คลังวัตถุพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ
คลังวัตถุของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีที่มาจากการทำงานภาคสนามในยุคแรกๆ ของอาจารย์และนักศึกษาในแผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ช่วงปีพุทธศักราช 2515-2516 ซึ่งขณะนั้นสังกัดอยู่ในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงการทำงานศึกษาวิจัยทางด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดีร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาชุมชนและแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่บ้านอ้อมแก้วและบ้านธาตุ จังหวัดอุดรธานี สมัย “ยุคหินใหม่ตอนปลาย”
ในปี 2530 ดร.วินิจ วินิจนัยภาค ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ และคุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค (ภรรยา) ได้มอบสิ่งของสะสมซึ่งประกอบด้วย โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุและงานหัตถกรรมพื้นบ้านให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อจัดแสดงและจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายหลังจึงได้มีการจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตขึ้น โดยมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นผู้ดูแลคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจนกระทั่งปัจจุบัน
เชิญมารู้จักโลกของสิ่งของ
ลักษณะเด่นของคลังวัตถุของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติคือ ความหลากหลายของวัตถุจำนวนกว่า 6,000 รายการ มีความหลากหลายของประเภทวัสดุ ศิลปวัตถุจากหลายยุคสมัย หลายวัฒนธรรม ประกอบด้วยซากฟอสซิลอายุนับล้านปี โบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ของสังคมในอดีต นับจาก “ยุคหินใหม่” เทคโนโลยี สิ่งของหายาก ของประหลาด สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ สิ่งประดิษฐ์และสิ่งของสะสมจากศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงของใช้พื้นบ้านและวัตถุทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมถึงการเมืองร่วมสมัย
พิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของสะสมผ่านคลังเปิด (Open Storage) และคลังวัตถุผ่านทางเว็บไซด์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการศึกษาค้นคว้าผ่านการชมวัตถุทางวัฒนธรรมต่อผู้สนใจและสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจมนุษยชาติและกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม สิ่งของแต่ละชิ้นล้วนมีเรื่องราวเฉพาะตัว มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ทั้งสะสมหรือแม้แต่กับผู้เข้าชมเอง
พิพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาสิ่งของสะสมที่หลากหลายและนำออกจัดแสดงผ่านนิทรรศการถาวรและนิทรรศการชั่วคราว พิพิธภัณฑ์ฯให้ความสำคัญกับอดีตและเก็บรักษาไว้ในปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้สำหรับคนในปัจจุบันและอนาคต โดยจัดเก็บและบันทึกฐานข้อมูลที่เป็นระบบ ใช้เทคโนลีร่วมสมัยเพื่อการอนุรักษ์ รวมถึงสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย และเปิดโอกาสให้นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจใช้สิ่งของจากคลังวัตถุเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาค้นคว้าไม่รู้จบ
“เชิญเข้ามาเรียนรู้สิ่งของ เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ในมิติต่าง ๆ” ผ่านคลังวัตถุของเรา