Panel 3: ผัสสะและจินตกรรมในพิพิธภัณฑ์

53
views

พิพิธภัณฑ์แห่งจินตภาพของงานดนตรีไทย:ผลสะท้อนทางภววิทยาและประวัติศาสตร์เพลงสยาม จากเอกสารโน้ตเพลงชุด “โหมโรงเย็น” ภายหลัง พ.ศ. 2475

บทคัดย่อ

ผู้เขียนต้องนำเสนอบทความปริทัศน์ความคิด ที่ปรากฏใน “The Imaginary Museum of Musical Works” ของ Lydia Goehr ซึ่งออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1992 ซึ่งเป็นงานเขียนทางปรัชญาที่สนใจความสำคัญของการคิดเชิงหน้าที่และบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในสังคมร่วมสมัย ซึ่งผู้เขียนได้พิจารณาภาวะเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์ความคิดของเรื่องดังกล่าวผ่านมิติเชิงสุนทรียภาพและปรัชญาทางดนตรี จากบทบาทดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์ที่ปรากฏราวศตวรรษที่ 15 ในฐานะพื้นที่กายภาพสำหรับการจัดแสดงวัตถุสำคัญต่าง ๆ แนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญเพราะเป็นส่วนกำหนดความหมายของวัตถุทางศิลปะทั่วไป แต่ในแง่หนึ่งกลับมีความจำกัดต่อเงื่อนไขการปรากฏตัวของ “งานดนตรี” (Musical Works) ในฐานะวัตถุที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Object) และผลงานทางศิลปะ (Art Works) ไปพร้อมกัน คำถามดังกล่าวได้นำสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับภววิทยาของดนตรี ผ่านธรรมชาติใน “งานของดนตรี” (Musical Works) ที่ปรากฏขึ้นราว ค.ศ. 1800

การพิจารณาเงื่อนไขที่ทำให้วัตถุทางศิลปะของงานดนตรี มีผลต่อวิธีการแสดงออกหรือการวางแนวทางเข้าสู่พื้นที่ทางความหมายจากการใคร่ครวญ โดยเฉพาะทัศนะที่เห็นความสำคัญของพื้นที่จินตภาพร่วมกับกายภาพ ทำให้เป็นพื้นที่ที่สนใจพิพิธภัณฑ์อย่างมีชีวิตชีวาและลื่นไหลเพื่อเข้าถึงได้หรือมีความเป็นสาธารณะมากเพียงพอบนภาวะร่วมสมัย โดยงานเขียนดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิพากษ์กระบวนการแปลความใหม่ (reinterpretation) รวมถึงเป็นการทบทวนแนวคิดและวิธีวิทยา (reconceptualizing and reconsidering methodology) ที่ใช้เดิมในภายในการจัดการความรู้สาขาดนตรีวิทยาไปพร้อมกัน 

คำสำคัญ: เพลงสยาม, เพลงชุดโหมโรงเย็น, พิพิธภัณฑ์แห่งจินตภาพ, ภววิทยาของงานดนตรีไทย

ผู้เขียน

ฟรานซีส นันตะสุคนธ์

สังกัด: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประจำภาควิชานาฏสังคีต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่อยู่: เลขที่ 6 ถนนราชมรรคาใน ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000

E-mail: francis.nunt@gmail.com

เสียงกับประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์ไทย

บทคัดย่อ

บทความนี้ศึกษาเสียงที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ และนิทรรศการในประเทศไทยผ่านประสบการณ์ โดยเปรียบเทียบ 3 กรณีศึกษา คือ พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์, นิทรรศการ Sound of soul (นิทรรศการเสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์) และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งทั้งสามแห่งนี้มีความแตกต่างกันในด้านของขนาด เนื้อหา และการควบคุมดูแล สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาคือการตั้งคำถามว่ากรณีทั้ง 3 แห่งนี้มีการใช้เสียงในการจัดนิทรรศการอย่างไร ทั้งบริบทแวดล้อมของเสียง (soundscape) เสียงดนตรี รวมถึงเสียงบรรยาย โดยใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเสียง (sound studies) เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเสียงในวงการพิพิธภัณฑ์ไทยในมิติต่างๆ ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษาดังกล่าว

ผลการศึกษาพบว่าการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์/ นิทรรศการในประเทศไทยยังต้องการองค์ความรู้และความเข้าใจในสังคมอีกมาก เนื่องจากผู้จัดทำและผู้ชมนิทรรศการเน้นการรับรู้ผ่านผัสสะการใช้สายตา และการสัมผัสมากกว่า โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานรัฐ แต่ในมิติหนึ่งยังพบว่ากลุ่มศิลปินที่ทำงานด้านเสียงยังมีการขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

คำสำคัญ การศึกษาเสียง, นิทรรศการเสียง, พิพิธภัณฑ์

ผู้เขียน

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ 

สังกัด:   นักวิชาการอิสระ

E-mail: jaruwan.dkc@gmail.com

ย่ำย่านโคมแดงในพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์

บทคัดย่อ

บทความเรื่อง “ย่ำย่านโคมแดงในพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” เป็นบทความที่ศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของพื้นที่พัฒน์พงศ์ พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ กับ ผู้หญิง เพศสถานะ และเพศวิถี ซึ่งถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ผ่านเนื้อหานิทรรศการ สิ่งของจัดแสดงทั้งแบบจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ การเล่าเรื่องของผู้นำชม การสัมภาษณ์ การมีส่วนร่วมของผู้ศึกษา รวมทั้งการวิเคราะห์เอกสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์ บทความ และการนำเสนอของสื่อ ผ่านกรอบแนวคิดสตรีนิยมและเพศสถานะ จากการศึกษาพบว่าพัฒน์พงศ์ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะย่านโคมแดงชื่อดังระดับโลกนั้น มีความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เชื่อมโยงกับบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบริบทโลกในด้านประวัติศาสตร์สังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความทันสมัย ความเป็นเมือง ความเป็นเพศในฐานะแหล่งบันเทิงเชิงเพศพาณิชย์ พิพิธภัณฑ์จึงเป็นพื้นที่นำเสนอและสะท้อนบทบาทกับสถานะและตัวตนของพนักงานบริการผู้หญิงและเพศสถานะอื่น ในการส่งเสียงเรื่องเล่าของกลุ่มผู้หญิงที่มีความแตกต่างทางสถานะ ชนชั้น เชื้อชาติ และการส่งเสียงกลุ่ม LGBTQ+ ผ่านนิทรรศการและกิจกรรม ดังนั้น การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 จึงเป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ของพื้นที่พัฒน์พงศ์ซึ่งถูกซุกไว้ใต้พรมมานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ยุคหลังอาณานิคมจนถึงยุคปัจจุบัน แนวคิดเสรีนิยมใหม่ในพื้นที่ผ่านระบบทุนนิยม ความเป็นอเมริกัน วัฒนธรรมกระแสนิยม และการนำเสนอย่านโคมแดงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางเลือกให้กับสังคมซึ่งเป็นการท้าทายกรอบเกณฑ์หลัก การท้าทายวาทกรรม และการท้าทายความทรงจำร่วมของผู้คนในแต่ละยุคสมัยที่มีต่อพื้นที่พัฒน์พงศ์

บทความนี้มีที่มาจากการปรับปรุงและดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนในวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สตรี เพศสถานะ และเพศวิถี) เรื่อง “ตามหาผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์” ที่เสนอต่อวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2565

คำสำคัญ : ประวัติศาสตร์พื้นที่พัฒน์พงศ์, ย่านโคมแดง, พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์, ผู้หญิงและเพศสถานะ 

ผู้เขียน

นงค์ลักษณ์ บัทเลอร์

สังกัด:   ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา) วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปีการศึกษา 2565)

ที่อยู่: 64/1 ซ.เอกมัย 23 ถ.สุขุมวิท 63 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

E-mail: nonglakspace@gmail.com

พิพิธภัณฑ์: พื้นที่แห่งการสร้างชาติ อำนาจแห่งความทรงจำ

บทคัดย่อ

แม้ว่าเมื่อมองผิวเผินแล้ว พิพิธภัณฑ์จะมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ประชาชน มีความเป็นกลาง และมีความน่าเชื่อถือ แต่พิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ของรัฐ มักมีการเมืองหรือความทรงจำและอัตลักษณ์ที่รัฐต้องการปลูกฝังให้แก่ประชาชนในชาติเสมอ ในขณะเดียวกัน กลุ่มต่างๆ ก็มักมีการต่อรองกับรัฐและสร้างความทรงจำในแบบฉบับของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน บทความนี้ต้องการสะท้อนบทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่เป็น “พื้นที่แห่งการสร้างชาติ อำนาจแห่งความทรงจำ” ของภาครัฐและผู้มีอำนาจ รวมถึงการเจรจาต่อรองอำนาจในตัวพิพิธภัณฑ์ ผ่านกรณีศึกษาของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกในหลายระดับตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น โดยพิจารณาในหลายมุมมองตั้งแต่ 1) พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ที่รัฐ ชนชั้นปกครอง หรือเจ้าอาณานิคมเป็นผู้ผูกขาดหรือมีอำนาจในการกำหนดความทรงจำในพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างทิศทางและความเป็นชาติภายในรัฐของตน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการเมืองแห่งความทรงจำและการประดิษฐ์สร้างพิธีกรรม (Politics of memory and Invention of Tradition) 2) รัฐสร้างความทรงจำของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ให้กับคนในชาติผ่านพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความทรงจำทางลบ (museums of negative memory) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมของระบอบการปกครอง หรือตัวผู้ปกครองเอง และ 3) กลุ่มต่างๆ ในสังคมสามารถสอดแทรกแนวคิดและความทรงจำ ต่อสู้แย่งชิง รวมถึงต่อรองอำนาจแห่งความทรงจำผ่านพิพิธภัณฑ์ได้ พิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้เป็นเพียงที่เก็บของเก่าและมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ความรู้กับคนที่มาเยี่ยมชมเท่านั้น แต่มีฐานะเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงอำนาจแห่งความทรงจำของคนทั้งชาติได้อย่างแท้จริง

คำสำคัญ: พิพิธภัณฑ์, รัฐ, อำนาจ, ความทรงจำ, การสร้างชาติ

ผู้เขียน

นายณัฐวัชร์ อุ่นจิตรเลิศ (นักศึกษาปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา)

สังกัด:   คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่อยู่: 148 ซอยติวานนท์ 35 ถนนติวานนท์ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

E-mail: nuttawat.richard@gmail.com