รู้จักเรา

สัญลักษณ์

ตราสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ได้แรงบันดาลใจมาจากวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ คือลูกปัดแก้วหลากสี (Polychrome glass) รูปศรีษะบุคคลสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ซึ่งขุดพบบริเวณปากแม่น้ำโขงและเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึง “สำนึกในความเป็นมนุษย์ ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ค่านิยมองค์กร

เรียนรู้สิ่งของ
เข้าใจผู้คน

“Seeing Things
Understanding People”

ประวัติพิพิธภัณฑ์

       พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 60 พรรษา โดยทรงพระกรุณาพระราชทานนามพิพิธภัณฑ์ และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตั้งแสดงที่อาคารวิจัยและบริการทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 และต่อมาพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ เมื่อวันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ.2533

       พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นโครงการซึ่งริเริ่มโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 สืบเนื่องจากการที่ทางคณะฯได้รับโบราณวัตถุจากการขุดค้นภาคสนาม   ในโครงการขุดค้นวัฒนธรรมบ้านเชียงที่บ้านอ้อมแก้วและบ้านธาตุ จ.อุดรธานี คณะขุดค้นนำโดย   รศ. สุมิตร ปิติพัฒน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515-2517 และมีโบราณวัตถุเพิ่มเติมขึ้นจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาต่อมา ในปี พ.ศ.2530 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนมาก จาก ดร.วินิจ วินิจนัยภาค คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ดำเนินการขอตั้งงบประมาณแผ่นดินเพื่อก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจากรัฐบาล   และในระหว่างรอการพิจารณาอนุมัติโครงการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้เปิดจัดแสดงโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมต่างๆ ณ บริเวณชั้น 2 อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ในช่วงปี พ.ศ. 2531 ถึง ปี พ.ศ. 2539

          จนถึงเมื่อปี พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งมอบโบราณวัตถุและวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหมดให้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นผู้ดูแล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจึงได้ดำเนินการรวบรวมและขนย้ายโบราณวัตถุและ วัตถุทางวัฒนธรรม ทั้งในส่วนซึ่งคณะสะสมอยู่ และในส่วนซึ่งได้รับบริจาคเพิ่มเติมภายหลัง มาจัดแสดง ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

          ในปี พ.ศ. 2550 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้จัดทำโครงการบูรณาการหลักสูตรสาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมกับโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม โดย อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้จัดทำโครงการนำร่องนิทรรศการ “เครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย : จากบ้านเชียงสู่กรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อ ให้บริการแก่นักเรียนในระดับชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นกิจกรรมเสริม ทักษะในสาระการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวง วิทยาคม และโรงเรียนมัธยมอื่นๆในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนบน โดยนิทรรศการนำร่องนี้ มุ่งเน้นที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของชนชาติไทยผ่านการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา ในยุคสมัยต่างๆ เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสะท้อนการดำเนินชีวิต ความเชื่อ และการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี และเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จนถึงประมาณเดือนมิถุนายน 2551

       ปี พ.ศ.2554 หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พิพิธภัณฑ์ฯ จึงได้ปิดปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพใหม่ มุ่งหมายให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ได้มากขึ้น โดยสร้างทางลาดยาวตัดข้ามพื้นที่โล่งเพื่อเชื่อมโยงการใช้งานภายในอาคารให้ต่อเนื่องถึงกัน และเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงวัตถุของพิพิธภัณฑ์ฯ ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ชีวิตของวัตถุที่เชื่อมโยงไปสู่โลกนอกพิพิธภัณฑ์

       พิพิธภัณฑ์ฯ มีพันธกิจในการจัดแสดงวัตถุเพื่อการศึกษาค้นคว้า เอื้อให้เกิดความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ผ่านการชมวัตถุทางวัฒนธรรมและมุ่งไปสู่การความเข้าใจมนุษยชาติและกลุ่มบุคคล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อโลก

       พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอนและการศึกษาในทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสถาบันความรู้ที่เปิดให้เป็นทางเลือกของการเรียนรู้เพื่อการศึกษาต่อเนื่อง นับจากวัยเด็กถึงหลังเกษียณอายุ และเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุมชนรอบข้างและสังคมไทย

วิสัยทัศน์

   เป็นสถาบันความรู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนการทำความเข้าใจมนุษย์และวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน สร้างความตระหนักในคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม

โครงสร้างการบริหาร

1. อาจารย์ ดร.อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ กรรมการ
3. รองศาสตราจารย์ ดร.พจนก กาญจนจันทร กรรมการ
4. อาจารย์ ดร.ศิริพร ศรีสินธุ์อุไร กรรมการ
5.
6.
อาจารย์ ดร. ณัฐพล วิสุทธิแพทย์
นางสาวอรอุมา ส้มไทย
กรรมการ
กรรมการ
7. นายเดชาภิวัชร์ นพมิตร กรรมการ
8. นางสาวอุรฉัตร อุมาร์ เลขานุการคณะกรรมการ
9. นางสาวเหมือนพิมพ์ สุวรรณกาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ

พันธกิจ

  เป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยภายใต้การดูแลของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่ส่งเสริมสนับสนุนการทำความเข้าใจมนุษย์และวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน ผ่านการศึกษาวิจัย การเรียนการสอน การอบรมและเผยแพร่ความรู้ตามความเชี่ยวชาญของคณะ

การเรียนการสอน

ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมศึกษา

การศึกษาวิจัย

ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยา สังคมวิทยา พิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมศึกษา

การจัดแสดง

จัดแสดงวัตถุเพื่อการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ที่เอื้อต่อการทำความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่างๆ
ผ่านการชมวัตถุทางวัฒนธรรม

บริการวิชาการ

เพื่ออาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และมุ่งสู่กลุ่มคนที่หลากหลาย (Museum For All) โดยพยายามสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงความรู้ของคนกลุ่มต่างๆ

การเดินทาง

    • รถประจำทางสาย 39, 29, 510
    • รถตู้โดยสาร
        • ต.118 (สวนจตุจักร)
        • ต.85 (อนุสาวรีย์ชัยฯ)
        • รถตู้ มธ. รังสิต – ท่าพระจันทร์
    • รถยนต์ส่วนบุคคล
        • ถนนพหลโยธิน
        • ทางพิเศษศรีรัช (ทางออกเชียงรากน้อย)

ที่ตั้ง