ธรรมาสน์วัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

2114
views
ธรรมาสน์วัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ก่อนและหลังการอนุรักษ์

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้รับมอบธรรมาสน์ไม้ จากวัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยได้รับความเห็นชอบจากพระครูพัชรกิจสุนทร (ประหยัด อภิสมาจาโร) เจ้าอาวาสวัดท่าศาลาราม ร่วมกับกรรมการวัดและชาวบ้านผู้เป็นศรัทธาวัด โดยการประสานของนายชนัญญ์ เมฆหมอก ศิษย์เก่าคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำสาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี) ซึ่งเป็นผู้พบธรรมาสน์ ก่อนจะประสานกับทางพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อขอผาติกรรมนำมาอนุรักษ์และจัดแสดงเป็นการถาวรที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

การดำเนินการผาติกรรมและอนุรักษ์ธรรมมาสน์ไม้ วัดท่าศาลาราม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากหลายฝ่ายทั้งอาจารย์และนักศึกษาจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดย รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ รวมถึงนายรุ่งฟ้า ตาละลักษณ์ ช่างฝีมือจากเพชรบุรี และการดำเนินอนุรักษ์ให้คงสภาพสมบูรณ์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 จากนั้นจึงได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ศิลปกรรมงานช่างไม้เมืองเพชรให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะในวงกว้าง

วัดและธรรมาสน์

วัดท่าศาลาราม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2345 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย รับวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2470 ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี มีเจ้าอาวาส เท่าที่สืบค้นได้ คือ

รูปที่ 1 พระอธิการเอก

รูปที่ 2 พระอธิการบุญเรือง

รูปที่ 3 พระอธิการกลัก

รูปที่ 4 พระอธิการนาค (สมัยรัชกาลที่ 5 – 2474)

รูปที่ 5 พระครูบุญ ฐานวโร (พ.ศ. 2474 – 2509)

รูปที่ 6 พระอธิการเย็น สีตโก (พ.ศ. 2509-2518)

รูปที่ 7 พระสมุห์เกชา ธรฺมธีโป (พ.ศ. 2519-2525)

รูปที่ 8 พระครูสถิตวชิรธรรม (ฉลอง, พ.ศ. 2526-2538)

และในปัจจุบันพระครูพัชรกิจสุนทร (อธิการประหยัด อภิสมาจาโร) เป็นเจ้าอาวาส ท่านเล่าว่าธรรมาสน์หลังงามน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อบุญ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงของวัด ต่อมาธรรมาสน์ได้ทรุดโทรม ทางวัดจึงได้ขอร้องโยมช่วยกันหาจัดหาปัจจัยมาซ่อมแซม แต่เนื่องจากการอนุรักษ์ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมาก  ผู้มีจิตศรัทธาจึงได้จัดหาซื้อธรรมาสน์ใหม่จากกรุงเทพ ในราคา 35,000 บาท มาถวายให้ทางวัดเพื่อทดแทนธรรมาสน์หลังเดิม

ราว พ.ศ. 2526 ทางวัดได้เคลื่อนย้ายธรรมาสน์หลังนี้ไปไว้ที่ใต้ถุนศาลาการเปรียญ และในปี พ.ศ. 2559 ได้ดำเนินการปรับปรุงศาลาการเปรียญ จึงต้องย้ายธรรมาสน์หลังดังกล่าวไว้ที่ใต้หอระฆังใกล้กุฏิเจ้าอาวาสแทนนับจากนั้นมา

การอนุรักษ์ธรรมาสน์ไม้วัดท่าศาลาราม

ปี พ.ศ. 2560 ทางพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้รับมอบธรรมาสน์มาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฯ และดำเนินการอนุรักษ์ โดยตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนการอนุรักษ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พจนก กาญจนจันทร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ และทีมนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม ผู้เชี่ยวชาญงานอนุรักษ์ไม้ นายรุ่งฟ้า ตาละลักษณ์ ช่างไม้เมืองเพชร นายชนัญญ์ เมฆหมอก คนเพชรบุรีผู้สนใจและศึกษางานช่างในเมืองเพชรบุรี เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและอาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา การดำเนินการอนุรักษ์สำเร็จด้วยดีจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ปัจจุบันธรรมาสน์วัดท่าศาลาราม ได้จัดแสดงถาวรในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียน การสอน การวิจัย ตลอดจนเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รู้จักฝีมือศิลปกรรมช่างไม้เมืองเพชร

ประมวลภาพการอนุรักษ์

อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ธรรมศาตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกันจัดทำเลขทะเบียนชิ้นส่วนธรรมาสน์ ที่ใช้ประกอบธรรมาสน์
นักศึกษาคณะโบราณคดีดำเนินการร่างโครงสร้างธรรมาสน์ หนึ่งในขั้นตอนการอนุรักษ์ธรรมาสน์
ภาพสแกนสามมิติ โครงสร้างธรรมาสน์วัดท่าศาลาราม
คณะทำงานร่วมกันหาข้อสรุปชิ้นส่วนต่างๆ ของธรรมาสน์
ช่างได้นำชิ้นส่วนต้นแบบมาแกะสลักชิ้นส่วนธรรมาสน์ที่ขาดไป
อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ฯ ทำความสะอาดชิ้นส่วนและโครงสร้างธรรมาสน์
ตัวอย่างการบันทึกการทำความสะอาดและข้อมูลกายภาพชิ้นส่วนธรรมาสน์แต่ละชิ้น
ช่างได้ดำเนินการติดต่อชิ้นส่วนต่างๆ เข้ากับโครงธรรมาสน์และประกอบให้สมบูรณ์

ธรรมาสน์ไม้วัดท่าศาลารามกับข้อสันนิษฐาน

จากการสำรวจธรรมาสน์ของเมืองเพชรบุรี ช่วงปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีธรรมาสน์ไม้ทรงบุษบกเช่นนี้กว่า 70 หลัง ซึ่งธรรมาสน์วัดท่าศาลารามหลังนี้เป็นเพียงหลังเดียวที่พบว่า ช่างได้นำเอาศิลปกรรมแบบตะวันตกมาสร้างทั้งหลัง มีตัวยักษ์แบบฝรั่ง มีเชอรัปและมีลูกเล่นลวดลายหาฝีมือเปรียบเทียบได้ยาก เป็นผลงานที่แหวกแนวและฉีกขนบอีกชิ้นหนึ่ง

จากการพิจารณาแบ่งสำนักช่างเมืองเพชร 4 สำนักช่าง คือ สำนักช่างวัดยาง สำนักช่างวัดเกาะ สำนักช่างวัดพลับพลาชัย และสำนักช่างวัดพระทรง ถือได้ว่าธรรมาสน์วัดท่าศาลารามหลังนี้น่าจะเป็นฝีมือของสำนักช่างวัดพลับพลาชัย ที่มีครูเลิศ พ่วงพระเดช เป็นครูช่างใหญ่ของวัดซึ่งมีความนิยมในสกุลศิลปะแบบตะวันตกที่สืบทอดมาจากหลวงพ่อฤทธิ์ พระอาจารย์ของท่าน ในช่วงหลัง ปี พ.ศ. 2460 โดยดูจากลักษณะของยอดมณฑปวัดท่าศาลารามที่สร้างในปี พ.ศ. 2457 หอระฆังทรงโคโลเนียลที่วัดพลับพลาชัย และลายประดับบานประตูศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย ในปี พ.ศ. 2466 เป็นตัวเปรียบเทียบลวดลายและฝีมือเชิงช่าง จึงสันนิษฐานว่า ธรรมาสน์วัดท่าศาลารามหลังนี้เป็นผลงานของกลุ่มช่างวัดพลับพลาชัย ในช่วง พ.ศ. 2460-2474

 

สำนักช่างกับงานธรรมาสน์ไม้เมืองเพชร

ธรรมาสน์ไม้เมืองเพชรมีการสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 เช่นเดียวกับงานศิลปกรรมแขนงอื่นๆ ในเมืองเพชร ไม่ว่าจะเป็นงานปูนปั้น งานเมรุมาศ หรืองานเขียนแบบ เหตุที่ผู้คนนิยมสร้างธรรมาสน์เป็นจำนวนมาก เพราะมองว่าธรรมาสน์เป็นของที่ได้บุญมาก ถือเป็นของเชิดหน้าชูตา มีราคาและสามารถประกวดประชันในเชิงฝีมือช่าง รวมถึงยังมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ ในแง่ของการเชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอีกด้วย การสร้างธรรมาสน์บุษบกถวายวัด จึงเป็นกิจกรรมที่แสดงฐานะและบุญบารมีของผู้ให้คือ ทายกทายิกาผู้อุปถัมภ์การสร้าง และของผู้รับคือวัดที่เป็นเจ้าของธรรมาสน์ไปพร้อมๆ กัน

 ช่วงเวลาที่มีการสร้างธรรมาสน์ไม้เมืองเพชรอย่างแพร่หลายสามารถจำแนกรูปแบบการสร้างตามขนบแต่ละสำนักแต่ละวัดของเมืองเพชรได้ 4 สำนักหลักๆ คือ

  1. สำนักช่างวัดพระทรง ลักษณะโครงสร้างเป็นธรรมาสน์แบบรัตนโกสินทร์ แต่ลวดลายประดับจำหลักไม้จะใช้แบบอยุธยา ที่สำคัญพบว่า ช่างได้ออกแบบลวดลายให้สวยงามในแบบฉบับของตัวเอง โดยเฉพาะร่องถุน จะเป็นพื้นที่สำหรับการอวดฝีไม้ลายมือของผู้สร้างผลงาน นิยมแกะสลักเป็นเรื่องทศชาติชาดก รามเกียรติ์และลายเทพพนม
  • ธรรมาสน์วัดพระทรง 2460
  • ธรรมาสน์วัดแรก 2461
  • ธรรมาสน์วัดคงคาราม 2461
ธรรมาสน์วัดพระทรง 2 หลังและวัดแรก ตามลำดับ

2.สำนักช่างวัดพลับพลาชัย ลักษณะสำคัญของธรรมาสน์สำนักนี้ที่ดูแตกต่างจากสำนักอื่นๆ คือ ยอดของธรรมาสน์มีลักษณะที่เรียกว่า “นภศูล” เป็นเหลี่ยมตรงขึ้น คล้ายกับกลุ่มสำนักช่างวัดพระทรง แต่ร่องถุนธรรมาสน์นิยมแกะเป็นลายเทพพนม หัวสิงห์ มีรายนามของผู้เป็นเจ้าภาพ และปัจัยในการสร้างธรรมาสน์

  • ธรรมาสน์วัดพลับพลาชัย 2465
  • ธรรมาสน์วัดหนองจอก 2487
ธรรมาสน์และส่วนประกอบธรรมาสน์วัดพลับพลาชัย

3.สำนักช่างวัดยาง ลักษณะสำคัญของธรรมาสน์ในกลุ่มช่างสำนักนี้คือ การเอารูปแบบของอยุธยามาเป็นต้นแบบผสมผสานเข้ากับงานสมัยรัตนโกสินทร์ ธรรมาสน์จะมีลักษณะสูง ตัวกระจังปฏิญาณจะมีลักษณะแข็ง ดุดัน ตะวัดปลายสะบัดพริ้วไหวอย่างทรงพลัง ไม่นิยมลวดลายที่อ่อนช้อยงดงามเหมือนงานสำนักช่างวัดเกาะ แต่จะให้ความรู้สึกที่เข้มแข็งมากกว่า

  • ธรรมาสน์วัดสำมะโรง 2478
  • ธรรมาสน์วัดหนองควง 2478
  • ธรรมาสน์วัดราษฎรศรัทธาราม 2478
  • ธรรมาสน์วัดขลุบ 2495
ธรรมาสน์วัดยาง วัดสำมะโรง และวัดขลุบ ตามลำดับ

4.สำนักช่างวัดเกาะ เป็นสำนักที่สร้างธรรมาสน์ยาวนานมากที่สุด คือช่วงปี 2465-2509 ลักษณะเฉพาะของงานสำนักช่างกลุ่มนี้ที่พบร่วมกันคือ ทรงธรรมาสน์จะชะลูดคล้ายธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย กระจังมีลักษณะตวัดไปมาซ้อนกัน 3 ตลบ โดยส่วนใหญ่มักจะติดตัวแบกไว้ที่มุมของธรรมาสน์ทั้ง 4 ด้าน เช่นครุฑแบกที่วัดเกาะ หนุมานแบกที่วัดลาดโพธิ์ หรือจะเป็นนกกรวิกที่วัดชีวประเสริฐ์ ส่วนร่องถุนจะนิยมแกะลวดลายเช่นเดียวกับกลุ่มสำนักช่างวัดพระทรง แต่สำนักช่างวัดเกาะจะแกะเป็นเรื่องรามเกียรติ์ และนิยมเขียนรายนามของผู้บริจาค ราคาธรรมาสน์ และชื่อของช่างผู้สร้างไว้ด้วย

  • ธรรมาสน์วัดเกาะ 2465
  • ธรรมาสน์วัดลาดโพธิ์ 2471
  • ธรรมาสน์วัดชีว์ประเสริฐ์ 2473
ธรรมาสน์วัดเกาะ วัดลาดโพธิ์ และวัดชีว์ประเสริฐ์ ตามลำดับ
พระวัดเกาะขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ ภาพถ่ายโดยวิทยา ชื่นฤทัย

อ้างอิง

 ชนัญญ์ เมฆหมอก. 2560. สำนักและการสืบสานงานช่างไม้สายสกุลช่างเมืองเพชร. กรุงเทพฯ: กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
 
___________. 2561. ธรรมาสน์เมืองเพชร: พลวัตของวัฒนธรรมงานช่างไม้ในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น ในวารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, หน้า 139—68.
 
___________. 2563. ธรรมาสน์สำนักช่างวัดเกาะ: ประวัติศาสตร์วัตถุในบริบทวัฒนธรรมกระฎุมพีเมืองเพชร ในวารสารวิจิตรศิลป์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า73-101.
 
เหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ และชนัญญ์ เมฆหมอก. 2564. ธรรมาสน์ไม้แกะสลักในเพชรบุรี: การวิจัยเชิงสำรวจ. ปทุมธานี: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา.
 
รายงานวิจัยฉบับเต็ม ธรรมาสน์ไม้แกะสลักในเพชรบุรี: การวิจัยเชิงสำรวจ สามารถอ่านได้ที่…