บทบาทของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในการเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนพิการทางการเห็น
บทคัดย่อ
การเข้าถึงและการเรียนรู้ศิลปะร่วมสมัยสำหรับคนพิการทางการเห็นได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไม่เพียงเป็นพื้นที่แสดงศิลปะแต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และสื่อสารความรู้ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงศิลปะสำหรับคนพิการทางการเห็นเป็นบทบาทสำคัญของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย โดยการออกแบบนโยบายและกิจกรรม รวมถึงการวางแนวทางให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานที่ให้ผู้มีความต้องการพิเศษสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสื่อความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรม จะนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บทความนี้สำรวจและวิเคราะห์วิธีการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยปรับตัวเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับ คนพิการทางการเห็น โดยมีกรณีศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ (Mori Art Museum) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยของญี่ปุ่นและเอเชีย ออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงศิลปะร่วมสมัยสำหรับคนพิการทางการเห็นทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA มีความโดดเด่นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สะสมจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยอันทรงคุณค่าของไทย
บทความนี้นำเสนอแนวทางและวิธีการที่พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ใช้ในการสร้างการเข้าถึงและการเรียนรู้ที่ เท่าเทียมสำหรับคนพิการทางการเห็น ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้พิพิธภัณฑ์อื่นๆ นำไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนพิการทางการเห็นในอนาคต
คำสำคัญ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย, คนพิการทางการเห็น
ผู้เขียน
ทักษิณา พิพิธกุล
สังกัด: คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ที่อยู่: 9/1 หมู่ 5 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
วงจรชีวิตของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาในประเทศไทย
บทคัดย่อ
การศึกษาพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาในประเทศไทยนั้น มีนัยยะรวมถึงพิพิธภัณฑ์ แหล่งการเรียนรู้ และศูนย์วัฒนธรรมที่จัดแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มคน เริ่มก่อตั้งนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา ปัจจุบันปรากฏมากกว่า 150 แห่ง บริหารจัดการภายใต้เงื่อนไของค์กรที่แตกต่างกัน เช่น วัด ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชนและส่วนบุคคล ส่วนมากต่างมีอิสระในการบริหารจัดการ การตีความ และการนำเสนอแยกขาดจากกันเป็นปัจเจก
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์และอภิปราย “วงจรชีวิต” ของพิพิธภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวผ่านการนำเสนอใน 4 ระยะสำคัญของการดำเนินงาน คือ การก่อกำเนิด (birth) การเติบโต (growth) การเผชิญความท้าทาย (chaos) และการก้าวเข้าสู่การฟื้นฟู (rebirth) เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และเก็บรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ 30 แห่งทั่วประเทศ
ผลการศึกษาพบความสัมพันธ์ของแต่ละกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่บริหารจัดภายใต้บุคคลหรือองค์กรที่คล้ายคลึงกัน พิพิธภัณฑ์และมรดกทางวัฒนธรรมถูกพิจารณาว่ามีคุณค่าสูงที่สุดในระยะกำเนิด เครือข่ายชุมชนและวิชาการมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเติบโตและฟื้นฟู ส่วนระยะท้าทายของพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ คือ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์และการขาดทายาทในการจัดการมรดกวัฒนธรรมภายในพิพิธภัณฑ์ในอนาคต
คำสำคัญ: พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา, มรดกวัฒนธรรม, วงจรชีวิต
ผู้เขียน
พิสุทธิลักษณ์ บุญโต
สังกัด: นักศึกษาหลักสูตร Ph.D. (Architectural Heritage Management and Tourism) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่อยู่: 188/184 อรสิริน 11 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
E-mail: ps.boonto@gmail.com
วาดอนาคต ณ หอนิทรรศการเมืองสิงคโปร์
บทคัดย่อ
บทความนี้ศึกษาหอนิทรรศการเมืองสิงคโปร์ (Singapore City Gallery) สังกัดสำนักงานการพัฒนาเมือง (Urban Redevelopment Authority) ในฐานะกรณีศึกษาที่พัฒนาความเข้าใจในบทบาทอำนาจนำของรัฐในการสร้างความเป็นเมือง กำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชน และกำกับวาทกรรมในงานมรดกวัฒนธรรมด้วยกรอบความยั่งยืนของเมือง หอนิทรรศการแห่งนี้จึงไม่ใช่เพียงพื้นที่จัดแสดง หากแต่ยังเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่รัฐสิงคโปร์ใช้ในการบอกเล่าและถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของตนในการวางแผนพัฒนาเมือง ความยั่งยืน และการอนุรักษ์วัฒนธรรม ปัจจุบันหอนิทรรศการได้รับการปรับปรุง โดยมุ่งเน้นความยั่งยืนและการจัดการทรัพยากร หอนิทรรศการจึงสะท้อนและเสริมสร้างเป้าประสงค์ในการทำงานของรัฐ และเชื่อมโยงการรับรู้ของสาธารณชนอย่างละเมียดละไม
ในเบื้องแรก ผู้เขียนสำรวจบทบาทของสำนักงานการพัฒนาเมือง และหอนิทรรศการในการสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับโครงการพัฒนาของรัฐ นอกจากนี้ การสื่อสารในหอนิทรรศการให้ความสำคัญกับการโน้นน้าวนักลงทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากนั้น บทความชวนสำรวจท่าทีที่เปลี่ยนแปลงของสำนักงานการพัฒนาเมือง และส่งผลต่อความพยายามในการสร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามยุคสมัยของพลเมืองรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามหลายประการกับโครงการรัฐ ในอีกวาระหนึ่ง สำนักงานการพัฒนาเมืองมีบทบาทหลักในการอนุรักษ์มรดกที่ผสานกับความยั่งยืน หอนิทรรศการจึงเป็นตัวอย่างของอิทธิพลของรัฐในการกำหนดการรับรู้ของสาธารณะเกี่ยวกับสิ่งที่มีค่าและควรรักษาในบริบทของสิงคโปร์
การศึกษาอาศัยการทบทวนเอกสารและบทความวิชาการที่สัมพันธ์กับแผนและผังเมืองของสิงคโปร์ การเยี่ยมชมหอนิทรรศการเมืองสิงคโปร์ในวาระต่าง ๆ และสัมภาษณ์บุคคลที่ร่วมพัฒนานิทรรศการในระยะห่างราวหนึ่งทศวรรษ เพื่อทำความเข้าใจในสัมพันธภาพระหว่างอำนาจนำ การมีส่วนร่วมของประชาชน กับเอกลักษณ์วัฒนธรรมในการพัฒนาเมือง ทั้งนี้ อาศัยมุมมองด้านผังเมืองที่จัดแสดงในหอนิทรรศการ และการสร้างสำนึกร่วมของผู้คนในประเทศที่มีชื่อเสียงในการวางแผนและพัฒนาเมืองอย่างพิถีพิถันอย่างสิงคโปร์
ผู้เขียน
นายชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
สังกัด: นักจัดการความรู้ ฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
ที่อยู่: เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
E-mail: chewasit@ndmi.or.th