยเอกสาร ต่อยอดการวิจัยเชิงปฏิบัติ

การศึกษาได้เจาะลึกนัยสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ปรากฏในเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ ด้วยแนวทางการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (participatory learning) และการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative learning) ให้เกิดพิพิธภัณฑวิจารณญาณปฏิบัติสร้างสรรค์ (Critical and creative museum praxis) ผ่านวัตถุทางสังคม นิทรรศการ และปฏิสัมพันธ์ ที่ผูกโยงกับเรื่องราวเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความผูกพันของผู้ชม ต่อมรดกวัฒนธรรมชาติพันธุ์ เชื่อมร้อยมิติทางประวัติศาสตร์สู่โลกแห่งชีวิตจริง

การศึกษาได้เผยให้เห็นแง่มุมและการตีความงานศึกษาวิจัยเรื่องชาติพันธุ์ในจารึกแบบใหม่ เพื่อรื้อสร้างมายาคติของเรื่องเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกมองข้าม หรือไม่เป็นที่กล่าวถึงมากนัก แม้กระทั่งในสภาวะแบบพหุสังคม (polyculture) ในโลกยุคปัจจุบัน นำมาสู่การออกแบบ Ethnic critical and creative narration      

บทความนี้จะถกแถลงแนวคิด วิธีวิจัย ข้อค้นพบ และการปรับประยุกต์ใช้ สะท้อนถึงความท้าทายและโอกาสในกระบวนการสื่อความหมายใหม่ในพิพิธภัณฑ์ การบูรณาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ก่อให้เกิดภาพตัวแทนที่ครอบคลุมความแตกต่างและจุดประกายบทสนทนา สร้างความเข้าใจ เข้าถึง และซาบซึ้ง ในสายใยทางวัฒนธรรม จากมุมมองชาติพันธุ์ที่ถูกซ่อนเร้นในประวัติศาสตร์จนสังคมอาจหลงลืมไป

ผู้เขียน

พิมชนน์ จันทร์งาม

สังกัด:  หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

E-mail: pimchon.cha@student.mahidol.ac.th

ธีรวรรณ มิ่งบัวหลวง

สังกัด:   สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่อยู่:  999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170