1บัตรผ่านประตู
วัตถุจัดแสดง : บัตรผ่านประตูการแข่งขันฟุตบอล, เสื้อยืดทีมการท่าเรือ เอฟซี
แหล่งที่มา : กรุงเทพฯ
เจ้าของ : อาจินต์ ทองอยู่คง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : แฟนบอล ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของแฟนสโมสรฟุตบอลไทย
1.
การปรับระบบการจัดการแข่งขันให้เป็นไปเพื่อธุรกิจมากขึ้น (commercialization) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระแสความนิยมในฟุตบอลสโมสรไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงต้นทศวรรษ 2550
ก่อนหน้านั้นการจัดเก็บค่าบัตรผ่านประตูไม่ได้เป็นไปอย่างเข้มงวดมากนัก บัตรผ่านประตูมักเป็นบัตรเรียบๆไม่มีลวดลายเฉพาะ หลายสนามไม่เก็บค่าบัตร บางสนามมีการแสดงตลกในช่วงพักครึ่งเวลา มีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมจำนวนมาก ถึงขั้นมี “คูปองเลขนำโชค” สำหรับสุ่มแจกรางวัลโดยเทียบกับผลสลากกินแบ่งรัฐบาล
เมื่อเป้าหมายของการจัดการแข่งขันเป็นไปเพื่อธุรกิจมากขึ้น ค่าบัตรผ่านประตูจึงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือเริ่มมีการจัดเก็บค่าบัตรผ่านประตูอย่างเข้มงวดและเป็นระบบ บัตรผ่านประตูที่ระบุรายละเอียดการแข่งขันอย่างเฉพาะเจาะจงเหล่านี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเติบโตของวงการฟุตบอลไทยได้เป็นอย่างดี
2.
สำหรับผู้ชมฟุตบอลแล้วบัตรผ่านประตูช่วยให้สามารถเข้าไปในสนาม แต่สำหรับผมที่ทำวิจัยเกี่ยวกับแฟนบอลนั้นบัตรผ่านประตูเพื่อเข้าไปใน “สนาม” ดูจะเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น
ช่วงแรกของการเก็บข้อมูลภาคสนามผมตระเวนไปดูการแข่งขันในหลายๆสนามฟุตบอลแต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ตอบโจทย์การวิจัยได้มากพอ วันเวลาล่วงไปพร้อมๆกับจำนวนบัตรผ่านประตูที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผมได้เริ่มทำความรู้จักกับแฟนบอลสโมสรการท่าเรือฯกลุ่มหนึ่ง เราค่อยๆสร้างความคุ้นเคยและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันมากขึ้น ทั้งในและนอกสนาม ทั้งวันที่มีการแข่งขันและไม่มีการแข่งขัน
วันหนึ่งเราจะเดินทางไปชมการแข่งขันนัดเยือนด้วยกัน เป็นครั้งแรกที่ผมจะได้ไปนัดเยือนกับพวกเขา ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยสวมเสื้อฟุตบอลไปที่สนามเลยจนถูกทักอยู่หลายครั้ง เมื่อไปถึงสถานที่นัดหมาย แฟนบอลคนหนึ่งโยนเสื้อสีดำของสโมสรการท่าเรือฯตัวนี้เข้าใส่ผม ด้วยความตกใจผมจึงรับมันเอาไว้ก่อนจะตกพื้น เขาบอกว่าเขามอบให้ผมและให้ผมสวมมันไปนัดเยือนด้วยกัน
ผมได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการวิจัยจำนวนมากและ (น่าจะ) ได้รับความไว้วางใจจากแฟนบอลมากขึ้นจากการไปนัดเยือนครั้งนั้น รวมทั้งหลังจากนั้นเมื่อผมสวมเสื้อตัวนี้ไปที่สนามก็ดูราวกับว่ามันจะช่วยให้ผมสามารถสร้างความสัมพันธ์กับแฟนบอลได้มากขึ้น
การเข้าไปสู่สนามแห่งการวิจัยแฟนบอลจึงไม่ได้ต้องการเพียงแค่บัตรผ่านประตูเพื่อเข้าไปในสนามฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังมี “บัตรผ่านประตู” แบบอื่นๆที่มาจากการทำกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลด้วย และสำหรับผมเสื้อตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ของบัตรผ่านประตูนั้น
2ปับมื้อ : ตำราดูฤกษ์ยามของชาวไตในเวียดนาม
วัตถุจัดแสดง : ตำราดูฤกษ์ยามไทดำ
แหล่งที่มา : เมืองเซอนลา เวียดนาม
เจ้าของ : ผศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
เอกสารนี้คนไต (ไท) เรียกว่า “ปั๊บมื่อ” หรือหากปรับเสียงให้เป็นไทยสักหน่อยก็น่าจะออกเสียงว่า “ปับมื้อ” หมายถึงตำราดูฤกษ์ยาม ปับมื้อเป็นประเภทของเอกสารที่คัดลอกต่อๆ กันมาด้วยอักษรและภาษาไตพร้อมทั้งรูปและสัญลักษณ์อื่นๆ นอกเหนือจากปับมื้อ คนไตยังมีเอกสารประเภทอื่นๆ อีกมาก
ปับมื้อที่แสดงอยู่นี้ผมได้มาจากตัวเมืองเซอนลา (Thành phố Sơn La) มหานครหนึ่งในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมานี้เอง การไปในครั้งนี้ผมไปร่วมอุทิศส่วนกุศลครบรอบ 10 ปีการจากไปของอาจารย์คำจอง (Cầm Trọng) ผู้ให้ความรู้เรื่องคนไตในเวียดนามแก่ผม ส่วนผู้ที่ให้หนังสือเล่มนี้มาคือ “พี่ซู” ลูกเขยของอาจารย์คำจอง ในขณะที่กำลังจะขึ้นรถเดินทางกลับจากเซอนลามาฮานอย พี่ซูวิ่งเอาหนังสือเล่มนี้มาให้แล้วสั่งเสียว่า “หนังสือเล่มนี้มึงเอาไปก็แล้วกัน พี่เก็บไว้นานแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เผื่อมึงจะเอาไปวิจัยอะไรได้” อันที่จริง นี่เป็นหนังสือไตฉบับลายมือฉบับแรกที่ผมได้มาจากมือของเจ้าของวัฒนธรรมเอง นอกจากนั้น เอกสารที่ผมใช้ศึกษาวรรณกรรมคนไตมาตลอดเกือบ 20 ปีเป็นเอกสารที่คัดลอกมาหรือถ่ายรูปมาทั้งสิ้น
คนไตอาศัยอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขาสูงในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามมาเป็นเวลานานน่าจะพร้อมๆ กับคนเวียดที่อาศัยในที่ราบลุ่มน้ำแดง หากแต่ก่อนหน้านั้นสันนิษฐานได้ว่าคนไตน่าจะมาอยู่ถิ่นนี้หลังคน “ส่า” หรือกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ปัจจุบันอยู่บนที่สูงกว่าคนไต ประชากรชาวไตปัจจุบันมีประมาณหนึ่งล้านคน แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ อีกหลายกลุ่ม กลุ่มที่เป็นทางการแบ่งเป็น “ไตดำ” และ “ไตขาว” กลุ่มย่อยในชื่ออื่นๆ ได้แก่ ไตเมือง ไตแทง ไตแดง หลักๆ แล้วคนไตอาศัยอยู่ในจังหวัดเดียนเบียนฟู ลายเจิว เซอนลา ฮว่าบิ่งญ์ แทงญ์หวา และแหงะอาน
ตามตำนานคนไต (โดยเฉพาะกลุ่มไตดำ) เชื่อว่าปับมื้อเป็นหนึ่งในหนังสือที่ “แถน” หรือเทพผู้ให้กำเนิดมนุษย์และสรรพสิ่งส่งมาให้ในผลน้ำเต้าปุงพร้อมกับสรรพสัตว์และตัวมนุษย์เอง ดังที่ตำนานน้ำเต้าปุงในเอกสาร “เล่าความเมือง” กล่าวว่า
แถนมอบหมายสิ่งต่างๆ ให้แก่พวกเผ่าส่า 330 ตระกูล พวกเผ่าไท (ไต) 550 ตระกูล พาลงมายังพื้นดิน แถนยังสั่งให้ในผลน้ำเต้ามีสิ่งต่างๆ พอเพียง มี 330 พันธุ์ข้าวพอเพียง มี 330 พันธุ์ปลา ทั้งสิ้นด้วยมีหนังสือสวดบูชา หนังสือทำนายโชคชะตา หนังสือดูวันเดือน (ยุกติ 2557, 56)
ปับมื้อสัมพันธ์กับระบบเวลาและปฏิทินของคนไต หากกล่าวโดยย่อ คนไตนับว่าหนึ่งวันมี 12 ชั่วโมง (ภาษาไตเรียก “เจ๊อ”) หนึ่งสัปดาห์มี 10 วัน (ภาษาไตเรียก “มื่อ”) มีชื่อวันไล่เรียงกันดังนี้ กั๊บ ฮับ ฮ้าย เมิง เปิ๊ก กั้ด ก้ด ฮ่วง เต๋า ก๋า หนึ่งเดือนมี 29 วันหรือ 30 วัน นับไล่ไปทีละ “ค่ำ” (ภาษาไตเรียก “กำ”) ใช้คำว่า หนึ่งค่ำ สองค่ำ ไปจนครบ “ซาวเก้าค่ำ” (29 ค่ำ) หรือ “สามสิบค่ำ” แล้วแต่ในแต่ละเดือน วันเริ่มเดือนคือวันเริ่มมีพระจันทร์ ส่วนครบเดือนคือวันพระจันทร์เต็มดวง ส่วนเดือน (ภาษาไตเรียก “เบือน”) มี 12 เดือน มีชื่อเรียกตามชื่อจำนวนนับ ยกเว้นเดือนแรกและเดือนที่สองจะนับว่าเดือน “เจียง” และเดือน “ยี่” ตามลำดับ ส่วนปี คนไตนับ 12 ปีเป็นหนึ่งรอบนักษัตรคล้ายคนไทย เรียกตามชื่อตัวสัตว์ว่า ช้าง วัว ผึ้ง กระต่าย งู ตัวลวง (เงือกหรือมังกร) ม้า แพะ ลิง ไก่ หมู หมา (Trần Vân Hạc và Cà Văn Chung 2013)
ระบบเวลา วัน สัปดาห์ เดือน และปีนี้ถูกนำมาแบ่งเป็นช่วงฤกษ์ดีหรือฤกษ์ร้ายสำหรับการประกอบกิจกรรมต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า คนไตให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาอย่างละเอียดพอสมควร และแต่ละเวลาไม่ใช่เป็นเพียงระบบการแบ่งช่วงของเวลาเพียงเท่านั้น แต่ต่างก็มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นคนไตจึงมีความเชื่อเรื่องการหาวันเวลาที่เหมาะสมกับการทำกิจการต่างๆ ของแต่ละคน แม้ว่าไม่ใช่ว่าการทำกิจการทุกอย่างจะต้องหาฤกษ์ยามตลอดก็ตาม
หากกล่าวถึงเฉพาะเรื่องวัน คนไตให้ความสำคัญกับวันใน 2 ลักษณะด้วยกัน ในด้านหนึ่ง วันสัมพันธ์กับ “สิง” หรือชื่อสกุลของคนไต คนไตมีชื่อสกุลมาตั้งแต่พวกเขามีความทรงจำเกี่ยวกับตนเอง ตั้งแต่เรื่องเล่าเรื่องกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุง คนที่เกิดในสกุลเจ้านายหรือชนชั้นปกครองหรือพวก “ผู้ท้าว” เป็นผู้สืบสกุลมาจากแถน คือคนในสกุล “ลอคำ” ส่วนคนในสกุลอื่น เป็นต้นว่า เลือง ลู วี กวาง ก่า ล้วนออกมาจากผลน้ำเต้าที่แถนโยนลงมายังโลกมนุษย์ เรื่องวันมาเกี่ยวกับสกุลตรงที่ว่า ใครเกิดสกุลใดก็จะต้องไหว้ผีบรรพบุรุษของสกุลตนตามวันที่แต่ละสกุลกำหนด สำหรับสกุลของคนสามัญหรือพวก “ผู้ไพร่” ในหนึ่งสัปดาห์ไหว้ครั้งเดียว แต่ของชนชั้นปกครองสกุลลอคำ หนึ่งสัปดาห์ไหว้สองครั้ง คือวัน “ฮ่วง” และวัน “ฮ้าย” นั่นคือ 5 วันไหว้ครั้งหนึ่ง
ผมเองไม่เคยมีโอกาสได้เห็นหรือสอบถามวิธีอ่านปับมื้อจากผู้รู้เลยสักครั้ง แต่จากเอกสารหรือวรรณกรรมชิ้นอื่น มีหลักฐานการกล่าวถึงการหาฤกษ์ยามหรือคำแนะนำเกี่ยวกับฤกษ์ยามเอาไว้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในวรรณกรรมเรื่อง “ส่งชู้สอนสาว” (ยุกติ 2561 (กำลังจัดพิมพ์)) ตัวละครกล่าวถึงวันดีวันร้ายในคำแนะนำที่ตัวละครเอกฝ่ายชายแนะนำคนรักครั้งหนึ่งว่า “วันเกิดอย่าไปดง “วันโต๊ง” อย่าไปช้อนปลา” หมายความว่าวันเกิดอย่าเข้าป่า วันไหว้ผีเรือนอย่าไปช้อนปลา หรืออีกตอนหนึ่ง ตัวละครเอกฝ่ายชายกำลังจะเดินทางไปค้าขายแดนไกล จึงไปหาฤกษ์วันออกเดินทาง
ชายจึงไปหามื้อได้มื้อ “ฮ่วง” แม่ไก่ท้วงใต้ล่างชายคืน ชายจึงคืนมาหามื้อได้มื้อ “เต๋า” หัวเข่าต้องประตูชายคืน ชายจึงคืนมาหามื้อได้มื้อ “ก๋า” ชายขากางเกงข้องซุ้มกอข่าชายคืน ชายจึงคืนหามื้อได้มื้อ “ก๊าบ” จึงเห็นเยนม้อง (อีเห็น) รู้ขับมด นกโก้ดรู้ตำข้าวด้วยสากมือ นกถืดทือในดงในป่า กิ่งก่าบินร้องในป่าคู่ทาง จึงไปเห็นฟ้าไขประตูลงล่าง ฟ้าไขหน้าต่างลงดู
นั่นคือ เขาไปปรึกษา “หมอมื้อ” หมายถึงผู้รู้เกี่ยวกับการดูฤกษ์ยาม ให้หาฤกษ์สำหรับการออกเดินทางให้ เมื่อหาได้แต่ละวันก็มักมีสิงสาราสัตว์ทักท้วง สุดท้ายได้วันก๊าบจึงออกเดินทางได้
อีกตอนหนึ่ง พ่อกับแม่ตัวละครเอกฝ่ายหญิงหาฤกษ์วันส่งตัวลูกสาวไปยังเรือนของสามีเธอ แต่เธอไม่ยอม เนื่องจากเป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชน เธอจึงหาเหตุผลมาโต้แย้งต่างๆ นานา จนไล่ไปถึงเดือนสิบสอง แม่ของเธอจึงหาอุบายพลิกกลับมาได้ว่าเดือนสิบสองเป็นเดือนดีที่จะส่งตัวลูกสาวไปเรือนของสามี เช่น
พ่อหล้าและแม่หล้าจึงว่า “ปีนี้ปีส่งเป็ดตัวเขื่องขึ้นหัวเมือง ปีส่งชู้หน้างามไปสู่ผัวแล้วลูกหล้าแม่เอ๋ย ส่งชู้ จะส่งเดือน “เจียง”
ที่รักฉันจึงว่า “เดือนเจียงว่า “ก๊ำถี” (มีข้อต้องห้าม) ปลูกเม็ดข้าวฟ่างว่ามีนก “กี้ตี้” ลงไร่ข้าวโพดว่าลิงแดงมักแห่แหน วางไซแล้วนากแนนจะจก ไม่ไปตั้งใจไม่ดิ่ง ไม่ดิ่งตั้งใจไม่ไปหรอกแม่เอ๋ย ไม่ใช่เดือนส่งเป็ดตัวเขื่องไปหัวเมือง ไม่ใช่เดือนส่งชู้หน้างามสู่ผัวใดนา
ในแง่ของระบบการสื่อสาร ปับมื้อมีลักษณะพิเศษคือ ปับมื้อไม่ได้เขียนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ประกอบไปด้วยบทพรรณนาและสัญลักษณ์ต่างๆ มีทั้งอักษรที่เขียนพรรณนาฤกษ์งามยามดี สัญลักษณ์แทนวัน และรูปวาดคนและสัตว์ นอกจากนั้น ปับมื้อยังนับเป็นเอกสารและเป็นสื่อประเภทเดียวที่เราจะพบการวาดรูปของชาวไต ที่โดดเด่นคือ “ตัวลวง” หรือมังกร นอกจากนั้นยังมีรูปเรือนที่เป็นสัญลักษณ์แสดงวันที่ควรทำหรือไม่ทำอะไรบนเรือน มีรูปคนเดิน รูปคนประกอบกิจกรรมต่างๆ และรูปควาย สื่อถึงกิจกรรมที่ควรทำหรือไม่ควรทำในวันใด
ตลอดระยะเวลาของการศึกษาเรื่องราวชีวิตคนไตดำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ผมเคยเห็นปับมื้อมานับสิบเล่ม ทั้งในพิพิธภัณฑ์และในบ้านเรือนของประชาชน ส่วนใหญ่ดูมีเนื้อหาคล้ายๆ กันและคงคัดลอกต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคน หากแบ่งตามวัสดุและอายุ ปับมื้อมีสองกลุ่ม ปับมื้อรุ่นเก่ามักใช้กระดาษที่เย็บเป็นเล่มลักษณะคล้ายสมุดไทยโบราณที่พบในประเทศไทย หากแต่แผ่นกระดาษสมุดของคนไตจะบางกว่ามาก ส่วนตัวอักษรจะเขียนด้วยหมึกสีดำ ใช้พู่กันจีนเขียน แต่ปับมื้อที่แสดงอยู่นี้เป็นเล่มแบบใหม่ เขียนด้วยปากกาลงบนกระดาษสมุดเรียน ปับมื้อนี้น่าจะมีอายุไม่เกิน 50 ปี ส่วนที่เขียนด้วยหมึกบนกระดาษบางที่ผมเคยเห็นน่าจะอายุนับ 100 ปี
รายการอ้างอิง
ยุกติ มุกดาวิจิตร. 2557. ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม.
.——————-. 2561 (กำลังจัดพิมพ์). จากรักโรแมนติกสู่การต่อสู้เชิงชนชั้น : อ่าน “ส่งชู้สอนสาว” วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตดำในเวียดนาม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
Trần Vân Hạc và Cà Văn Chung. 2013. “Đôi điều về lịch của người Thái đen Tây Bắc” (เรื่องราวเกี่ยวกับปฏิทินของชาวไตดำในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) Yên Bái. เข้าถึงเมื่อ 6 มีนาคม 2561. http://
baoyenbai.com.vn/16/102446Doi_dieu_ve_lich_cua_nguoi_Thai_den_Tay_Bac.htm.
3Try Arm ชุดชั้นในกับการต่อสู้ของผู้หญิง
วัตถุจัดแสดง : ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ รุ่น 1959
แหล่งที่มา : Try Arm
เจ้าของ : Try Arm
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : ผศ. ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา การศึกษาผู้หญิงจากประสบการณ์ชีวิตและเรื่องเล่า
ชุดชั้นใน “ไทรอาร์ม” (Try Arm) เกิดจากกลุ่มคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ (Triumph) ที่ถูกเลิกจ้างเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 โดยบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อดังหลายยี่ห้อ อาทิ ไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย(Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO), ออม (HOM) ฯลฯ
บริษัทฯ ได้เลิกจ้างคนงานจำนวนกว่า 1,959 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของคนงานทั้งหมดในโรงงานย่านบางพลี สมุทรปราการ ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง มีทั้งที่กำลังตั้งครรภ์ เจ็บป่วย หรือพิการ ตลอดจนคนงานที่ทำงานมาหลายปีมีอายุงานกว่า 20-30 ปี มีผลให้ทั้งหมดพ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทฯ ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2552
การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯ ให้เหตุผลว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและ ยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” แต่จากข้อมูลและมุมมองของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ พวกเขาเชื่อว่า “การเลิกจ้างครั้งนี้ยังมีสาเหตุมาจากความต้องการทำลายสหภาพแรงงานฯ ของฝ่ายบริหาร เนื่องจากคนงานที่ถูกเลิกจ้างเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกสหภาพฯ และมีกรรมการสหภาพฯ ถึง 13 คน จากทั้งหมด 18 คน พร้อมกับการย้ายฐานการผลิตไปหาแหล่งค่าแรงราคาถูกในรูปแบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง (Subcontractor) ซึ่งเป็นการจ้างงานที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการแก่คนงาน” (ฐิติพันธุ์ พัฒนมงคล, 2553)
การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้คนงานหญิงเกือบ 2 พันชีวิตต้องตกงานทันที แม้ว่าพวกเขาจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่บริษัทก็ได้ผิดต่อข้อตกลงที่เคยทำไว้กับสหภาพแรงงาน (ซึ่งรับรองโดยกฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ปีพ.ศ. 2518) เกี่ยวกับการชดเชยในกรณีถูกเลิกจ้าง ซึ่งระบุไว้ว่าต้องมีการแจ้งล่วงหน้า และสำหรับพนักงานที่มีอายุงาน 6 ปีขึ้นไป ต้องได้รับเงินชดเชยเพิ่มอีกปีละ 20 วัน สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จึงได้เริ่มต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงาน หรืออย่างแย่ที่สุดก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่เป็นธรรม การต่อสู้ได้เริ่มตั้งแต่การจัดชุมนุมใหญ่ การเดินขบวน ซึ่งถูกต่อว่าต่อขานว่าทำให้รถติด ผู้อื่นเดือดร้อน จนมาถึงการปักหลักกางเต๊นท์อยู่ที่ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงาน และที่ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงานนี้เองที่คนงานหญิงที่มารวมตัวกันเริ่มมีแนวคิดที่จะผลิตชุดชั้นในแบรนด์ของตนเองขึ้น จิตรา คชเดช หรือ “หนิง” อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้เล่าถึงความคิดแรกเริ่มที่จะทำชุดชั้นในขายว่า เนื่องจาก “การเจรจาไม่คืบหน้าอะไรเลย เราอยู่ว่างๆ แล้วก็เห็นคนเดินไปเดินมาในกระทรวงนี้เยอะดี เลยคิดจะทำกางเกงในขาย” (มุทิตา เชื้องชั่ง และ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา, 2561)
โชคดีที่เกือบ 200 ชีวิตใต้ถุนตึกนี้มาจากแผนกต่างๆ ที่ซอยยิบย่อยในโรงงาน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วถือว่าอยู่กันครบทุกแผนก โปรเจ็คท์นี้ถูกระดมสมองกันขึ้นในคืนหนึ่ง ประกอบกับความเป็นไปได้ที่อดีต “ดีไซเนอร์” ของไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้างไปแล้วอาสามาออกแบบให้ฟรีๆ เพื่อช่วยคนงาน ยังไม่นับรวมช่างปรับจักรที่ถูกเลิกจ้างที่อาสาช่วยเป็นเบื้องหลังด้วยอีกแรง ส่วนผ้านั้นก็เอามาจากเศษผ้าที่คนงานซื้อเลหลังจากโรงงานไปเก็บไว้ เอามารวมกัน และซื้อเพิ่มเติมบางส่วน
“พี่ดีไซเนอร์เค้าฝีมือดีมาก แต่บริษัทเปลี่ยนไปซื้อแบบเมืองนอกมาแกะ เลยถูกเลิกจ้าง นี่เค้ามาครึ่งชั่วโมง ขีดๆ แป๊บเดียวได้มาตั้ง 6 แบบ…นี่จะเป็นกางเกงในที่มีดีไซน์และฝีมือได้มาตรฐานเดียวกับไทรอัมพ์เลย เพราะคนเดียวกันนี่แหละที่ทำ”
พี่สาวใส่แว่นโฆษณาสรรพคุณอย่างภาคภูมิใจ (มุทิตา เชื้องชั่ง และ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา, 2561)
มันคงไม่เกินความเป็นจริง หากจะบอกว่าพวกเธอ “ภาคภูมิใจ” ในงานที่ทำมายาวนานจนเข้าเส้นอย่างมาก เพราะมันแสดงผ่านมาทางแววตา และรายละเอียดทางสรีระสตรีเพศมากมายเหลือเกินที่หารือกัน จนชวนให้ฉงนสนเท่มากว่า กางเกงในตัวหนึ่ง ทำไมมันถึงทำยากทำเย็นขนาดนี้
“กางเกงในที่ดีมันต้องเป้าตึง แต่ด้านหลังต้องอุ้มก้นด้วย ตรงก้นต้องยืดหยุ่น สามารถเก็บก้นเราไม่ให้ย้วยได้ เวลาเย็บนี่ มือกับด้าย กับจักร มันต้องเคลื่อนไปด้วยกัน พอดีกัน ต้องให้มัน ยืด ย่น ได้ระยะสวย แล้วสองข้างก็ต้องเท่ากันด้วย”
พี่จากแผนกเย็นคนหนึ่งสาธยาย (มุทิตา เชื้องชั่ง และ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา, 2561)
ความจริงแล้วเหตุผลการก่อกำเนิด ‘Try Arm’ มีมากกว่ากิจกรรมฆ่าเวลา แต่มันเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของแขนของกรรมาชีพผู้มีความพยายามอย่างไม่ลดละ โดยพยายามหาคำพ้องเสียงกับองค์กรที่ตนเองสังกัด (และหวังจะได้สังกัดอีกครั้ง) และทำให้เห็นด้วยว่า เราสามารถสร้างสินค้าคุณภาพดีได้ในราคาถูกและไม่ต้องขูดรีดเอาเปรียบแรงงาน “เราว่าจะขายเริ่มต้นราคา 19 บาทนะ เน้นกลุ่มลูกค้าวัยกลางคนหน่อย” จิตรากล่าว
ด้วยราคาแบบนี้ มันก็อาจเป็นความหวังในการหารายได้มาจุนเจือขบวนการ หลังจากที่ต้องควักเอาเงินกองกลางมาใช้นานหลายเดือนแล้ว มันเป็นเงินส่วนตัวที่หลายคนได้มาจากกองทุนนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นกองทุนของสหภาพฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 43 หลังการนัดหยุดงานเมื่อปี 42 แล้วถูกนายจ้างปิดงาน 42 วัน แรงงานสะสมเงินนี้เดือนละ 10 บาท และเมื่อถูกเลิกจ้างก็จะได้มันไป แต่พวกเขาก็เอามาไว้ตรงกลางเพื่อการเคลื่อนไหวต่อสู้ครั้งนี้
ธัญยธรณ์ คีรีถาวรพัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.25552 เล่าถึงแนวคิดที่มาของชุดชั้นใน Try Arm นี้ว่า “ชุดชั้นในยี่ห้อไทร อาร์ม มีความหมายว่า มือที่ทำงาน เพราะพวกเราเป็นคนทำงาน พนักงานแต่ละคนมีฝีมือ และประสบการณ์ในการเย็บผ้ามานานกว่า 10 ปี แม้นายจ้างจะช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชย และเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมอีกคนละ 1 เดือน ของเงินเดือนงวดสุดท้าย แต่พวกเราทุกคนอยากกลับเข้าทำงาน ดังนั้น จึงเริ่มมองว่าจะมีวิธีไหนที่จะใช้ต่อสู้กับบริษัทได้ แนวทางนี้ก็เป็นการต่อสู้ที่ดี จึงเริ่มคิดทำชุดชั้นในขึ้น โดยเริ่มผลิตกางเกงใน ขึ้นวันแรกเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากยังขาดอุปกรณ์และความพร้อมในเรื่องต่างๆ จึงทำแต่กางเกงใน แต่ในอนาคตอาจจะรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้น แต่จะไม่ทำในแง่ของระบบเงินทุน” (ณัฐพงษ์ บุญยพรหม, 2552: 5)
ขณะที่ สวี สุดารัตน์ ผู้มีหน้าที่ดูแลการผลิตชุดชั้นใน Try Arm บอกเล่าถึงกระบวนการผลิตว่า “วิธีการผลิตของพวกเรา คือ ใครมีจักรเย็บผ้าก็ให้นำมาใช้ จนในที่สุดหาจักรได้ทั้งหมด 9 ตัว แรงงานก็เป็นพี่น้องไทรอัมพ์มาช่วยกัน เนื่องจากจำนวนคนและอุปกรณ์ที่จำกัด จึงผลิตกางเกงในได้วันละ 60-70 ตัว ผลิตออกมาหลายสี หลายขนาด ตั้งแต่ไซซ์เอส ไปจนถึงเอ็กซ์แอล ส่วนราคาก็ไม่แพง แล้วแต่เนื้อผ้า ถ้าเป็นแบบธรรมดา ตัวละ 39 บาท หากผ้าเนื้อดีราคา 79 บาท เป็นราคาต้นทุน ยังไม่ได้บวกค่าแรง พวกเราไม่ได้ทำแค่ชุดชั้นในเท่านั้น แรงงานบางส่วนยังช่วยกันเย็บผ้าห่ม ผ้าพันคอ สานตะกร้า ภายใต้ยี่ห้อไทร อาร์ม ออกมาขายอีกด้วย การออกแบบกางเกงใน จะมีดีไซเนอร์ของบริษัทไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้างไปแล้วมาช่วยออกแบบให้ สำหรับขั้นตอนการออกแบบชุดชั้นใน ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เริ่มจากการวางรูปแบบ ตัดต่อด้วยเข็มเดี่ยว วางลูกไม้ เย็บซิกแซ็ก จับโพ้ง เย็บเข้าข้าง เข้าเป้า พอเป็นรูปร่างขึ้นมาก็เย็บยางขา เย็บทับยางเอว ล้ม 2 เข็มทับยาง เมื่อเสร็จเป็นตัวกางเกงแล้วจึงนำมาทดลอง โดยนำไปถูกับผิวหนัง หากระคายเคือง ก็จะทำใหม่ทั้งหมด วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างพวกเราจัดหา มาเอง แต่ละวันจะไปซื้อผ้าที่ใช้ทำชุดชั้นในจากตลาดผ้าตามที่ต่างๆ ใช้ค่าใช้จ่ายจากเงินกองกลาง พอเริ่มขาย ก็ได้รับการตอบรับดีมาก มีลูกค้าเป็นกลุ่มวัยกลางคน ลูกค้าบางรายจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาให้เราทำถึง 400 ตัว แต่ทำไม่ไหว จักรก็มีไม่พอ หากได้จักร 2 เข็มมาช่วย จะทำให้ผลิตสินค้าเร็วขึ้น ที่สำคัญกำลังคนเรามีไม่มากพอ ส่วนสถานที่ก็อาศัยขายใต้อาคาร ของกระทรวงไปพลางก่อน แต่หากทางกระทรวงตัดไฟ พวกเราก็จะออกไปทำกันที่อื่น ที่สำคัญในเดือนธันวาคมนี้ ทางแกนนำสหภาพฯ จะเดินทางไปรณรงค์ปัญหาการเลิกจ้าง พร้อมทั้งแนะนำสินค้าในประเทศแถบยุโรป เนื่องจากบริษัทในยุโรปให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และการเคารพสิทธิของลูกจ้าง” (ณัฐพงษ์ บุญยพรหม, 2552: 5)
“เราไม่ได้เรียนสูง ทำแต่โรงงาน จะออกไปทำอย่างอื่นก็ไม่ทำเป็น เราก็มีแต่สิ่งนี้เท่านั้นแหละ” พี่น้อย หรือ วิภา มัจฉาชาติ หนึ่งในกลุ่มไทรอาร์ม บอกกับเรา “สิ่งนี้” ในความหมายของพี่น้อย หมายถึง “ประสบการณ์” ที่สั่งสมจนเข้าเส้น กลายเป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจครั้งนี้ และเมื่อตัดสินใจจะเย็บกางเกงในขายกันเองแล้ว พี่จิตรา หัวหน้ากลุ่มก็จัดการกู้ยืมเงินจากองทุนสหภาพแรงงานมาเป็นทุนตั้งต้น เพื่อซื้อจักรอุปกรณ์และวัตถุดิบ”
(อาศิรา พนาราม, 2561)
ภาพของกางเกงในรุ่นแรกที่ผลิตจากใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงาน ใช้ชื่อว่า “รุ่น 1,959” ตามจำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 ถูกเผยแพร่ออกไปผ่านการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนงานที่ลงทุนส่งจิตราให้เดินทางไปประท้วงต่อบริษัทไทรอัมพ์ในหลายประเทศของยุโรป เหตุการณ์นี้ทำให้เธอได้ออร์เดอร์ล็อตแรก (2,000 ตัว) จากยุโรปมาต่อทุน ต่อจากนั้นผู้คนที่เดินผ่านไปมาในละแวกกระทรวงฯ ก็เข้ามาถามไถ่จนกลายเป็นลูกค้า วงจรธุรกิจเล็กๆ นี้จึงเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยมีอดีตพนักงาน 30 ชีวิต (จากทั้งหมด 1,959 ชีวิต) ที่ตัดสินใจเข้าร่วมด้วย และทั้งหมดยอมรับค่าจ้าง 0 บาทในช่วงต้น ต่อมาก็ริเริ่มทำบล็อก (http://tryarm.blogspot.com/) และเฟซบุ๊คของกลุ่ม Try Arm (https://web.facebook.com/tryarm/?_rdc=1&_rdr) ซึ่งมีกระแสตอบรับดีมาก มีคนเข้ามาให้กำลังใจ สั่งซื้อ และสั่งไปขายมากมายทั่วประเทศ และมากขึ้นทุกวันๆ
การผลิตชุดชั้นในโดยกลุ่มคนงานหญิง จากเดิมที่เป็นเพียงการทำในระหว่างชุมนุม ก็เขยิบมาเป็นการผลิตในฐานะเครื่องมือการต่อสู้เพื่อชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมจากระบบทุนนิยม วิธีการผลิตของกลุ่มไทรอาร์มเป็นการผลิตโดยที่ไม่มีนายจ้าง ไม่มีระบบการบริหารแบบสายลำดับบังคับบัญชาแบบโรงงาน เป็นการผลิตโดยความร่วมมือของกลุ่มคนงานหญิงที่มีสถานะเท่าเทียมกัน วิพากษ์วิจารณ์ติชมและรับฟังความคิดเห็นกันและกัน ด้วยความหวังว่าจะให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้มีโอกาสสวมใส่ชุดชั้นในที่มีคุณภาพราคาไม่แพงเกินต้นทุนที่แท้จริง (ต้นทุนการผลิตแค่หลักสิบ แต่ชุดชั้นในแฟชั่นที่ขายตามห้างราคากว่า 200 บาท แต่ Try Arm ขายในราคาเพียง 39 บาท 49 บาท 89 บาท) และเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาจากการกดขี่แรงงาน
อ้างอิง
ฐิติพันธุ์ พัฒนมงคล. “ชุดชั้นใน “ไทรอาร์ม” ก้าวต่อไปด้วยฝีมือและจักรเย็บผ้า” นิตยสารสารคดี. ปีที่ 25 ฉบับที่ 304 (มิถุนายน 2553) ใน https://www.sarakadee.com/2010/08/04/tryarm/ (เสิร์ชเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561).
ณัฐพงษ์ บุณยพรหม. “”ฮาร่า”สู่”ไทรอัมพ์” พลังหญิงสู้นายทุน” นสพ.ข่าวสดรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6919 (วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2552), หน้า 5.
มุทิตา เชื้องชั่ง และ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา. “รายงานพิเศษ: กางเกงในแบรนด์ ‘Try Arm’ ตัวแรก จากสองแขนแรงงานผู้ไม่ยอมแพ้” ใน https://prachatai.com/journal/2009/10/26266 (เสิร์ชเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561).
อาศิรา พนาราม. “Try Arm ชุดชั้นในเพื่อการต่อสู้” ใน https://www.tcdcconnect.com/content/600/ (เสิร์ชเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561).
4มานุษยวิทยากับเครื่องจักรกลและงานวิศวกรรม
วัตถุจัดแสดง: HYUNDAI 220LC Crawler Excavator LEGO Model (1:40 Scale)
แหล่งที่มา: นิคมอุตสาหกรรมหนักฮุนได เมืองอูลซาน ประเทศเกาหลีใต้
เจ้าของ : ผศ. ดร จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : Sangkhamanee, Jakkrit. 2017. “An Assemblage of Thai Water Engineering: The Royal Irrigation Department’s Museum for Heavy Engineering as a Parliament of Things” Engaging Science, Technology and Society, 3: 276-291
แบบจำลองรถขุดตีนตะขาบประกอบขึ้นจากเลโก้ชิ้นนี้ ผมได้มาจากเขตนิคมอุตสาหกรรมหนักของบริษัทฮุนได (หรือ “ฮยอนเด” ในภาษาเกาหลี ซึ่งแปลว่า “ความเป็นสมัยใหม่”) ที่เมืองอุลซาน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี 2016 ในช่วงที่ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยอิทธิพลของเกาหลีใต้ต่อการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อกลับมาเมืองไทย ผมได้ประกอบเลโก้ดังกล่าวจนสำเร็จ เป็นหนึ่งในของสะสมที่ภาคภูมิใจและไม่เคยนำไปจัดแสดงที่ไหนมาก่อน
แบบจำลองรถขุดตีนตะขาบชิ้นนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสนามและงานการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาที่ผมสนใจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างน้อยสองแง่มุมด้วยกัน ในแง่หนึ่งนั้น ผมสนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ และพยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเทียบเคียงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย นอกจากนี้ ผมยังสนใจการแผ่อิทธิพลของเกาหลีใต้ในประเทศไทยและภูมิภาค ผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา การลงทุนในสาธารณูปโภคต่างๆ และการผลิตสื่อวัฒนธรรมร่วมสมัยที่กลายมาเป็นที่รู้จักกันในนาม Hallyu หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีด้วย (ดู จักรกริช 2561)
ในอีกแง่หนึ่งนั้น ผมสนใจศึกษาปฏิบัติการเชิงวิศวกรรมที่เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ ผมเริ่มสนใจศึกษาชุมชนวิศวกรชลประทานมาตั้งแต่ช่วงปี 2007 และเริ่มตระหนักว่าตัวแสดงสำคัญในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมและการจัดการสังคมของวิศวกรชลประทานนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่บรรดาผู้เชียวชาญจากต่างประเทศ ข้าราชการ เทคโนแครต นายช่าง และบรรดาคนงานช่างชลประทานในท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่เครื่องจักรกลและวัสดุอุปกรณ์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแสดงที่สำคัญ ที่หล่อหลอมความเป็นสังคมวิศวกรรมแหล่งน้ำขึ้นมาได้ นี่เองที่นำพาให้ผมหันมาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์มากขึ้น (ดู จักรกริช 2559) ความสนใจดังกล่าวนี้ทำให้ผมได้เข้าไปศึกษาพิพิธภัณฑ์เครื่องจักรกล กรมชลประทาน และเขียนบทความว่าด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างนายช่างกับเครื่องจักรกลต่างๆ โดยเฉพาะกับรถขุด บทความดังกล่าวนี้นับเป็นบทความทางมานุษยวิทยาชิ้นแรกๆ ของผมที่เริ่มขยับขยายการมองสังคมผ่านแนวคิดแบบหลังมนุษย์นิยม (ดู Sangkhamanee 2016)
แบบจำลองรถขุดชิ้นนี้จึงเป็นวัตถุที่เชื่อมโยงความสนใจทั้งสองแง่ของผมเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี ทั้งมานุษยวิทยาว่าด้วยการพัฒนา (Development Anthropology) โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาของเกาหลีใต้ และการเชื่อมโยงตัวแสดงใหม่ๆ เข้ามาในการศึกษามานุษยวิทยาที่เชื่อมโยงการศึกษาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ากับสังคม (Science, Technology and Society-STS) นั่นเอง
มีเกร็ดบางประการที่เกี่ยวข้องกับแบบจำลองรถขุดชิ้นที่ผมอยากจะแบ่งปันให้ฟังเล็กน้อย แบบจำลองเลโก้ชิ้นนี้จำลองมาจากรถขุด Robex 220 LC ซึ่งผลิตโดยบริษัทฮุนได บริษัทฮุนไดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้ มีธุรกิจมากมายในระดับโลกทั้งในกิจการรถยนต์ ต่อเรือ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิคส์ ก่อสร้าง และเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และเป็นบริษัทที่มีบทบาทในเชิงการเมืองระดับชาติอย่างมากด้วยเช่นกัน เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่จะมีใครที่ทราบบ้างว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกนี้เริ่มต้นธุรกิจโครงการขนาดใหญ่นอกประเทศครั้งแรกที่ไหน และอย่างไร …
โครงการที่บริษัทฮุนไดประเดิมการก่อสร้างในต่างประเทศครั้งแรกคือ โครงการก่อสร้างทางหลวงสองเลนระยะทางประมาณ 98 กิโลเมตร ระหว่างจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 1966-1968 ในช่วงเวลานั้นเกาหลีใต้เองยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาและยังไม่เคยแม้แต่จะสร้างซุปเปอร์ไฮเวย์ในประเทศเสียด้วยซ้ำ โครงการดังกล่าวนี้รัฐบาลไทยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ และมีบริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโครงการมากถึง 29 บริษัทจาก 16 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ผู้ชนะการประมูลในครั้งนั้นได้ตกไปที่บริษัทฮุนไดของเกาหลี ซึ่งเสนอราคาประมูลก่อสร้างต่ำสุดที่ 5.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ฮุนไดขาดทุนอย่างมหาศาล แต่ประสบการณ์การพัฒนาโครงการนอกประเทศครั้งนั้นก็เป็นฐานที่ต่อยอดให้ฮุนไดได้รับสัมปทานงานอื่นๆ ในเวลาต่อมา
ในตอนนั้นมีหนุ่มน้อยคนหนึ่งเพิ่งจบการศึกษามหาวิทยาลัยเกาหลี ผู้ซึ่งในสมัยเป็นนักศึกษาเคยเป็นนักกิจกรรมต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดี ปัก ช็อง–ฮี ในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น จนถูกจับเข้าคุกและถูกหมายหัวโดยรัฐบาล เมื่อจบการศึกษาชายหนุ่มผู้นี้ได้สมัครเข้าทำงานที่บริษัทฮุนได และเริ่มทำงานแรกโดยถูกส่งตัวมายังดินแดนภาคใต้ของไทยเพื่อประจำการในตำแหน่งพนักงานบัญชีที่ไซต์งานในประเทศไทย ใครจะรู้ว่าหนุ่มน้อยผู้นี้ในภายหลังได้ก้าวขึ้นมาเป็น CEO ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮุนไดในขณะที่เขาอายุเพียง 35 ปี และกลายมาเป็นประธานาธิบดีในสมัยประชาธิปไตยคนสำคัญ ชายหนุ่มผู้นั้นก็คืออดีตประธานาธิบดี อี มย็อง–บักนั่นเอง
รถขุดนั้นไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนเท่านั้น หากแต่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพารถขุดจำนวนมากในการทำงานร่วมกับมนุษย์ผู้ควบคุมเช่นกัน การก่อสร้างโครงการพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น โดยทั่วไปแล้วมักถูกมองว่าเป็นเรื่องเชิงเทคนิค อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้นเสมอไป งานการศึกษาด้านชาติพันธุ์วรรณนาว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานจำนวนหนึ่งชี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานนั้นเป็นการประกอบสร้างทางสังคมและการเมืองด้วยเช่นกัน เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจภววิทยาภายในของมัน เราก็จะเห็นความลักลั่น ความลื่นไหล และความเป็นการเมืองไม่น้อยไปกว่าความเป็นเทคนิคของมัน (ดู จักรกริช 2560) ในงานการศึกษาการพัฒนาโครงการเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงทศวรรษ 1950 ของผม ผมได้ชี้ให้เห็นว่ารถขุดรวมไปถึงเครื่องจักรกลอื่นๆ ระบบราชการ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ และการบริหารจัดการขององค์กรระหว่างประเทศและบริษัทเอกชนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นตัวแสดงที่มีความเป็นการเมืองและคาดเดาได้ยาก โครงสร้างพื้นฐานคือการจัดวางความสัมพันธ์ที่มีพลวัตสูงและมีความไม่แน่นอนนี้เข้าด้วยกัน ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมักดำเนินไปในวิถีที่ไม่มีตัวแสดงตัวใดควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผลความสำเร็จของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้น ก็คือการจัดวางให้ตัวแสดงเหล่านั้นเข้ามากระทำการกันอย่างลงตัวในอุบัติการณ์ที่เหมาะสมนั่นเอง (ดู Sangkhamanee 2017)
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
จักรกริช สังขมณี. 2559. “ความไม่ (เคย) เป็นสมัยใหม่ของศาสตร์ – อศาสตร์: อวัตถุวิสัย อมนุษย์นิยม และเครือข่าย–ผู้กระทำของบรูโน ลาตูร์” ใน ศาสตร์ อศาสตร์ เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน, จันทนี เจริญศรี (บก.). กรุงเทพฯ: Paragraph Publishing.
. 2560. “ชาติพันธุ์วรรณนาว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐาน” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 2, หน้า 33-57.
. 2561. “สังคมเกาหลีใต้สมัยใหม่: มองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้ (Hallyu)” ใน เกาหลีปัจจุบัน. ปทุมธานี: สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Sangkhamanee, Jakkrit. 2017. “An Assemblage of Thai Water Engineering: The Royal Irrigation Department’s Museum for Heavy Engineering as a Parliament of Things” Engaging Science, Technology and Society, 3: 276-291.
. 2018. “Infrastructure in the Making: The Chao Phraya Dam and the Dance of Agency” TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia, 6(1): 47-71.
5กามูซา จาปี และพานทองเหลือง : มงคลวัตถุแห่งอัสสัม
วัตถุจัดแสดง : กามูซา จาปี พานทองเหลือง
แหล่งที่มา : รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
เจ้าของ : ผศ. ดร. ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : การฟื้นฟูวัฒนธรรมของไทอาหมในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
ภาพถ่าย และสรรพสิ่งของ ประหนึ่งความทรงจำจากการเดินทางให้หวนระลึกถึงผู้คน และประสบการณ์ภาคสนามแต่ละแห่ง
เกือบสองทศวรรษที่แล้ว ดินแดนแห่งภูผาสีนิลและแม่น้ำสีโลหิตนาม “อัสสัม” เป็นภาคสนามสำคัญด้านไทศึกษา ถือได้ว่า อัสสัมเป็นสนามแจ้งเกิดในแวดวงวิชาการของนักเรียนมานุษยวิทยาสำนักท่าพระจันทร์คนหนึ่งก็ว่าได้ ความตื่นตาตื่นใจกับผู้คน ทิวเขา ลุ่มน้ำ ความมั่งคั่งรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์สังคม และวัฒนธรรม จิตใจฉันท์มิตรของผู้คน และการต้อนรับอันอบอุ่น ดลบันดาลให้เกิดผลงานวิจัย ภาพถ่าย วีดิทัศน์ และบันทึกการเดินทาง ไม่เพียงเท่านั้นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้จากอัสสัมนับแต่คราวแรกของการเดินทางกระทั่งปัจจุบันยังคุณค่าทางจิตใจอยู่เสมอ
นอกจาก หมากพลู (Tamul paan) ผ้าไหมสีทอง (Muga silk) เครื่องแต่งกายสตรีอัสสัม (Mekhela chador) และเทศกาลบีฮู (Bihu Festival) อันลือชื่อแล้ว “กามูซา” “จาปี” และ “พานทองเหลือง” ก็ถือเป็นวัตถุสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมสำคัญของรัฐทางทิศอีสานของอินเดีย
กามูซา (Gamosa) เป็นผ้าทอสี่เหลี่ยมขนาดยาวพื้นขาวลวดลายแดง อาจพบสีอื่น ๆ ด้วย เมื่อแปลความตามตัวอักษรแล้ว คำว่า ‘กา’ แปลว่า ร่างกาย ส่วน ‘มูซา’ แปลว่า เช็ด กามูซาจึงเป็นผ้าที่ผู้คนใช้เช็ดทำความสะอาดเนื้อตัวในชีวิตประจำวัน อันถือเป็นกิจวัตรชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ จะว่าไปแล้ว กามูชาประหนึ่งผ้าขาวม้าของไทย ใช้โพกหัว พาดไหล่ หรือคล้องคอ กระทั่งคลุมคัมภีร์หรือแแท่นประกอบพิธีกรรม ใช้ต้อนรับแขกคล้องคอผู้มาเยือนพร้อมหมากพลู ชาวอัสสัมใช้กามูซาอย่างแพร่หลาย จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและวัฒนธรรมโดยไม่จำกัดภูมิหลังกลุ่มชนชาติพันธุ์ ลวดลายของกามูชาแตกต่างไปตามการออกแบบสร้างสรรฺค์อย่างอิสระ โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะได้รับจากชาวไทอาหม คำตี่ พาเก่ อ่ายตอน คำยัง และตุรุง หกกลุ่มชาติพันธุ์ไททางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
จาปี (jaapi) หมวกทรงกรวยประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่ และใบปาล์ม เดิมเป็นหัตถกรรมพื้นถิ่นเพื่อปกป้องแสงแดดตามวิถีการเกษตร นำมาประดับประดาลวดลายด้วยผ้าหลากสีสัน ใช้ประกอบการแสดงร่ายรำระบำบีฮู แสดงความเคารพ และตกแต่งภายในบ้านเพื่อแสดงการต้อนรับ ปัจจุบันมีจาปีที่ทำจากทองเหลืองด้วยเช่นกัน
ส่วน พานทองเหลือง มีชื่อเรียกตามประเภทในภาษาอัสสัมมิสว่า xorai หรือ horai ถือเป็นโลหะทรงคุณค่าที่ใช้เป็นภาชนะทรงสูง บรรจุหมากพลูแสดงการให้เกียรติ ต้อนรับ และขอบคุณ เป็นสำรับอาหาร หรือประดับตกแต่งหน้าแท่นบูชา หรือนำเสนอเป็นของขวัญแด่ผู้มาเยือนในนานางานมงคล
ผู้คนในอัสสัมยังคงรักษาประเพณีสืบเนื่องยาวนานผ่านงานหัตถกรรมนานา ไว้ได้เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
ต้นพุทธศักราช 2561 กามูชาเนื้อละเอียดและมีลวดลายสีสันสวยงามผืนหนึ่งได้รับจากนางธิมิตา น้ำชุ่ม กงวาร์ (Nang Timita Namchoom Konwar) หญิงสาวลูกผสมชาวไทเมืองยอรหัต (Jorhat) ทายาทหนึ่งเดียวของครอบครัวที่ผู้เป็นมารดาสืบเชื้อสายเจ้าเมืองไทคำตี่จากนารายันปุระ (Narayanpur) ส่วนบิดาเป็นสายสกุลเจ้าหลวงราชอาณาจักรไทอาหม ครอบครัวกงวาร์ต้อนรับอย่างอบอุ่นและดูแลอย่างดี เสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว นับเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีของไทสามกลุ่มระหว่างไทคำตี่ ไทอาหม และชาวไทยสยาม
ในคราวเดียวกัน เมื่อเดินทางไปร่วมงานเมด้ำเมผี งานประเพณีสำคัญหนึ่งของชาวไทอาหม เจ้ากุหลาบ โกกอย (Chao Golap Gogoi) อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจากเมืองโกลาคลาต (Golaghat) อุตส่าห์เดินทางมาพร้อมภริยา เพื่อพบปะทักทาย และมอบกามูซาพร้อมจาปีทองเหลืองให้ด้วยตัวเองถึงเมืองยอรหัต ชวนให้หวนถึงความทรงจำวันวานว่า เมื่อคราวเดินทางกลับมาตุภูมิจากภาคสนามเมื่อพุทธศักราช 2544 พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเอ่ยปากทักถึงจาปีใบใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางกว่าหนึ่งเมตรที่หอบหิ้วพร้อมสัมภาระล้นมือ
ก่อนกลับจากเมืองยอรหัต ครอบครัวราชกุมาร อลก นารายัน สิงห์ (Rajkumar Alok Narayan Singha) เชื้อเชิญไปดื่มน้ำชา ทานอาหารว่าง และสนทนาเกี่ยวกับคณะนักวิชาการไทยที่เคยมาเยือนเมื่อหลายสิบปีก่อน ตั้งแต่รุ่นพระบิดาที่ได้มีโอกาสต้อนรับคณะของคุณสารนาถ (สังข์ พัธโนทัย) ผู้เขียนหนังสือ เยี่ยมไทอาหม สายเลือดของเรา (2497) จนถึงคณะของท่านอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ พร้อมนักวิชาการและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวได้ว่า ราชกุมาร อลก นารายัน สิงห์เป็นราชกุมารคนสุดท้องของราชกุมาร จันทรา นารายัน สิงห์ (Rjkumar Chandra Narayan Singh) ผู้เป็นนัดดาของเจ้าหลวงปุรันทาร สิงห์ (Swargadeo Purandar Singha) กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรอาหม พระองค์ทรงครองราชย์สองครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2361 – 2362 และครั้งที่สองภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2377 – 2382 ก่อนมีผู้แทนจากเจ้าอาณานิคมขึ้นมาปกครองแทน ก่อนกลับครอบครัวของท่านมอบพานทองเหลือง horai ขนาดเล็กแบบทันสมัยเป็นของขวัญ
กามูซา จาปี และพานทองเหลือง จึงเป็นมงคลวัตถุสามสิ่งที่น่าประทับใจมิรู้ลืม
6กำไลเจ้าหญิงว้า
วัตถุจัดแสดง : กำไลเงิน
แหล่งที่มา : เมืองลาโช (Lasho) สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา
เจ้าของ : ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : ชุมชนไทในพม่าตอนเหนือ : รัฐฉานตอนใต้ ภาคมัณฑเลย์ คำตี่หลวง
เหตุกาณ์ที่ดิฉันตั้งชื่อว่า “กำไลเจ้าหญิงว้า” นี้ เกิดขึ้นในร้านของชาวภารตะแห่งหนึ่ง เนื่องจากจดบันทึกไว้ไม่ชัดเจนจึงไม่แน่ใจว่าเป็นที่เมเมียว หรือเมืองอื่น ร้านแห่งนี้เราบังเอิญค้นพบในยามค่ำ ทีมวิจัยซึ่งเริ่มสั่งสมกิเลสและทักษะในการเสาะแสวงหาแหล่งซื้อของ จนมีความชำนาญระดับหนึ่งแล้ว ใช้เวลาในยามค่ำนี้ค้นหาแหล่งขายสินค้าแปลกๆ ร้านนี้มีเครื่องเงินรูปทรงแปลกตา รวมทั้งกำไลเงินหนาหนักแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน กำไลวงหนึ่งที่เจ้าของร้านหยิบมาให้ชม ทำลวดลายตะปุ่มตะป่ำคล้ายลายดอกไม้ใบไม้ แต่ก็ไม่อ่อนหวานเหมือนลายพรรณพฤกษา ออกจะแปลกและดูน่าเกรงขามมากกว่า อย่างน้อยก็ในสายตาของดิฉันและผู้ร่วมบริโภคอื่นๆ ดิฉันพยายามถามคนขายว่ากำไลนี้มาจากที่ไหน คนขายบอกว่าเป็นของคนที่สูงกลุ่มหนึ่ง อาจจะเป็นกะฉิ่น แต่เมื่อเราบอกว่าไม่เคยเห็นกำไลกะฉิ่นแบบนี้ แกก็บอกทำนองว่า “ไม่รู้ซิ อาจจะเป็นกลุ่มอื่นก็ได้” ครั้นพวกเราพยายามจะหารือกันว่ารูปทรงแบบนี้น่าจะเป็นของกลุ่มใด ก็ไม่มีใครรู้จริงได้แต่คาดเดาไปเรื่อยๆ และอันที่จริงกำไลและเครื่องเงินต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มกันมาก ในหลายกรณีก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นของกลุ่มใด หลังจากอภิปรายกันอย่างไม่มีทางหาข้อยุติได้ อาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งมีจินตนาการบรรเจิดอย่างยิ่งก็เสนอว่า น่าจะเป็นว้า เพราะมีภาพว่าเด็ดเดี่ยวดุดัน เป็นที่น่าเกรงขาม เข้ากับสไตล์ของกำไลได้ แต่คงไม่ใช่ของชาวบ้านทั่วไป เพราะหนักมากและมีลวดลายพิสดาร จึงน่าจะเป็นของคนฐานะสูง อาจจะเป็นเจ้าหญิงว้าก็เป็นได้ คนขายซึ่งคงจะฟังเราพูดภาษาไทยไม่รู้เรื่องแต่จับคำว่า “ว้า” ได้ และพอมีภูมิปัญญาลึกล้ำพอที่จะรู้ว่า ลูกค้าอยากจะเห็นสินค้ามีความหมายเป็นอย่างไร ก็ควรจะพยายามทำให้เป็นอย่างนั้น เขารีบบอกทันทีว่า “ใช่แล้ว อาจจะเป็นว้า”
ดังนั้นการสนทนาระหว่างพวกเราและคนขาย จึงได้ช่วยกันหล่อหลอมอัตลักษณ์ความเป็นกำไลว้า และไม่ใช่ว้าทั่วไป แต่เป็นเจ้าเหญิงว้าให้แก่วัตถุชิ้นนี้ขึ้นมาได้ โดยที่ไม่มีมูลความจริงทางชาติพันธุ์ใดใดทั้งสิ้น เพราะในหมู่พวกเราไม่มีใครรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ว้าอย่างจริงจัง เพียงแต่คุ้นเคยกับชื่อกองทัพว้า ที่มีการสู้รบอยู่ตามชายแดนไทยพม่า ซ้ำตำแหน่ง “เจ้าหญิง” ของว้านั้น ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นความเป็นกำไลเจ้าหญิงว้า จึงเป็นเรื่องที่เกินความจริงชนิดสุดโต่ง เป็นนิยายที่ช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างคนต่างก็แต่งไปเรื่อยอย่างกลอนพาไป ไม่ได้จงใจหรือจริงจังอะไรมากนัก แต่ว่ามันก็มีผลในการสร้างเสน่ห์เย้ายวนอย่างน่าประหลาดให้กับวัตถุชิ้นนี้ จนเกิดพลังดึงดูดด้วยความแปลกลึกลับของมัน หรืออะไรก็แล้วแต่ จนในที่สุดดิฉันก็อดไม่ได้ต้องซื้อกำไลวงนี้มา ทั้งที่คุณเจ้าของร้านซึ่งก็คงจะรู้แกวแล้วว่าเราสนใจและติดใจกำไลปริศนานี้มาก จึงไม่ยอมลดราคาให้เลย และทั้งที่มองเห็นแล้วว่ากำไลนี้ไม่สามารถจะนำมาใช้สอยได้สะดวก เพราะขนาดเล็ก ใส่ยากเย็นเหลือเกิน รวมทั้งหนักมากจนอาจจะเหมาะเป็นอาวุธได้สถานเดียว
ในกรณีของกำไลวงนี้ ความแท้หรือไม่แท้จึงไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ และดูจะถูกกลืนหายเข้าไปในความประหลาดลึกลับ กลายเป็นเรื่องที่ยังคงปริศนาให้ค้นหาต่อไป คุณค่าหรือความหมายของสินค้าที่ได้ตัดสินใจซื้อมา เป็นเรื่องที่ผู้ร่วมเดินทางช่วยกันสร้างขึ้นมาในโลกจินตนาการของผู้เดินทางเอง จนเกิดเป็นความสนใจ พิศวง ดึงดูด และพึงพอใจที่จะได้เป็นเจ้าของ ในเวลาต่อมากำไลวงนี้จึงมีชื่อเล่นว่า “กำไลเจ้าหญิงว้า” ทั้งที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกำไลของกลุ่มชาติพันธุ์ใด
การสร้างความหมายอาจจะมีที่มาจากความพิศวงในความแปลกจนดูลึกลับ เช่นกำไลเจ้าหญิงว้า แต่บางครั้งก็มีที่มาจากความอ่อนแอและกิเลสความปรารถนาของปุถุชน ที่มักจะทำให้เกิดความกลัวพลาดโอกาสสำคัญจนทำให้ต้องรีบซื้อ การเดินทางในต่างแดนเหล่านี้ ไม่เหมือนกับการช้อปปิ้งตามศูนย์การค้า ที่เราจะสามารถเลือกของหลายๆ อย่าง เปรียบเทียบราคาดูให้ทั่วก่อนจะซื้อ ระหว่างการเดินทางเรามักจะมีโอกาสอยู่ในที่หนึ่งหรือร้านหนึ่งเพียงครั้งเดียว และอาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตก็เป็นได้ ผ่านแล้วก็ผ่านเลย ยิ่งเห็นเพื่อนร่วมเดินทางได้กันมาคนละชิ้นสองชิ้น ก็ยิ่งรู้สึกว่าต้องได้อะไรบ้าง ความรู้สึกกลัวว่าพลาดโอกาสครั้งนี้ก็จะหมดโอกาสไปตลอดชีวิตจึงมีอยู่สูงมาก และทำให้หลายครั้งเราก็ซื้อของโดยที่ไม่ทราบเหมือนกันว่าซื้อทำไม แต่ในเรื่องนี้กลุ่มนักวิจัยทีมของเราก็ได้พัฒนาการสร้างความหมายอีกแบบหนึ่งขึ้นมาเป็นคำตอบว่า ของที่ดูธรรมดาดาษดื่น หรือตอนซื้อก็ไม่แน่ใจ หรือซื้อมาแล้วก็หงุดหงิดว่าซื้อมาทำไมนั้น แต่เมื่อกลับจากภาคสนามมาถึงบ้าน เปิดออกดูก็จะกลายเป็นของ “เลอค่า” ขึ้นมาทันที ตรรกะนี้ก็อาจจะคล้ายๆ สำนวนไทยที่ว่า ของที่ซื้อแล้วย่อมจะดีที่สุด ซึ่งเคยได้ยินคนพูดอยู่บ้าง แต่ความเลอค่าของสิ่งของจากต่างแดนนี้ อาจจะมีความพิเศษออกไป ตรงที่ระยะห่างอันใหญ่หลวงระหว่างที่มาของสินค้ากับผู้ซื้อ เมื่อเดินทางกลับมาแล้ว ยิ่งเพิ่มพูนคุณค่า และมูลค่าของของนั้นด้วย เป็นค่าความพิเศษของโอกาสที่มิอาจจะมีซ้ำได้อีก กระบุงตะกร้าที่อาจจะดูแสนธรรมดา เวลาที่มันวางอยู่ในร้านหรือในบ้านคนทั่วไปในชนบทบางแห่งของพม่า เมื่อมาอยู่ในห้องทำงานในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หรือในตู้โชว์ของคนในเมืองจึง “เลอค่า” อย่างยิ่ง
กระบวนการกลายเป็นของ “เลอค่า” นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ของที่ถูกย้ายที่ ย้ายตำแหน่ง ย้ายความหมาย จนเกิดการชุบตัวบางอย่าง นักมานุษยวิทยาบางคนพูดถึง “ทฤษฎีขยะ” ว่า เราอาจจะจำแนกสิ่งของต่างๆ ในโลกนี้ออกได้เป็นสองประเภท คือ ของที่ใช้แล้วเกิดความเสื่อมผุพังไปเรื่อยๆ จนต้องทิ้งไปในที่สุด เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน รถยนต์ กับของอีกประเภทหนึ่ง เป็นของที่ไม่มีวันที่จะเสื่อม ไม่มีวันพังหรือถูกทิ้งไป เช่น แจกันกระเบื้องเคลือบจีน สมัยราชวงศ์หมิง เครื่องประดับ ในบางกรณีของที่เริ่มต้นชีวิตเป็นของที่ผุพังได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมาย กลายเป็นของที่ไม่มีวันผุพัง กระบวนการเปลี่ยนความหมายหรือ metamorphosis ซึ่งคล้ายกับการชุบตัวใหม่นี้ เกิดขึ้นได้หลายแบบ การกลายเป็นของที่คนสะสม หรือเก็บในพิพิธภัณฑ์ก็เป็นวิธีหนึ่ง ในประเทศอังกฤษ มีชายคนหนึ่งชื่อ โรเบิร์ต โอไพ (Robert Opie) ซึ่งมีความคิดไม่เหมือนใคร ตั้งแต่เด็กๆ เขาเริ่มเก็บกล่องที่บรรจุผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กล่องของเล่น กล่องขนม กระดาษห่อช็อคโกแลต กล่องใส่ใบชา กระป๋องขนมปัง ฯลฯ จนในปี ค.ศ. 1984 เขาเปิดพิพิธภัณฑ์โฆษณาและบรรจุภัณฑ์ขึ้น จัดแสดงหีบห่อใหญ่น้อยสารพัดชนิดที่มีจำนวนประมาณ 300,000 ชิ้น (แต่จริงๆ แล้วเขาก็ไม่เคยสามารถนับได้ว่ากี่ชิ้นกันแน่) กล่องในพิพิธภัณฑ์นี้ จึงไม่ใช่ของที่ควรจะอยู่ในถังขยะ แต่กลับกลายเป็นของมีค่า เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์การโฆษณาและการผลิตอย่างหน้าทึ่ง ในทำนองเดียวกัน ตะกร้าบรรจุของไทคำตี่เมื่อถูกนำข้ามน้ำข้ามทะเลมาไว้ในห้องทำงาน ก็ผ่านกระบวนการชุบตัว กลายเป็นของควรรักษาไม่ให้ผุพัง และมีคุณค่าชนิดใหม่เกิดขึ้น ตะกร้าใบนี้เป็นกลายเป็นทั้งข้อมูลทางชาติพันธุ์ แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่ชาวนาไทคำตี่ในพม่า รวมทั้งกลายเป็นตัวแทนของชีวิตอีกแบบหนึ่งที่คนในโลกที่พัฒนาแล้วแสวงหา มนุษย์เราแต่ละยุคแต่ละสมัย มักจะแสวงหาบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิตทางสังคมของเรา กวีโรมันแสวงหาอะคาเดียดินแดนในฝัน ยุโรปยุคกลางแสวงหาแดนสวรรค์ ฝรั่งยุคอุตสาหกรรมคลั่งไคล้ในชนบท คนในสังคมปัจจุบันแสวงหาด้านกลับของความเจริญก้าวหน้า ดังเช่นที่นิทเช่ กล่าวว่าโลกสมัยใหม่ค้นพบแดนเนรมิตของเขาใน the primitive
7คัมภีร์อัลกุรอานกับมิตรภาพในสนามต่างวัฒนธรรม
วัตถุจัดแสดง : พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย
แหล่งที่มา : จังหวัดยะลา
เจ้าของ : ผศ. ดร. อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : We Love ‘Mr. King’: Exceptional Sovereignty, Submissive Subjectivity, and Mediated Agency in Islamic Southern Thailand.
ผมได้คัมภีร์อัลกุรอานเล่มนี้จากเพื่อนชาวมุสลิมคนหนึ่งในหมู่บ้านที่ อ.รามัน จ.ยะลา ที่ผมเข้าไปศึกษาในช่วง พ.ศ. 2551 เขาชื่อ “ยา” ทว่าคนส่วนใหญ่เรียกเขาว่า “ยียา” เพราะความที่เขาเคยไปประกอบพิธีฮัจจ์ที่เมกกะ โดยคำว่า “ยี” มาจากคำว่า “ฮัจยี” ที่หมายถึงมุสลิมที่ผ่านการประกอบพิธีฮัจจ์ การที่คนในหมู่บ้านเรียกเขาโดยมีคำว่า “ยี” นำหน้าจึงมีนัยของการให้เกียรติและแสดงความเคารพนับถือในวัตรปฏิบัติรวมถึงความรอบรู้ในศาสนาของเขาระดับหนึ่ง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ไปประกอบพิธีฮัจจ์กลับมาแล้วจะได้รับการเรียกว่า “ยี” หรือ “ฮัจยี” นำหน้าชื่อ เขาจึงเป็นหนึ่งในบรรดาคนในหมู่บ้านที่ผมมักจะสอบถามเมื่อมีข้อสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และเขาก็ตอบคำถามผมด้วยความตั้งอกตั้งใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่าเขาไม่เพียงแต่บอกว่าศาสนาอิสลามว่าไว้อย่างไรในประเด็นนั้นๆ โดยอาศัยคัมภีร์อัลกุรอานเป็นแหล่งอ้างอิง หากแต่ยังอธิบายเพิ่มเติมว่าที่ศาสนาอิสลามว่าไว้ดังกล่าวนั้นมีนัยอย่างไรในบริบท “สากล” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเปิดกว้าง การอดทนอดกลั้น หรือการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงที่ผมอาจจะหาไม่ได้จากการสอบถามผู้นำศาสนาและครูสอนศาสนาโดยทั่วไป
ค่ำหนึ่งขณะผมกำลังเก็บสัมภาระสำหรับเดินทางขึ้นมาทำธุระที่กรุงเทพฯ “ยียา” แวะมาคุยกับผมตามปกติ แต่ที่พิเศษออกไปก็คือว่าครั้งนี้เขาถือคัมภีร์อัลกุรอานมาด้วย เขากล่าวว่าผมเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านได้สามสี่เดือนแล้วแต่เขายังไม่ได้มอบอะไรให้เพื่อแสดงน้ำใจไมตรี จึงอยากจะมอบคัมภีร์อัลกุรอานให้เพื่อการนี้ อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่าศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้มอบคัมภีร์อัลกุรอานให้คนต่างศาสนา ไม่เหมือนกับศาสนาคริสต์ที่สามารถมอบคัมภีร์ไบเบิลให้ได้ แต่ด้วยความที่เขาต้องการแสดงน้ำใจไมตรีกับผมในฐานะเพื่อนก็ให้คิดเสียว่าเป็นการให้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ก็ไม่ต้องคืนเขาแต่อย่างใด ผมจึงถามเขาว่าแล้วผมควรจะปฏิบัติต่อคัมภีร์อัลกุรอานอย่างไรเพราะเข้าใจว่าคัมภีร์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ในทัศนะมุสลิม เขาบอกว่าก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่วางไว้ในที่ที่เหมาะสมและปฏิบัติด้วยความเคารพ รวมทั้งให้หมั่นศึกษาหาความรู้จากคัมภีร์เล่มนี้ ผมรับปากและจากนั้นเราก็คุยกันเรื่องอื่น
การมอบหรือให้ยืมคัมภีร์อัลกุรอานเป็นการถาวรของ “ยียา” อาจนับเป็นกลยุทธ์ในการเผยแพร่หรือว่าชักชวนคนเข้าศาสนาอิสลาม ทว่าขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็มีนัยของการแสดงความปรารถนาดีที่เพื่อนมนุษย์มีต่อกันด้วย เพราะการที่มุสลิมจะชักชวนใครเข้าศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นอย่างพร่ำเพรื่อ อย่างน้อยพวกเขาต้องเห็นว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา รวมทั้งจะต้องเป็นมิตรที่พวกเขาจะคบหาสมาคมด้วย และขณะเดียวกันสำหรับมุสลิมแล้วไม่มีสิ่งใดมีค่าและประเสริฐกว่าศาสนาอิสลาม คัมภีร์อัลกุรอานเล่มนี้จึงเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพที่เกิดขึ้นในสนามต่างวัฒนธรรม เป็นเครื่องหมายของการที่มิตรคนหนึ่งมอบสิ่งที่เขาคิดว่ามีค่าและประเสริฐสุดให้แก่มิตรอีกคน
8ชะตากรรมของสิ่งของ คนและชนชาติ
วัตถุจัดแสดง : ย่ามและผ้าทอ
แหล่งที่มา : เมืองหล้า (Yingjians) มณฑลยูนนาน
เจ้าของ : เตาเซินซี เจ้าแกมเมือง เมืองหล้า สาธารณรัฐประชาชนจีน
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : สารคดีโทรทัศน์ “คนไท”
ตอนเก็บข้อมูลภาคสนามในกลุ่มคน (ไท) อาหม ที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ก็มักจะได้ยินคนอาหมเองทั้งในหมู่ผู้นำและกลุ่มคนทั่วไปที่พยายามฟื้นฟูประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหม กล่าวให้ได้ยินอยู่เสมอว่า เมื่อ 700 กว่าปีก่อน บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากอาณาจักรหมอกขาวมาว หลวง แห่งลุ่มแม่น้ำมาว ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อของเขตรัฐฉานของสหภาพพม่าและมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีนปัจจุบัน และชาวอาหมเองก็คาดหวังว่าจะหาทางไปเยือนเมืองเมาหลวงซึ่งเป็นดินแดนของบรรพบุรุษพวกเขาให้ได้สักครั้งหนึ่ง
ในเอกสารจีนกล่าวว่า อาณาจักรมาวหลวง เป็นอาณาจักรของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไท มีอายุสืบเนื่องย้อนกลับไปได้นับพันปี และในช่วงคริสตศตวรรษที่ 11-13 รัฐโบราณแห่งลุ่มน้ำมาว ขยายอิทธิพลไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมลุ่มแม่น้ำสามแห่งคือ ลุ่มแม่น้ำคง (สาละวินในจีน) ลุ่มแม่น้ำเก๋ว (อิรวดีของสหภาพพม่า) และลุ่มแม่น้ำดาวผี (พรหมบุตรของอินเดีย) จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 หลังจากที่สู้รบกันถึงสามหน อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองชาวไท ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน ในสมัยราชวงศ์หมิง พอถึงยุคราชวงศ์ชิง ก็ได้พยายามยกเลิกระบบเจ้าฟ้าไทแบบเดิมและแต่งตั้งขุนนางและข้าราชการจีนจากส่วนกลางเข้าปกครองและแบ่งอาณาเขตของเมืองมาวให้เป็นหัวเมืองขนาดเล็กๆ ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองชนชาติไทและจิ่งโพของมณฑลยูนนาน
ในปีพ.ศ. 2539 ก่อนที่ผมจะเข้าไปเก็บข้อมูลเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอัสสัมนั้น ผมเคยเดินทางไปถ่ายทำสารคดีโทรทัศน์เกี่ยวกับ “คนไท” ในดินแดน “อาณาจักรหมอกขาวมาวหลวง” อยู่ก่อนแล้วและมีโอกาสได้พบกับชายชราอายุ 62 ปีคนหนึ่งซึ่งมีศักดิ์เป็นถึง “เจ้าแกมเมือง” เทียบได้กับองค์รัชทายาท เนื่องจากเป็นหลานของท่านเตาอันเหริน –กษัตริย์หรือเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองหล้า (Yingjians)
ท่านเตาอันเหริน (พ.ศ.2415-2456) หรือเจ้าฟ้าไทองค์ที่ 20 ของเมืองหล้า ถือกันว่าเป็นผู้นำของชนชาติไทยุคใหม่ ครองตำแหน่งเจ้าฟ้าเมื่ออายุได้ 19 ปี มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาชุมชนไทให้เจริญทัดเทียมชาติอื่นๆ ท่านเข้าร่วมในขบวนการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมของอังกฤษ เดินทางอย่างกว้างขวางในพม่า อินเดีย มาเลเซียและเข้ารับการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น กลับมาก่อตั้งโรงงานทอผ้า โรงงานไม้ขีดไฟ โรงไฟฟ้า ตั้งธนาคาร พิมพ์ธนบัตรไท คาดหวังว่าจะนำสังคมไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตย หลังการเข้าร่วมและเป็นตัวแทนของกลุ่มไทใหญ่ในขบวนการปฏิวัติซินไฮ่ ท่านก็ถูกจับในข้อหากบฎต่อราชสำนักชิง ถูกคุมขังที่ยูนนานและปักกิ่งก่อนสวรรคต
เมื่อชะตากรรมของชนชาติไทต้องผันผวน การปกครองของชนชาติไทแบบเดิมต้องยกเลิกไป ส่งผลให้เจ้าแกมเมือง ซึ่งเป็นรัชทายาทองค์ต่อมาต้องหลบหนีระหกระเหินไปอาศัยอยู่ในเขตรอยต่อของจีนและพม่านานกว่าสามสิบปี ก่อนที่จะเดินทางกลับมาอยู่ที่ “หอคำ” เดิมซึ่งทางการจีนยึดไปและปัจจุบันเหลือสภาพเป็นเพียงเรือนไม้ชั้นเดียวเก่าคร่ำคร่า
ผมขอให้ทีมงานบันทึกภาพการสัมภาษณ์รัชทายาทเมืองหล้าคนสุดท้าย โดยขอให้ท่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติของกลุ่มคนไทมาว ประวัติและความคิดของเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายซึ่งเป็นปู่ของท่านหลังเสร็จงาน ท่านชักชวนให้ทีมงานทั้งหมดไปคารวะหลุมฝังศพของท่านเตาอันเหริน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากหอคำหรือบ้านที่ท่านพักมากนัก
หลังจากที่เราคารวะหลุมศพของเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองหล้าเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะร่ำลากัน ท่านได้มอบของสองชิ้นซึ่งถือติดตัวมาจากบ้านให้กับผม โดยขอให้มารับมอบที่หน้าหลุมศพและขอให้ช่างภาพถ่ายรูปไว้ ท่านกล่าวว่า “ของสองชิ้นนี้เก็บมา 36 ปีแล้ว เป็นของคนไทมาว ตอนอพยพไปอยู่ที่เมืองม่าน (พม่า) ก็นำไปด้วย แต่วันนี้ขอมอบให้คนจากเมืองไทย”
ผมไม่ทราบว่า ทำไมท่านจึงให้ของ “สำคัญ” ซึ่งนำติดตัวไปเมื่อครั้งอพยพออกจากบ้านเกิดไปอยู่ที่พม่านานกว่าสามสิบปีและเอากลับคืนมาที่บ้านเดิม เพื่อที่จะตัดสินใจยกให้กับใครคนหนึ่งซึ่งเพิ่งได้พบและสนทนากันเมื่อไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงมานี้เอง
ผมเดาไม่ถูกว่า การที่ท่านตั้งใจมอบของสองชิ้นนี้ให้กับผม ณ เบื้องหน้าหลุมศพบรรพบุรุษของท่านและขอให้ช่างภาพถ่ายรูปนี้ไว้ จะมีความหมายอย่างไรสำหรับท่าน
ผมไม่แน่ใจว่า นี่เป็นเพียงของที่ระลึกที่ “คนไท” กลุ่มหนึ่งมอบให้กับคนที่ใช้ภาษาตระกูลเดียวกัน “เชื้อชาติ” เดียวกัน ที่มาสนใจเรื่องราวบรรพบุรุษของท่าน หรือจะเป็นการส่งมอบภาระกิจบางอย่างที่ท่านไม่มีโอกาสทำต่อแล้วให้กับคนรุ่นต่อไป
หลายปีต่อมา ผมเดินทางไปเก็บข้อมูลที่รัฐอัสสัม เพื่อที่จะเขียนวิทยานิพนธ์สักเล่มหนึ่งว่าด้วยการรื้อฟื้นวัฒนธรรมของ “ไทอาหม” : อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์โพ้นพรมแดน
และนี่เวลาก็ผ่านมานานหลายปีแล้ว ผมไม่ได้กลับไปที่รัฐอัสสัมและอาณาจักรมาวหลวงอีกเลย
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9จานทำมือ
วัตถุจัดแสดง : จานเซรามิค
แหล่งที่มา : อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย
เจ้าของ : ผศ. อรอุมา เตพละกุล
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
เซรามิคชิ้นนี้เป็นงานปั้นที่เกิดจากการเรียนรู้และลงมือทำในฐานะนักวิจัยในโครงการวิจัยว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ( Creative Tourism) ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมบุกเบิกกับหน่วยงาน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จำได้ว่า วันที่ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมโครงการฯ นั้น เพิ่งคลอดลูกสาวคนเล็กได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น และกำลังจะรับตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการปริญญาตรี สาขาการวิจัยทางสังคมของคณะอีกด้วย
นิยามของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่ทางคณะทำงานได้กำหนดร่วมกันก็คือ “การท่องเที่ยวที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งโดยผ่านประสบการณ์ตรงร่วมกับเจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของวัฒนธรรม”
ในฐานะคนทำงาน เราจำเป็นที่จะต้องหากิจกรรมในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายและร่วมกันพัฒนากับเจ้าของกิจกรรมนั้นให้เป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในระหว่างที่คณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพัฒนา “โมทนาเซรามิค” ของคุณเฉลิมเกียรติ (พี่อู๊ด) และคุณอณุรักษ์ (พี่ไก่) บุญคง เจ้าของกิจการและผู้ก่อตั้งร้าน “โมทนาเซรามิค” ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ให้เป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์รุ่นที่ 1 เราจึงต้องร่วมในกระบวนการ “ทดลองทำ ด้วยตัวเอง” ตั้งแต่ต้นจนจบ
เซรามิคชิ้นนี้เป็นงานปั้นชิ้นแรกในชีวิตที่ดิฉันได้มีโอกาสได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ อย่างละเอียดจากพี่อู๊ดและพี่ไก่ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดิน การปั้นดิน การขึ้นรูป การกด การผสมน้ำเคลือบ การเคลือบสี และการเผา เซรามิคชิ้นนี้มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ทุกขั้นตอนที่ลงมือทำล้วนมีความลุ้น ไม่ว่าจะเป็น…ลุ้นให้เป็นปั้นเป็นรูปทรงที่ต้องการ ลุ้นให้ไม่แตกในระหว่างการเผา ลุ้นให้น้ำเคลือบออกมาสีสวย และอีกหลายๆ เรื่องที่ต้องลุ้น และนี่เองทำให้เกิดการจดจำ และเกิดความประทับใจไม่รู้ลืมในมรดกวัฒนธรรมของพื้นที่
นอกเหนือไปจากการพัฒนาเจ้าของกิจกรรมและกระบวนการการนำเสนอกิจกรรมแล้ว ดิฉันรู้สึกได้ว่า ตัวเองก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพบางอย่างด้วย เช่น ศักยภาพในงานศิลปะ ซึ่งมีน้อยและยังซ่อนอยู่ลึกมากอีกต่างหาก รวมไปถึงศักยภาพในการปรับตัวในเรื่องการกินได้ทุกอย่าง และการนอนได้ทุกที่และทุกช่วงเวลา เพราะการที่ต้องเดินทางไปหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทยและต่างประเทศ
ความทรงจำ ความสัมพันธ์ และมิตรภาพที่เกิดขึ้นในโครงการวิจัยนี้ ไม่เพียงแต่จะมีอยู่แค่ช่วงที่คณะทำงานฯ ลงไปภาคสนามเท่านั้น หากแต่ยังคงอยู่แม้โครงการฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว และกลายเป็นเครือข่ายของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมากกว่า 30 กิจกรรมเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ( ดูตัวอย่างได้จาก ctthailand.net )
เมื่อมีโอกาสเดินทางไปทำงานหรือท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่พิเศษของ อพท. พวกเราก็จะแวะเวียนไปเยี่ยนเยียนชุมชนและเจ้าของกิจกรรมอยู่เสมอ มิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ว่านี้ยังขยายไปสู่ระดับครอบครัวของเครือข่ายด้วย โดยพวกเราได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญในครอบครัวของเครือข่ายหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น งานบวชลูกชาย งานรับปริญญาลูกสาว งานรับขวัญหลาน ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ทางเครือข่ายเอง หากมาทำธุระที่กรุงเทพ ก็จะมีการส่งข่าวคราวแจ้งมายังพวกเราด้วย เผื่อจะได้นัดหมายพบปะพูดคุยกัน
ทุกครั้งเมื่อได้เห็น จานเซรามิค ที่ทำขึ้นด้วยตัวเอง นอกจากจะทำให้ย้อนนึกถึงวันแรกๆ ที่ได้เริ่มต้นทำงานเรื่องนี้แล้ว จานใบนี้ยังชวนให้นึกถึงผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกจำนวนมากที่ได้พบและที่ได้ทำงานร่วมกัน
10ธาตุอันตรธาน
วัตถุจัดแสดง : พระบฏ ธาตุอันตรธาน
แหล่งที่มา : สกุลช่างภาคกลาง ประเทศไทย
เจ้าของ : ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : พุทธศาสนานิกายเถรวาทในบริบทวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ (คริสต์ศตวรรษที่ 11- ปัจจุบัน)
เช่นเดียวกันกับสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก พระพุทธศาสนามีปกติคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป โดยอิงกับเหตุปัจจัย ตามกฏอนิจจังแห่งพระไตรลักษณ์. การเกิดขึ้นในโลกของพระพุทธศาสนา มีสาเหตุมาจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม และทรงกอปรด้วยพระมหากรุณาธิคุณในอันที่จะประกาศพระสัทธรรมที่ทรงค้นพบด้วยการตรัสรู้นั้น ให้แพร่หลายในหมู่ชาวโลก. พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลและวินัย เพื่อกำกับกายและวาจาของพุทธบริษัทหมู่ต่างๆ ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และถึงพร้อมด้วยเงื่อนไขตามสภาวะแห่งตน ในการจะบริหารจิตเพื่อให้เข้าถึงพระสัทธรรม อันได้แก่การรู้แจ้งเห็นจริงความเป็นไปของโลกตามหลักอริสัจจ์สี่ได้ในที่สุด, รวมถึงเพื่อยังประโยชน์ให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะหรือสังคม ได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วย. พระพุทธศาสนาจะยังประดิษฐานมั่นคงอยู่ในโลกได้ ตราบเท่าที่พุทธบริษัทยังรักษาตนอยู่ในครรลองแห่ง “ธรรม” และ “วินัย” และย่อมถึงกาลเสื่อมถอย เมื่อพุทธบริษัทนั้นเองกระทำตนให้คลาดเคลื่อนจากหลักพระธรรมวินัย หรือในที่สุดถึงกับกระทำพระธรรมวินัยให้คลาดเคลื่อนไปจากหลักการที่ถูกต้อง เรียกปรากฏการณ์หลังนี้ว่า “สัทธรรมปฏิรูป”. ภัยอันตรายใหญ่หลวงอันจะนำมาซึ่งหายนะแห่งพุทธศาสนา ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตระหนักรับรู้และทรงแสดงไว้ในหลายโอกาส ดังปรากฏหลักฐานมากแห่งในพระไตรปิฎกบาลี จึงล้วนเป็นภัยอันตรายจากภายใน คือความประมาทในการรักษาธรรมวินัยให้เที่ยงตรงของหมู่พุทธบริษัทนั้นเอง หาใช่เป็นการเบียดเบียนบีฑาจากศัตรูภายนอกไม่. อย่างไรก็ดี การเสื่อมไปของพระพุทธศาสนา มิได้กระทบต่อสภาวะความเที่ยงแท้แห่งพระสัทธรรม หรือหลักอริยสัจจ์สี่แต่อย่างใด เนื่องเพราะเป็นหลักสัจจธรรมของโลก ย่อมดำรงความเป็นจริงอยู่เสมอ เพียงแต่เมื่อพุทธศาสนาสูญสิ้นไปแล้ว สัตว์โลกย่อมขาดแนวทางชี้แนะเพื่อให้เข้าถึงหลักพระสัทธรรมดังกล่าว, ต้องรอจนกระทั่งถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ ทรงเสด็จอุบัติ ตรัสรู้ และประกาศธรรม พระพุทธศาสนาจึงจะกลับประดิษฐานตั้งมั่นขึ้นได้อีกครั้ง ซึ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากในโลก.
จากหลักฐานในพระไตรปิฎกบาลีของฝ่ายเถรวาท พระพุทธเจ้าทรงปรารถเหตุความเสื่อมไปแห่งพุทธศาสนา ตามเนื้อหาที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหมวดธรรมและวินัยที่ทรงแสดงหรือบัญญัติ. ในพระวินัยปิฎก ทรงกล่าวถึงพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึงความบริสุทธิ์ในหมู่สงฆ์ ว่าจะดำรงอยู่ได้นานหากพระพุทธองค์เองทรงวางสิกขาบท (วินัย) และทรงแสดงธรรมแก่หมู่พระสาวกโดยพิศดาร และจะดำรงอยู่ได้ไม่นานด้วยเหตุตรงข้ามกัน; นอกจากนั้น การมีมาตุคาม (สตรีเพศ) ออกบรรชาในศาสนา ก็เป็นเหตุอันจักยังพรหมจรรย์ให้ตั้งมั่นอยู่ได้ไม่นานในหมู่บรรพชิต ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติครุธรรม 8 ประการสำหรับภิกษุณีรักษา เพื่อยังพรหมจรรย์ให้ตั้งมั่นอยู่ได้ยาวนานขึ้น. ในพระสูตรพระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงความเสื่อมไปแห่งพระสัทธรรมว่า พระสัทธรรมจักไม่เสื่อมสูญหากยังไม่เกิดสัทธรรมปฏิรูป (การกระทำหลักพระธรรมวินัยให้คลาดเคลื่อน) อันโมฆบุรุษยังให้เกิดขึ้นในโลก และพระสัทธรรมจักดำรงอยู่ได้นานขึ้น หากพุทธบริษัทยังปฏิบัติตนอยู่ในครรลองแห่งพระสัทธรรม ได้แก่การเจริญสติปัฏฐานสี่ (หมายถึงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ), การตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท, มีความเพียร ความมักน้อยสันโดษ โยนิโสมนสิการ สัมปชัญญะ และกัลยาณมิตร. นอกจากนั้น พระพุทธองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับการสืบทอดพระสัทธรรมที่ถ่ายทอดผ่านภาษาบาลี ด้วยพยัญชนะและอรรถ (การขยายความ) ที่เที่ยงตรง เพื่อไม่ให้เกิดการรับรู้ความหมายของพระสัทธรรมคลาดเคลื่อนไปจากความหมายอันแท้จริง. กล่าวโดยสรุป แม้พุทธศาสนาย่อมมีจุดหมายปลายทางคือความเสื่อมสูญไปในที่สุด แต่ก็อาจยังการเข้าถึงความเสื่อมสูญนั้นให้เนิ่นช้าออกไปได้ ด้วยความถึงพร้อมแห่งเหตุปัจจัย ได้แก่การที่พระพุทธองค์เองทรงกอปรด้วยพระอุตสาหะและวิริยะ ในการวางสิกขาบทเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับหมู่สงฆ์ และทรงแสดงธรรมแก่หมู่พระสาวกโดยนัยอันพิศดาร, การที่พุทธบริษัทหมั่นปฏิบัติตนและบริหารจิตตามครรลองแห่งพระสัทธรรม, การไม่ลุ่มหลงไปกับสัทธรรมปฏิรูปอันโมฆบุรุษยังให้บังเกิดขึ้น, และการรักษาพยัญชนะและอรรถแห่งพระบาลีไว้ได้โดยเที่ยงตรง.
คัมภีร์บาลีชั้นอรรถกถา จัดหมวดหมู่พลวัตการเปลี่ยนแปลง อันจะนำไปสู่ความเสื่อมสูญของพุทธศาสนา ไว้เป็นห้าประเภท เรียกว่า “ปัญจอันตรธาน”, ประกอบด้วย: “ปริยัติอันตรธาน” ได้แก่การเสื่อมสิ้นไปของการศึกษาเล่าเรียนและทรงจำพระไตรปิฎก; “ปฏิบัติอันตรธาน” คือความบกพร่องกระทั่งสูญสิ้นไปของการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่มรรคผล; “อธิคมอันตรธาน” (หรือบางคราวก็เรียกว่า “ปฏิเวธอันตรธาน”) หมายถึงการสูญสิ้นไปแห่งมรรคผล เมื่อพุทธบริษัทขาดการปฏิบัติที่เหมาะสม ก็ย่อมไม่สามารถเข้าถึงมรรค ผล ปฏิสัมภิทา วิชชา และอภิญญา ได้อีกต่อไป;“ลิงคอันตรธาน” หมายถึงการเสื่อมสิ้นไปของเพศบรรพชิต กระทั่งถึงในที่สุดแล้วไม่มีบุคคลทรงไว้ซึ่งสิกขาบทอีกต่อไป; และ “ธาตุอันตรธาน” คือการสูญสิ้นไปของพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องเพราะในช่วงเวลานั้น แม้แต่พระบรมสารีริกธาตุก็ปราศจากผู้ปฏิบัติดูแลรักษา จึงเสด็จเข้าสู่นิพพาน. อันตรธานสี่ประเภทแรกเกิดขึ้นในลักษณะกระบวนการที่สัมพันธ์กัน ทั้งแบบเป็นห่วงโซ่ และแบบเคลื่อนคลายควบคู่กันไป, เริ่มจาก “ปริยัติอันตรธาน” นำไปสู่ “ปฏิบัติอันตรธาน”, “ปฏิเวธอันตรธาน” และ “ลิงคอันตรธาน” ตามลำดับ. ส่วน “ธาตุอันตรธาน” จะเกิดขึ้นในลำดับสุดท้าย เมื่ออันตรธานสี่ประเภทแรกดำเนินเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วโดยสมบูรณ์. ในการนี้ พระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สถานที่ต่างๆ ในโลก เมื่อปราศจากพุทธบริษัทรักษาบูชาแล้วย่อมเข้าสู่นิพพาน คือการสูญสิ้นไปอย่างไม่เหลือเชื้อ, โดยพระบรมธาตุในลังกาทวีปจะเสด็จไปชุมนุมกันที่พระมหาเจดีย์ (คือพระมหาสถูปรุวันเวลิสยา แห่งสำนักมหาวิหาร) ก่อน แล้วเสด็จต่อไปยังราชายตนเจดีย์ และโพธิบัลลังก์อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ในชมพูทวีป โดยลำดับ ส่วนพระบรมธาตุจากที่อื่นๆ คือนาคพิภพ เทวโลก และพรหมโลก จะเสด็จไปที่โพธิบัลลังก์ทีเดียว. พระบรมธาตุทั้งหลายจะรวมตัวเป็นแท่งเดียวกัน ณ โพธิบัลลังก์นั้น แล้วแผ่ฉัพพรรณรังสีโชตนาการออกไป ยังหมื่นโลกธาตุให้สว่างไสวโดยตลอด (ในคัมภีร์รุ่นหลังเช่น “พระปฐมสมโพธิกถา” กล่าวว่าพระบรมธาตุเสด็จมารวมตัวกันเป็นรูปพระพุทธเจ้าเหมือนเมื่อครั้งยังดำรงพระชนมชีพอยู่ ประทับบนโพธิบัลลังก์ แล้วทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์) เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุจะพากันมาชุมนุมที่โพธิบัลลังก์นั้น เพื่อสักการะพระบรมศาสดาเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นเตโชธาตุในพระธาตุทั้งหลายจึงตั้งขึ้นและพวยพุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก กระทั่งพระธาตุทั้งหลายถึงกาลสิ้นสุด เปลวไฟนั้นจึงดับมอดลง ถือเป็นการปิดฉากพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์.
ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาเถรวาทของทั้งศรีลังกาและเอเชียอาคเนย์ชั้นหลังลงมาอีก มีความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาจะมีอายุตั้งมั่นอยู่ได้เพียงห้าพันปี. เรื่องนี้มีเค้ามูลเริ่มต้นปรากฏในภิกขุนีขันธกะ แห่งพระวินัยปิฎก จุลวรรค พระพุทธเจ้าทรงปรารภถึงการที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในศาสนา จากที่ทรงประทานพระบรมพุทธานุญาตให้พระนางปชาบดีออกบรรพชาเป็นภิกษุณีรูปแรกว่า นี้จักเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ตั้งอยู่ได้ไม่นาน และพระสัทธรรมจักดำรงอยู่เพียงห้าร้อยปี จากที่ควรอยู่ได้ถึงหนึ่งพันปีหากไม่มีการออกบวชของสตรี. อรรถกถาของคัมภีร์ดังกล่าว (ภิกขุนีขันธกวรรณนา) อธิบายความเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติครุธรรม 8 ประการให้ภิกษุณีรักษา จึงทำให้พระสัทธรรมสามารถตั้งมั่นอยู่ได้ถึงหนึ่งพันปี เท่ากับเมื่อไม่มีภิกษุณีในศาสนา. นอกจากนั้นการตั้งมั่นของพระสัทธรรมอยู่เป็นเวลาหนึ่งพันปีในที่นี้ ยังหมายเอาเฉพาะเมื่อยังมีการดำรงอยู่ของพระอรหันตขีณาสพผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา. ภายหลังจากนั้นต่อเนื่องไปอีกรอบละหนึ่งพันปี ก็ยังมีการดำรงอยู่ของพระอริยบุคคลประเภทต่างๆ ลดขั้นลงไปโดยลำดับ, ได้แก่พระอรหันตขีณาสพประเภทสุกขวิปัสสกะ, พระอนาคามี, พระสกทาคามี และพระโสดาบัน ตามลำดับ, เท่ากับว่าพระปฏิเวธสัทธรรม (สภาวะบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ของบุคคล) จักดำรงอยู่ตลอดห้าพันปี. คัมภีร์อรรถกถาดังกล่าวยังอธิบายการดำรงอยู่ของพระปฏิเวธสัทธรรมว่าย่อมอิงอาศัยพระปริยัติสัทธรรม ดังนั้นเมื่อปฏิเวธเสื่อมจึงหมายถึงว่าปริยัติต้องเสื่อมเป็นเหตุนำมาก่อนด้วย. ด้วยเหตุที่ความเสื่อมหรืออันตรธานประเภทต่างๆ ของพุทธศาสนาย่อมอิงอาศัยกัน น่าจะทำให้เกิดการรับรู้ด้วยว่าพุทธศาสนามีอายุการดำรงอยู่เพียงห้าพันปี จากการค่อยอันตรธานไปของพระปริยัติสัทธรรม พระปฎิบัติสัทธรรม และพระปฎิเวธสัทธรรม อันเป็นเหตุต่อเนื่องมาถึงลิงคอันตรธาน และเมื่ออันตรธานทั้งสี่ดำเนินไปถึงที่สุดแล้ว จึงบังเกิดธาตุอันตรธานเป็นการประกาศความสิ้นสุดไม่เหลือเชื้อใดๆ แห่งพระศาสนา.
“พระบฏ” ผืนที่จัดแสดงนี้ เขียนภาพเล่าเรื่อง “ธาตุอันตรธาน” อันเป็นเครื่องหมายสุดท้ายสำหรับการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา หลังจากที่ผ่านความเสื่อมประเภทต่างๆ มาแล้วโดยลำดับ. สันนิษฐานว่าพระบฏผืนนี้น่าจะภาพลำดับสุดท้าย ในชุดอนุกรมภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่สมบูรณ์ตามขนบของคัมภีร์กลุ่ม “ปฐมสมโพธิ”, ซึ่งเป็นคัมภีร์พุทธประวัติพื้นเมืองของเอเชียอาคเนย์ ปัจจุบันค้นพบต้นฉบับในหลายภาษาเช่น บาลี ไทย ยวน ขึน ลื้อ ลาว และเขมร มีเนื้อความสั้นยาวต่างกัน และอาจมีความสัมพันธ์กันในเชิงพัฒนาการอย่างสลับซับซ้อน. ต้นฉบับคัมภีร์ “ปฐมสมโพธิ” เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบกันมา เขียนเป็นภาษาบาลีด้วยอักษรธรรมล้านนา ระบุศักราชของการคัดลอกคัมภีร์ตรงกับ พ.ศ. 2020 แสดงเนื้อความตามลำดับเวลาในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้า จนถึงภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเหล่าเทวดาพากันมาชุมนุมอนุโมทนา ที่เรียกว่าตอน “อภิสัมโพธิ”. คัมภีร์กลุ่ม “ปฐมสมโพธิ” รุ่นหลัง เทียบอายุได้ตั้งแต่ราวสมัยอยุธยาตอนปลายลงมา ได้ขยายเรื่องเล่าพุทธประวัติตามลำดับเวลา ต่อมาจนถึงเหตุการณ์ภายหลังจากพุทธปรินิพานแล้วอีกช้านาน โดยบทหรือปริจเฉทสุดท้ายของคัมภีร์แสดงเรื่อง “ธาตุอันตรธาน” นี้. คัมภีร์ปฐมสมโพธิฉบับหลวง (พระปฐมสมโพธิกถา) ที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสรับอาราธนาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวชำระและรจนาขึ้นใหม่ทั้งในพากย์ไทยและบาลี ก็จัดอยู่ในกลุ่มหลังดังกล่าว. จิตรกรเขียนภาพแสดงเหตุการณ์ตรงตามตัวบทคัมภีร์ เมื่อพระบรมธาตุมาประชุมกันเป็นรูปพระพุทธเจ้า เหมือนเมื่อครั้งยังดำรงพระชนมชีพ เสด็จประทับบนบัลลังก์ไต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์. ด้วยกำลังเตโชธาตุในพระบรมธาตุนั้น ยังให้เกิดเปลวไฟลุกพวยพุ่งออกจากพระวรกาย. เหล่าเทพยดาพากันมาชุมนุมเพื่อถวามสักการะบูชาพระบรมศาสดาในโอกาสสุดท้าย โดยบรรดาพวกที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ พากันเศร้าโศกเสียใจแสดงอาการปริเทวะต่างๆ.
อนึ่งน่าสนใจว่า เราไม่ค่อยพบตัวอย่างการเขียนภาพพุทธประวัติตอนนี้ ปรากฏอยู่ในขนบเขียนภาพจิตรกรรมไทยเล่าเรื่องพุทธประวัติทั่วไป โดยเฉพาะงานกลุ่มสกุลช่างหลวงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้จะเป็นกลุ่มที่เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติโดยอิงกับตัวบทคัมภีร์ปฐมสมโพธิรุ่นหลังลงมา โดยเฉพาะฉบับหลวงในสมัยรัชกาลที่สาม ที่ได้บรรจุเรื่อง “ธาตุอันตรธาน” ไว้ในปริจเฉทสุดท้ายด้วยก็ตาม. นี้อาจเป็นไปได้ว่า เนื่องจากภาพแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมไปของพุทธศาสนา และความเสื่อมนั้นแสดงเป็นสัญลักษณ์ด้วยอันตรายที่บังเกิดขึ้นกับรูปลักษณ์พระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงคุณค่าสูงสุดในบรรดารูปลักษณ์ทางประติมานทั้งปวงในพุทธศาสนาด้วย เหล่านี้ย่อมไม่มีพุทธบริษัทผู้ใดปรารถนาจะให้บังเกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้นจึงไม่นิยมเขียนเป็นภาพ. นอกจากนั้น นัยยะ “ต้องห้าม” ของการแสดงภาพเหตุการณ์ตอนนี้ในวัฒนธรรมหลวง ก็ยังอาจสัมพันธ์กับการที่ทางฝ่ายอาณาจักรมีหน้าที่หลักอย่างหนึ่ง ในอันที่จะทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอยู่เสมอ จึงย่อมไม่เป็นฐานที่ตั้งของสภาพความเสื่อมดังกล่าว. พิจารณาจากฝีมือช่างและเทคนิคของการเขียนภาพ พระบฏผืนนี้น่าจะเป็นผลงานของจิตรกรพื้นบ้านภายใต้ขนบไทยภาคกลาง กำหนดอายุได้ราวในกลางพุทธศตวรรษที่ 25. ตัวอย่างอื่นๆ ของงานช่างพื้นบ้านที่เขียนภาพตอนเดียวกัน และยังสามารถกำหนดอายุได้ราวในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย พบเห็นได้หลายชิ้นในเขตเมืองเพชรบุรี. จิตรกรรมเล่าเรื่อง “ธาตุอันตรธาน” ของกลุ่มช่างเมืองเพชรฯ เขียนขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าพุทธประวัติที่สมบูรณ์ตามขนบคัมภีร์ปฐมสมโพธิ (แต่มิใช่ฉบับหลวง ที่รจนาโดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ) โดยแสดงเป็นภาพสุดท้ายของลำดับอนุกรม. ภาพเขียนประดับอยู่บนแผ่นไม้คอสองศาลาการเปรียญของวัดหลายแห่งในพื้นที่ ได้แก่วัดเกาะ, วัดจันทราวาส, วัดชีว์ประเสริฐ และวัดปากคลอง. อย่างไรก็ดี ภาพ “ธาตุอันตรธาน” ของกลุ่มช่างเพชรบุรี แสดงลักษณะทางประติมานวิทยาที่ไม่แตกต่างจากไปภาพตอน “อภิสัมโพธิ” ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ กล่าวคือแสดงให้เห็นถึงการประชุมกันของเหล่าเทวดาเพื่อกระทำมหกรรมบูชาพระพุทธองค์ ที่เสด็จประทับอยู่บนโพธิบัลลังก์ โดยมิได้แสดงเปลวไฟลุกโชตนาการออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า และหมู่เทวดาเหล่านั้นก็มิได้แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจด้วย. จากลักษณะทางประติมานวิทยาที่แตกต่างกันดังกล่าวมานี้ ทำให้พิจารณาได้ว่าภาพพระบฏผืนที่จัดแสดง คงเป็นฝีมือของช่างพื้นบ้านภาคกลางท้องถิ่นอื่นที่ไม่ใช่เพชรบุรี และความนิยมเขียนภาพตอนนี้น่าจะดำรงอยู่ ในกลุ่มช่างพื้นบ้านหลายท้องที่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย. ช่างท้องถิ่นเหล่านั้น แสดงระดับความ ”กล้า” แตกต่างกัน ในการแสดงออกถึงความเสื่อมสิ้นไปของรูปพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ความนิยมเขียนภาพ “ธาตุอันตรธาน” เพื่ออุทิศในศาสนา ของกลุ่มช่างพื้นบ้านภาคกลางอย่างน้อยก็ในบางท้องที่ แสดงให้เห็นถึงความแพร่หลายของคติที่ว่าพุทธศาสนาจะดำรงอายุอยู่เพียงห้าพันปี แม้ระหว่างนั้นก็จะอยู่ภายใต้สภาวะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นการได้เห็นภาพดังกล่าวจึงเป็นหลักเตือนใจพุทธบริษัท ให้ช่วยกันประคับประคองการสืบต่อพระศาสนา มิให้เสื่อมถอยลงเร็วเกินไป, นอกจากนั้น ภาพยังแสดงทัศนะรับรู้ถึงสภาวะเป็นไปตามความเป็นจริงของโลก ที่แม้แต่พระสรีรธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมีอันต้องเสื่อมสลายไปตามหลักพระไตรลักษณ์. อนึ่งภาพจิตรกรรมย่อมมีหน้าที่หลัก เพื่อเป็นสื่อสำหรับ “การเห็น” ด้วยสายตา โดยที่ในทางพุทธศาสนาก็ได้ตั้งทัศนะรับรู้ต่อการ “เห็น” เช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นได้เห็นภาพอันน่าพึงใจ เช่นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้แต่เห็นภาพอันไม่น่าพึงใจสำหรับคนทั่วไป เช่นเห็นซากอสุภะ ว่าถ้าหากการเห็นนั้นกอปรไปด้วยสติ สามารถเหนี่ยวนำจิตให้ตระหนักรับรู้ถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย หรือสภาวะความเป็นไปของโลกตามหลักพระไตรลักษณ์ เป็นเหตุให้ตั้งอยู่ความไม่ประมาท เกิดคลายกำหนัดยึดติด ซึ่งนี้เป็นเส้นทางเข้าสู่พระสัทธรรม การเห็นนั้นย่อมมีคุณอันเสมอกัน ถือว่าเป็นการเห็นอย่างยิ่งเรียกว่า “ทัศนานุตริยะ”. จิตรกรผู้เขียนภาพพระบฏ แม้เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไม่ใช่วัฒนธรรมชั้นสูงในสังคม แต่ก็น่าจะเข้าถึงทัศนะรับรู้ต่อการ “เห็นอย่างยิ่ง” ในทางพุทธศาสนาเช่นนี้ได้ จึงกล้าแสดงภาพการเสื่อมสิ้นไปแห่งรูปลักษณ์พระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นอนุสสติสำหรับพุทธบริษัทโดยทั่วไป ได้ตระหนักรับรู้ถึงความจริงแท้ของความเป็นไปของโลกตามหลักแห่งพระไตรลักษณ์.
11สมุดบันทึก
วัตถุจัดแสดง : สมุดบันทึกภาคสนาม
แหล่งที่มา : มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
เจ้าของ : ผศ .ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : Structural Violence and Homelessness: Searching for Happiness on the Streets of Manila, the Philippines
ว่าด้วยเรื่อง ของ กับ สนาม ของนักมานุษยวิทยา ผมสารภาพว่า ผมไม่ค่อยเหลือของจากสนามนัก ข้าวของที่เคยใช้ตอนอยู่สนาม คือที่ข้างถนนในเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ผมให้เพื่อนคนไร้บ้านไปเกือบหมด จะมีของจากสนามที่มีความหมายก็คือ สมุดบันทึกภาคสนาม
ผมใช้เวลาอยู่มะนิลาสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องคนไร้บ้านในมะนิลารวม 16 เดือน คือ 2 เดือนในปี 2554 และ อีก 14 เดือนในปี 2556-57 รวมตลอด16 เดือนนี้ ผมมีสมุดโน้ตรวม 9 เล่ม คือช่วง 2 เดือนแรกมี 2 เล่ม และช่วง 14 เดือนหลังมีอีก 7 เล่มเป็นสมุดโน้ตธรรมดา ซื้อตามร้านซูปเปอร์มาร์เกตแผนกเครื่องเขียนขนาดพอกเก็ตบุ้ค เล่มบางราว 40 แผ่น เลือกที่มีปกเป็นพลาสติกแข็ง ถ้าเป็นปกกระดาษจะต้องมีพลาสติกหุ้ม เพื่อกันน้ำ เพราะสมุดบันทึกจะอยู่ติดกระเป๋าตลอดเวลา บางทีก็ต้องตากฝน หรือมีน้ำหกใส่บ้าง
ทำไมผมจึงใช้สมุดโน้ตเล่มเล็กๆ หลายเล่มแบบนี้….เป็นข้อแนะนำของอาจารย์แคทเธอรีน บาววี่ ที่ปรึกษาผม เธอบอกว่า เวลาอยู่ภาคสนามอะไรก็เกิดขึ้นได้ เดี๋ยวกระเป๋าหาย เดี๋ยวลืมสมุดโน้ต ดังนั้นให้ใช้สมุดโน้ตเล่มเล็กเวลาหาย ข้อมูลที่หายตามไปจะได้ไม่มาก
ผมใช้สมุดโน้ตกับปากกา เป็นเครื่องมือหลักในการบันทึกข้อมูล นึกแล้วก็อิจฉาคนที่ใช้เครื่องมืออื่นๆ อย่างเครื่องอัดเสียง กล้องถ่ายรูป หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คที่พิมพ์ข้อมูลลงไปได้เลย สมัยผมเรียนที่วิสคอนซินนั้น เริ่มมีนักศึกษาพกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คเข้าห้องเรียน และก็พิมพ์เลคเชอร์เข้าโน้ตบุ๊คเลย ผมเข้าใจว่าในภาคสนามบางที่ หลายคนที่คุ้นเคยกับแลปทอปก็คงพิมพ์ไปเลย แต่ผมนี่ต้องเขียนใส่สมุดโน้ต พอคืนวันอาทิตย์ที่กลับห้องเช่า ผมก็จะมาพิมพ์โน้ตใส่คอมพิวเตอร์เอาไว้
เหตุที่ผมไม่พกอุปกรณ์พิเศษเหล่านี้ ก็เพราะเป็นของมีค่า หากหยิบออกมาใช้ อาจทำให้เป็นที่เพ่งเล็งลักขโมยจากคนบางคนได้ แล้วก็ยังทำให้ผมดูเป็นคนมีสตางค์ เข้ากับคนไร้บ้านไม่เนียนสนิทอีกด้วย
กล้องถ่ายรูปนั้นผมก็ไม่ได้พกติดกระเป๋า รูปจากภาคสนามที่หลายคนเคยเห็นนั้นส่วนใหญ่มาจากการถ่ายในวันหรือสองวันสุดท้ายก่อนผมจะกลับเมืองไทยเท่านั้น หรือก็ไม่เฉพาะวันใดที่ผมรู้ว่ามีกิจกรรมพิเศษ ผมจึงจะกลับห้องไปเอากล้องออกมา ในโอกาสเช่นนี้ ผมจะใช้อย่างระมัดระวัง
ผมมักถูกถามบ่อยๆ ว่า ผมบันทึกข้อมูลอย่างไร ผมอยากจะบอกว่า เป็นคนไร้บ้านมีเวลาว่างค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น ผมมีเวลาจดบันทึกได้สะดวก เช่น ตอนสายๆ หลังกินข้าวเช้า ตอนบ่ายเวลาว่างๆ ค่ำๆ ก่อนนอน อาจจะจดอะไรเล็กน้อยอาศัยแสงไฟสลัวจากข้างทาง ไม่ว่าที่ไหน ผมสามารถหยิบสมุดบันทึกออกมาจดบันทึกต่อหน้าคนไร้บ้าน ไม่ต้องแอบ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ คนไร้บ้านส่วนใหญ่จะรู้ว่าผมเป็นนักศึกษา ส่วนตอนแรกๆ ที่ยังไม่ค่อยเชื่อว่าผมเป็นนักศึกษา การที่ผมหยิบสมุดขึ้นมาจดก็ทำให้ดูน่าเชื่อถือขึ้น ทำนองว่า ‘อืมมม ดูเป็นนักเรียนจริงๆ มีจดบันทึกด้วย’
ผมบันทึกเรื่องอะไรบ้าง … ช่วงแรกๆ ก็บันทึกสิ่งที่เห็นโดยละเอียด บันทึกช่วงแรก ของแต่ละวันจะหลายหน้า เพราะสิ่งที่เราเห็นเป็นสิ่งใหมก็ต้องจด เช่น จะไปรับแจกข้าว เริ่มไปกี่โมงเดินไกลแค่ไหน ไปถึงกี่โมง มีคนสักเท่าไหร่ รอกี่ชั่วโมงกว่าจะได้รับแจก เวลานั่งรอคนไร้บ้านทำอะไรกันบ้าง สถานที่นั่งรอ บรรยากาศโดยรอบ รวมถึงความรู้สึกตัวเอง อย่างเช่นที่วัดซิกข์ ไปครั้งแรก ผมตกใจมาก ที่เห็นคนวิ่งข้ามถนนรีบไปต่อคิวรับแจกข้าว อย่างไม่กลัวว่าจะถูกรถชน ผมจดบรรยากาศที่รถยนต์ต้องเบรคกระทันหัน เสียงลั่นดังเอี๊ยดอ๊าด พร้อมเสียงด่าทอคนวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถ พอข้ามฝั่งไปรอเข้าคิว คนก็แทรกแซงแน่นจนไม่เป็นคิว ผมก็จดอย่างละเอียด เรื่องเหล่านี้ พอนานวันไป ก็จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นจนชิน ก็ไม่ต้องจดรายละเอียดซ้ำๆ แล้ว จะเขียน แค่ว่า เช้าวันนี้ไปที่ไหน กลางวันกินอะไร บ่ายไปที่ไหน มีอะไรพิเศษ
เรื่องหนึ่งที่ผมชอบจดมากก็คือ บทสนทนา ถ้ามีบทสนทนา ที่สะท้อนวิธีคิดของคน หรือสะท้อนประเด็นที่เราศึกษา ผมจะรีบจดทันที เพื่อกันลืม และเพื่อให้ได้คำพูดที่ใกล้เคียงที่สุด คนไร้บ้านบางทีก็ช่วยผมด้วย ถ้าเขาพูดอะไรเด็ดๆ ก็จะบอกผมว่า จดใส่สมุดโน้ตไว้ด้วยนะ คืนหนึ่ง ผมกับคนไร้บ้านสามสี่คนเดินกันจนเหนื่อยจากการไปรับแจกข้าวที่วัดซิกข์ ระยะทางไปกลับร่วม 4 กิโล จากนั้นก็ต้องเดินไปหาที่นอนอีก อาเตะอาร์ลีน คนไร้บ้านที่สนิทกับผม พูดขึ้นมาว่า “บ้านเราหลังใหญ่จัง ห้องครัวกับห้องกินข้าวถึงไกลกันมาก ห้องนอนก็อยู่ไกลอีก” พูดเสร็จพวกเราก็หัวเราะกันยกใหญ่ คือแทนที่จะบอกว่า เราไม่มีบ้าน มาคิดใหม่ว่า บ้านเราหลังใหญ่แทน พูดเสร็จแกยังบอกผมว่า “บุน อย่าลืมจดใส่สมุดนะเดี๋ยวลืม”
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบจด คือ ความรู้สึกตนเอง จำเป็นมากที่ต้องจดบันทึกในบรรยากาศสดๆ ที่เราอยู่ตอนนั้น จะมานึกย้อนหลังไม่ได้ อย่างผมเคยจดความรู้สึกตัวเองในคืนที่ได้ขนมหวานและฟรุตสลัดจากวัดซิกข์ ผมพรรณนาเป็นสิบบรรทัด ต่อมาเมื่อมาอ่านย้อนหลัง ยังอดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่า จะดีใจอิ่มเอิมอะไรกับของแค่นี้ แต่มันก็สะท้อนว่า ความรู้สึกที่เราจดตอนนั้นในบริบทของการหิวข้าวและไม่ค่อยได้กินขนมหวาน พอได้กินอะไรพิเศษที นี่มันยอดมาก ซึ่งจะรู้สึกแบบนั้นก็ต้องอยู่ในภาคสนามนานจนรู้สึกแบบคนไร้บ้านได้ และหากไม่บันทึกความรู้สึกในขณะนั้นเอาไว้ มานึกย้อนหลัง ในบริบทที่ต่างไป ก็จะไม่ลึกซึ้งเท่ากับตอนอยู่ในสนามและเขียนสดๆ
อาจารย์แคทที่ปรึกษาผม เป็นนักมานุษยวิทยาที่จดบันทึกภาคสนามอันน่าทึ่งนะครับ บทเรียนหนึ่งที่อาจารย์เอามายกตัวอย่างก็คือ หนังสือเรื่องลูกเสือชาวบ้านนั่นไม่ใช่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของแกนะครับ เพราะวิทยานิพนธ์อาจารย์เขาทำเชิงประวัติศาสตร์การขูดรีดที่ภาคเหนือ แต่ระหว่างอยู่ภาคสนาม อาจารย์แคทขอไปเข้าค่ายกับลูกเสือชาวบ้าน เรียกว่า เป็นไซด์ไลน์ของงานจริง ขนาดแค่เป็นภาคสนามไซด์ไลน์ อาจารย์ยังจดบันทึกละเอียด ถึงขนาดที่ต่อมาพัฒนาเป็นหนังสือได้
อาจารย์แคท สอนลูกศิษย์ว่า ให้พยายามจดให้ละเอียดที่สุด ในขณะที่มีโอกาสอยู่ในสนามแล้ว เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้า ข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์มากขนาดไหนในอนาคต .
12พระพิมพ์และภาพถ่าย
วัตถุจัดแสดง : พระพิมพ์เมืองกำแพงเพชร
แหล่งที่มา : อำเภอนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร
เจ้าของ : ผศ. ดร. ธีระ สินเดชารักษ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
ภาพนี้ถูกบันทึกไว้เมื่อ 5 น่าจะกว่า 6 ปีที่แล้ว ผมกลับมารายงานตัวหลังเรียนจบไม่นานนักในช่วงปลายปี พ.ศ.2554 ต่อต้นปี พ.ศ.2555 โดยผมได้รับโอกาสจากอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในคณะให้ทำงานวิจัยภาคสนามชิ้นแรกในนามคณะอย่างจริงจัง ในฐานะผู้จัดการโครงการมีแต่เพียงความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม แต่ไม่มีความรู้ในเรื่องที่ (กำลังจะ) ทำในขณะนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว
โครงการต้นแบบท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานความรู้ความเข้าใจในแนวคิดของ Creative Tourism โดยเริ่มต้นจากการค้นหาและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขึ้น ในพื้นที่ของหน่วยงานที่ชื่อว่า “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (องค์การมหาชน) กิจกรรมการท่องเที่ยวนี้ ต้องเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถลงมือทำกิจกรรมในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยผ่านประสบการณ์ตรงร่วมกับเจ้าของพื้นที่ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะต้องสะท้อนถึง “จิตวิญญาณ” ของพื้นที่นั้นด้วย
ในการทำวิจัย “ต้นแบบ” การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่พิเศษ 4 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย–ศรีสัชนาลัย–กำแพงเพชร นั้น กิจกรรมหนึ่งที่เราเลือกเพื่อพัฒนาให้เป็น กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ก็คือ การทำพระพิมพ์ดินเผาของเมืองกำแพงเพชร โดยมี “ลุงโป้ย” (สมหมาย พะยอม) ตำบลนครชุมเป็นผู้ให้ความรู้และร่วมเป็นผู้ที่จะถ่ายทอด “การพิมพ์พระ” ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญของกำแพงเพชรให้กับนักท่องเที่ยวได้ร่วมเรียนรู้และลงมือทำ หลายปีต่อมา เราทราบว่าลุงโป้ยได้ถึงแก่กรรม ทำให้แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องเมืองกำแพงเพชรได้รับการสืบต่อจากคนรุ่นต่อมา
ในภาพที่ถูกบันทึกครั้งนั้น เป็นธรรมเนียมปกติก่อนลาจากหลังจากได้ใช้เวลาระยะหนึ่งกับคนและสถานที่นั้น ๆ เราทั้งหมดถูกคนบันทึกภาพสั่งให้ยิ้มแสดงความรู้สึกถึงความสุขสนุกที่ได้รับจากการมาที่นี่ก่อนจะจากไป (สังเกตว่ามีไม่น้อยที่ไม่หลงเชื่อคนบันทึกภาพ) ในภาพที่คนส่วนใหญ่มีความสำราญนั้นประกอบด้วย เจ้าของภูมิปัญญาในชุมชน คณะทำงาน นักศึกษาที่ไปศึกษาดูงาน และหน่วยงานคู่ความร่วมมือในพื้นที่พิเศษใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยการนำของผู้บริหารและคณะผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานในขณะนั้น พร้อมกับคนแปลกหน้าอีก 3 คน รวมแล้วมี 26 คนครึ่ง
เวลาที่ผ่านมาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย แน่นอนว่า เราได้ใช้เวลาที่ผ่านมา ณ ขณะบันทึกภาพดังกล่าวร่วมกัน แต่หลังจากนั้น ต่างคนต่างใช้เวลาของตัวเองทั้งที่เป็นของตัวเองและร่วมกับผู้อื่น วันนี้บางคนในนั้นได้งานที่ตัวรักมักที่ชอบ บางคนในนั้นได้แต่งงานไปใช้ชีวิตคู่ บางคนในนั้นวันนั้นเป็นนักศึกษาวันนี้มาเป็นอาจารย์ บางคนในนั้นไปศึกษาต่อหลายปีนี่ก็กำลังจะจบ บางคนในนั้นติดต่อไม่ได้ไม่รู้เป็นตายร้ายดี บางคนในนั้นได้ดิบดีขึ้นชั้นมาเป็นหัวหน้า บางคนในนั้นลาออกไปใช้ชีวิตที่ถูกจริตกับตัวเอง บางคนในนั้นถูกให้ออกจากงานพาลไม่ต่อสัญญา บางคนในนั้นเกษียณอายุกลับไปอยู่กับบ้าน บางคนในนั้นเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย บางคนในนั้นได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ บางคนที่แปลกหน้าวันนั้นวันนี้ก็ยังคงแปลกหน้าถ้าเจอ บางคนในนั้นวันที่ชื่นคืนที่เคยสุขวันนี้ปลุกความโกรธเกลียดอาฆาตและมาดร้ายเรา
ถึงวันนี้งานชิ้นนี้เหมือนจะมาถึงจุดจบแล้ว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ได้ทำงานชิ้นนี้ต่อเนื่องนั้น ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ผมอาจได้ความรู้จากการอ่านหนังสือ ผมอาจได้ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์สอบถามพูดคุย ผมอาจได้ผลงานจากการได้ทำวิจัย แต่ที่ผมได้มากกว่านั้น คือ ความทรงจำความประทับใจและมิตรภาพที่ดีที่เคยมีตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากการทำงานสำคัญชิ้นนี้ “เวลา” บอกกับเราว่า “ไม่มีอะไรที่แน่นอนและไม่มีอะไรที่นอน (มา) แน่ ๆ”
วันนี้สถานที่แห่งนั้นยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้คนเหล่านี้แม้หลายคนยังอยู่ บางคนได้จากไป บางคนยังอยู่ในสถานะเดิมคือไม่รู้จัก สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งอย่างย่อมต้อง “เปลี่ยนแปลง” ความแตกต่างหลากหลายทำให้เราต้อง “เคารพ” และทุกเรื่องทั้งที่ถูก (ใจ) ไม่ถูก (ใจ) ก็คงต้องใช้ความ “เข้าใจ” ประกอบกับเวลาหนอเวลา..ช่วยพิสูจน์ทีว่าเราไม่ได้ถูกหลอกให้มีความสุข แต่เพราะเรามีมันจริง ๆ ในวันนั้นและเมื่อไรที่คิดถึง เราก็จะมีความสุขอยู่ร่ำไป โดยมี “ภาพถ่ายและพระพิมพ์” เป็นประจักษ์พยานให้ระลึกถึง
13สิ่งของจากภาคสนาม: ความทรงจำ
วัตถุจัดแสดง: กล้อง Ricoh Solar powered SLR system, ฟิล์ม Kodak elite chrome 100
เจ้าของ : อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : ชาติพันธุ์ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ช่วงปี พ.ศ. 2547 – 2549 ข้าพเจ้าเดินทางมาเก็บข้อมูลงานวิจัยด้านชาติพันธุ์ ในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน งานหลักๆ ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสัมภาษณ์และการใช้ชีวิตในหมู่บ้านอย่างเงียบๆ ทำทุกอย่างที่ชาวบ้านทำ ไม่ว่าจะไปตีไร่ เกี่ยวข้าว ถอนถั่วแดง หรือแม้กระทั่งไปซ่อมประปาหมู่บ้านที่อยู่บริเวณต้นน้ำ ช่วงเวลาดังกล่าวข้าพเจ้าเดินทางเข้าๆ ออกๆ อยู่หลายหมู่บ้าน หลายกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งของที่ได้รับมาระหว่างภาคสนามครั้งนั้นมีอยู่หลายชิ้นส่วนใหญ่เป็นของที่ชาวบ้านที่ข้าพเจ้าไปอาศัยอยู่ด้วยให้มา ไม่ว่าจะเป็นข้าวไร่ต้นฤดูเก็บเกี่ยว กล่องใส่ข้าวสารสานจากตอก ชุดสีขาวบริสุทธิ์ของเด็กสาวชาวกะเหรี่ยงที่มอบให้ข้าพเจ้าในวันที่เธอแต่งงานก่อนที่จะต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดหญิงมีครอบครัว ฯลฯ ของทุกชิ้น (ที่กินไม่ได้) ข้าพเจ้าล้วนแล้วแต่ยังรักษาไว้อย่างดีและไม่สามารถตัดใจเขียนเล่าในนิทรรศการครั้งนี้เพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เหตุเพราะข้าวของทุกชิ้นล้วนมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ ผู้คน และความรู้สึกของข้าพเจ้าในช่วงเวลาที่ได้รับแฝงอยู่เต็มเปี่ยม หากเลือกที่จะเล่าชิ้นใดก็ดูจะไม่เป็นธรรมต่อข้าวของชิ้นอื่น
ข้าพเจ้ามาตัดสินใจได้ก็ด้วยมีเหตุจากช่วงปลายพ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา เมื่อข้าพเจ้ามีอันต้องหวนกลับมาทำงานที่อำเภอปางมะผ้าอีกครั้ง กล่องเก็บข้อมูลดิบที่ได้มาจากภาคสนามเมื่อครั้งก่อนซึ่งถูกเก็บปิดตายมาหลายปีจึงถูกนำมาเปิดออกดูเผื่อว่าจะมีข้อมูลใดเป็นประโยชน์ต่องานใหม่ที่กำลังทำ และมันทำให้ข้าพเจ้าพบว่ามีสิ่งที่ข้าพเจ้านำติดตัวมาจากภาคสนามจำนวนมาก และมีค่าพอๆ กับข้าวของที่เคยได้รับมาจากชาวบ้าน ซึ่งก็คือ ความทรงจำ ในรูปของสมุดบันทึกสนาม (ที่ไม่ใช่แค่บันทึกเตือนความจำ แต่ยังเป็นบันทึกประจำวันที่เต็มไปด้วยความรู้สึกนึกคิดต่อสิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน) ภาพถ่ายสี และภาพถ่ายสไลด์
อย่างไรก็ตามเมื่อกลับไปสู่พื้นที่สนาม (เก่า) ในช่วงเวลาใหม่ (ในปี 2560-2561) ข้าพเจ้าพบว่าแม้กล้องถ่ายรูปและภาพถ่ายจะเป็นเทคโนโลยีที่จำลองโลกให้เสมือนว่าเราสามารถหยุดเวลา ณ ช่วงขณะที่กดชัตเตอร์ แต่ก็คงเป็นอย่างที่โรลองด์ บาร์ทส์ (Roland Barthes) เคยกล่าวไว้ว่า ห้วงเวลาดังกล่าวนี้ก็ดูจะเป็นโลกที่ไม่ได้ดำรงอยู่จริงเพราะไม่ว่าเราจะพยายามสักเพียงใด เราก็ไม่สามารถเดินทางกลับไปหาโลกที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายได้อีก
ก่อนเดินทางกลับไปครั้งนี้ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นที่จะหวนกลับไปสู่สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเปรียบเสมือนบ้านอีกหลัง ที่ที่ข้าพเจ้าสามารถเดินทักทายคนในหมู่บ้านอย่างคนคุ้นหน้าคุ้นตา ทว่า เมื่อกลับไปจริง ๆ สิ่งที่เผชิญคือความรู้สึกที่ปนเปอยู่ทั้งคุ้นเคย คิดถึง โหยหา และแปลกแยก เด็กน้อยที่เคยวิ่งตามหลายคนเติบโตแต่งงานมีครอบครัว พ่อเฒ่าแม่เฒ่าอีกหลายคนล้มหายตายจาก ความคุ้นเคยกับผู้คน วัฒนธรรม และสถานที่หลายอย่างยังคงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันชุมชนที่ข้าพเจ้ารู้จักและประทับอยู่ในความทรงจำนั้นกลับดูห่างไกลจากชุมชนที่ข้าพเจ้ากำลังกลับไปหา นำมาสู่ความรู้สึกของการโหยหา และแปลกแยกของข้าพเจ้าต่อชุมชนเดิมแต่อยู่ในบริบทของเวลาใหม่
ช่วงแรก ๆ ของการกลับสู่สนามข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนตัวเองเข้าใจจินตนาการของผู้พลัดถิ่นที่ความทรงจำยังคงหลงวนอยู่กับห้วงเวลาในอดีต และหลงลืมไปว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งชุมชนบนพื้นที่สูงที่บางแห่งแทบจะเรียกว่า เคย โดดเดี่ยวอันเนื่องมาจากเส้นทางที่ยากลำบากต่อการเข้าถึง แต่ด้วยการขยายตัวของเศรษฐกิจ การพัฒนา ความเป็นเมือง และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เริ่มก้าวเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้ชุมชนหลายแห่งแทบจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนไปอย่างมากทั้งในแง่ของกายภาพ และความสัมพันธ์ภายในชุมชน กล่าวคือ ในด้านหนึ่งเทคโนโลยีและการพัฒนาทำให้ชุมชนขยายขอบเขตความสัมพันธ์ออกไปสู่สังคมภายนอก รวมไปถึงเครือข่ายชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่เพียงในอำเภอหรือจังหวัดเดียวกันอีกต่อไป ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีและการพัฒนาอีกเช่นกันที่ทำให้ความสัมพันธ์ภายในชุมชนดูจะห่างเหินกันออกไปทุกที แรงงานหนุ่มสาวเริ่มไหลออกไปทำงานนอกชุมชน หรือแม้กระทั่งออกไปเช่าที่ดินจากอำเภอใกล้เคียงทำเกษตร หรือเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตรใหม่ๆ ก็เข้ามาแทนที่แรงงานคนในหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านบางแห่งเหลือเพียงคนสูงอายุและเด็ก หรือการทำเกษตรก็เป็นเรื่องระดับครอบครัวและปัจเจกมากขึ้นกว่าแต่ก่อนที่บางครั้งการเพาะปลูกเป็นเรื่องที่คนทั้งหมู่บ้านล้วนมีส่วนร่วมตัดสินใจ
ภาพของรถกระบะเก่าๆ ที่ขนคนได้นับสิบเพื่อออกไปทำไร่พร้อมกัน ถูกแทนที่ด้วยกระบะสมรรถนะสูงสภาพใหม่ที่มีอยู่หลักสิบคันในหมู่บ้านและการไปทำไร่คือการแยกกันไปตามความสะดวกของแต่ละบ้าน ภาพเด็กน้อยและแม่เฒ่าเกี่ยวข้าวและแบกขึ้นหลังเดินเท้ากลับบ้านลัดเลาะไปตามไหล่เขาสูงชันในยามเย็นของฤดูเก็บเกี่ยว แทนที่ด้วยทางรถและรถกระบะที่สามารถบุกลุยเข้าไปได้ถึงในไร่ข้าวอันห่างไกล หรือภาพแม่บ้านเดินเรียงกันเป็นแถวลงมาจากภูเขาสูงใกล้หมู่บ้านพร้อม ๆ กับตะกร้าที่มีใบหญ้า หรือใบตองตึงบรรจุอยู่เต็ม เพื่อนำกลับมามุงหลังคาบ้านไม้ไผ่ ก็แทนที่ด้วยบ้านปูนมุงหลังคากระเบื้อง
ถึงแม้ว่าภาพถ่ายเก่าจะเปรียบได้กับความทรงจำของข้าพเจ้าที่ไม่ปะติดปะต่อ หยุดนิ่ง และอาจจะเรียกว่าวางอยู่บนการรับรู้ที่มาจากมุมมองเดียว (point of view) ของข้าพเจ้า จากอีกหลายร้อยหลายพันมุมมองที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันต่อสิ่งที่ข้าพเจ้าประสบ แต่ภาพถ่ายในฐานะวัตถุแทนความทรงจำของข้าพเจ้า(ที่กำลังค่อยๆ แปลกแยกจากโลกที่กำลังดำเนินอยู่) ก็อาจจะเปรียบเสมือนประจักษ์พยานต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก (และชุมชน) เช่นเดียวกับกล้องถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์มรุ่นเก่าที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัตถุแห่งความรู้สึกโหยหา พร้อม ๆ กับการเป็นวัตถุที่ตกยุคจากเทคโนโลยีปัจจุบัน
14แสง เวลา และหมึก @ ปากน้ำปราณ(บุรี)
วัตถุจัดแสดง : ปลาหมึกแห้ง
แหล่งที่มา : ปากน้ำปราณบุรี
เจ้าของ : ผศ. ดร.ประเสริฐ แรงกล้า คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : เวลากับความเป็นไปได้ : มุมมองเรื่องอนาคตของคนย้ายถิ่นสัญชาติพม่า
หมึกแห้งที่คุ้นตาตามรถเข็นขายหมึกย่างข้างถนนมีเรื่องราวเกี่ยวกับแสงสว่างและเวลาในที่น่าอัศจรรย์และไม่คุ้นเคยสำหรับคนเมืองอย่างเราๆ คนหาหมึกในท้องทะเลอ่าวไทย คนซื้อ-ขายหมึกสด และคนแปรรูปหมึกแห้งต่างพึ่งพาแสงสว่างและเวลาในรูปแบบเฉพาะตัวแบบหนึ่ง ในขั้นแรก การออกเรือหาหมึกนิยมทำกันเฉพาะในเวลาค่ำคืน เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กมักออกสู่ทะเลตอนเย็นและกลับเข้าฝั่งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แต่เรือที่มีศักยภาพจับหมึกได้ปริมาณมากกว่า คือ เรือประมงขนาดกลาง ที่เรียกกันว่า เรือได(นาโมปั่นไฟล่อ)หมึก
เมื่อเริ่มพลบค่ำ เรือไดหมึกแต่ละลำ กางท่อนเหล็กยาวออกจากตัวเรือ หลอดไฟหลายสิบหลอดบนท่อนเหล็กถูกเปิด เพื่อให้เกิดแสงสว่างล่อฝูงหมึกเข้ามาเล่นแสงไฟรอบเรือ เรือเหล่านี้มีไดนาโมใต้ท้องเรือเป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า หลอดไฟถูกเปิดทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง แล้วเรือก็ทยอยปิดไฟทีละจุด จนทำให้หมึกมารวมอยู่กันที่กลุ่มหลอดไฟเพียงจุดเดียว แล้วคนเรือก็จะใช้อวนครอบจับหมึกกลุ่มนั้นขึ้นมา เมื่อได้หมึกขึ้นมาแล้ว ไฟทั้งหมดก็จะถูกเปิดเพื่อล่อหมึกสำหรับการจับรอบใหม่ใน 3-4 ชั่วโมงถัดไป
ในระยะเวลาหนึ่งเดือน ชาวประมงสามารถหาหมึกได้แค่ 15-20 วัน เรือนับร้อยลำออกจากเมืองปากน้ำปราณ นอกจากอยู่กับแสงไฟแล้ว ผู้คนและเมืองแห่งนี้ยังอยู่กับ “เวลา” ที่เรียกกันว่า “น้ำ” พวกเขาทำงานตามเวลาของปฏิทินจันทรคติ น้ำเป็น “หน่วยเวลา” ที่เกี่ยวข้องกับแสงสว่างของดวงจันทร์ “หนึ่งน้ำ” กินเวลาประมาณ 15-20 วัน เป็นช่วงเวลากลางคืนที่มีแสงจันทร์สว่างน้อย นับตั้งแต่ประมาณวันข้างแรม 6 ค่ำของเดือน ไปจนถึงวันข้างขึ้น 10 ค่ำของเดือนถัดไป นี่คือช่วงเวลาที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “เดือนมืด” เมื่อ “เดือนหงาย” หรือช่วงที่กลางคืนมีแสงจันทร์สว่างมาก หมึกจะสนใจเล่นกับแสงจันทร์มากว่าแสงไฟจากเรือ นี่คือเวลาที่ชุมชนหาหมึกเรียกว่า “หมดน้ำ” เรือไดหมึกไม่นิยมออกหาหมึกในช่วงนี้ นับเวลาตั้งแต่ประมาณวันข้างขึ้น 11 ค่ำ ไปจนถึงประมาณวันข้างแรม 5 ค่ำของเดือนนั้นๆ
แสงสว่างและเวลาแบบนี้กำหนดชะตาชีวิตหมึกและผู้คนที่เกี่ยวข้อง แสงสว่างอาจเป็นภัยที่นำพวกหมึกมาสู่จุดจบของชีวิต แต่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ก็คือว่า หมึกมีหลายชนิด พวกที่จับได้บ่อยคือหมึกกล้วย หมึกหอม หมึกสาย หมึกกระดอง พวกมันล้วนมีอายุสั้นในระหว่าง 240 วัน ถึง 700 วันแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด หากไม่ถูกจับ พวกมันก็จะตายไปเอง เรือไดหมึกหนึ่งลำใช้ลูกเรือราว 4-6 คน ลูกเรือไดหมึกราวร้อยละ 90 เป็นแรงงานสัญชาติพม่า พวกเขาทำงานในเวลากลางคืนที่ท้องฟ้ามืดแต่เรือสว่างด้วยแสงจากหลอดไฟ ในยามกลางวัน และต้องหามุมหลบแสงสว่างพักผ่อนหลับนอน เพื่อปฏิบัติภารกิจในค่ำคืนต่อๆไป
ลูกเรือไดหมึกมีงานยุ่งเฉพาะช่วงครอบอวนจับหมึกได้ และนำหมึกมาคัดแยกขนาดเป็นตะกร้า และอัดน้ำแข็งเข้าห้องเย็นใต้ท้องเรือเพื่อรักษาความสดไว้ เวลานอกเหนือจากนั้น คือเวลาว่าง ลูกเรือที่ขยันจะตกหมึกด้วยเบ็ดเหยื่อปลาปลอมและเบ็ดโยธะกา หมึกเหล่านี้เป็นของคนที่ตกได้ เจ้าของเรือรับซื้อหมึกทั้งหมดไว้รวมขายเมื่อเรือเข้าสู่ฝั่ง พวกลูกเรืออาจตกปลา ถ้าได้ปลาที่มีราคาแพง เช่น ปลาอินทรีย์ ก็เอาไปขายได้ ในเวลาราว7 ถึง 10 วัน เรือไดหมึกก็จะเข้าฝั่งครั้งหนึ่ง เพื่อขายหมึกก่อนออกเรือไปหาหมึกอีกจนกระทั่ง “หมดน้ำ” แล้วค่อยเข้ามาหยุดพัก ชีวิตของเมืองท่าขึ้นหมึกสดแห่งใหญ่เช่นเมืองปากน้ำปราณจึงคึกคักไปกับเวลา “ครึ่งน้ำ” และ “ปลายน้ำ”
ในยาม “ครึ่งน้ำ” และ “ปลายน้ำ” ตลาดซื้อขายหมึกบริเวณแพปลาเอกชน 3-4 แห่ง จะเริ่มคึกคักตั้งแต่ตีสอง แม้จะยังไม่สว่าง ทุกชีวิตตามแพปลาซื้อขายหมึกก็เริ่มคึกคักแล้ว เรือไดหมึกทยอยจอดเทียบแพปลา ลูกเรือลำเลียงตะกร้าหมึกขึ้นฝั่ง วางเรียงตามขนาดและความสด (หนึ่งตะกร้าหนักประมาณ 20 กิโลกรัม) การ “เปียหมึก” หรือการต่อรองราคาซื้อขายหมึกทำแบบเหมาทั้งตะกร้าๆไป แม่ค้าซื้อหมึกรวมทั้งหมดราว 60- 80 ราย มีทั้งคนนำไปขายส่งต่อแบบหมึกสด หรือนำไปแปรรูปเป็นหมึกแห้ง การเปียหมึกจะทำทีละลำเรือไป
ราวตีสาม หมึกบางส่วนก็เริ่มมีเจ้าของ และถูกทยอยนำออกจากแพปลาไป ประมาณตีห้ากว่าๆ หมึกทั้งหมดก็มีเจ้าของ พ่อค้าจากต่างอำเภอจะรีบขนย้ายหมึกอย่างรวดเร็วก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและอุณหภูมิจะสูงขึ้น พ่อค้าขายหมึกสดจะรีบขนหมึกแช่ถังน้ำแข็ง และนำขึ้นรถกระบะเพื่อเอาไปขายต่อที่ตลาดสินค้าอาหารทะเลมหาชัย แม่กลองหรือชะอำ กระบวนการทั้งหมดทำกันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อเลี่ยงอากาศร้อนที่จะส่งผลต่อคุณภาพของเนื้อและกลิ่นของหมึก เจ็ดโมงเช้า แพปลาก็กลับสู่ความเงียบสงบราวกับไม่เคยมีความเคลื่อนไหวใดๆ
ช่วงเวลาที่คึกคักของตำบลเลียบชายฝั่งทะเลแห่งนี้ยังดำเนินต่อไปอีกราวครึ่งวันในเมืองปราณบุรี แม่ค้าท้องถิ่นหลายรายทำกิจการแปรรูปหมึกตากแห้ง พวกเขาให้คนงานขนหมึกกลับไปที่บ้าน และจ้างแรงงานนั่งผ่าและเอาสิ่งสกปรกในตัวหมึกออกทีละตัวๆ แล้วแผ่ตัวหมึกลงบนตะแกรงเชือกไนล่อน นำตะแกรงไปผึ่งแดด ขั้นตอนนี้จะเริ่มตั้งแต่ตีสี่ (หรือตีสอง ในกรณีผู้ประกอบการบางรายที่ผ่าหมึกมากราว 1-2 ตันต่อวัน) การผ่าและตากหมึกทำตั้งแต่ก่อนสว่าง เพื่อให้หมึกสดเจอแสงแดดและแห้งมากเท่าที่จะทำได้
พื้นที่ว่างแทบทุกมุมของเมืองปากน้ำปราณจึงเต็มไปด้วยตะแกรงตากหมึกและกลิ่นคาวคละคลุ้ง และเมื่อหมดแสงแดดในตอนเย็น ตะแกรงหมึกเหล่านั้นจะถูกนำเข้าห้องอบความร้อนด้วยเตาแก็สอีกตลอดทั้งคืน เพื่อให้หมึกแห้งสนิทและป้องกันหมึกขึ้นรา เจ้าของกิจการจ้างแรงงานไทยและพม่าในขั้นตอนการผ่า ตาก และเก็บหมึก และจ่ายค่าตอบแทนตามน้ำหนักหมึกสดที่ทำงานได้ เวลาทำงานที่น่าเบื่อจำเจ มีกลิ่นแรง และสกปรกจะสิ้นสุดลงราวเที่ยงวันหรือบ่ายสอง พวกเขาทำงานต่อเนื่องทุกวันตลอดช่วงที่มีหมึกสด และจะหยุดงานราว 7-10 วันในช่วงหมดน้ำ
ในชีวิตปกติทั่วไป ผู้คนถูกคาดหวังให้ทำงานยามพระอาทิตย์ส่องแสงและพักผ่อนในยามค่ำคืน แต่คนไทยและคนพม่าในเมืองท่าจอดเรือและท่าซื้อ-ขายหมึกแห่งนี้ พวกเขากลับอาศัยอยู่ในโลกแห่งแสงสว่างและเวลาที่แตกต่างออกไป คนและเมืองปากน้ำปราณมีชีวิตหมุนไปตามแสงและเวลาที่สัมพันธ์กับธุรกิจการจับหมึกและการแปรรูปหมึกได้อย่างน่าพิศวง
15หมวกของคนไร้บ้าน
วัตถุจัดแสดง : หมวก ของขวัญเนื่องในโอกาสปีใหม่
แหล่งที่มา : ศูนย์สุวิทย์ บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ
เจ้าของ : ดร.ทรงสิริ พุทธงชัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : “ละครเล่นใหม่” วิธีวิจัยในประเด็นอ่อนไหว ศึกษากรณีคนไร้บ้าน
แสงที่เห็นผ่านหมวกใบนี้ ทำให้นึกถึงความหวังของคนไร้บ้าน มันไม่ใช่แสงที่เจิดจ้า เพราะมันมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นมากมาย แต่พวกเขาก็ไม่เคยหมดความหวังในการมีชีวิตอยู่ คนทั่วไปอาจจะมองว่าพวกเขาต่ำต้อยกว่า แต่รู้หรือไม่ว่าหมวกใบนี้เป็นของขวัญที่ฉันได้รับจากคนไร้บ้านที่เป็นสมาชิกศูนย์สุวิทย์วัดหนู เนื่องในโอกาสปีใหม่ โลกที่ไม่เคยหมดความหวังของพวกเขาไม่ได้สวยงาม แต่ก็ไม่ได้โหดร้ายจนเกินไปนัก ชอบที่พวกเขามองว่า “คนใจดีก็มี คนใจร้ายก็มี” มันเป็นคำพูดธรรมดา ๆ ที่แสดงให้เห็นการมองโลกตามความเป็นจริงของพวกเขา
หลังจากละครของคนไร้บ้านได้ถูกเผยแพร่ออกไป เพื่อนที่ไม่ใช่นักวิชาการมักจะตั้งคำถามไปในสองลักษณะ ประการแรกคือไปเกี่ยวข้องกับคนไร้บ้านได้อย่างไร อีกประการหนึ่งคือทำไปทำไม
คำถามแรกสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ (ระยะใกล้มาก) ของคณะ (ซึ่งได้มีการบันทึกไว้แล้วในวาระอื่น) จึงขอกล่าวถึงคำถามที่ว่า “ทำไปทำไม” เนื่องจากมันอาจจะเกี่ยวข้องกับแสงสว่างและการมองเห็นมากกว่าคำถามแรก ตามมุมมองของดิฉัน
ผู้ที่ถามว่า “ทำไปทำไม” ก็มีมุมมองในสองลักษณะคือ หนึ่ง การทำละครกับคนไร้บ้านอาจจะไม่ได้เป็นที่ต้องการของคนไร้บ้าน เพราะจริงๆแล้วพวกเขาก็พอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ และสองการทำละครกับคนไร้บ้าน ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้เขาสามารถยืนได้ด้วยตนเอง เพราะมันจะไม่เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ปฏิกิริยาของดิฉันที่มีต่อมุมมองทั้งสองแบบก็คือ อย่างแรก นักแสดงคนไร้บ้านบางคน ผ่านช่วงชีวิตของการฆ่าตัวตาย บางคนถูกซ้อม บางคนเห็นความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่เคยนอนกลางดินกินกลางทราย ดังนั้นชีวิตที่ศูนย์สุวิทย์จึงดีกว่าชีวิตในอดีตบางช่วงดังที่ได้กล่าวมา แต่พวกเขาพึงพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่หรือเปล่าเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเกินจะตอบ ทราบแต่ว่าพวกเขามีความสุขที่พวกเราได้เล่นละครด้วยกัน ผ่านการซ้อมละครและการแสดงในที่สาธารณะพวกเขาพัฒนาความมั่นใจในตนเองขึ้นมา พวกเขาเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะเห็นว่ามีคนสนใจพวกเขา ถึงตรงนี้แค่อยากจะบอกว่าสายตาของผู้คนสามารถสร้างโอกาสให้กับคนที่คิดว่าตัวเองด้อยกว่าได้ตลอดเวลา เราจะมอบสายตาแบบไหนให้กันล่ะ ?
อย่างที่สอง กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “คนไร้บ้าน” มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่หลากหลาย เราไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนหลาย ๆ คนซึ่งพัวพันกับอาชญากรรม หรือมีสุขภาพกายและจิตแย่จนกระทั่งพวกเขาได้จากไป แต่ที่ศูนย์สุวิทย์วัดหนูหลายๆคนสามารถเลี้ยงชีพได้โดยอาชีพสุจริต บางคนมีรายได้มากกว่าผู้ที่กำลังอ่านข้อความนี้บางคนเสียอีก พวกเขาก็อยากช่วยผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า การมีคณะละครเป็นของตัวเองก็คงจะช่วยส่งเสริมพันธกิจอันนั้น อย่างไรก็ตามการช่วยคนไร้บ้านทั้งหมดนั้นต้องทำอย่างเป็นระบบ ควรจะมีการทบทวนระบบสวัสดิการทั้งหมด โดยให้ความสำคัญกับคนที่ตกงาน เพราะนั่นคือขั้นตอนแรก ๆ ที่ทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นคนไร้บ้าน มาถึงตรงนี้อยากจะบอกว่าพวกเขาทั้งหมดไม่มีใครอยากเป็นคนไร้บ้านหรอก ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายมันแพงเกินไป เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาทำคือการตัดสินใจออกจากบ้านที่เป็นอารมณ์ชั่ววูบ หรือการที่จะต้องออกจากบ้านโดยไม่มีทางเลือก พวกเขาไม่ใช่อาชญากร ทำไมการที่รัฐบาลจะอนุมัติเงินเพื่อช่วยเหลือพวกเขาเป็นรายเดือนจึงเป็นเรื่องไม่สมควร ตามสายตาของคนบางกลุ่มซึ่งมองว่าการทำเช่นนั้นมีแต่จะสนับสนุนให้เขางอมืองอเท้า สำหรับดิฉันมองว่ามันเป็นการเยียวยา และทุกคนควรจะร่วมกันจ่ายเนื่องจากพวกเราปล่อยให้สังคมไร้ระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพมาเนิ่นนานเกินไป
ละครของคนไร้บ้านคงไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยเยียวยาพวกเขาโดยตรง แต่มันช่วยฉายแสงให้เห็นว่าปัญหาของสังคมอยู่ตรงไหน ที่เหลือก็คือวัดใจกันว่าคนในสังคมจะเอาอย่างไร จากปฏิกิริยาของผู้ชมละครของคนไร้บ้านที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงมุมมองที่เป็นโอกาสและความท้าทายของการขับเคลื่อนในเรื่องของสวัสดิการสำหรับคนไร้บ้าน ผ่านหมวกใบนี้ดิฉันเห็นว่าพวกเขามีความหวัง ดิฉันก็มีความหวัง
ขอขอบคุณคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา Garry Fry & Louise Rose แห่ง Altitude 850 และคณะละครมาร็องดูสำหรับโอกาสและการสนับสนุนที่มีให้ตลอดมา ผ่านหมวกใบนี้ยังคงเห็นแสงสว่างที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป
16หวี: รักและรัฐ
วัตถุจัดแสดง : แปรงหวีผม
แหล่งที่มา : ของสะสมของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
เจ้าของ : ของสะสมของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : ดร. วิลาสินี พนานครทรัพย์ เรื่อง “ความรักและความสัมพันธ์ใกล้ชิดในการย้ายถิ่นเพื่อการแต่งงาน”
“Romantic love introduced the idea of a narrative into an individual’s life” (Giddens, 1992:39)
เรื่องเล่าของ “หวี” เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนพยายามค้นหาคำตอบว่า เมื่อรัฐล่วงล้ำเข้ามาในความสัมพันธ์ใกล้ชิด (intimacy) ของคู่รักผ่านการควบคุมการย้ายถิ่นเพื่อการแต่งงาน คู่รักเหล่านี้ต้องอธิบายความสัมพันธ์ของตนเองอย่างไร เพื่อพิสูจน์ให้รัฐเชื่อว่าการย้ายถิ่นเกิดขึ้นเพราะความรักและความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นผลมาจากแรงจูงใจในเชิงเศรษฐกิจหรือความปรารถนาที่จะได้มาซึ่งความเป็นพลเมืองของประเทศปลายทาง
การศึกษาชิ้นนี้จึงเป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวการอธิบายความรักเข้ากับอำนาจรัฐผ่านเรื่องเล่าของผู้หญิง โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าเมื่อความรักสมัยใหม่ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองประเภทหนึ่งที่ถูกรัฐนำมาใช้เพื่อควบคุมและกำกับการเคลื่อนย้ายถิ่นเพื่อการแต่งงาน ผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้จัดการและต่อรองกับความหมายของคำว่า “รักแท้” อย่างไร
“หวี” ในงานชิ้นนี้จึงไม่ได้หมายถึง สิ่งของในความหมายทั่วๆไป แต่เป็นความหมายที่ถูกนำมาใช้ในบริบทของการพิสูจน์ความสัมพันธ์เมื่อ “แก้ว” ได้ยื่นเอกสารเพื่อสมัครวีซ่าย้ายถิ่นเพื่อการแต่งงานไปยังประเทศออสเตรเลีย ภาพถ่ายในขณะที่ “จอห์น” กำลังแปรงผมให้กับเธอ เป็นภาพหนึ่งที่แก้วตัดสินใจเลือกส่งให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นความใกล้ชิดในเชิงกายภาพที่ทั้งคู่มีต่อกัน
“ที่เลือกภาพนี้ เพราะคิดว่า เราต้องเลือกภาพที่ทำกิจกรรมส่วนตัว…เท่าที่เราจะเปิดเผยได้…ร่วมกัน และตัวเองผมยาวมาก เลยเอาภาพที่แฟนหวีผมให้ มันดูน่ารักดี แต่จริงๆ เราก็รู้สึกตลกและเขินๆ อยู่บ้างนะที่ส่งภาพนี้” (แก้ว สัมภาษณ์)
แม้ว่าแก้วจะเลือกใช้ภาพถ่ายที่เธอและจอห์นเดินทางท่องเที่ยวด้วยกันในสถานที่ต่างๆ แต่เธอก็รู้สึกว่าภาพถ่ายดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่าความสัมพันธ์ของเขาทั้งคู่ตั้งอยู่บนฐานของความรักที่แท้จริง ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากนิยามของ “รักโรแมนติก” เป็นนิยามของความสัมพันธ์ที่ต่างไปจากรูปแบบความสัมพันธ์เชิงใกล้ชิดอื่นๆ โดยเฉพาะในแง่ของการแสดงออกซึ่งความผูกพันในเชิงกายภาพ (physical care) ผ่านการสัมผัส ซึ่งแม้ว่ามิติในเชิงกายภาพของความรักมักจะถูกโยงเข้ากับพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของคู่รัก แต่เมื่อแก้วต้องพิสูจน์ให้รัฐเห็นว่าความสัมพันธ์ของเธอและจอห์นเป็นความสัมพันธ์ที่แท้จริง
ภาพของ “การหวีผม/แปรงผม” จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวที่ถูกนำเสนอออกสู่พื้นที่สาธารณะ ส่วน “หวี” คือสิ่งของที่ใช้แทนกิจกรรมของความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางกายภาพของคนรักที่มีต่อกันอย่างลึกซึ้ง
17ไปดูการปลูกใบยา
วัตถุจัดแสดง : ยาเส้น และโหลใส่ยาเส้น
แหล่งที่มา : เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
เจ้าของ : วิภาวี พงษ์ปิ่น
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง : “โครงการสร้างและพัฒนาระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อขยายผลการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7)
ภาพยายที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้เขียน คือสมัยเป็นเด็กทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมยายที่ต่างจังหวัด ผู้เขียนจะเห็นยายกินหมากปากแดงทุกวัน หลังเคี้ยวหมาก ยายจะเอายาเส้นมาถูฟันแล้วอมจุกไว้ในปาก แม่เล่าว่า สมัยที่ยายยังแข็งแรง ยายปลูกใบยาสูบ บ่ม และตัดเป็นยาเส้นไว้ใช้เอง ใบยาที่ยายปลูกไม่ค่อยฉุนและปลูกไม่กี่หลุมเพราะเก็บไว้ใช้คนเดียว เมื่อยายแก่จนไม่มีแรงปลูก ลูกๆ ยังคงซื้อยาเส้นมาติดไว้ในเชี่ยนหมากยายเสมอ
เดือนมกราคม 2561 ผู้เขียนมีโอกาสรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของยาเส้นด้วยตนเอง เมื่อไปลงภาคสนามร่วมกับทีมวิจัยในเมืองอู่ทอง คนไทยพวนเจ้าบ้านออกปากชวนให้ไปดูการปลูกใบยาสูบของพวกเขาที่เพิ่งรื้อฟื้นกลับขึ้นมาใหม่
อดีตผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังว่า การปลูกใบยาของคนไทยพวนในอู่ทองหายไปนานกว่าสามสิบปีแล้ว เพราะสมัยก่อนขาดแคลนน้ำ คนปลูกต้องหาบน้ำใส่ปี๊บมาคอยรด ถือเป็นงานหนัก คนรุ่นหลังที่เติบโตขึ้นมาจึงเลือกไปทำอาชีพอื่น เมื่อนานวัน การปลูกใบยาที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจึงหายไป
จนเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุชาวไทยพวนกลุ่มหนึ่งได้คิดถึงชีวิตในอดีตที่เคยช่วยคนรุ่นก่อนลงแรงปลูกใบยา จึงพากันรื้อฟื้นการปลูกใบยาขึ้นมาใหม่ โดยมองว่าการปลูกใบยามีส่วนในการเล่าถึงตัวตนความเป็นไทยพวน พวกเขาลงมือจัดสรรลานดินหลังบ้านให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นแปลงปลูก ส่วนหนึ่งกลายเป็นพื้นที่ตาก ซ่อมแซมโรงบ่มที่เคยมี รวมถึงกลับมาใช้สอยพื้นที่ภายในบ้านไทยพวนแบบเก่าให้กลับมาใช้ประโยชน์ในการจัดวางใบยาอีกครั้ง (บ้านไทยพวนแบบเก่า เป็นบ้านชั้นเดียว รอบบ้านด้านในมีการยกพื้นไม้ขึ้นในระดับต่ำกว่าเอวเพื่อเป็นที่นั่งหรือนอน ส่วนกลางบ้านเว้นให้เห็นดินเปลือย)
สำหรับกระบวนการปลูก หลังจากต้นยาแทงยอด คนปลูกต้องหยุดรดน้ำทันที เพราะถ้าปล่อยให้ใบยาโดนน้ำโดนฝนอยู่บ่อย ยาจะไม่ฉุน การปลูกใบยาจึงทำได้เฉพาะในหน้าแล้งเท่านั้น เมื่อถึงคราวเก็บหรือหักใบยา ต้องหักตอนเช้ามืด ให้ต้นยาติดน้ำค้างอยู่บ้างจึงจะหักง่าย เวลาหักจะมีเสียงดังเป๊าะ และมีน้ำยางไหลออกมา หลังจากนั้นจะนำใบยาเข้าโรงบ่มให้เหลืองเป็นเวลาห้าวัน และนำมาตัดให้เป็นเส้น ซึ่งอดีตตามบ้านจะมีเครื่องมือที่อาศัยแรงคนตัด แต่ปัจจุบันส่งไปใช้เครื่องจักรตัด เนื่องจากตัดได้ไวและทุ่นแรงกว่า จากนั้นจะนำใบยามาตากแดดสามแดด สองแดดกลับหนึ่งครั้ง จนสิ้นแดดสุดท้ายจึงจะทิ้งใบยาตากน้ำค้างไว้สักพัก และมาเก็บไปตอนค่ำ เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดก็จะได้ยาเส้นส่งขายให้คนที่มาจองไว้
คนในพื้นที่เล่าว่า ผู้หญิงรุ่นเก่านิยมเอายาเส้นถูฟัน ผู้ชายเอายาเส้นมามวนกับใบจากเพื่อใช้เป็นยาสูบ แต่สมัยใหม่ใบจากหายาก จึงนิยมมวนกับกระดาษ ทุกวันนี้การสูบยาเส้นไม่เป็นที่นิยมเหมือนก่อน แต่ยังคงมีการแบ่งขาย ส่วนในด้านความเชื่อ ยาเส้นยังคงเป็นเครื่องเคียงกับชุดหมากพลูเพื่อใช้ถวายให้พระภูมิเจ้าที่หรือปู่ฤๅษีเรื่อยมาจนปัจจุบัน
แม้ทุกวันนี้ กลุ่มคนปลูกจะยอมรับว่างานปลูกใบยา แท้จริงเป็นงานที่มีขั้นตอนมาก และทำเอาเหนื่อยไม่ใช่น้อย แต่ก็อยากทำ เพราะเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนเคยทำกันมา อีกทั้งผลผลิตจากใบยาก็ขายได้ จากสีหน้าแววตาที่เล่าเรื่องอย่างดูมีความสุข ตื่นเต้น และภูมิใจ ระคนกันไปในวันนั้น ผู้เขียนมองว่า บางทีการปลูกใบยา คงไม่ได้มีความหมายแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจ หากแต่ยังคงเป็นการเล่าถึงตัวคนความเป็นคนไทยพวนผ่านอาชีพดั้งเดิม และเป็นการดึงเอาความทรงจำในอดีตให้กลับมาโลดแล่นได้อีกครั้ง
18Light, Objects and Visualisation :
Prospecting Photographs and Objects from Fieldworks
and Attempting to Understand Others.
โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์รับรู้และทำความเข้าโลกโดยผ่านดวงตา
“การมองเห็นมาก่อนถ้อยคำ เด็กๆ มองเห็นและจดจำ ก่อนที่จะพูด” (Seeing comes before words. The child looks and recognizes before it can speak. John Berger. Way of seeing : 1973)
เช่นเดียวกับนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ต่างใช้ “ดวงตา” เป็นศูนย์กลางในการรับรู้โลกของคนอื่น (Ocularcentrism) การที่ต้องไปอยู่ที่นั่น (Being there) รวมไปถึงการใช้วิธีการสังเกตุแบบมีส่วนร่วมในกลุ่มคนที่ศึกษา (Participant observation) คือกระบวนการของการหาแสวงความรู้ในงานภาคสนามเพื่อที่จะทำความเข้าใจ “คนอื่น”
เพื่อที่จะมองเห็น รู้จักและจดจำ “แสง” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์
วัฒนธรรมต่างๆ ให้ความสำคัญกับแสงสว่างว่าเป็นที่มาของความรู้และปัญญา อุปมาเรื่องถ้ำของโสเครติส กล่าวถึงผู้ที่สลัดโซ่ตรวนซึ่งตรึงเขาไว้ในถ้ำ แล้วเดินออกมามองแสงดวงอาทิตย์ด้วยตาตนเอง คือการก้าวขึ้นมาสู่โลกแห่งความจริง ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญาในศตวรรษที่ 18 ของยุโรป (Age of Enlightenment) คือยุคแห่งแสงและเหตุผล (le Siècle des Lumières) ภายหลังจากการเคลื่อนผ่านไปของยุคมืด (Dark Ages )
ในทางพุทธศาสนา ความมืด คืออวิชชา และแสงสว่าง คือ ปัญญา การ “มองเห็น” ซากศพ หากพร้อมด้วยสติถือเป็น “การเห็นอันประเสริฐยิ่ง” เนื่องด้วย “ดวงตา–เห็น–ธรรม” ตามความเชื่อของฮินดู นอกจากจะให้ความสำคัญกับแสงสว่างแล้ว การ “เฝ้ามอง–อย่างภักดี” ต่อพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับประติมากรรมโคนนทิ เฝ้ามองพระอิศวรอย่างภักดีจากหน้าประตูทางเข้าศาสนสถานนั้น ถือเป็นกิริยาซึ่งจะได้รับความเมตตาจากพระองค์
เพื่อที่จะถ่ายทอด “ความเข้าใจคนอื่น” ให้เป็นที่ประจักษ์ นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาใช้ “ถ้อยคำ” หรือ “การเขียน” ที่เรียกกันว่า “งานชาติพันธุ์วรรณา/งานชาติพันธุ์นิพนธ์” (Ethnography) ซึ่งคหมายถึง การเขียน (graphy- ในภาษากรีกหมายถึงการเขียน ) เกี่ยวกับผู้อื่น (Ethno) อย่างไรก็ตาม มีข้อวิพากษ์สำคัญก็คือ งานที่ “เขียนถึงคนอื่น” เช่นว่านี้ บอกเล่าความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น
เมื่อกล้องถ่ายรูปแพร่หลายขึ้น นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาเริ่มสนใจการใช้ ภาพถ่ายและการถ่ายภาพ (Photo-graphy) เพื่อการเก็บบันทึกข้อมูลและถือว่าจะช่วยขยายความรู้ ความเข้าใจให้เพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาโดยรูปศัพท์การบันทึกภาพ ก็คือ การเขียน ( graphy) ด้วยแสง (photo- ในรากศัพท์ภาษากรีกหมายถึง light-แสง) และในทำนองเดียวกันกับการเขียน การถ่ายภาพ เป็นการบันทึกความจริงเพียงบางส่วน ?
ถ้าดวงตาของมนุษย์ มองเห็น “ความจริง” ได้เพียงบางส่วน ในการมองเห็นอันจำกัดนั้น จะทำให้เรา “เข้าใจ” ได้มากน้อยเพียงใด ?
นิทรรศการ “แสง สิ่งของและการมองเห็น : ภาพถ่าย สิ่งของจากภาคสนามและการทำความเข้าใจคนอื่น” แบ่งออกเป็นสามส่วนในประเด็นที่เชื่อมโยงกัน คือ “การมองเห็น” สิ่งต่างๆนั้น ทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร
เขียนด้วยแสง : แสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพจากคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์ และภาพถ่ายจากมุมมองของช่างถ่ายภาพและนักมานุษยวิทยา
งานภาคสนาม : จัดแสดงภาพถ่าย วัตถุและผลงานจากการทำงานภาคสนามของ รศ. สุมิตร ปิติพัฒน์ อดีตคณบดีและอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งของจากภาพสนาม : จัดแสดงวัตถุที่ได้รับหรือเนื่องมาจากการทำงานวิจัยของคณาจารย์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปฎิสัมพันธ์อันซับซ้อนของวัตถุกับมนุษย์และความพยายามในการทำความเข้าใจคนอื่น
แสงและความมืด
กล้องถ่ายรูปที่ใช้การได้จริง รุ่นแรกของโลกนั้น มีอายุเก่าที่สุดไม่ถึง 200 ปี
แต่การค้นพบเหตุการณ์ “แปลกประหลาด” ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่มาของ “การถ่ายรูป” นั้นย้อนกลับไปอย่างน้อย 2,400 ปี จากบันทึกของชาวจีน คือการสังเกตเห็นภาพทิวทัศน์จากภายนอกห้อง ฉายผ่านรูเล็กๆ เข้ามาปรากฏเป็นภาพกลับหัว (ซึ่งรู้จักกันต่อมาว่าเป็นปรากฏการณ์ของ “กล้องรูเข็ม”)
ในขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังหล่อพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ในวิหารพระศรีสรรเพชญนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ เลโอนาร์โด ดา วินซี นักวิทยาศาสตร์และศิลปินชาวอิตาเลียน ได้สร้างอุปกรณ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยในการวาดรูปซึ่งมีการทำงานในลักษณะเดียวกับ “กล้องรูเข็ม” อุปกรณ์เช่นว่านี้ เรียกกันในภาษาละตินว่า คาเมรา ออบสคูรา (camera obscura) ซึ่งแปลว่า “ห้องมืด”
กว่าที่จะมีการคิดค้นให้มีอุปกรณ์รับแสงหรือภาพมาทำปฏิกิริยากับสารเคมีเพื่อคงสภาพรูปนั้นเอาไว้ให้ได้ (เพื่อเป็นภาพถ่าย) ก็ล่วงเลยมาจนถึง พ.ศ.2382 โดยเรียกระบบของการถ่ายรูปนั้นว่า ดาแกโรไทพ์ ( Daguerreotype) และ ทัลบอตไทพ์ (Talbottype) ตามชื่อผู้ประดิษฐ์
การถ่ายรูปมาถึงเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2388 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ ลาร์โนดี (Jean-Baptiste Francois Louis Larnaudie) โดยคนไทยคนแรกที่ถ่ายภาพน่าจะเป็น “ขุนนางผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ด้วยช่วงเวลานั้น “มิใคร่มีใครยอมให้ถ่าย ด้วยเกรงว่าจะเอารูปไปใช้ทำร้ายด้วยกฤตยาคม” หรือ อาจจะทำให้อายุสั้นลง อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์แรกที่ยอมฉายภาพพระองค์เอง เพื่อส่งไปให้ประมุขต่างประเทศ เช่นประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ซ แห่งสหรัฐอเมริกา, สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ และพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 แห่งกรุงวาติกัน และภาพสุดท้ายของพระองค์ก็คือภาพที่ทรงฉายกับเจ้าเมืองสิงคโปร์ในช่วงสังเกตการณ์สุริยุปราคาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2411
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องการถ่ายรูปตั้งแต่มีพระชนมายุในวัยหนุ่ม การถ่ายรูปเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป จากกิจการร้านถ่ายรูปเพียง 4 แห่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เพิ่มขึ้นมาเป็น 20 แห่งและแพร่สู่หัวเมืองต่างๆ เช่นในสงขลาและเชียงใหม่ ประมาณกันว่ามีช่างถ่ายรูปนับร้อยคน ในช่วงปลายรัชสมัย มีหลักฐานว่า ในพระบรมมหาราชวัง นิยม “เล่นฉายรูปกัน” เจ้าจอมเอิบ ซึ่งเป็นสตรีในวัง นับเป็นช่างภาพสมัครเล่นผู้หนึ่ง โดยมีผลงานเป็นภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ภาพของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ
การถ่ายภาพรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงปี พ.ศ.2447-2448 เมื่อจัดให้มีการ “ประชันรูปถ่าย” ในงานวัดเบญจมบพิตร มีผู้ส่งภาพเข้าร่วมประกวดถึง 140 คน มีรูปถ่ายมากถึง 1,184 รูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งรูปประกวดถึง 19 รูป และรูป คนัง (ชาวซาไก ที่ชาววังเรียกว่า “เงาะป่า”) เป็นภาพหนึ่งที่ส่งเข้าประชันและได้รับความนิยมกันมาก “ทีแรกอัดมาเพียง 230 รูป ปรากฏว่าขายดีจนขายไม่ทัน” “ฝรั่งชอบรูปนั้นมากกว่าที่แต่งเป็นรูปเงาะ ขายในเวลางานแผ่นละ 3 บาท ได้เงิน 1,000 บาทเศษ…เป็นของอ้ายคนังส่วนหนึ่ง ได้เงินส่วนอ้ายคนังเกือบ 400 บาท…”
ในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา กล้องถ่ายภาพพัฒนาและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วจากเทคนิควิธีที่ปล่อยให้แสงถ่ายลงบนแผ่นโลหะ ลงบนแผ่นฟิลม์ จนถึงกล้องดิจิทัล การถ่ายรูปขยายไปสู่ผู้คน ชนิดที่ว่าทุกคนกลายมาเป็น “ผู้ถ่ายภาพ” ได้ด้วยตนเอง
จากความคาดหวังและเชื่อมั่นว่า ภาพถ่ายคือการบันทึกความจริงรูปแบบหนึ่ง ไปสู่ความคิดว่าภาพถ่ายสามารถปรับแต่งได้อย่างไม่สิ้นสุดและเป็นเทคโนโลยีของการผลิตซ้ำที่แยกไม่ออกว่าภาพใดคือต้นฉบับ
นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาที่ใช้กล้องเป็นอุปกรณ์ในการบันทึกภาพ ต่างมองเห็นทั้งศักยภาพและข้อจำกัด
นักมานุษยวิทยา – โคลด เลวี สโทรสส์ ( Claude Levi Strauss) กล่าวว่า “ผมไม่ค่อยอยากใช้กล้อง (ภาพยนตร์) นัก ผมรู้สึกผิดที่จะจ้องมองผ่านช่องมองภาพอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะได้สังเกตและพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวผม”
ส่วนนักสังคมวิทยา เช่น ปิแอร์ บูรดิเยอ (Pierre Bourdieu) ให้ความเห็นไปอีกแง่มุมหนึ่ง “การถ่ายภาพเป็นข้อปฏิบัติเพียงอย่างเดียวที่มีมิติทางศิลปะและทุกคนเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็เป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่ทุกคนสามารถบริโภคได้”
พวกเรา ในฐานะที่อยู่ในยุคเฟื่องฟูอย่างถึงที่สุดของการถ่ายภาพ เราอาจจะลองมาตั้งคำถามกับบทบาทของ “การมองเห็น” , “ภาพถ่าย” และ “การทำความเข้าใจคนอื่น” ว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร ?
อ้างอิง :
อเนก นาวิกมูล. ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย กรุงเทพฯ : สารคดี, 2548
Claude Levi- Strauss. Saudades Do Brasil A Photographic Memoir. Translated from the French by Sylvie Modelski. Seattle & London : University of Washington Press, 1995
Franz Schultheis. Pictures from Algeria : An Interview with Pierre Bourdier, 2001