มรดกวัฒนธรรมเชิงช่างเมืองเพชร

1439
views

วัตถุจัดแสดง

สมุดภาพตำราลายไทย

ชิ้นงาน สมุดภาพตำราลายไทยของปญฺญาพโลภิกขุ (แนบ สุวรรณปัติย์)

            ซึ่งได้คัดลอกลายของครูช่างโบราณมารวมรวมไว้ในสมุดข่อย

ขนาด   กว้าง ๑๑.๗ เซนติเมตร ยาว ๓๖ เซนติเมตร

วัสดุ      กระดาษ

อายุสมัย ราวยุค ๒๔๙๐

ที่มา      เดิมเป็นสมบัติของปญฺญาพโลภิกขุ (แนบ สุวรรณปัติย์) ต่อมาอาจารย์แนบมอบให้

            หลวงพ่อเบี้ยว วัดพระทรง และหลวงเบี้ยวได้มอบต่อให้

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัวไทย แจ่มจันทร์ นำมาเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูเพชรบุรี          ปัจจุบันเก็บรักษาเพื่อการศึกษาวิจัยที่ ศูนย์ข้อมูลคติชนและวรรณกรรมลายลักษณ์เพชรบุรี            มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

            สมุดภาพตำราลายไทยของปญฺญาพโลภิกขุ (แนบ สุวรรณปัติย์) บันทึกไว้ในสมุดข่อยขาว ขนาดกว้าง ๑๑.๗ เซนติเมตร ยาว ๓๖ เซนติเมตร ด้านหนึ่งเป็นแบบเรียนมูลบทบรรพกิจ คาดว่าแต่เดิมสมุดข่อยเล่มนี้จะบันทึกแบบเรียนมูลบทบรรพกิจเอาไว้ด้านเดียว ปญฺญาพโลภิกขุ (แนบ สุวรรณปัติย์) จึงได้ใช้ด้านที่ว่างคัดลอกแบบลายครู ได้แก่ ครูละมุด ครูหวน คุณพ่อป้าว มาเก็บเอาไว้ ดังที่พบลายมือของปญฺญาพโลภิกขุ (แนบ สุวรรณปัติย์) แจ้งความไว้ในหน้าต้นของสมุดว่า

            “แจ้งความตามประสงค์ของข้าพะเจ้าแด่ท่านผู้เป็นยุวชน แลอยุวชนผู้ไฝ่ใจในสิลปหัตถ์กรรมช่างเขียนถ้าท่านประสงค์จะเรียนหรือต้องการเอาสมุดเล่มนี้ไปเป็นแบบ ขอท่านทั้งหลายจงจำสุภาสิตไหม่บทว่า ..ขอจงรักจงถนอมให้ดี.. นี้ไว้ในกระมลของท่านตลอดจีรังกาล เพราะเหตุที่ภาพต่าง ๆ ในสมุดนี้ ข้าพเจ้าบ มิได้เขียนเองเป็นแต่อุสาห์พยายามมานับเวลาปีที่ได้ลอกมาจากแบบครูใหญ่ต่าง ๆ ในจังหวัดนี้ อาทิเช่น ครูละมุด ครูหวน คุณพ่อป้าว แลภาพเมื่อสมัยร้อยปีที่ล่วงแล้วมาแลสมัยใหม่ก็มี แล้วล้วนแต่ดีทั้งนั้น ท้ายที่สุดขอวิงวอนท่านเป็นครั้งสุดท้ายว่าอย่าลืมกระทำตาม (แนบ สุวรรณปัติ)”

            กระบวนลายที่คัดลอกมาได้แก่

                        ลายกินรี

                        ลายหนุมานท่าต่างๆ

                        ลายพระเวสสันดร ชูชก

                        ลายหงส์

                        ลายนางทรงหงส์

                        ลายหน้าพระ

                        ลายหน้านาง

                        กระสวนช่อฟ้า แบบของพระครูเพชโรปมคุณ วัดเกาะ

                        ลายหน้ายักษ์ปากขบ

                        ลายหน้าทศกัณฐ์

                        ลายทศกัณฐ์นั่งเมือง

                        ลายหน้ายักษ์ตะเฆ่ขบฟัน

                        ลายทศกัณฐ์หน้าสั่งเมือง แบบครูละมุด

                        ลายพระนางสัมพาศ ๗ คู่

                        ลายพระนางท่ารำนาคาม้วนหาง

                        ลายหัวนาค ๓ แบบ

                        ลายเกสรสีห์

                        ลายราชสีห์

ช่องลมไม้ฉลุสลักลาย

ชิ้นงาน ช่องลมไม้ฉลุสลักลาย

ขนาด   กว้าง ๑๐.๙ เซนติเมตร ยาว ๖๒.๖ เซนติเมตร สูง ๑ เซนติเมตร

วัสดุ      ไม้สัก

อายุสมัย พ.ศ.๒๔๖๕

ที่มา      เดิมเป็นสมบัติของวัดพลับพลาชัย รื้อจากกุฏิเก่า พระปลัดเอื่อน ญาณสํวโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด   พลับพลาชัย มอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ปัจจุบันเก็บรักษาเพื่อการศึกษาวิจัยที่ ศูนย์ข้อมูล         คติชนและวรรณกรรมลายลักษณ์เพชรบุรี   มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

            วัดพลับพลาชัยถูกไฟไหม้พร้อมกับไฟไหม้ใหญ่เมืองเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ในครั้งนั้นกุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัยถูกไฟไหม้สูญเสียทั้งหมด หลังจากไฟไหม้ได้มีการสร้างเสนาสนะของวัดขึ้นมาใหม่ ได้แก่ หมู่กุฏิ ศาลาการเปรียญ และปฏิสังขรณ์อุโบสถ วิหาร งานประดับตกแต่งอาคารเครื่องไม้ของวัดพลับพลาชัยในยุคนี้นิยมตกแต่ง ช่องลม ช่องแสง หย่อง ด้วยการฉลุสลักลาย โดยมีเจ้าภาพออกทรัพย์เป็นส่วน ๆ และช่างจะจารึกชื่อเจ้าภาพไว้บนชิ้นงานนั้น ๆ พร้อมปี พ.ศ.ที่สร้างถวาย เช่น จารึก “พ่อล้ง ซินวรรโณ พ.ศ.๖๕” ในช่องลมไม้ฉลุสลักลายชิ้นนี้

            ยังไม่ทราบชื่อช่างฉลุสลักลายงานชิ้นนี้ แต่พบชื่อช่างที่ฉลุสลักลายช่องลมที่ศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัยระบุชื่อในชิ้นงานว่า “นายกล”

            ช่องลมไม้ฉลุสลักลาย “พ่อล้ง ซินวรรโณ พ.ศ.๖๕” ออกแบบเป็นลายเครือเถาดอกพุดตานและมีแพรแถบจารึกชื่อเจ้าภาพพร้อม พ.ศ.ที่สร้าง อยู่ตรงกลาง ใช้เทคนิคการฉลุลายโปร่งและสลักลายให้เกิดมิติอีกชั้นหนึ่ง      

กล่องใบลานฝังลายไม้มูก

ชิ้นงาน กล่องใบลานฝังลายไม้มูก

ขนาด   กว้าง ๑๐.๕ เซนติเมตร ยาว ๖๖ เซนติเมตร สูง ๑๑ เซนติเมตร

วัสดุ      ไม้สัก, ไม้มูกมัน

อายุสมัย ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ที่มา      เดิมเป็นสมบัติของวัดโคก ทางวัดปรับปรุงกุฏิ เจ้าอาวาสวัดโคก มอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี        ปัจจุบันเก็บรักษาเพื่อการศึกษาวิจัยที่ ศูนย์ข้อมูลคติชนและวรรณกรรมลายลักษณ์เพชรบุรี            มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

            เครื่องเรือนฝังลายไม้มูกหรือไม้โมกมันเป็นงานช่างที่ได้รับอิทธิพลจากยุโรป เริ่มเป็นที่นิยมในสยามในช่วงรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ นิยมนำไม้ที่มีสีต่างกันมาฉลุลายแล้วฝังลงในเนื้อไม้สัก เช่น ฝังลายไม้มูก ฝังลายไม้มะเกลือ งานที่พบมีทั้งการฝังแบบเดินเส้น ลายเลขาคณิต ลายประดับลวดลายต่าง ๆ ลายอักษรประดิษฐ์

            เครื่องเรือนฝังลายไม้มูกได้รับความนิยมอย่างมากในเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ ๕ จากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่นิยมทำเป็น ตู้ คันฉ่อง กรอบรูป ธรรมาสน์ กล่องคัมภีร์ ฝาเรือน ฝีมือการฝังไม้มูกของช่างเมืองเพชรได้รับการยอมรับในหมู่นักสะสมว่าเป็นฝีมือชั้นยอด เพราะสามารถออกแบบลวดลายได้งดงาม ฝังลายละเอียด ประณีต

            สมัยก่อนมีค่านิยมในหมู่พระภิกษุของเมืองเพชรบุรีในการต่อตู้ไว้ใช้เมื่อบวชหลาย ๆ พรรษา พระนวกะได้ฝึกหัดเลื่อยไม้ เข้าสลักไม้ ประกอบตู้ ออกแบบตกแต่ง กับพระอาวุโสที่มีฝีมือในวัด บางสำนักก็ประดับลวดลายด้วยการฝังไม้มูก เมื่อลาสิกขากลับไปอยู่บ้านตู้บางใบที่ต่อเอาไว้ก็ได้นำกลับบ้านไปด้วย และบางครั้งก็ไปต่อเพิ่มในภายหลัง เมืองเพชรบุรีจึงยังมีเครื่องเรือนฝังไม้มูกติดบ้านเรือน ติดวัดอยู่มาก

            งานฝังลายไม้มูกที่มีชื่อเสียง คือ ตู้ฝังลายไม้มูกฝีมือพระครูญาณวิจัย (ยิด) วัดเกาะ ตู้ฝังลายไม้มูกฝีมือพระอาจารย์เป้า วัดพระทรง ฝาเฟี้ยมฝังลายไม้มูกวัดป่าแป้น

            ปัจจุบันยังมีช่างเมืองเพชรที่ทำงานฝังลายไม้มูกอยู่ ได้แก่ ช่างรุ่งฟ้า ตาละลักษมณ์ ช่างนิยม ราชเจริญ

            กล่องใบลานฝังลายไม้มูกที่จัดแสดงในครั้งนี้ออกแบบฝังลายไม้มูกที่ฝาเป็นลายช่อดอกไม้ประดิษฐ์แบบลายขนมปังขิงของยุโรป และเดินเส้นล้อมรอบลายสองรอบ

กระดาษทองตอกลายประดับเครื่องเมรุ

ชิ้นงาน กระดาษทองตอกลายประดับเครื่องเมรุ

ขนาด   กว้าง ๑๘ เซนติเมตร ยาว ๒๖ เซนติเมตร

วัสดุ      กระดาษตะกั่ว

อายุสมัย ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ที่มา      เดิมเป็นสมบัติของกุฏิพระครูธรรมธรไซ วัดลาด ต่อมากุฏิคณะนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา และชำรุด           ทรุดโทรมลง ทางวัดรื้อถอนกุฏิปรับปรุงผังวัด เจ้าอาวาสวัดลาด มอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี            ปัจจุบันเก็บรักษาเพื่อการศึกษาวิจัยที่ ศูนย์ข้อมูลคติชนและวรรณกรรมลายลักษณ์เพชรบุรี         มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

            ช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึงช่วง พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นยุคที่เมืองเพชรบุรีเกิดค่านิยมในการสร้างเมรุชั่วคราวและเครื่องตั้ง เพื่อใช้ในการเผาศพเมรุชั่วคราวและเครื่องตั้งที่จัดสร้างนิยมประดับตกแต่งด้วยการเขียนลาย ตอกลายกระดาษประดับ การออกแบบและประดับลวดลายบนเมรุชั่วคราวและเครื่องตั้งเป็นของที่เกิดขึ้นเสมอ เพราะเมื่อทำขึ้นมาใช้แล้วมักเผาเมรุและเครื่องตั้งไปพร้อมกับศพ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์ไว้ว่า

         “ที่เมืองเพชรบุรียังใช้ธรรมเนียมเดิมอีกอย่างหนึ่งที่เผาเมรุไปด้วยกันกับศพ ด้วยเหตุนั้นที่เมืองเพชรบุรีจึงยังมีช่างมาก เพราะมีการทำเมรุเครื่องกระดาษอยู่เสมอ”

            สำนักช่างเมรุที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ได้แก่ วัดยาง วัดพลับพลาชัย วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดพระทรง วัดลาด วัดเกาะ ทุกสำนักจะมีช่างประจำสำนักทั้งพระและฆราวาสที่มีความสามารถในด้านการออกแบบ การทำโครงสร้าง การเขียนลาย แกะสลัก ตอกลายกระดาษประดับตกแต่งเมรุและเครื่องตั้ง ช่างแต่ละสำนักจะสะสมแบบลายไว้ใช้งาน และนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับงานในแต่ละครั้งได้อย่างลงตัว การออกแบบแต่ละครั้งถือเป็นการอวดฝีมือเชิงช่างของสำนักนั้น ๆ เพราะเมื่อมีการตั้งเมรุครั้งใหญ่ ผู้คนในเมืองก็จะตามไปชมกันและกลับมาบอกเล่าถึงฝีมือของคณะผู้จัดสร้าง

            กระดาษทองตอกลายประดับเครื่องเมรุที่จัดแสดงชิ้นนี้ ตอกลงบนกระดาษตะกั่วสีทอง เป็นฝีมือของช่างในสำนักพระครูธรรมธรไซ วัดลาด ตอกเป็นลายยอดมงกุฏ ภายในออกแบบเป็นลายกนก และลายประจำยาม ในส่วนของการใช้งานสันนิษฐานว่า ใช้ประดับลูกหีบ ลูกโกศ หรือส่วนยอดของกรอบภาพผู้วายชนม์

ลายบัวก้นถ้วย

ชิ้นงาน ลายบัวก้นถ้วยฝีมือพระครูญาณวิจัย (ยิด สุวณฺโณ) วัดเกาะ

ขนาด   กว้าง ๑๗.๕ เซนติเมตร ยาว ๒๐.๕ เซนติเมตร

วัสดุ      กระดาษ

อายุสมัย พ.ศ.๒๔๗๐

ที่มา      พระอาจารย์อาบ ปญฺญาวุฒฺโฑ ซึ่งเป็นศิษย์พระครูญาณวิจัย (ยิด สุวณฺโณ) วัดเกาะ

            เก็บกระดาษลายบัวก้นถ้วยมาจากลิ้นชักตู้ของพระครูญาณวิจัย โดยเขียนกำกับแผ่นกระดาษใน   ภายหลังระบุว่าพระครูญาณวิจัยเขียนลายนี้ขึ้นใน พ.ศ.๒๔๗๐ พระอาจารย์อาบเป็นศิษย์เรียนวิชาช่าง กับพระครูญาณวิจัย และพระอาจารย์เป้า วัดพระทรง ได้รวบรวมลายครูและลายที่ฝึกหัดกับครูเอาไว้       มาก เมื่อท่านมรณภาพแล้วตำรับตำราก็สูญไป

            วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้รับแจ้ง          จากคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เจ้าของสำนักพิมพ์ ต้นฉบับว่า พบตำราลายของเมืองเพชรบุรีชุดหนึ่ง    วางขายอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม จึงได้ประสานงานไปยังผู้ขาย และ      ซื้อกลับมาเก็บไว้ที่เมืองเพชรบุรี เมื่อนำกลับมาตรวจสอบพบว่าเป็นตำราลายที่พระอาจารย์อาบได้       ฝึกหัดเขียน และรวบรวมลายครูเอาไว้บางส่วน

ข้อมูลเพิ่มเติม

         วัดเกาะเป็นสำนักช่างมาแต่โบราณ เจ้าอาวาสหลายรูปและพระในวัดมีฝีมือทางการช่างสืบต่อกันมาหลายรุ่น เช่น พระอธิการโฉม พระครูเพชโรปมคุณ(เหลื่อม) พระครูญาณวิจัย(ยิด) พระครูเพชโรปมคุณ(หลุย) พระอาจารย์พร พระอาจารย์อาบ พระครูพิจิตรสรคุณ(เกิน) พระอาจารย์เสถียร นายกลิ้ง อยู่โปร่ง นายเล้ง เชยสุวรรณ นายชุ่ม สุวรรณช่าง นายเอี่ยน ชูบดินทร์ นายอนันต์ ชาติน้ำเพชร

            นายช่างประเภทหนึ่งที่สืบทอดกันมาในวัดเกาะคืองานเมรุ แม้ในปัจจุบันวัดเกาะก็ยังมีเมรุที่ออกงานได้ถึงสองคณะ ในยุคที่ค่านิยมในการใช้เมรุเครื่องกระดาษครั้งเดียวแล้วเผาไปพร้อมกับศพนั้น ช่างเมรุต้องสะสมความรู้เรื่องลายเพื่อที่จะใช้ในการออกแบบให้หลากหลาย ลายบัวก้นถ้วยก็เป็นอีกหนึ่งลายที่ใช้งานกันในสำนักวัดเกาะ

            ลายบัวก้นถ้วยที่นำมาจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นฝีมือของพระครูญาณวิจัย (ยิด สุวณฺโณ) ที่พระอาจารย์อาบ ปญฺญาวุฒฺโฑ ซึ่งเป็นศิษย์เก็บแผ่นกระดาษลายบัวก้นถ้วยมาจากลิ้นชักตู้ของพระครูญาณวิจัย โดยเขียนกำกับแผ่นกระดาษในภายหลังระบุข้อมูลเกี่ยวกับลายบัวก้นถ้วยนี้ว่า

            “พระอุปัชฌายะ(ยิด) อุปัชฌายะของข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐

            ได้เลี้ยงข้าพเจ้ามาแต่อายุ ๙ ขวบจนบวชอยู่จนอุปัชฌายะเสียไปฉิ๊บ

            พระอาบเป็นผู้เก็บไว้เป็นแบบครู จงรักษาแบบไว้ให้ยืนนานข้าพเจ้าเก็บมานานแล้ว

            ลายบัวก้นถ้วยลายสลักเอาตัวออก

            นี่บัวก้นถ้วย ถ้าจะเอาแบบนี้ไว้ ให้ไปอัดกอปี้เก็บไว้ดูก็ดี เฉพาะผู้สนใจในเรื่องลาย

            อยู่ที่ตีนไม้ ตีนลูกหีบนอน”

            ลายบัวก้นถ้วยเป็นลายประดับในส่วนของตีนไม้ และตีนลูกหีบนอน สันนิษฐานว่ามีที่มาจากลายบัวที่ก้นถ้วยลายครามหรือก้นถ้วยเบญจรงค์ ซึ่งเป็นของสยามสั่งทำจากจีน

ลายกนกฝีมือพระอาจารย์เป้า วัดพระทรง

ชิ้นงาน ลายกนกฝีมือพระอาจารย์เป้า วัดพระทรง

ขนาด   กว้าง ๑๙.๕ เซนติเมตร ยาว ๒๗ เซนติเมตร

วัสดุ      กระดาษ

อายุสมัย พ.ศ.๒๔๙๑

ที่มา    พระอาจารย์อาบ ปญฺญาวุฒฺโฑ ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์เป้า วัดพระทรง ได้ฝึกเขียนลายกับ                   พระอาจารย์เป้า วัดพระทรง เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ โดยฝึกเขียนลงในสมุดวาดเขียน และบางครั้งก็ได้ให้       พระอาจารย์เป้าเขียนลายเป็นแบบให้ในสมุด ดังเช่น ลายกนกที่นำมาจัดแสดงนี้ 

            พระอาจารย์อาบ ได้รวบรวมลายครูและลายที่ฝึกหัดกับครูเอาไว้มาก เมื่อท่านมรณภาพแล้ว       ตำรับตำราก็สูญไป

            วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้รับแจ้ง          จากคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เจ้าของสำนักพิมพ์ ต้นฉบับว่า พบตำราลายของเมืองเพชรบุรีชุดหนึ่ง    วางขายอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม จึงได้ประสานงานไปยังผู้ขาย และ      ซื้อกลับมาเก็บไว้ที่เมืองเพชรบุรี เมื่อนำกลับมาตรวจสอบพบว่าเป็นตำราลายที่พระอาจารย์อาบได้       ฝึกหัดเขียน และมีบางส่วนเป็นผลงานของพระอาจารย์เป้าที่เขียนเป็นแบบไว้

ข้อมูลเพิ่มเติม

         พระอาจารย์เป้า วัดพระทรง เป็นช่างฝีมือคนสำคัญของเมืองเพชรบุรี มีผู้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ฝึกหัดงานเขียนงานช่างกันมากทั้งพระและฆราวาส ซึ่งพระอาจารย์อาบก็เป็นศิษย์ผู้หนึ่งของท่าน แต่ในช่วงที่พระอาจารย์อาบไปฝากตัวเป็นศิษย์ฝึกหัดงานเขียนกับพระอาจารย์เป้านั้น เป็นช่วงบั้นปลายชีวิตของพระอาจารย์เป้าแล้ว แต่ถึงกระนั้นฝีมือในการเขียนลายของพระอาจารย์เป้าก็ยังงดงามอยู่

            พระอาจารย์อาบ ปญฺญาวุฒฺโฑ ได้เขียนกำกับในภายหลังระบุข้อมูลเกี่ยวกับลายกนกของพระอาจารย์เป้าว่า

            “แบบครู ลายมืออาจารย์ป้าว วัดพระทรง เขียนไว้ให้เป็นแบบ พ.ศ.๒๔๙๑

            จงรักษาแบบครูไว้ให้ดี นี่ครูเขียนด้วยมือของท่านเองเชียวน๊ะ ทำเป็นเล่นไป

            ถ้าเอาเปิดดู อย่าชิงกันระวังจะขาด ๆ เว้ย ๆ ไอ้คนใหม่ ๆ เดี๋ยวนี้ มันค่อยจะรู้จักของดี ”

ธรรมาสน์

ชิ้นงาน ธรรมาสน์

ขนาด   กว้าง ๙๗ เซนติเมตร ยาว ๙๗ เซนติเมตร สูง ๙๖ เซนติเมตร

วัสดุ      ไม้

อายุสมัย ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๕

ที่มา      ไม่ทราบแหล่งเดิม ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัวไทย แจ่มจันทร์ นำมาเก็บรักษาไว้ที่ห้องจัดแสดงศูนย์   ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูเพชรบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่หอพักชาย ๑ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๖ หอพักชาย ๑ รื้อ ลง อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม          ปัจจุบันเก็บรักษาเพื่อการศึกษาวิจัยที่ ศูนย์ข้อมูลคติชนและวรรณกรรมลายลักษณ์เพชรบุรี       มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

            ธรรมาสน์ คือ ที่สําหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรม ธรรมาสน์มีหลากหลายรูปแบบลักษณะ แต่โดยทั่วไปแล้วออกแบบเป็นที่นั่งหรือยกพื้นสูงกว่าระดับปกติที่คนทั้งหลายนั่ง จะมีหลังคาหรือไม่มีหลังคาก็ได้ แต่ต้องใช้สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรมเป็นประจำ เป็นการถาวร จึงเรียกธรรมาสน์ หากไม่ได้ใช้เป็นประจำ ไม่ได้ใช้เป็นการถาวร เช่น นิมนต์พระมาเทศน์ที่บ้านโดยจัดที่ให้เทศน์บนตั่งตัวใหญ่ ก็ไม่เรียกตั่งนั้นว่าธรรมาสน์ แต่ในทางกลับกันหากยกตั่งถวายให้สงฆ์ใช้เป็นที่นั่งแสดงธรรมเป็นประจำ เป็นการถาวร ก็เรียกตั่งนั้นว่าธรรมาสน์ได้

            จากข้อความที่อธิบายมาจะเห็นว่า คำว่า ธรรมาสน์ นั้นกำหนดภาษาขึ้นมาตามหน้าที่การใช้งาน โดยการสร้างศัพท์มาจากคำว่า ธรรม หมายถึง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และอาสนะ หมายถึง ที่นั่ง เป็นคำราชาศัพท์ใช้กับพระภิกษุสามเณร

            ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระธรรมเป็นที่เคารพสูงสุดของพุทธบริษัท แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพและให้ความสำคัญต่อพระธรรม และเมื่อจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานยังได้ทรงเตือนให้พุทธบริษัทยึดมั่นในพระธรรม การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนา ดังนั้นเมื่อมีการแสดงธรรมจึงจัดให้ผู้แสดงธรรมอันได้แก่พระภิกษุสงฆ์และสามเณรผู้นั้นได้นั่งบนที่สูงเป็นการยกย่องให้ความเคารพพระธรรม

            ในชั้นแรกธรรมาสน์ในเมืองไทยคงมีลักษณะเรียบง่าย โดยการเป็นที่นั่งยกพื้นขึ้นมาให้สูงกว่าที่นั่งปกติ ดังปรากฏรูปแบบของพระแท่นมนังศิลา ซึ่งพ่อขุนรามคำแหง ให้ช่างสร้างขึ้นจากแผ่นหินตั้งไว้กลางดงตาลสำหรับเป็นที่พระสงฆ์แสดงธรรมในวันพระในสมัยสุโขทัย ต่อมาจึงได้มีการพัฒนารูปแบบธรรมาสน์ให้งดงามมากขึ้น จนพัฒนามาสู่ขั้นสูงสุดที่เรียกว่า ธรรมาสน์บุษบก ในสมัยอยุธยา

            บุษบกคือรูปแบบสถาปัตยกรรมทรงเรือนด้านข้างทั้งสี่ทิศโปร่งมียอดซ้อนชั้นเป็นทรงแหลมสูงขึ้นไป ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ประดิษฐานพระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ หรือสิ่งของสำคัญต่างๆ (สมัยอยุธยามีการอัญเชิญพระราชสาส์นไว้บนบุษบก)  ในบางโอกาสสามารถเคลื่อนย้ายไปบุษบกไปในพิธีต่างๆได้ทั้งทางบกและทางน้ำ บุษบกมีขนาดเล็กจำลองรูปทรงมาจากปราสาทหรือมณฑป

            ธรรมาสน์บุษบก จึงหมายถึงธรรมาสน์ที่มีเรือนยอดเป็นทรงแหลมสูงประดับด้วยลวดลายวิจิตรงดงาม

            คติในการสร้างธรรมาสน์บุษบก

            รูปแบบของธรรมาสน์บุษบกนั้นเป็นการจำลองแบบมาจากปราสาทหรือมณฑป ซึ่งการใช้ปราสาทหรือมณฑปนั้นมีคติให้ใช้สำหรับ พระมหากษัตริย์ พระผู้เป็นเจ้า และพระพุทธเจ้า เท่านั้น ในเบื้องต้นการสร้างธรรมาสน์บุษบกคงเป็นพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ในการยกย่องเทิดทูนพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีพระราชดำริโปรดเกล้าฯให้นายช่างนำรูปแบบเรือนยอดแบบบุษบกไปสร้างธรรมาสน์ ต่อมาคตินี้จึงแพร่หลายไปทั่วและใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้

            แม้พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับนิมนต์ขึ้นเทศน์จะมีพื้นฐานมาจากบุตรหลานชาวบ้าน แต่เมื่อได้ทำหน้าที่เป็นองค์แสดงธรรมย่อมได้ขึ้นธรรมาสน์ทุกรูป เพราะจุดหมายของการยกย่องให้นั่งบนธรรมาสน์นั้นมิได้หวังเชิดชูบุคคล แต่มุ่งไปที่การถวายความเคารพและน้อมน้อมพระธรรมอันอยู่ในมือพระภิกษุและสามเณรอย่างสูงสุด

            นายช่างโบราณนั้นทำงานศิลป์ไปพร้อมกับการสอดแทรกองค์ความรู้ทางศาสนาเข้าไปบนชิ้นงาน ช่างโบราณจึงต้องรู้คติปรัมปรา พุทธประวัติ ชาดก และนิทานต่างๆ อันจะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานตามเนื้อหาที่รับรู้ร่วมกันในสังคม ธรรมาสน์บุบบกจึงเป็นแหล่งรวมความรู้ทั้งทางด้านงานช่างและวรรณกรรมไปพร้อมๆกัน

            ธรรมาสน์บุษบกหลังใหญ่สมัยอยุธยาที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก นายช่างแกะฐานบันไดชั้นล่างเป็นรูปกวางหมอบ แสดงนัยยะแห่งการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าแก่ปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นป่าที่มีกวางมาก ดังคำว่า “มฤค” ที่แปลว่ากวาง

            ธรรมาสน์บางหลังแสดงนัยยะการเป็นเวชยันตปราสาท ปราสาทของพระอินทร์บนสวรรค์ดาวดึงส์ โดยถือคติพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์โปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ดาวดึงส์ ดังนั้นการแกะสลักชั้นฐานของธรรมาสน์ด้วยรูปสัตว์ต่างๆตลอดไปถึงคนธรรรพ์ นาค ยักษ์ จึงสื่อไปถึงคติป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งของดาวดึงส์สวรรค์ บางครั้งช่างแกะเป็นรูปพญาครุฑก็สื่อไปถึงวิมานฉิมพลีที่เขาพระสุเมรุ ส่วนรูปเทวดาตลอดไปถึงเทพนมทั้งหลายนั้นก็สื่อไปถึงเนื้อหาเช่นเดียวกันนี้

ยังมีคติแกะรูปนักษัตรราศีต่างๆ รองบันไดธรรมาสน์ก็สื่อความหมายไปถึงปีสร้างธรรมาสน์หรือปีเกิดของผู้เป็นเจ้าภาพสร้างธรรมาสน์ได้เช่นกัน

            ธรรมาสน์เมืองเพชร

            เพชรบุรีมีธรรมาสน์บุษบกตั้งแต่สมัยอยุธยาอยู่หลายหลัง ที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือธรรมาสน์หลังเก่าที่อยู่บนศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม นอกจากนี้ก็ยังมีอยู่ที่วัดพระรูป วัดในกลาง วัดศาลาเขื่อน และวัดเพชรพลี

            ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังคงนิยมสร้างธรรมาสน์กันอยู่ในเมืองเพชรบุรี แต่ยุคที่มีงานธรรมาสน์ชั้นยอดของเพชรบุรีเกิดขึ้นนั้นอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงช่วงราวๆ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้นๆ และขอเรียกยุคนี้ว่ายุคทองของธรรมาสน์เมืองเพชร วัดใหญ่ ๆ ในเพชรบุรีซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มีอายุมาก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ และมีศาลาการเปรียญ มักมีธรรมาสน์บุบบกแทบทั้งสิ้น

            ธรรมาสน์ยุคเฟื่องฟูที่มีชื่อเสียงและมีผู้นิยมมาชมกันมากที่เมืองเพชรได้แก่ ธรรมาสน์วัดเกาะ ฝีมือช่างกลิ้ง อยู่โปร่งและคณะ ธรรมาสน์วัดชีว์ประเสริฐ ฝีมือช่างเล้ง เชยสุวรรณและคณะ ธรรมาสน์วัดพระทรง ฝีมือขุนศรีวังยศและคณะ ใช่แต่เท่านี้เพชรบุรียังมีธรรมาสน์หลังงามๆอีกมากที่น่าสนใจ ซ่อนตัวอยู่ตามวัดต่างๆ บางวัดยังใช้งานอยู่แต่บางวัดก็เลิกใช้ไปแล้ว ช่างผู้ออกแบบและแกะสลักธรรมาสน์ก็มีมาก เช่น พระเทพวงศาจารย์ (อินทร์) ครูเลิศ พ่วงพระเดช นายบัว นาวีวงศ์ นายหล้า ตู้มุกดา เป็นต้น

            ธรรมาสน์หลังหนึ่งใช้แรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก การสร้างธรรมาสน์หนึ่งครั้งจึงอาจสร้างช่างรุ่นใหม่ซึ่งจะได้เรียนรู้จากช่างชั้นครูได้เสมอ พระครูพิจิตรสรคุณ (พระอาจารย์เกิน) วัดเกาะ กล่าวว่าเมื่อครั้งสร้างธรรมาสน์วัดเกาะ มีช่าง มีพระ ได้ช่วยงานกันหลายท่าน ใครที่พึ่งจะแกะไม้ได้ฝีมือยังไม่ละเอียดนัก ท่านให้แกะกระจังตัวเล็กๆ ซึ่งจะนำไปใช้ติดในส่วนหลังคาซึ่งอยู่สูง คนมองไม่ค่อยเห็น การสร้างธรรมาสน์จึงนับเป็นสนามฝึกฝีมือให้กับช่างรุ่นใหม่ได้เสมอ นับเป็นการสิบทอดงานช่างได้ทางหนึ่ง

            มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับยุคเฟื่องของธรรมาสน์เพชรบุรีว่าเป็นยุคเดียวกับการเฟื่องฟูของการสร้างเมรุเผาศพชั่วคราวในเมืองเพชรบุรี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จเล่ม ๘ ว่า

            “ที่เมืองเพชรบุรียังใช้ธรรมเนียมเดิมอีกอย่างหนึ่งที่เผาเมรุไปด้วยกันกับศพ ด้วยเหตุนั้นที่เมืองเพชรบุรีจึงยังมีช่างมาก เพราะมีการทำเมรุเครื่องกระดาษอยู่เสมอ”

            ด้วยเหตุนั้นที่เมืองเพชรบุรีจึงยังมีช่างมาก ช่างที่มีอยู่มากนี้จึงหมายถึงช่างสร้างธรรมาสน์ด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วช่างสร้างเมรุของวัดต่างๆมักมีผลงานสร้างธรรมาสน์ไปควบคู่กันด้วย เช่น วัดเกาะ วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดพระทรง วัดยาง วัดพลับพลาชัย เป็นต้น องค์ความรู้ด้านการวาด เขียนแบบ แกะสลัก ปิดทอง ประดับกระจก งานช่างไม้ ซึ่งใช้ในการสร้างเมรุนั้นย่อมใช้ในการสร้างธรรมาสน์ควบคู่กันไปด้วย

            รูปแบบของธรรมาสน์บุษบกกับรูปแบบของเมรุในยุคนี้จึงส่งผลทางด้านความคิดต่อกัน เช่นธรรมาสน์บุษบกของวัดชีว์ประเสริฐ วัดธงชัย วัดลาดโพธิ์ ซึ่งแกะล่องถุนเป็นเรื่องรามเกียรติ์นั้นน่าจะได้อิทธิพลมาจากการแกะสลักและเขียนภาพล่องถุนด้วยเรื่องรามเกียรติ์ของเมรุเมืองเพชรในยุคเดียวกันนี้ ซึ่งคติในการสร้างงานแกะสลักหรือภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ประดับล่องถุนเมรุนั้นสืบเนื่องมาจากความนิยมของหลวง กล่าวคือในยุคโบราณนั้นนิยมทำรูปสัตว์หิมพานต์ประดับเชิงพระเมรุมาศแสดงลักษณะเขาพระสุเมรุ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นหุ่นใส่ในตู้กระจกเล็กๆตั้งแสดงเรื่องในวรรณคดีอย่าง เช่น เรื่องรามเกียรติ์โดยไม่สนใจคติเขาพระสุเมรุอีก

            ในยุคนี้ช่างเมืองเพชรนิยมออกแบบเมรุให้เป็นทรงฝรั่ง ทรงจีน ตามสมัยนิยมให้ดูแปลกตาไปจากทรงปราสาท ทรงมณฑป ตามแบบประเพณีเดิม ธรรมาสน์บางหลังในยุคนี้ก็ออกยักเยื้องจากธรรมาสน์บุษบกยอดมณฑป หรือยอดปราสาท ไปเป็นธรรมาสน์ทรงฝรั่ง ธรรมมาสน์ทรงเก๋งจีน เช่น ธรรมาสน์ทรงฝรั่งจากวัดท่าศาลารามที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ธรรมาสน์ทางเก๋งจีนวัดนายาง

            นอกจากธรรมาสน์บุษบกแล้ว ยังมีธรรมาสน์อีกชนิดหนึ่ง ใช้เทศน์บนศาลา หอฉัน หรือใช้สำหรับพระภิกษุนั่งสวดปาฏิโมกข์ในโบสถ์ ธรรมาสน์ชนิดนี้มีรูปทรงคล้ายเก้าอี้ขนาดใหญ่ นิยมทำขากลึง สลักลวดลายเครือวัลย์ เป็นรูปแบบศิลปกรรมแบบวิกตอเรียนสไตล์ เพราะเป็นยุคที่ธรรมาสน์ที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบเครื่องเรือนยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ธรรมาสน์รุ่นนี้มีอายุอยู่ในราวรัชกาลที่ ๕ จนถึงช่วงราวๆ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้นๆ ธรรมาสน์แบบนี้บางตัวมีการฝังลายไม้มูกตกแต่ง บางตัวมีการใช้ไม้ลายฉลุตกแต่งด้วยลายขนมปังขิง (Gingerbread) ซึ่งเป็นลายเลียนแบบขนมปังขิงของชาวยุโรป มีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งคล้ายขิง เป็นลวดลายที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยวิกตอเรียซึ่งตรงกับสมัยการปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ดังตัวอย่างธรรมาสน์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้

            ธรรมาสน์ทั้งหลายที่ผู้สร้างมีศรัทธาสร้างขึ้นด้วยเจตนากุศลในการยกย่องเทิดทูนพระธรรม จึงประณีตไปด้วยงานช่าง คติ วรรณกรรม และศรัทธาอันเปี่ยมล้นต่อพระพุทธศาสนา การดูแลรักษาธรรมาสน์อย่างถูกต้องจึงนับเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง ตลอดจนเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่แฝงไว้ทั้งทางโลก และทางธรรม ได้อย่างลึกซึ้ง

            ปัจจุบันหลายวัดที่มีธรรมาสน์บุษบกไม่ได้ให้พระขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์แล้ว บางวัดก็ไม่ได้ใช้พื้นที่บนศาลาการเปรียญเลย บางวัดใช้ปีละครั้งในโอกาสจัดเทศน์มหาชาติเท่านั้น แต่ยังมีหลายวัดที่ยังคงมีพระขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์บุษบกตลอดพรรษาที่มีโยมไปถืออุโบสถ หรือทุกวันพระ การใช้ธรรมาสน์บุษบกอยู่เสมอ น่าจะเป็นผลดีต่อธรรมาสน์ เพราะจะช่วยให้ธรรมาสน์ได้รับการดูแลทำความสะอาดอยู่เสมอ ไม่รกร้างไป เหมือนบ้านที่มีคนอยู่ย่อมไม่โทรมไปอย่างบ้านร้าง นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสให้ธรรมาสน์ได้ทำหน้าที่ยกย่องเชิดชูพระธรรมสมดังเจตนาของผู้สร้างสืบมาแต่ครั้งโบราณอีกด้วย

ฉากมหาชาติกัณฑ์กุมาร วัดขุนตรา

ชื่อวัตถุ ฉากมหาชาติกัณฑ์กุมาร วัดขุนตรา

ขนาด   กว้าง (รวมกรอบ) ๖๔.๕ เซนติเมตร สูง (รวมกรอบ) ๘๓ เซนติเมตร หนา (รวมกรอบ) ๓.๕ เซนติเมตร

วัสดุ      ไม้

อายุสมัย พ.ศ. ๒๔๖๒

ที่มา    ฉากมหาชาติ กัณฑ์กุมาร วัดขุนตรา พระอาจารย์เซ่ง เป็นผู้รวบรวมศรัทธา และจ้างพระเลิศ (อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช) เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ เขียนภาพพระเวสสันดรลงจากคันธกุฎี ลงไปตามตัวพระชาลี และพระกัณหา ที่หนีลงไปซ่อนตัวอยู่ในสระโบกขรณี พื้นหลังเขียนภาพทิวทัศน์และสัตว์ป่าต่าง ๆ

            ด้านล่างของภาพมีกรอบข้อความเขียนระบุไว้ว่า

            “๏ กัณฑ์กุมาร ๑๐๑ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งเป็นผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน ศร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อเดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำ พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ พรรษา ขอไห้สำเร็จแก่พระนิพพาน”

ข้อมูลเพิ่มเติม

เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีธรรมเนียมนิยมในการฟังเทศน์มหาชาติ วัดต่างๆ มีการจัดเทศน์มหาชาติประจำทุกปี นอกจากจะมีการเทศน์มหาชาติในวัดแล้ว ตามหมู่บ้านต่างๆก็ยังนิยมจัดเทศน์มหาชาติ หรือที่เรียกว่าเทศน์คาถาพัน และในระดับครอบครัวก็ยังมีธรรมเนียมการจัดเทศน์คาถาพันในบ้าน ในฐานะบุคคล บุญของการเป็นเจ้าภาพจัดเทศน์คาถาพันเป็นหนึ่งในสามบุญที่ถือว่าได้กุศลแรง ได้แก่ บุญบวชลูก บุญทอดกฐิน และบุญเทศน์คาถาพัน

เมื่อมีค่านิยมในการฟังเทศน์มหาชาติ จึงมีพระสงฆ์หัดเทศน์มหาชาติกันมาก โดยมีอาจารย์ผู้ฝึกหัดทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ตลอดจนมีการแต่งและคัดลอกมหาชาติสำนวนต่างๆออกไปอย่างแพร่หลาย

พบหลักฐานค่านิยมการจัดเทศน์มหาชาติในสมัยรัชกาลที่ ๒ ดังปรากฏในแผ่นไม้จารึกการสร้างอุโบสถวัดศาลาเขื่อน อ.บ้านลาด ว่า

“พุทธศักราชไทย ๒๓๕๔ พระวสา ปีวอก จัตวาศก ตามากบานขนอน ตามีศาลาเขียน นายมีบานลหานนอย นายเพชรบานปากเหมือง ชวนกันใหยมีมหาชาดวัดศาลาเขียนสามปีได้เงิน ๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ สลึง ๑ เฟื้อง สางอุโบสถสิ่นเงินทองกันนั้น แล้วยังใมยภอทายกผู้มีชืเปนอันมากชวยเปนเงิน ๒ ชั่ง ๑๓ ตำลึง แล้วเสดเปนเงินเจดชังสามส่ลิงเฟื่อง”

ส่วนในวรรณกรรมเรื่องเณรเภา ซึ่งเป็นกลอนสวด พบที่วัดโคก ระบุนามพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงในสมัยที่แต่งวรรณกรรม ได้แก่ ขรัวสาเทศน์กัณฑ์ชูชก ขรัวมาวัดโคกเทศน์กัณฑ์มหาราช

ค่านิยมในการจัดให้มีเทศน์มหาชาติ มีอิทธิพลต่อการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชาติ หรือเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ไว้ในแหล่งต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมบนแผ่นไม้คอสอง จิตรกรรมบนผืนผ้าพระบฏ จิตรกรรมฉากมหาชาติที่เขียนบนแผ่นไม้หรือแผ่นกระดาษใส่กรอบแขวน ทั้งภาพพระบฏและฉากมหาชาติล้วนใช้แขวนประกอบพิธีเทศน์มหาชาติประจำปีทั้งสิ้น

เพชรบุรีมีฉากมหาชาติเก็บรักษาไว้ตามวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และมีช่างหลายท่านได้ฝากฝีมือไว้ในฉากมหาชาติเหล่านี้ เช่น ฉากมหาชาติ วัดยาง ฝีมือครูหวน ตาลวันนา ฉากมหาชาติ วัดพระทรง ฝีมือพระอาจารย์เป้า ญาณปญฺโญ ฉากมหาชาติ วัดพลับพลาชัย วัดแก่นเหล็ก วัดห้วยเสือ วัดขุนตรา ฝีมือครูเลิศ พ่วงพระเดช

ฉากมหาชาติวัดขุนตราฉากนี้เขียนเป็นภาพเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร มีพระเวสสันดร กัณหา ชาลี อยู่ในภาพ ด้านหลังเป็นภาพทิวทัศน์ อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช วาดภาพนี้ขณะที่บวชเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒


ฉากมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา

ชิ้นงาน ฉากมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา

ขนาด   กว้าง (รวมกรอบ) ๖๔ เซนติเมตร สูง (รวมกรอบ) ๘๓ เซนติเมตร หนา (รวมกรอบ) ๓.๒ เซนติเมตร

วัสดุ      ไม้

อายุสมัย พ.ศ. ๒๔๖๒

ที่มา    ฉากมหาชาติ กัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา พระอาจารย์เซ่ง เป็นผู้จัดการ พ่อเยิ้ม แม่ปุ๋ย บริจาคทรัพย์สร้าง และจ้างพระเลิศ (อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช) เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ เขียนภาพขบวนเสด็จของพระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกัณหา พระชาลี เสด็จกลับเข้ากรุงสีพี ด้วยขบวนช้างพระที่นั่ง และขบวนทหารราบ ความน่าสนใจของภาพนี้อยู่ที่ พระเลิศได้เขียนภาพเครื่องบินใส่ไว้ในฉากด้วย ถือเป็นเครื่องบินที่มาเข้าร่วมขบวนรับเสด็จพระเวสสันดรกลับเข้าพระนคร

            ด้านล่างของภาพมีกรอบข้อความเขียนระบุไว้ว่า

            “๏ กัณฑ์นครกัณฑ์ ๔๘ พระคาถา ท่านอาจาริย์เซ่งเป็นผู้จัดการ พระเลิศผู้เขียน พ่อเยิ้ม แม่ปุ๋ย ศร้างไว้สำหรับวัดขุนตรา สำเร็จเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๔๖๒ พรรษา ๚๛”

ข้อมูลเพิ่มเติม

            ฉากมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา เป็นผลงานของอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ที่มีชื่อเสียงอีกภาพหนึ่ง ถือเป็นภาพที่มีความแปลกแหวกขนบ เหตุเพราะแต่เดิมเมื่อเขียนภาพมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ นายช่างจะนิยมเขียนเป็นภาพหกกษัตริย์ประดับช้างทรงพร้อมด้วยขบวนทหารม้า ทหารราบ เสด็จกลับเข้าวัง

            แต่ในฉากมหาชาติกัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรานี้ อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ตั้งใจเขียนภาพเครื่องบินลำใหญ่พร้อมนักบินบนท้องฟ้า เข้าร่วมขบวนเสด็จแสดงแสนยานุภาพของพระเจ้ากรุงสญชัย แห่งเมืองสีพี เป็นไปได้ว่าอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช อาจจะมีโอกาสได้เห็นเครื่องบินซึ่งเป็นของแปลกใหม่ของสยามในสมัยนั้น และเกิดความประทับใจจึงได้นำมาเขียนไว้ในฉากมหาชาติ กัณฑ์นครกัณฑ์ วัดขุนตรา

            คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินในยุคแรกของสยามไว้ใน Facebook นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ว่า

            “ตามประวัติการบินในประเทศไทยแล้ว เครื่องบินเครื่องแรกที่เข้ามาแสดงการบินครั้งแรกในประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ต้นสมัยรัชกาลที่ ๖  นักบินชาวเบลเยี่ยมชื่อ ฟัน เดน บอร์น (Van den Born) ได้นำเครื่องบินออร์วิลล์ ไรท์ (Orville Wright) มาบินแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน

            ในปีพ.ศ.๒๔๕๖  ประเทศไทยได้สั่งซื้อเครื่องบินเบรเกต์ (breguet) ปีกสองชั้น และเครื่องบินนิเออปอร์ต (nieuport) ปีกชั้นเดียว รวมทั้งหมด ๘ เครื่อง และในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นักบินไทยได้ทดลองบินเครื่องบินของไทยเป็นครั้งแรก ให้ประชาชนชาวไทยได้ดูการฝึกบินโฉบฉวัดเฉวียนอวดศักดาแสนยานุภาพ เสียงดังกระหึ่ม เป็นที่ตื่นตาตื่นใจกันมาก

ช่วงทดลองบินเครื่องบินเบรเกต์ปีก ๒  ชั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นมา น่าจะเป็นปรากฏการณ์ชวนระทึกของชาวบ้านไทยเป็นอันมาก และครูช่างจิตรกรไทยคงได้ชมภาพทดลองบินในเขตภาคกลางของไทยนี้ด้วย เครื่องบินเบรเกต์จึงไปปรากฏอยู่ในจิตรกรรม”

สามารถชมภาพตำราดาวฉบับเต็มได้ที่นี่

สมุดตำราดาว

สมุดดาวด้านหน้า

สมุดตำราดาวด้านหลัง

ชิ้นงาน สมุดตำราดาว

ขนาด   เฉพาะในส่วนของรูปภาพยาว ๔.๒ เมตร กว้าง ๓๖.๓ เซนติเมตร

วัสดุ      กระดาษ

อายุสมัย ประมาณยุครัชกาลที่ ๕

ที่มา      สมบัติของวัดขุนตรา อ.เมือง จ.เพชรบุรี

ข้อมูลเพิ่มเติม

            สมุดตำราดาวของวัดขุนตรา เป็นสมุดรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับดวงดาวตามคติดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์โบราณ สมุดตำราดาวเล่มนี้บันทึกด้วยอักษรไทยโบราณ พร้อมภาพประกอบเขียนด้วยสีฝุ่นงดงาม เนื้อหาหลัก อธิบายเกี่ยวกับดาวประจำเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองเชียงใหม่ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพชร พระอาทิตย์ พระจันทร์ ในรูปลักษณะต่าง ๆ ดาวเข้าไปทำมุมกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวหาง ทำนายลักษณะเมฆ

            ซึ่งลักษณะของ ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวหาง ก้อนเมฆ ที่มีลักษณะต่างกันไป จะคู่ไปกับคำทำนายเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติ โชคลาภ ความมั่นคงของบ้านเมือง เช่น ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปนกยูงจะได้ลาภ

            นอกเหนือ ไปจากองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ โหราศาสตร์แล้ว ตำราดาวฉบับวัดขุนตรา ยังมีคุณค่าในด้านศิลปกรรม เพราะภาพประกอบสีฝุ่นที่ผู้บันทึกได้เขียนไว้มีความงดงามทั้งในส่วนของเส้น และสี นับเป็นงานศิลปกรรมที่น่าสนใจอีกแหล่งหนึ่งของเพชรบุรี

            นอกเหนือจากวัดขุนตราแล้ว ในเพชรบุรียังพบตำราดาวอีกหลายฉบับ เช่น ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์ บ้านถนนแปลงนาม ตำราดาวฉบับวัดแก่นเหล็ก ตำราดาวฉบับสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นต้น

จากการศึกษาบททำนายตำราดาว ฉบับขุนโพธิ์ ของเมืองเพชรบุรี นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว* พบว่า ในส่วนของการทำนายถึงนิมิตร้ายจะเกี่ยวข้องกับการทรยศ หักหลังของคนในราชสำนัก ข้าราชการและขุนนาง ตำราดาว ยังกล่าวถึงนิมิตร้ายที่เกี่ยวข้องกับการรบและศึกสงคราม ภัยธรรมชาติ ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม ความอัตคัตขาดแคลนของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ข้าวปลาอาหารและโรคระบาด ส่วนคำทำนายนิมิตด้านดีนั้น กล่าวถึงการได้ลาภ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ การค้าขายและความสุขของผู้คน

            ตำราดาวกล่าวถึงลักษณะและสีสันของดวงอาทิตย์ว่าเกี่ยวพันกับสถานะและความเป็นอยู่ของผู้ปกครอง ส่วนการทำนายเกี่ยวกับ “ดาวประจำเมือง” เป็นตัวชี้นำให้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า และความเป็นอยู่ของเมืองนั้นๆ  “ถ้าแลดวงใดเศร้าหมองรัศมีบ่มิได้ พระนครนั้นจะเกิดเหตุเกิดโทษเป็นอันแท้ ถ้าดวงใดสุกใสรัศมี เมืองนั้นจะจำเริญสุขเกษมหนักหนา” วิชาดูดาว จึงเป็นวิชาที่แม่ทัพนาย กองจะต้องศึกษาเรียนรู้ กล่าวกันว่า “ดาวโรหิณีซึ่งเป็นดาวประจำกรุงศรีอยุธยาอยู่ในตำแหน่งที่เป็น วินาสน์ของดาวมฤคศิระ อันเป็นดาวประจำเมืองของกรุงหงสาวดี น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พม่าต้องมีเมืองหลวงอยู่ที่หงสาวดี หรือไม่ก็มาชุมนุมทัพเพื่อเอาฤกษ์ที่หงสาวดีก่อนเสมอ…”

            ตำราดาว ยังกล่าวถึงดาวหาง ที่ขึ้นในทิศต่างๆ บนฟากฟ้า ว่าเป็นนิมิตบอกเหตุดีร้ายในหลายลักษณะ และในบางกรณี ดาวหางก็เป็น “นิมิตดี” ได้เช่นกัน เช่น คำทำนายว่า

            “ดาวหางไปข้างบูรพาดังนี้ เขาจะคิดร้ายเจ้าเมือง ดาวหางไปข้างทักษิณดังนี้ พระยาเจ้าเมืองจะมีลาภใหญ่ ดาวหางไปอุดร พระยาจะชนะศัตรู”

*นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นานาภาษาดาว กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2562

ประวัติช่าง

อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช

            อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่จังหวัดเพชรบุรี

            เริ่มเรียนหนังสือไทยเมื่ออายุได้ ๕ ปี ที่วัดคงคาราม ต่อมาเมื่ออายุ ๙ ปี ได้เข้าไปศึกษาวิชาการช่างที่วัดพลับพลาชัยกับพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ เพื่อศึกษาวิชาเขียนภาพ ขณะนั้นพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์อายุได้ ๗๒ ปีแล้ว

            เมื่ออาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เข้าไปศึกษาวิชาช่างกับพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ที่วัดพลับพลาชัย ได้เพียง ๓ ปี ก็มีผลงานเป็นที่ปรากฏ คือได้ช่วยพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์เขียนจั่วเมรุพระพิศาลสมณกิจ(สิน) เจ้าคณะเมืองเพชรบุรี วัดคงคาราม ผลงานในครั้งนั้นได้รับคำชมเชยจากภิกษุและฆราวาส ท่านจึงได้มีกำลังใจในการฝึกฝนงานช่างสืบต่อมา

         อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์ ได้อยู่ศึกษาวิชาช่างและปฏิบัติท่านถึง ๑๔ ปี จนพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์มรณภาพเมื่ออายุได้ ๘๗ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๑

            อาจารย์เลิศมีความสามารถในการเขียนภาพและแกะสลัก แต่ท่านชอบทำงานเขียนภาพ ส่วนใหญ่เป็นภาพมหาชาติหรือพุทธประวัติ ผลงานส่วนใหญ่ที่เป็นภาพฉากในกรอบกระจกผู้ว่าจ้างนำไปถวายวัด บางส่วนเป็นจิตรกรรมฝาผนังตามวัด ในสมัยหลังที่นิยมภาพเขียนประดับอาคารสถานที่ ได้มีผู้มาว่าจ้างท่านให้เขียนภาพเพื่อใช้ตกแต่งอาคาร และบางภาพได้นำไปยังต่างประเทศ ในช่วงของการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑๕๐ ปี ท่านได้เข้ามาเขียนภาพผนังที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายใต้การควบคุมของพระเทวาภินิมมิต

            อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เป็นช่างไทยโบราณที่มีพื้นฐานมาจากช่างเขียน และพัฒนาทักษะต่อยอดไปยังงานช่างไทยแขนงอื่นๆ เช่น ช่างเขียนลายรดน้ำ ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างประดับกระจก ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ผลงานที่ปรากฏและมีการรวบรวมไว้ ดังนี้

            พ.ศ. ๒๔๔๘ อายุ ๑๒ ปีช่วยพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์เขียนจั่วเมรุพระพิศาลสมณกิจ(สิน) เจ้าคณะเมืองเพชรบุรี วัดคงคาราม

            พ.ศ. ๒๔๔๙ อายุ ๑๓ ปี เขียนตู้พระธรรมที่วัดใหญ่สุวรรณารามจังหวัดเพชรบุรี

            พ.ศ. ๒๔๖๒ แกะสลักหน้าจั่ววัดทองนพคุณเพชรบุรี

            พ.ศ. ๒๔๖๔ ออกแบบอุโบสถและศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย

            พ.ศ. ๒๔๖๕ แกะสลักบานประตู และหน้าต่างอุโบสถ และสร้างธรรมาสน์ยอดนภศูลวัดพลับพลาชัย โดยหลวงมณีนฤเบศร์เป็นผู้สร้างค่าจ้างประมาณ ๘-๑๐ ชั่ง

            พ.ศ. ๒๔๖๕ เขียนภาพ ๑๒ ภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ

            พ.ศ. ๒๔๗๒ ทำการซ่อมแซมภาพที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เขียนอยู่ ๒ ปี รวมทั้งซ่อมแซมและเขียนใหม่ ๑๑ ห้อง

            พ.ศ. ๒๔๗๕ เขียนเรื่องเวสสันดรชาดก ๑๕ ภาพที่วัดพลับพลาชัยเพชรบุรี

            พ.ศ. ๒๔๗๘ แกะสลักบานหน้าต่างและหน้าจั่วศาลาวัดเขมาภิรตาราม

            พ.ศ. ๒๔๘๑ ออกแบบอุโบสถวัดหนองไม้เหลืองและแกะลายจั่ว สาหร่ายรวงผึ้งมุขโถงทั้ง ๒ ด้าน

            พ.ศ. ๒๔๘๗ เขียนภาพที่อุโบสถวัดเกาะหลักจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานอื่นๆ อีกที่ไม่ทราบปีที่ทำงานแน่นอน ได้แก่

            ฉากพุทธประวัติที่วัดใหญ่สุวรรณารามจำนวน ๑๐ ภาพ ปัจจุบันสูญหายไป

            ฉากพุทธประวัติที่วัดจันทราวาส ปัจจุบันสูญหายไป

            ฉากพุทธประวัติที่วัดแก่นเหล็ก ๑๓ ภาพ

            ฐานพระพุทธบาทในถ้ำวัดเขาบันไดอิฐ

            ฉากมหาชาติที่วัดห้วยเสือจำนวน ๑๓ ภาพ

            ธรรมาสน์ยอดนภศูลวัดหนองจอก อำเภอท่ายาง

            แกะลายจั่วอุโบสถวัดบางตะบูน ๒ ตัว

            ปั้นพระประธานพระอัครสาวกวัดถ้ำแกลบ

            เขียนภาพสมุดพระมาลัย วัดวังไคร้

            เขียนซ่อมภาพขรัวอินโข่งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนพระพุทธเจ้าทรงรับข้าวมธุปายาสและพระพุทธเจ้าลอยถาด

            ท่านรับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนช่างศิลป์ กรมศิลปากร ตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี จึงได้ลาออกจากโรงเรียนเนื่องจากโรคชรา และกลับมาอยู่ที่เพชรบุรี เมื่อท่านลาออกจากราชการกลับมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ท่านได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งเขียนตำราสถาปัตยกรรมไทย เพื่อเผยแพร่ศิลปะไทย

            อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ อายุ ๗๖ ปี

พระอาจารย์เป้า ญาณปัญโญ

            พระอาจารย์เป้า ปัญโญ วัดพระทรง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เล่าสืบกันมาว่าเดิมท่านเป็นชาวบ้านหนองแก้ว วัดเขาน้อย ตำบลบ้านหาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นบุตรนายเขียว นางเปรื่อง นายเขียวเป็นช่างปั้นมาก่อน

            บางข้อมูลกล่าวว่าพระอาจารย์เป้า เป็นคนทางดอนเมือง กรุงเทพฯ อพยพมาอยู่เพชรบุรีกับแม่และน้องสาวและหลานอีกคนมาบวชอยู่ด้วย

            พระอาจารย์เป้าบวชเรียนและดำรงเพศบรรพชิตมาโดยตลอด ได้เรียนงานช่างจากพระอุปัชฌาย์ฤทธิ์วัดพลับพลาชัย

            พระอาจารย์เป้ามีความสามารถทางช่างหลายด้าน เช่น ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างกะสลัก ช่างเครื่องกลไก

            ภาพบานหน้าต่างวัดมหาสมณาราม

            ฉากมหาชาติวัดชมพูพน

            ฉากมหาชาติวัดยาง

            ตู้พระธรรมลายรดน้ำวัดเขาทะโมน

            สมุดภาพตำราลายไหว้ครู

            เจว็ดเจิมไหว้ครู

            ธรรมาสน์วัดเขาน้อย

            รูปเทวดาดินเผาประดับซุ้มวิมานหน้าบันด้านหลังพระอุโบสถวัดพระทรง

            งานแกะสลักตู้วัดชมพูพน

            เครื่องกลไกต่างๆสำหรับประดับเมรุ

            ฉากประดับเมรุ เรื่องรามเกียรติ์

            ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๑ พระอาจารย์เป้ารับกิจนิมนต์ที่กรุงเทพ ฯ ในขากลับได้ตกบันไดรถไฟที่สถานีเพชรบุรีกันกระแทกหินอาหารอยู่ประมาณ ๑๕ วันจึงมรณภาพอายุประมาณ ๘๔ ปี

พระครูญานวิจัย (ยิด สุวณฺโณ)

            พระครูญานวิจัย (ยิด สุวณฺโณ) เป็นชาวบ้านโพธิ์งาม ตำบลเขาพนมขวด จังหวัดเพชรบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีแรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นบุตรนายทอง พวงทวี กับนางเปรม พวงทวี

            โยมผู้ชายถึงแก่กรรมเมื่อท่านยังอยู่ในครรภ์มารดา ด้วยเหตุที่ท่านกำพร้าบิดาจึงอยู่ในความอุปการะจากนายป้าน บ้านเขาพนมขวด ผู้เป็นน้าชายของท่าน เมื่ออายุควรแก่การศึกษาได้ไปอยู่วัดวังบัว ศึกษาวิชาการกับพระอาจารย์เฉย รองเจ้าอาวาส ในยุคที่หลวงพ่อพลับเป็นเจ้าอาวาส

            เมื่อวัยเด็กท่านมีสติปัญญาไหวพริบในเชิงการศึกษา จึงปรากฏว่าต่อมาท่านมีวิชาความรู้หลายแขนง พระเทพวงศาจารย์ วัดยาง อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสำนักและเป็นเพื่อนสนิทอยู่ในรุ่นเดียวกันได้เล่าถึงบรรยากาศการเรียนในสำนักวัดวังบัวว่า นอกจากหนังสือไทยแล้วพระครูญาณวิจัยได้เรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ คือสนธิและนาม วิชาช่างเขียนลวดลาย แกะสลัก ปั้น ช่างทอง ลูกคิด ความเป็นอัจฉริยะรอบรู้วิชาดังกล่าวท่านรู้จริงและทำได้ดีด้วย ตลอดจนแบบแปลนแผนผังท่านก็สามารถทำได้

            เมื่อท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ นายป้านน้าชายได้จัดการอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมา วัดลาดโพธิ์ตำบลมะโรง อำเภอเมือง พระอุปัชฌาย์ทอง วัดบางแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการปาน วัดลาดโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการเหลื่อม(พระครูเพชโรปมคุณ) วัดเกาะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาที่วัดเกาะ

            เมื่ออุปสมบทแล้วปรากฏว่าได้ศึกษาปริยัติธรรมกับอาจารย์แจ้งวัดจันทราวาส และพระครูเพชโรปมคุณ วัดเกาะ ท่านประพฤติปฏิบัติตนเรียบร้อย สงบเสงี่ยม สำรวมอินทรีย์ เคารพพระธรรมวินัยและระเบียบของวัดอย่างเคร่งครัด จนเป็นที่นับถือของคฤหัสและบรรพชิตโดยทั่วไป

            ในด้านวิชาช่าง สมัยที่ยังเป็นลูกวัดได้ช่วยพระครูเพชโรปมคุณ เจ้าอาวาสวัดเกาะ ปฏิสังขรณ์ฐานชุกชีพระประธานในโบสถ์ เป็นแม่งานวางผังลวดลาย ควบคุมการทำงานแกะสลักไม้ และลงมือแกะสลักด้วย ช่วยควบคุมการสร้างศาลาการเปรียญ ออกแบบดาวเพดาน และลายทองที่เสา สร้างตู้ฝังลายไม้มูก

            ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะต่อจากพระครูเพชโรปมคุณที่มรณภาพลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕

            เมื่อเป็นเจ้าอาวาสแล้วท่านก็ได้ควบคุมการก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ในวัดเรื่อยมา เช่น กุฏิ อาคารพระปริยัติธรรม ศาลาบำเพ็ญกุศล ออกแบบและจัดสร้างธรรมาสน์วัดถ้ำแก้ว ออกแบบพระครูเพชโรปมคุณ และเมรุที่มีผู้มาขอให้ท่านออกแบบและควบคุมอีกเป็นจำนวนมาก         

            ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูญาณวิจัยใน พ.ศ. ๒๔๘๐ และมรณภาพในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ด้วยอาการอาพาธที่เรื้อรังมานาน