โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์รับรู้และทำความเข้าโลกโดยผ่านดวงตา
“การมองเห็นมาก่อนถ้อยคำ เด็กๆ มองเห็นและจดจำ ก่อนที่จะพูด (Seeing comes before words. The child looks and recognizes before it can speak. John Berger. Way of seeing : 1973)
เช่นเดียวกับนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ต่างใช้ “ดวงตา” เป็นศูนย์กลางในการรับรู้โลกของคนอื่น (Ocularcentrism) การที่ต้องไปอยู่ที่นั่น (Being there) รวมไปถึงการใช้วิธีการสังเกตุแบบมีส่วนร่วมในกลุ่มคนที่ศึกษา (Participant observation) คือกระบวนการของการหาแสวงความรู้ในงานภาคสนามเพื่อที่จะทำความเข้าใจ “คนอื่น”
เพื่อที่จะมองเห็น รู้จักและจดจำ “แสง” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์
วัฒนธรรมต่างๆ ให้ความสำคัญกับแสงสว่างว่าเป็นที่มาของความรู้และปัญญา อุปมาเรื่องถ้ำของโสเครติส กล่าวถึงผู้ที่สลัดโซ่ตรวนซึ่งตรึงเขาไว้ในถ้ำ แล้วเดินออกมามองแสงดวงอาทิตย์ด้วยตาตนเอง คือการก้าวขึ้นมาสู่โลกแห่งความจริง ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญาในศตวรรษที่ 18 ของยุโรป (Age of Enlightenment) คือยุคแห่งแสงและเหตุผล (le Siècle des Lumières) ภายหลังจากการเคลื่อนผ่านไปของยุคมืด (Dark Ages )
ในทางพุทธศาสนา ความมืด คืออวิชชา และแสงสว่าง คือ ปัญญา การ “มองเห็น” ซากศพ หากพร้อมด้วยสติถือเป็น “การเห็นอันประเสริฐยิ่ง” เนื่องด้วย “ดวงตา-เห็น-ธรรม” ตามความเชื่อของฮินดู นอกจากจะให้ความสำคัญกับแสงสว่างแล้ว การ “เฝ้ามอง-อย่างภักดี” ต่อพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับประติมากรรมโคนนทิ เฝ้ามองพระอิศวรอย่างภักดีจากหน้าประตูทางเข้าศาสนสถานนั้น ถือเป็นกิริยาซึ่งจะได้รับความเมตตาจากพระองค์
เพื่อที่จะถ่ายทอด “ความเข้าใจคนอื่น” ให้เป็นที่ประจักษ์ นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาใช้ “ถ้อยคำ” หรือ “การเขียน” ที่เรียกกันว่า “งานชาติพันธุ์วรรณา/งานชาติพันธุ์นิพนธ์” (Ethnography) ซึ่งคหมายถึง การเขียน (graphy- ในภาษากรีกหมายถึงการเขียน ) เกี่ยวกับผู้อื่น (Ethno) อย่างไรก็ตาม มีข้อวิพากษ์สำคัญก็คือ งานที่ “เขียนถึงคนอื่น” เช่นว่านี้ บอกเล่าความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น
โปสเตอร์นิทรรศการนี้จึงถูกออกแบบให้มองกลับหัวได้ทั้งสองด้าน เลียนแบบกลไกของกล้องถ่ายรูปที่ภาพสะท้อนความจริงกลับหัวกลับหางเมื่อแสงเดินทางผ่านเลนส์ แม้จะมองได้ทั้งสองทาง แต่จะมีเพียงภาพเดียวที่เป็น “ของจริง” และอีกภาพหนึ่งเป็น “ภาพสะท้อน” เสมอ
เมื่อกล้องถ่ายรูปแพร่หลายขึ้น นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาเริ่มสนใจการใช้ ภาพถ่ายและการถ่ายภาพ (Photo-graphy) เพื่อการเก็บบันทึกข้อมูลและถือว่าจะช่วยขยายความรู้ ความเข้าใจให้เพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาโดยรูปศัพท์การบันทึกภาพ ก็คือ การเขียน ( graphy) ด้วยแสง (photo- ในรากศัพท์ภาษากรีกหมายถึง light-แสง) และในทำนองเดียวกันกับการเขียน การถ่ายภาพ เป็นการบันทึกความจริงเพียงบางส่วน ?
ถ้าดวงตาของมนุษย์ มองเห็น “ความจริง” ได้เพียงบางส่วน ในการมองเห็นอันจำกัดนั้น จะทำให้เรา “เข้าใจ” ได้มากน้อยเพียงใด ?
นิทรรศการ “แสง สิ่งของและการมองเห็น : ภาพถ่าย สิ่งของจากภาคสนามและการทำความเข้าใจคนอื่น” แบ่งออกเป็นสามส่วนในประเด็นที่เชื่อมโยงกัน คือ “การมองเห็น” สิ่งต่างๆ นั้น ทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร
เขียนด้วยแสง : แสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพจากคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ และภาพถ่ายจากมุมมองของช่างถ่ายภาพและนักมานุษยวิทยา
งานภาคสนาม : จัดแสดงภาพถ่าย วัตถุและผลงานจากการทำงานภาคสนามของ รศ. สุมิตร ปิติพัฒน์ อดีตคณบดีและอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งของจากภาพสนาม : จัดแสดงวัตถุที่ได้รับหรือเนื่องมาจากการทำงานวิจัยของคณาจารย์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปฎิสัมพันธ์อันซับซ้อนของวัตถุกับมนุษย์และความพยายามในการทำความเข้าใจคนอื่น